1372 1146 1737 1997 1910 1792 1347 1176 1760 1801 1702 1064 1968 1449 1880 1384 1792 1121 1151 1800 1688 1657 1057 1804 1282 1799 1286 1973 1808 1737 1634 1939 1652 1955 1179 1865 1346 1903 1355 1220 1312 1620 1882 1853 1013 1376 1710 1073 1375 1164 1782 1422 1551 1530 1031 1543 1770 1942 1756 1341 1382 1416 1033 1453 1517 1964 1647 1426 1710 1103 1707 1083 1810 1128 1819 1333 1187 1293 1239 1629 1364 1054 1978 1208 1436 1428 1959 1620 1536 1332 1218 1556 1415 1627 1595 1410 1849 1971 1944 ชุดไทย น้ำปลาร้า มาตรา 112 และชีวิตพลิกผันของ นิว จตุพร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ชุดไทย น้ำปลาร้า มาตรา 112 และชีวิตพลิกผันของ นิว จตุพร

 
29 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเนรมิตถนนสีลมให้กลายเป็นถนนสายแฟชั่น ด้วยกิจกรรม "รันเวย์ของประชาชน" เดินแฟชั่นสะท้อนการเมือง ในวันนั้นมีผู้ร่วมกิจกรรมสวมเสื้อผ้าแฟนซีสอดคล้องการเมืองมาประชันกัน 
 
นิว หรือจตุพร การ์ดอาสา We Volunteer - Wevo ที่เราคงคุ้นตาในภาพผู้ร่วมกิจกรรมร่างเล็ก ไว้ผมตัดสั้นในชุดไทยสีชมพู พร้อมด้วยร่มสีแดงและเสียงตะโกนทรงพระเจริญ เธอคือหนึ่งในคนที่ไปร่วมกิจกรรมที่ถนนสายแฟชั่น ส่วนสาเหตุที่เลือกใส่ชุดไทยสีชมพูไปวาดลวดลายบนพรมแดง เพราะคิดว่าชุดไทยคือเสื้อผ้าที่ใครๆ ก็สวมใส่ได้ 
 
หลังเข้าร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นสะท้อนการเมือง นิวยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปร่วมชุมนุมและทำหน้าที่การ์ดอาสาจนกระทั่งในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 พี่ที่รู้จักบอกเธอว่า ‘มีคนแต่งตัวเลียนแบบบุคคลสำคัญในงานเดินแฟชั่น แล้วโดนคดีมาตรา 112’ นิวคิดว่าเธอไม่ได้แต่งตัวเลียนแบบใคร คงไม่น่าจะมีอะไร แต่เมื่อดูชื่อในข่าวเธอกลับพบว่าเป็นชื่อของเธอ แม้จะเผชิญข้อหาที่หนักหน่วงทั้งที่ชีวิตเพิ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ถึง 25 ขวบปี แต่นิวก็ยังมีพลังใจที่เข้มแข็ง ยังคงมาร่วมการชุมนุมต่างๆในฐานะการ์ดอาสา และหากจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำเมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี นิวคิดว่าเธอได้เตรียมตัวไว้พร้อมรับสถานการณ์ระดับหนึ่งแล้ว 
 
1789
 
 
++วัยเด็กที่ต้องดิ้นรนและสภาวะ "ตาสว่าง"++
 
นิวเล่าว่าเธอเกิดและเติบโตในครอบครัวคนจีนที่ตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สมัยเด็กๆครอบครัวของเธอฐานะไม่ดีนัก พ่อและแม่ต้องประกอบอาชีพหลายอย่างเพื่อสร้างฐานะ ทั้งรับเหมาทำถนนดินดำ ไปจนถึงทำนา จนเมื่อ 7 - 8 ปีที่แล้วฐานะของที่บ้านค่อยๆเริ่มดีขึ้น เมื่อเล่าถึงตรงนี้นิวกล่าวแบบติดตลกว่า เธอเคยคิดว่ามันคงเป็นกรรมเก่าของเธอหรือไม่ชาติที่แล้วก็คงทำบุญน้อยถึงได้เกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ดี 
 
ตัวนิวเองเมื่อเรียนจบชั้นป. 6 เธอตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปเรียนกศน.แทนการเรียนสายสามัญ นิวรีบปฏิเสธทันควันเมื่อถูกถามว่าที่ต้องไปเรียนกศน.เป็นเพราะฐานะทางบ้านหรือไม่
 
"หนูมีความฝันที่ค่อนข้างชัดว่าอยากเป็นเชฟ อยากเปิดร้านอาหาร หนูอยากเข้ามาเรียนประกาศนียบัตรทำอาหารที่กรุงเทพ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้ามาเรียน"
 
"ด้วยความที่หนูชอบเที่ยวแล้วก็ไม่อยากกวนเงินที่บ้าน หนูเลยเริ่มหางานทำตั้งแต่สมัยเด็ก ตอนเรียนป.6 หนูเคยไปรับจ้างกรอกปุ๋ยขี้ไก่ใส่กระสอบ เค้าจ่ายกระสอบละหนึ่งบาท ทำตั้งแต่ดึกๆ ค่ำๆ ไปจนถึงประมาณตีสาม กรอกได้วันละประมาณ 200 - 300 กระสอบ ไม่ใช่กรอกอย่างเดียว กรอกเสร็จต้องแบกไปตั้งด้วย ตั้งเป็นชั้นๆ ชั้นละ 5 กระสอบ แบกเองนะเนี่ยเห็นตัวเล็กๆแบบนี้"  
 
"นอกจากกรอกปุ๋ยแล้วต่อมาหนูก็มาทำอย่างอื่น เริ่มจากทำร้านดอกไม้ ร้อยพวงมาลัย ทำบายสีพวงหรีดหนูทำได้หมด อันนี้ถ้าใครสนใจก็จ้างได้นะ หนูยังทำได้อยู่"
 
"พอเสร็จจากทำร้านดอกไม้หนูก็เริ่มมาทำร้านอาหาร และเป็นผู้ช่วยเชฟที่โรงแรมแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ งานหลักๆ คือหนูมีหน้าที่เอาวัตถุดิบมาปรุงรสแล้วส่งให้เชฟเอาไปปรุงต่อ หนูทำงานที่โรงแรมนี้ประมาณ 7 เดือนก็มีการระบาดของโควิด จนเศรษฐกิจเริ่มแย่แขกเริ่มมาน้อย หนูหันไปก็เห็นว่ามีเพื่อนร่วมงานที่เขากำลังตั้งท้อง แล้วหนูก็กลัวว่าเขาอาจจะต้องตกงาน หนูเลยสมัครใจลาออกมาเพื่อให้เพื่อนยังมีงานทำต่อไป"
 
นิวระบุว่าตัวเธอเริ่มมองเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประเทศนี้ไม่ใช่เกิดจากความขี้เกียจหรือ "ทำบุญไม่พอ" แต่เป็นเพราะโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของสังคมไทย
 
"ตอนทำงานที่ร้านอาหารกึ่งผับแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ หนูได้ค่าแรงแค่วันละ 250 บาท ประกันสังคมไม่มี เจ็บป่วยรักษาเอง ทำงานทั้งวัน หนูว่ามันไม่ใช่ละ จะขยันให้ตายยังไงคุณภาพชีวิตก็ไม่มีทางดี มันไม่ใช่เรื่องว่าหนูหรือใครทำบุญมาน้อย แต่โครงสร้างสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เราเติบโตหรือมีโอกาสมีชีวิตที่ดี"
 
 
++จากแฟลชม็อบแดนภูเขาไฟ สู่แฟลชม็อบใจกลางกรุง++
 
ปี 2562 มีการจัดเลือกตั้งทั่วไป หลังประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของคสช.มาเป็นเวลาประมาณ 4 ปี กับอีก 10 เดือน หลังการเลือกตั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เช่นกรณีบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ (บัตรเขย่ง) หรือปัญหาการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก่อให้เกิดข้อกังขาในหมู่ประชาชน นิวติดตามสถานการณ์บ้านเมืองด้วยความไม่สบายใจ จนกระทั่งถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 หลังนิวเห็นว่าที่กรุงเทพมีการจัดการชุมนุมโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free YOUTH เธอเฝ้ารอว่าจะมีการจัดกิจรรมในพื้นที่หรือไม่ แต่ปรากฎว่าไม่มีจึงตัดสินใจลุกมาทำเอง
 
"ที่บุรีรัมย์หนูพอรู้อยู่บ้างว่าคงขยับอะไรยาก อย่างตอนวิ่งไล่ลุงก็จัดกันได้อย่างยากลำบาก พอเห็นกรุงเทพเขาจัดม็อบหนูก็รอคนจัดที่บุรีรัมย์แต่ปรากฎว่าไม่มีใครจัดสุดท้ายหนูก็เลยกลายเป็นคนออกมานำเอง ถามว่าตอนที่คิดจะจัดม็อบที่บุรีรัมย์กลัวไหม ตอนนั้นหนูยังไม่มีประสบการณ์หนูก็กลัวนะ แต่ก็อยากจัดมากกว่า”
 
“ช่วงเดือนสิงหาปี 63 พอดีมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งเขาไปเปิดแฟลชแล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก หนูเลยทักไปหาเค้าจนสุดท้ายเราก็ทำกิจกรรมด้วยกัน หลังจากนั้นเราก็เลยตั้งกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก แล้วจัดแฟลชม็อบในพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ครั้งนั้นมีเพื่อนของหนูชวนพี่โต้ (โตโต้ - ปิยรัฐ จงเทพ) มาร่วมปราศรัยด้วย หนูเลยมีโอกาสรู้จักพี่โต้เป็นครั้งแรก แต่ตอนนั้นหนูยังไม่รู้ว่าพี่เขาทำทีมการ์ดอาสาด้วย”
 
“ตอนที่จัดแฟลชม็อบที่บุรีรัมย์หนูก็ไม่ได้ถูกคุกคามอะไร แต่มีน้องในทีมมาเล่าให้ฟังว่ามีคนไปตามที่บ้าน หนูสังเกตในหลายๆครั้งแล้วว่าเวลาจัดงานอะไรตัวหนูเองจะไม่ถูกคุกคามอะไรแต่เป็นคนรอบข้างที่โดนเหมือนเค้าพยายามมาตัดแขนตัดขาหนู"
 
"หลังจัดแฟลชม็อบที่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 8 สิงหาคม หนูกับคนในกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกเลยประกาศระดมทุน ได้เงินมาประมาณ 4000 บาท เราสามคนนั่งรถทัวร์มาจากบุรีรัมย์แล้วก็มาเช่าห้องที่ข้าวสารนอนคืนหนึ่งระหว่างที่มาร่วมชุมนุมหนูก็จะถ่าย live ลงในเพจบุรีรัมย์ปลดแอกด้วย”
 
“หลังจากนั้นวันที่ 19 กันยา หนูก็มาร่วมชุมนุมด้วย ครั้งนั้นหนูสมัครเป็นการ์ดมวลชนอาสาด้วย คือจริงๆหนูจะมาชุมนุมเฉยๆก็ได้นะ แต่หนูคิดว่าหนูอยากช่วยอะไรบ้าง หนูเองก็ปราศรัยไม่เก่ง แต่หนูคิดว่าหนูสามารถเป็นการ์ดได้ ช่วยดูแลความปลอดภัยได้ พอเห็นว่าเขาเปิดรับสมัครการ์ดหนูก็เลยสมัคร หนูถึงได้รู้ว่าพี่โต้เขาอยู่ในทีมการ์ดอาสา"
 
นิวเล่าว่าคืนวันที่ 19 กันยายน การทำหน้าที่การ์ดของเธอก็เป็นไปตามปกติไม่มีเหตุการณ์อะไรตื่นเต้นเป็นพิเศษ จะมีบ้างที่มีข่าวการสลายในคืนนั้น ทำให้เธอต้องตื่นตัวเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีเหตุการณ์อะไร 
 
จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ก็มีเหตุการณ์ตื่นเต้นนิดหน่อยช่วงที่ผู้ชุมนุมเข้าไปผลักดันกับแนวของเจ้าหน้าที่แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงด้วยดี หลังมาร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน เธอก็กลับไปอยู่บ้านตามปกติ จนเดือนตุลาคม 2563 นิวเดินทางมาร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร 63 เธออยู่ที่กรุงเทพจนกระทั่งมีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เธอจึงตัดสินใจกลับไปจัดแฟลชม็อบที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อตอบโต้การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่
 
1790
 
 
++เบื้องหลังคือบ้านบุรีรัมย์ เป้าหมายคือบ้าน We Volunteer++
 
วันที่ 19 ตุลาคม 2563 นิวกับเพื่อนๆ และนักกิจกรรมในพื้นที่ร่วมกันจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยราชภับุรีรัมย์ ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังขึ้นสูงในวันนั้นมีคนมาร่วมชุมนุมประมาณ 2000 คน โดยนอกจากจะมีการประนามการใช้กำลังสลายการชุมนุมและขับไล่รัฐบาลแล้ว การขับไล่อธิการบดีก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนั้น ถึงแม้ว่าในวันนั้นเธอจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มันก็มีผลกระทบต่อชีวิตของเธอหลังจากนั้นมากเพราะทำให้เธอต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ
 
"หลังมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพหนูตัดสินใจกลับไปจัดชุมนุมที่บุรีรัมย์เพื่อตอบโต้การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ครั้งนั้นไปจัดร่วมกับนักศึกษาที่ราชภับุรีรัมย์ ข้อเรียกร้องครั้งนั้นมีทั้งการไล่รัฐบาลและไล่อธิการ มีคนมาร่วมชุมนุมมากถึงประมาณ 2000 คน แม้การชุมนุมจะผ่านไปด้วยดี แต่หนูก็ได้รู้มาจากพี่ที่คอยดูแลความปลอดภัยให้หนู ว่ามีผู้มีอำนาจไม่พอใจมากที่หนูจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ ที่มีคนมาร่วมหลักพัน”
 
“พี่เขาได้ยินคนคุยกันที่หลังเวทีว่าให้เอาตัวหนูลงมาเลย เขาเลยไปบอกคนที่พูดว่าขออย่าทำอะไรหนูเลย แล้วจะไปบอกให้หนูลงจากเวที สุดท้ายวันนั้นก็ผ่านไปโดยที่ไม่มีเหตุอันตรายอะไรแต่หนูก็รู้แล้วว่าคงอยู่ที่บ้านต่อไปลำบาก เค้าคงรู้สึกโกรธที่เค้าพยายามไปกดดันคนรอบข้างหนูทั้งเพื่อนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับบุรีรัมย์ปลดแอก ทั้งโทรไปหาเจ้านายเก่าแม่หนู แต่หนูก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว หนูเลยตัดสินใจว่าจะมาอยู่ที่กรุงเทพเพราะคิดว่าอยู่ที่บ้านต่อไปคงไม่ปลอดภัย
 
"พอเข้ากรุงเทพหนูก็มาอยู่ที่บ้านเช่าหลังหนึ่งกับน้องๆนักศึกษาที่อยู่ในทีม We Volunteer (เปลี่ยนชื่อมาจากมวลชนอาสา)" พอบทสนทนามาถึงเรื่องของกลุ่ม We Volunteer นิวก็เล่าเรื่องความเป็นมาเป็นไปหลายๆอย่างของทางกลุ่ม โดยหวังว่าสังคมจะได้รู้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชื่อของกลุ่ม We Volunteer มักถูกมองอย่าง "ไม่เป็นมิตร" ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและโดยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์บางส่วน 
 
"คนข้างนอกมักเข้าใจว่าวีโวเป็นกลุ่มกองกำลังจัดตั้งบ้าง เป็นพวกหัวรุนแรงบ้าง หรือเป็นกลุ่มที่มีเงินถุงเงินถังบ้าง อันนี้คงเป็นความเข้าใจของแต่ละคน สำหรับสิ่งที่หนูจะเล่าต่อไปนี้หนูก็แค่อยากเล่าจากสิ่งที่ประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น"
 
"บ้านที่ we volunteer เช่าอยู่เป็นตึกแถวห้องเล็กๆ ส่วนใหญ่เราก็ใช้เก็บของอย่างพวกลำโพง แล้วก็มีน้องๆที่ยังเรียนมหาลัยอยู่มาอยู่ด้วยกันเกือบๆ 10 คน ที่บอกว่าพวกเรามีเงินถุงเงินถังเนี่ย หนูอยากให้มาเห็นตอนที่พวกเรานั่งแพ็คเสื้อขายจังเลย (หัวเราะ)" 
 
"ส่วนที่บอกว่า We Volunteer เป็นกองกำลังมีอุปกรณ์ครบชุดนั่น จริงๆแล้ว We Volunteer  มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนกลางให้ทีมงานแค่หมวกนิรภัย หน้ากากกันแก๊สแล้วก็แว่นตาเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์อื่นๆที่เห็นอยู่พวกเราบางคนซื้อกันเองเป็นการส่วนตัวเพราะเราต้องเซฟตัวเอง อย่างหนูเองหลังๆก็ไม่ได้ใส่แล้วทั้งหมวกทั้งหน้ากากเพราะเอาเข้าจริงถ้าเขาจะสลายของพวกนี้มันก็ไม่ได้ป้องกันได้มากนัก"
 
"ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรง เวลาคุยกัน ทีมเราจะย้ำเรื่องสันติวิธีตลอด หน้าที่ของการ์ดอาสาไม่ใช่การทำร้ายใครแต่เป็นแค่การดูแลความปลอดภัยให้คนมาชุมนุม หาทางหนีทีไล่ที่ปลอดภัยกรณีมีการสลายการชุมนุมแค่นั้น”
 
“ตัวหนูเองก่อนหน้านี้ก็เคยเตรียมน้ำปลาร้ากรอกใส่ถุงเตรียมไว้ขว้างหากเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังสลาย เวลาจะไปชุมนุมหนูก็แบกน้ำปลาร้าไป หนักก็หนัก ตอนกรอกก็เหม็น แต่พอเอาไปก็ไม่เคยได้ใช้เพราะถ้าเจ้าหน้าที่เขาไม่ใช้กำลังสลายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ หนูแบกน้ำปลาร้าไปเก้อหลายครั้ง พอไม่ได้ใช้ก็เอากลับมาเทแถวบ้านเหม็นไปอีก จนหลังๆหนูก็ไม่เอาไปแล้วเพราะเอาไปก็ไม่ได้ใช้หนักเปล่าๆ"
 
"หนูเองก็กังวลนะตอนคิดเรื่องน้ำปลาร้า ว่ามันสันติไหม แต่พอคุยในทีมเค้าก็บอกว่าผู้ชุมนุมเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่จับด้วยการใช้กำลัง น้ำปลาร้าอย่างมากก็เหม็นแต่คงไม่ถึงขั้นทำให้บาดเจ็บหรือล้มตาย" 
"ที่บอกว่า WeVo เป็นพวกหัวรุนแรง หนูอยากให้มาเห็นตอนพวกน้องๆเขาอยู่บ้านกันจัง เวลาอยู่บ้านถ้าไม่ได้แพ็คเสื้อหรือแพ็คสินค้าที่ระลึก น้องบางคนก็นอนเล่นเกมโทรศัพท์ บางคนก็ดูการ์ตูนเหมือนเด็กทั่วไป"
 
1791
 
 
++ เดินแฟชั่น โฆษณาสินค้า และมาตรา 112 ++
 
29 ตุลาคม 2563 กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมศิลปะ "รันเวย์ของประชาชน" ที่ถนนสีลม นิวและทีม We Volunteer ไปร่วมกิจกรรมด้วยโดยพวกเขานำร่มซึ่งเป็นของที่ระลึกประจำกลุ่มไปขายเพื่อหาเงินทำกิจกรรม นิวคิดว่าไหนๆ งานนี้ก็เป็นกิจกรรมศิลปะ และมีการเดินแฟชั่นเธอเลยแต่งชุดไทยขึ้นไปร่วมเดินด้วย โดยนอกจากจะเป็นการร่วมกิจกรรมแล้วยังเป็นการโฆษณาขายของด้วย  
 
"วันที่มีกิจกรรมศิลปะราษฎรที่สีลม หนูก็เตรียมชุดไทยไปใส่เดิน ที่เลือกชุดไทยเพราะคิดว่าใครๆก็ควรใส่ได้ แล้วหนูเองก็ไม่เคยแต่งตัวแบบนั้นเลยก็อยากลองดูสักครั้ง หนูถึงกับลงทุนไปเช่าชุดมาเลย 700 บาท”
 
“ตอนที่ขึ้นไปเดินบนฟลอร์หนูไม่รู้จักใครเลยนะ ยกเว้นน้องคนที่เดินถือร่มซึ่งก็เป็นทีม Wevo ร่มสีแดงที่ถือก็เป็นร่มที่ทางกลุ่มทำขาย ส่วนปลอกสีเขียวๆที่อยู่บนพานก็เป็นปลอกแขนของ Wevo พอหนูเดินขึ้นไปบนพรมแดงก็มีคนตะโกนเชียร์ มีคนตะโกนทรงพระเจริญๆ แล้วก็มีคนหนึ่งทำท่าก้มลงกราบเท้า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหนูไม่ได้รู้จักใครเลย แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจแต่งตัวเลียนแบบใคร หนูแค่อยากไปร่วมกิจกรรมสนุกๆและก็เอาร่มของ Wevo ไปประกาศขายแค่นั้น แต่ปรากว่ามีคนมาถ่ายรูปหนูเต็มเลย พอเขาถ่ายหนูก็ได้แต่ยืนสวยๆให้เขาถ่าย ไม่คิดเลยว่ามันจะมาถึงขนาดนี้"
 
"กลับมาจากงานวันนั้นหนูก็ใช้ชีวิตปกติ วันที่ 10 ธันวาที่มีการชุมนุมหนูก็ไปเป็นการ์ด ตอนนั้นเองมีพี่ที่รู้จักส่งข้อความมาว่ามีคนส่งข้อความว่ามีคนแต่งตัวเลียนแบบพระราชินีแล้วถูกดำเนินคดี 112 หนูก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะก็ไม่ได้แต่งตัวเลียนแบบใคร จนกระทั่งพี่เค้าถามว่า อ้าวแล้วชื่อในข่าวไม่ใช่ชื่อเราเหรอ พอหนูดูดีๆก็เห็นเออชื่อเราหนิ ก็เลยโทรบอกแม่ว่า แม่หนูโดนหมายนะ แม่ก็ถามว่าคดี 112 แม่ก็ตกใจ ร้องไห้ หนูก็บอกแค่นี้ก่อนนะแม่"
 
"ที่หนูวางหูจากแม่ไม่ใช่อะไรหรอก หนูเองก็ทำอะไรไม่ถูก ก็ได้พี่โต้นี่แหละช่วยติดต่อกับทนายให้ ก็เลยได้คุยกับทางศูนย์ทนายฯ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) พอคุยกับทนายก็ตัดสินใจว่าจะสู้คดีแล้วก็ไปรายงานตัว วันที่เข้ารายงานตัวหนูก็แต่งชุดไทยเต้นขึ้นสน.แล้วก็ฉีกหมายทิ้งมันตรงนั้น หนูแค่อยากแต่งชุดไทยไม่ได้คิดว่าจะเลียนแบบใครหรือไปดูหมิ่นอะไรใคร แต่ในเมื่อหนูถูกตั้งข้อหาแบบนี้หนูก็เลยฉีกหมายซะเลย ในเมื่อผู้มีอำนาจไม่ทำตัวให้น่าเคารพก็ไม่ต้องเคารพกัน" 
 
"พอหนูโดนคดีแล้วมีอยู่วันหนึ่งหนูไปร่วมคลับเฮาส์ ก็มีพี่คนหนึ่งสารภาพว่าเขาเป็นคนก้มกราบหนูเองหนูก็ว่าเขาไปว่าดูซิพี่ทำหนูโดนคดีเลย" 
 
"เหตุการณ์วันนั้นไม่ได้จบลงแค่หนูโดนคดีนะ หนูโดนหมายหัวทำร้ายร่างกายด้วย หนูไปเห็นมีคนโพสต์ว่าใครตบหนูได้ให้ 5000 บาท มันต้องขนาดไหนถึงหมายมั่นปั้นมือทำร้ายกันแบบนี้ บางคนก็ไปขุดเรื่องเพศสภาพของหนูมาว่าโจมตี บอกว่ามึงจะไปทำอะไรใครเข้าได้เพศตัวเองมึงยังสับสน บางคนก็ขุดโคตรเหง้าหนูมาด่าว่าเป็นคนจีนมาพึ่งใบบุญแล้วไม่สำนึกอะไรแบบนั้น ตอนแรกหนูก็อ่านคอมเมนท์พวกนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันกัดกร่อนจิตใจ หลังๆเลยไม่อ่าน ไม่สนใจ เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ตัวหนูเองไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าจะมีปัญหาก็เรื่องของพวกมึง" เสียงของนิวที่ราบเรียบเจือเสียงหัวเราะมาตลอดดูจะแข็งกร้าวขึ้นเมื่อพูดถึงตรงนี้
 
"สำหรับเรื่องคดีถ้าสุดท้ายแล้วจะต้องถูกขังหนูก็พร้อมแล้ว นี่หนูก็กลับไปบ้านไปจ่ายค่างวดรถ ค่าอินเทอร์เน็ต ฝากฝังหมาแมวกับที่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะติดกี่ปี พอได้ออกมาหนูก็จะเคลื่อนไหว จะสู้ต่อ จริงๆหนูก็เคยฟังเรื่องสภาพชีวิตที่เลวร้ายในคุกมาอยู่บ้างนะตอนที่รุ้งมาออกคลับเฮาส์ แต่ก็แอบมีคนแซวหนูว่าถ้าต้องเข้าไปอยู่จริงๆก็คงมีนักโทษหญิงมารุมแย่งหนูกัน (หัวเราะ) แต่เอาแบบจริงจังนะ เท่าที่ฟังมาคุณภาพชีวิตในนั้นมันแย่มาก มีนักโทษอัดในห้องเดียวกัน 50 คน แล้วอ้างว่ากักโรค หนูไม่เข้าใจว่ามันจะไปกักยังไง"
 
"แม่เค้าก็เป็นห่วงนะ จริงๆต้องบอกว่าทั้งพ่อทั้งแม่หนูไม่มีใครสนใจการเมืองเลย แต่พอหนูมาโดนแบบนี้เวลามีนัดชุมนุมแม่เค้าโทรมาหาตลอดว่าไปยัง เวลามีใครโดนจับแล้วได้ปล่อยตัวก็โทรมา กลายเป็นคนสนใจการเมืองไปเลย ส่วนพ่อก็ไม่สนใจเหมือนเดิม"
 
"จะบอกว่าแม่หนูเข้าใจสิ่งที่หนูทำก็พูดได้นะแต่ก็มีบางจังหวะเหมือนกันที่เค้าโทรมาตัดพ้อทำนองว่าทำไปทำไม ทำไปแล้วได้อะไร ก็เข้าใจแหละว่าเขาห่วง"
 
 
++ นิว (แบ็ค ทู) นอร์มอล ++
 
โควิด 19 อาจทำให้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนเกิดคำเรียกว่า "นิว นอร์มอล" แต่สำหรับนิว หมายเรียกคดีมาตรา 112 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในคดีร้ายแรงแห่งยุคสมัย ไม่ได้ทำให้ความคิดหรือวิถีชีวิตของเธอเปลี่ยนไป หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ยานนาวาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ นิวก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ในพื้นที่การชุมนุมเธอยังคงทำหน้าที่เป็นการ์ด 
 
ในวันที่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหา เธอคือผู้สนับสนุนที่ติดตามไปให้กำลังใจ และในบ้าน We Volunteer เธอคือแม่ครัว 
 
"ที่บ้านวีโว่หนูคือแม่ครัวที่มีหน้าที่คอยดูแลให้น้องๆทุกคนอิ่มท้อง ถ้าไม่ทำกับข้าวให้กินก็จะเป็นคนคอยสั่งข้าวมาให้ทุกคนกิน ยิ่งตอนพี่โต้ถูกจับ (ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ พร้อมสมาชิกกลุ่ม Wevo 4 รวมสี่คนถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธินในวันที่ 6 มีนาคม 2563 และถูกฝากขังในเรือนจำด้วยข้อหาอั้งยี่ - ซ่องโจร ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2564 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 2 เมษายน 2564 แต่ก็ถูกอายัดตัวด้วยหมายจับคดีอื่นต่อทันที) หนูยิ่งต้องคอยดูแลน้องๆ"
 
"วันที่ 6 ที่พี่โต้กับน้องๆในกลุ่มถูกจับ หนูกลับไปพักผ่อนที่บ้านที่บุรีรัมย์ พอเกิดเรื่องน้องๆในกลุ่มหลายคนเสียขวัญหนูก็เลยรีบกลับมากรุงเทพ หนูบอกน้องๆว่า เดี๋ยวจะกลับมาทำกับข้าวให้กิน กลับมาทำให้ทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้มเหมือนเดิม แต่มันก็ได้แค่ระดับหนึ่ง"
 
"ตอนที่พวกเราเอากุ้งไปขายที่สนามหลวงช่วงสิ้นปี 63 เราโดนสลาย แต่วันนั้นทุกคนยังไปต่อได้ เรารันงานกันต่อได้ แต่เหตุการณ์วันที่ 6 มีนา มันต่างไป หลายคนเสียขวัญ แล้วก็ซึมกันไป สำหรับหนูภาพที่เขาเอาตัวพี่โต้กับคนอื่นๆกดลงบนพื้นทั้งที่ไม่ได้ขัดขืนการจับกุมหรืออะไรมันเกินจะรับได้จริงๆ"
 
แม้ตัวของนิวเองมีกำหนดจะต้องเข้าฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 30 มีนาคมและมีความเสี่ยงที่จะต้องถูกคุมขังหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีและศาลไม่ให้ประกันตัวแต่นิวก็ยังห่วงสมาชิก Wevo และหวังว่าจะดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด
 
และแม้จะถูกดำเนินคดีตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่ตัวของนิวก็ยังไปทำหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุมเท่าที่โอกาสจะอำนวย รวมถึงในวันที่ 20 มีนาคม ที่กลุ่ม Redem นัดชุมนุมที่สนามหลวง ซึ่งเธอระบุว่าครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งที่เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยที่สุด
 
"เท่าที่เป็นการ์ดมา หนูคิดว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาน่าจะเป็นครั้งที่อันตรายที่สุด คือครั้งก่อนๆ เวลาเจอกับคฝ. (เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน) เรารู้ว่าจะเจออะไร เราเห็นทุกอย่างตรงหน้า แต่ในวันที่ 20 มันเป็นการกระทำของบุคคลที่ไม่ทราบฝ่าย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการชุมนุม เราไม่เห็นว่ามันมาตอนไหน ตอนนั้นการชุมนุมเลิกแล้ว หนูกับทีม Wevo กำลังกินข้าวกันอยู่ แล้วเราก็เห็นคนถูกยิงต่อหน้าต่อตา เรื่องแบบนี้เราไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจะถูกลอบทำร้ายตอนไหนก็ได้ซึ่งมันไม่โอเคเลย" เมื่อถามว่าในฐานะการ์ดเธอมีอะไรอยากฝากบอกผู้ชุมนุมไหม นิวตอบว่า
 
"หนูอยากฝากบอกพี่ๆ ป้าๆ ทุกคนว่าในที่ชุมนุมถ้าหนูหรือการ์ดบอกให้ออก จะไม่ฟังพวกเราก็ได้ แต่ขอให้รักษาตัว ป้าๆบางคนบอกว่า ไม่ต้องห่วงหรอก ป้าแก่แล้ว เขาไม่ทำป้าหรอก แต่มันไม่ใช่ เราก็เห็นกันอยู่ถ้าเขาจะจับหรือจะปราบจะอายุเท่าไหร่ก็เหมือนกัน อย่าคิดว่าเขาไม่กล้าทำ อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ปลอดภัย"
 
"อีกอย่างคือเรื่องเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ถ้าใครถูกถ่ายรูปให้ถ่ายกลับเลย พวกนี้มันจะกลัวเราถ่ายกลับ หนูทำแบบนั้นตลอด เคยมีคนหนึ่งปลอมตัวใส่หน้ากากยกเลิก 112 มาถ่ายหนูแต่ลืมปิดแฟลช หนูเลยถ่ายกลับมันก็เดินหนีเลย จริงอยู่นอกเครื่องแบบบางคนไม่เนียนเพราะแต่งตัวยังไงก็ขาวสามด้าน แต่ก็ต้องระวังหนูได้ยินว่าเดี๋ยวนี้บางคนปลอมตัวเนียนขึ้น แถมการถ่ายบางทีเขาใช้ถ่าย live หรือ ถ่ายแบบซูมหน้า ต้องระวัง ถ้ารู้ว่าโดนถ่ายก็ถ่ายกลับไปเลย"
 
 
++อนาคตที่อยากจะเป็น++
 
เมื่อถามนิวถึงอนาคตบ้านเมืองเราว่า ‘ถ้าบ้านเมืองดีขึ้น ถ้าหลุดพ้นคดี เธออยากจะทำอะไร’ นิวตอบเราทันทีเลยว่า
 
"หนูอยากเป็นแม่ครัว อยากเปิดร้านอาหาร อยากจับมีดจับตะหลิว แต่ทุกวันนี้ต้องมาจับคีมตัดลวด (หัวเราะ) แต่ถ้าบ้านเมืองยังเป็นอย่างงี้หนูก็จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ จริงๆWevo ก็เคยคุยกันว่าเราอยากทำรถขายอาหาร ข้าวแกงถุงละ 20 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ถ้าเราไปทำตอนนี้ก็คงถูกสลาย "
 
 
"ถามว่าหนูจะหยุดเคลื่อนไหววันไหนเหรอ ก็ต้องเป็นวันที่เราเป็นประชาธิปไตยคือบรรลุสามข้อเรียกร้องนั่นแหละ"
 
 
 
Article type: