1210 1965 1878 1535 1738 1795 1687 1250 1282 1027 1532 1199 1034 1149 1376 1204 1878 1619 1037 1844 1350 1365 1210 1127 1425 1964 1642 1141 1866 1014 1877 1829 1386 1511 1602 1197 1993 1989 1177 1696 1271 1560 1824 1590 1993 1932 1822 1625 1208 1631 1490 1762 1391 1687 1866 1172 1043 1049 1433 1556 1242 1295 1247 1272 1055 1265 1731 1029 1777 1691 1099 1779 1595 1009 1467 1453 1052 1774 1667 1755 1949 1268 1045 1801 1013 1465 1355 1255 1071 1977 1830 1248 1176 1181 1068 1566 1955 1695 1131 บันทึกเกม 'นอกกฎหมาย' ของตำรวจ หยุดขบวนเรียกร้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

บันทึกเกม 'นอกกฎหมาย' ของตำรวจ หยุดขบวนเรียกร้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

 
8 มิถุนายน 2563 ตัวแทนจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.4 คน ได้แก่ ณัฐวุฒิ, แสงสิริ, วศิน และอภิสิทธิ์ เดินทางไปสถานทูตกัมพูชาเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา ไม่มีตัวแทนสถานทูตมารับหนังสือ แต่ทั้ง 4 คนกลับได้รับหมายเรียกให้รายงานตัวในข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน
 
9 กรกฎาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนมีกำหนดรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.วังทองหลาง ทาง กป.อพช. ร่วมกับ เครือข่าย People Go Network จึงจัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาขณะเดียวกันก็เปิดเกมรุก นัดหมายกันเวลา 9.30 ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวแล้วเดินเท้าไปยังศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการดำเนินคดีปิดปากประชาชน
 
เมื่อไปถึงศาลแพ่งผู้ต้องหาทั้ง 4 คนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นตัวแทนยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง 
 
เวลา 11.30 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่พร้อมด้วยประชาชนราว 40 คนจัดขบวนรถแห่สื่อสารต่อสาธารณะเรื่องการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินทางออกจากศาลแพ่งมุ่งหน้าไปยัง สน.วังทองหลาง
 
เวลา 12.45 น. บริเวณหน้าสน.วังทองหลาง มีผู้มาร่วมให้กำลังใจอยู่ก่อนแล้วราว 70 คน รอบบริเวณยังมีตำรวจในเครื่องแบบตั้งแถวอยู่ประมาณ 60 คน ทำให้พื้นที่คับแคบลงไปถนัดตา และปรากฏว่าไม่สามารถนำรถที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงเข้าไปจอดหน้า สน.ได้เนื่องจากตำรวจกีดขวางทางเข้า ต้องจอดรออยู่ข้างถนนที่แคบอยู่แล้ว การจราจรเริ่มติดขัด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจึงแสดงความไม่พอใจและพยายามผลักดันจนนำรถเข้าไปจอดหน้าสน.ได้เพื่อทำกิจกรรมแถลงจุดยืนไม่ยอมรับกับการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการดำเนินคดีเพื่อปิดปากประชาชน  
 
เบื้องหลังการเจรจาต่อรองระหว่างตำรวจกับผู้จัดกิจกรรม หลายช่วงหลายตอนแสดงให้เห็นถึงการอ้างอิงข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องของตำรวจ และการพยายามไม่ใช้วิธีการตั้งข้อหาดำเนินคดี แต่หาวิธีการที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้โดยตรงเพื่อทำให้การจัดกิจกรรมเป็นไปได้ยากที่สุด โดยวิธีการต่างๆ นั้นสามารถสรุปได้ดังนี้
 
 
โทรขู่ล่วงหน้า 2 วัน แต่อ้างกฎหมายไม่ถูก 
 
6 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจโทรศัพท์ไปหาหนึ่งในผู้จัดกิจกรรม โดยแนะนำตัวว่าชื่อ ‘รองแรมโบ้’ ต้องการพูดคุยเพื่อช่วยประสานงานและสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยยังไม่ได้ห้ามปรามอะไร 
 
วันรุ่งขึ้น ตำรวจคนเดิมโทรศัพท์มาอีกครั้ง สอบถามรายละเอียดที่มากขึ้นพร้อมกับเริ่มห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมได้ตามแผน โดยเริ่มจากการอ้างว่า การเดินจากบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินลาดพร้าวไปยังศาลแพ่งนั้นฟุตบาทแคบจึงไม่อยากให้เดิน ทางผู้จัดตอบว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะจะเดินแถวเรียงเดี่ยว 
 
ตำรวจแจ้งต่อว่า ห้ามถือป้ายเพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตหน้าศาล ผู้จัดจึงแจ้งว่า ผู้ชุมนุมจะเดินถือป้ายแล้วเมื่อถึงหน้าศาลก็จะเก็บและจะถ่ายรูปอยู่ข้างนอกรั้วศาลเท่านั้น ไม่เดินถือป้ายเข้าไปภายในเขตของศาล ซึ่งจะไม่ผิดกฎหมายใด ตำรวจยังกล่าวอีกว่า ขอให้ทำกิจกรรมให้เสร็จที่สถานีรถใต้ดินจะดีกว่า ถ่ายภาพบริเวณนั้นแล้วส่งตัวแทน 4-5 คนไปยื่นฟ้อง ส่วนคนอื่นไม่ต้องเดินไป ผู้จัดจึงตอบไปว่าไม่สามารถทำเช่นนั้น ตำรวจจึงกล่าวว่า "นายไม่ให้ถือป้าย"
 
จากนั้นทางตำรวจก็อ้างว่า ในช่วงเวลานี้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่อยากนำเรื่องนี้มาใช้เป็นข้อห้าม เพราะดูรุนแรง ตำรวจยังอ้างต่อไปว่า หากมีการเดินเท้าจะเป็นความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะเป็นเขต 50 เมตรจากอาคารศาลและต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าก่อน ผู้จัดจึงอธิบายว่า เมื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็เข้ายกเว้นตามมาตรา 3 ไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว การที่ตำรวจยก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาอ้างขึ้นจึงเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
 
จากนั้นตำรวจจึงอ้างอิงไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้งว่า มีคำสั่งห้ามชุมนุมและมีโทษสถานหนัก ไม่สามารถให้จัดชุมนุมได้ ผู้จัดจึงอธิบายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่ห้ามการชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมานานแล้วจึงไม่ควรใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป และตัดจบบทสนทนา
 
1481
 
 
 
ขู่เรื่อง ‘เขตศาล’ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายห้าม
 
ช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจในเครื่องแบบจาก สน.พหลโยธิน มาดูแลการจัดกิจกรรมประมาณ 30-40 คนและมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาด้วยจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ขอเจรจากับผู้ชุมนุมโดยแจ้งเหมือนเดิมว่า ขอให้ทำกิจกรรมให้เสร็จสิ้นที่สถานีรถใต้ดินแล้วไม่ต้องเดินไปศาลแพ่ง แต่ผู้จัดกิจกรรมไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าจะเดินไป ตำรวจจึงแจ้งว่า "นายสั่งไม่ให้เดิน" และขอให้เห็นใจตำรวจ ขอให้เจอกันครึ่งทาง เพราะถ้าหากมีการเดินขบวนตำรวจอาจถูก "นายเล่นงาน" ผู้จัดกิจกรรมแจ้งว่า ถ้าไม่ให้เดินก็ไม่ใช่การเจอกันครึ่งทาง แต่แปลว่า ตำรวจได้ทุกอย่าง
 
ตำรวจจึงคิดเงื่อนไขใหม่แล้วขอว่า ระหว่างเดินห้ามชูป้าย โดยอ้างถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้ง แต่ผู้จัดไม่ยอมรับข้ออ้างนี้ ตำรวจจึงยกข้ออ้างเรื่อง ‘เขตศาล’ ขึ้นมาโดยระบุว่า เมื่อเดินไปถึงรั้วของศาลแล้วห้ามชูป้าย เพราะเป็นเขตของศาล ชูป้ายไม่ได้ ผู้จัดกิจกรรมยืนยันว่าจะชูป้ายเฉพาะทางเดินริมถนนที่ไม่เข้าไปในรั้วของศาล และเมื่อเข้าไปในเขตศาลจะไม่ชูป้ายอีก พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีกฎหมายที่ห้ามชูป้ายข้างรั้วศาล กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลก็ไม่ได้ห้ามเช่นนั้น ห้ามเพียงการประพฤติตัวไม่เรียบร้อย "ในบริเวณศาล"
 
ผู้จัดกิจกรรมกับตำรวจยังได้ตกลงเงื่อนไขกันว่า เมื่อเดินไปถึงหน้าศาลแพ่ง ทำกิจกรรม ให้สัมภาษณ์นักข่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวแทนที่เป็นผู้ฟ้องคดีและทนายความจะเดินเข้าไปยื่นฟ้องในศาล ส่วนประชาชนที่เหลือที่มาให้กำลังใจจะเดินกลับมาที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่รวมตัวรอที่หน้าศาล เมื่อยื่นฟ้องคดีเสร็จแล้วถึงจะขึ้นรถและออกเดินทางไป สน.วังทองหลางจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
 
เมื่อเริ่มขบวนเดิน มีตำรวจในและนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งคอยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร และคอยเตือนให้ผู้ชุมนุมเดินแต่บนฟุตบาทเท่านั้น ไม่ลงบนพื้นผิวถนน ขณะที่ยังมีตำรวจในเครื่องแบบบางคนแจ้งกับผู้ชุมนุมเป็นระยะว่า ห้ามชูป้ายเนื่องจาก "เป็นเขตศาล" ซึ่งผู้ชุมนุมไม่ยอมและโต้เถียงกลับว่า ไม่มีกฎหมายห้าม 
 
เมื่อเดินไปถึงบริเวณประตูทางเข้าศาลแพ่งมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดเครื่องแบบสีน้ำเงิน คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลและเจ้าหน้าที่ศาลมายืนรอต้อนรับ โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวก็แจ้งเพียงว่า ให้ชูป้ายเฉพาะบริเวณนอกรั้วและเมื่อเข้าไปในรั้วให้เก็บป้าย โดยไม่ได้สั่งให้เก็บป้ายตั้งแต่นอกรั้วแบบที่ตำรวจสั่งก่อนหน้านี้
 
 
 
1479
 
1480
 
 
โชว์ฝึกแถว แย่งใช้พื้นที่หน้า สน.
 
ก่อนวันจัดกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรมได้เดินทางไปที่ สน.วังทองหลาง เพื่อดูพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมล่วงหน้า และพบว่าบริเวณหน้า สน.มีพื้นที่กว้างขวางและร่มรื่น หน้าประตูทางเข้ามีกันสาดยื่นออกมาเป็นพื้นที่กว้างที่ให้คนยืนรวมกันได้มากกว่า 50 คน จึงสามารถทำกิจกรรมภายใต้บริเวณกันสาดได้เพื่อหลบความร้อนของแสงแดดในช่วงเที่ยง โดยในวันก่อนจัดกิจกรรมได้เห็นเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานครพร้อมรถบรรทุกสีเขียวกำลังตัดต้นราชพฤกษ์ขนาดใหญ่ที่บริเวณหน้า สน. เบื้องต้นคาดว่า การตัดต้นไม้เป็นเพราะเกรงว่าจะโตไปพันกับสายไฟ เนื่องจากเห็นว่า มีต้นประดู่จำนวนหนึ่งมีกิ่งใหญ่ที่พัวพันกับสายไฟอยู่
 
ในวันจัดกิจกรรม เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางโดยขบวนรถแห่มาถึงหน้า สน.วังทองหลางในเวลาประมาณ 12.45 ก็เห็นว่า ต้นประดู่ที่กิ่งพันกับสายไฟยังไม่ถูกตัด แต่ต้นราชพฤกษ์ที่จะให้ร่มเงาบริเวณพื้นที่หน้า สน.กลับถูกตัดจนเตียนโล่ง ทำให้พื้นบริเวณข้างสน.ไม่มีร่มเงา 
 
ที่น่าแปลกกว่านั้น คือ บริเวณกันสาดด้านหน้าประตูทางเข้า มีตำรวจในเครื่องแบบเต็มยศและใส่เสื้อกั๊กกันกระสุนยืนเข้าแถวอยู่ประมาณ 70-80 คน ทำให้ผู้ชุมนุมที่เดินทางมาไม่สามารถไปยืนรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมให้กำลังใจผู้ต้องหาบริเวณประตูทางเข้า สน.ได้
 
การเจรจาเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ โดยมีตำรวจแต่งเครื่องแบบเต็มยศแนะนำตัวว่า อยู่ฝ่ายจราจรมาช่วยอำนวยความสะดวก ตำรวจแจ้งว่า วันนี้ทาง สน. มีนัดหมายกับ "จเรตำรวจ" จะมาตรวจแถวในเวลา 13.00 น. และซักซ้อมยุทธศาสตร์การชิงตัวประกันซึ่งเป็นกิจกรรมปกติทุกปี และจะต้องใช้พื้นที่บริเวณหน้า สน.จึงขอให้ผู้ชุมนุมยืนอยู่ด้านข้าง สน.ซึ่งเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งไม่ได้กว้างนัก ผู้ชุมนุมสอบถามกลับไปว่า เมื่อตำรวจทราบอยู่แล้วว่า วันนี้มีนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวและจะมีคนมาทำกิจกรรมให้กำลังใจ เหตุใดจึงนัดให้มีกิจกรรมทั้งสองมาชนกัน ตำรวจตอบเพียงว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ
 
1477
 
1476
 
ผู้ชุมนุมตกลงยินยอมที่จะจัดกิจกรรมบริเวณด้านข้าง สน.ตามที่ตำรวจร้องขอ และตั้งใจจัดกิจกรรมไปตามที่วางแผนกันไว้ แต่เมื่อจะนำรถเครื่องเสียงเข้ามาจอดด้านข้าง สน. ตำรวจนายดังกล่าวก็ไปยืนขวางไม่ให้รถเข้ามาโดยเด็ดขาด อ้างเหตุผลว่าจะมีกิจกรรมตรวจแถวโดยเจรตำรวจ และทางสน.ต้องการใช้พื้นที่บริเวณนั้น จนเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายต้องแย่งพื้นที่กันอยู่พักหนึ่งจึงเอารถเครื่องเสียงเข้ามาได้และทำกิจกรรมต่อไป
 
เมื่อผู้ชุมนุมใช้พื้นที่ด้านข้าง สน.ทำกิจกรรมพร้อมกับใช้เครื่องเสียง ตำรวจที่ตั้งแถวอยู่ก็เลิกแถวไป โดยไม่ได้มีจเรตำรวจเดินทางมาในเวลา 13.00 น.ตามที่กล่าวอ้างตอนแรก ทาง สน.ได้ให้ตำรวจประมาณ 10 นาย ยืนเข้าแถวกันไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดเดินเข้าไปหน้าประตู สน. ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ฝ่าแถวตำรวจเข้าไป แต่ทำกิจกรรมจนเสร็จสิ้นโดยใช้พื้นที่บริเวณด้านข้างกลางแดด 
 
หลังกิจกรรมของผู้ชุมนุมเสร็จสิ้น มีรถตู้หนึ่งคันเข้ามาจอดส่งตำรวจในเครื่องแบบ 2 คน ซึ่งเดินมาที่บริเวณหน้า สน. ก่อนที่ตำรวจที่ สน.วังทองหลางประมาณ 30 คน จะมาตั้งแถวและโชว์ท่าทางการฝึกเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะเลิกแถวไป 
 
 
1478
 
 
ทั้ง 3 เหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงวิธีการและเป้าหมายที่ตำรวจใช้เพื่อรับมือการจัดกิจกรรมชุมนุม โดยตำรวจจะพยายามใช้วิธีที่ "อ่อนโยน" ก่อน เริ่มจากการเจรจาพูดคุย เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการก็ยกกฎหมายขึ้นมาขู่ แม้ว่ากฎหมายนั้นจะมีอยู่หรือไม่ก็ตาม โดยหวังว่าผู้ชุมนุมที่ไม่มีความรู้กฎหมายมากพอจะหลงเชื่อและปฏิบัติตาม จนสุดท้ายเมื่อไม่มีข้อกฎหมายที่จะใช้อ้างอิงเพื่อห้ามการชุมนุมได้ก็จะคิดเทคนิคในทางกายภาพเพื่อทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยไม่สะดวก หรือไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ
 
จึงอาจสรุปภาพรวมได้ว่า เมื่อตำรวจได้รับคำสั่งจาก "นาย" ว่าต้องไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้น แต่กฎหมายที่มีอยู่ในมือไม่ให้อำนาจตำรวจในการห้ามการชุมนุม ตำรวจจึงต้องสรรหาวิธีการ "นอกกฎหมาย" มาใช้ ซึ่งกระทบต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ หากผู้ชุมนุมไม่ได้ศึกษากฎหมายมาดีพอก็อาจหลงเชื่อข้ออ้างของตำรวจและยอมจำกัดเสรีภาพของตัวเองลงได้
 
 
 
 
Article type: