1223 1935 1441 1460 1530 1825 1982 1435 1863 1432 1652 1133 1795 1424 1032 1851 1987 1399 1186 1764 1844 1178 1636 1220 1760 1872 1478 1228 1637 1142 1031 1925 1778 1446 1184 1680 1799 1853 1472 1932 1725 1643 1808 1476 1525 1114 1612 1574 1363 1353 1229 1574 1893 1462 1499 1596 1197 1427 1111 1450 1521 1192 1604 1522 1786 1513 1909 1042 1513 1165 1899 1235 1001 1101 1565 1749 1116 1218 1707 1687 1615 1507 1286 1324 1053 1811 1251 1047 1709 1365 1700 1360 1054 1537 1319 1253 1422 1457 1309 เปิดสถิติข้อหา 'ความผิดต่อพระมหากษัตริย์' ที่ขึ้นสู่ศาลระหว่างปี 2549-2563 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปิดสถิติข้อหา 'ความผิดต่อพระมหากษัตริย์' ที่ขึ้นสู่ศาลระหว่างปี 2549-2563

 
ไอลอว์ขอข้อมูลคดีมาตรา 112 จากสำนักแผนและงบประมาณ ศาลยุติธรรม พบระบบเก็บสถิติของศาลเก็บแยกเป็นหมวด ทำให้ทราบจำนวนข้อหาที่อยู่ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ทั้งหมด และจากสถิติดังกล่าวพบว่า ยอดคดีฟ้องใหม่พุ่งในปี 2551 2552 และ 2558 โดยที่ช่วงปี 2557-2559 คดีจำนวนมากไปขึ้นศาลทหาร จึงไม่ได้นับรวมด้วย และเมื่อคดีจากศาลทหารโอนมาในปี 2562 ยอดรวมก็พุ่งขึ้นอีกครั้ง
 
9 มิถุนายน 2564 ไอลอว์ยื่นหนังสือต่อสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อขอทราบสถิติข้อมูลการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อาศัยสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงาของหน่วยงานราชการ ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2550 โดยขอข้อมูลสามรายการ ดังนี้
 
1. สถิติจำนวนคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แยกรายปี ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2563
2. สถิติจำนวนข้อหาความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แยกรายปี  ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2563
3. สถิติจำนวนคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีการยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ในแต่ละปี แยกรายปี ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2563
 
เมื่อยื่นหนังสือหนึ่งฉบับต่อสำนักงานศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ให้ยื่นหนังสือได้ที่สำนักแผนและงบประมาณโดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ท่ีชั้นแปด ของอาคารจอดรถ ข้างอาคารศาลอาญา เมื่อนำหนังสือขอข้อมูลไปยื่นที่ห้องของสำนักแผนและงบประมาณ มีเจ้าหน้าที่มารับหนังสือและส่งเรื่องต่อ โดยให้ผู้ยื่นหนังสือนั่งรอเป็นเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งเดินนำข้อมูลออกมาให้ เป็นกระดาษหนึ่งแผ่นเขียนว่า จำนวนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.2549-2563 ซึ่งปรากฎข้อมูลตามตารางนี้
 
ปี จำนวน
พ.ศ.2549 30
พ.ศ.2550 126
พ.ศ.2551 77
พ.ศ.2552 101
พ.ศ.2553 76
พ.ศ.2554 84
พ.ศ.2555 96
พ.ศ.2556 90
พ.ศ.2557 79
พ.ศ.2558 103
พ.ศ.2559 53
พ.ศ.2560 82
พ.ศ.2561 31
พ.ศ.2562 94
พ.ศ.2563 36
 
จากสถิติที่ได้รับมาจะเห็นได้ว่า ปีที่มียอดการฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาลมากจนเกินจำนวนร้อยข้อหา ได้แก่ ปี 2550, 2552 และ 2558 
 
ช่วงปี 2550 นั้นเป็นช่วงหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน หลังจากการรัฐประหารก็มีการเกิดขึ้นของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) และการเกิดขึ้นของ "คนเสื้อแดง" รวมทั้งมีการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหารหลายครั้งหลายพื้นที่ โดยผู้ชุมนุมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และองคมนตรีต่อการรัฐประหาร
 
ช่วงปี 2552 ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม มีการกวาดล้างการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง จากข้อมูลที่ไอลอว์บันทึกก่อนหน้านี้ ยังแตกต่างกับสถิติที่ได้รับจากสำนักแผนและงบประมาณอยู่บ้าง เพราะสถิติที่ไอลอว์พบ การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างและหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 มากกว่าช่วงปี 2552
 
ช่วงปี 2558 เป็นช่วงเวลาภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีการกวาดจับผู้ต้องหาด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก ซึ่งผู้ต้องหาส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งสถิติที่ปรากฏนี้ยังไม่รวมจำนวนคดีที่พิจารณาที่ศาลทหารอีกด้วย
 
ช่วงปี 2560 เป็นบรรยากาศทางการเมืองแบบพิเศษ จากเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ซึ่งตามมาด้วยความโกรธแค้นของประชาชน การระบายออกท่ามกลางความอึดอัด และการดำเนินคดีจำนวนหนึ่งตามมา ซึ่งมีเหตุจากช่วงปลายปี 2559 ทำให้มีสถิติจำนวนคดีที่สูงขึ้นเช่นกัน
 
ช่วงปี 2561-2563 เป็นช่วงเวลาที่มีแนวนโยบายไม่นำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดี ทำให้สถิติโดยรวมลดลง แต่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 สั่งให้โอนคดีที่ค้างอยู่ในศาลทหาร กลับมายังศาลยุติธรรม ช่วงปลายปี 2562 จึงเป็นช่วงที่ศาลยุติธรรมต้องรับพิจารณาคดีมาตรา 112 จำนวนไม่น้อยที่ค้างมาจากศาลทหาร
 
 
คำอธิบายเพิ่มเติมจากข้อมูลสถิติ
 
1. นับรวมข้อหาจากทั้งหมวด ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112
 
สถิติที่ได้จากสำนักแผนและงบประมาณ ของสำนักงานศาลยุติธรรมนี้ เป็นสถิติรวมของคดีความทุกฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงสถิติเฉพาะข้อหามาตรา 112 มาตราเดียว เจ้าหน้าที่บอกว่า ในระบบสถิติคดีของศาลยุติธรรมไม่ได้จัดเก็บแยกรายมาตรา มีแต่สถิติแยกเป็นหมวดเช่นนี้ ซึ่งมาตรา 107-111 ได้แก่ความผิดฐานปลงพระชนม์ หรือประทุษร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศไทย และจากการติดตามข่าวก็ทราบว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 110 ฐานประทุษร้ายพระราชินี ในปี 2564 หนึ่งคดีเท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏเป็นข่าวมาก่อน จึงสันนิษฐานว่า จากสถิติทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับมานี้เป็นคดีตามมาตรา 112
 
2. ใช้หน่วยเป็น "ข้อหา" ไม่ใช่คดี
 
สถิติชุดนี้ เป็นการนับจาก "จำนวนข้อหา" ไม่ใช่ "จำนวนคดี" ตามที่ขอข้อมูลไป เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงสถิติจำนวนคดี เจ้าหน้าที่บอกว่า ในระบบสถิติคดีของศาลยุติธรรมไม่ได้จัดเก็บเป็นรายคดี เพราะในคดีหนึ่งๆ อาจมีการดำเนินคดีหลายข้อหา ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ใช้หน่วยเป็นข้อหาและไม่สามารถให้ข้อมูลที่มีหน่วยเป็นคดีได้ จากการติดตามบันทึกข้อมูลของไอลอว์พบว่า การดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคดี มีการดำเนินคดีหลายกรรม จากการกระทำความผิดหลายครั้งในคดีเดียว เช่น คดีของอัญชัญ ถูกดำเนินคดีจากการอัพคลิปเสียงและโพสเฟซบุ๊ก รวม 29 กรรม  หรือคดีของสิรภพ ที่ถูกดำเนินคดีจากการเขียนบทกวีและบทความรวม 3 กรรม ซึ่งสถิติของศาลยุติธรรมจะนับทุกกรรมแยกกัน ไม่ได้นับรวมเป็นหน่วยคดี
 
3. ไม่ใช่สถิติรวมของคดีมาตรา 112 ทั้งประเทศจริงๆ 
 
สถิติชุดนี้ เป็นจำนวนข้อหาที่ "ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น" ในระบบของศาลยุติธรรมในปีนั้นๆ เท่านั้น หมายความว่า สถิตินี้จะไม่ได้นับรวม
 
1) คดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหาร ตามที่มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ประกาศให้ความผิดตามมาตรา 112 ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 12 กันยายน 2559 ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร และคดีจำนวนมากที่จำเลยรับสารภาพก็จบที่ศาลทหาร ไม่ได้เข้าสู่ระบบคดีของศาลยุติธรรม เช่น คดีของพงษ์ศักดิ์ ที่ถูกฟ้องจากการโพสเฟซบุ๊ก 6 กรรม ศาลทหารให้จำเลยจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี คดีของวิชัย ที่ถูกฟ้องจากการโพสเฟซบุ๊ก 10 กรรม ศาลทหารให้จำเลยจำคุก 70 ปี ลดเหลือ 35 ปี เป็นต้น 
 
ซึ่งไอลอว์เคยยื่นหนังสือขอทราบสถิติจากกรมพระธรรมนูญ และได้รับแจ้งมาในปี 2561 ว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ในศาลทหารกรุงเทพ มีคดีความผิดหมวดพระมหากษัตริย์ 67 คดี ในศาลทหารต่างจังหวัดมีคดีความผิดหมวดพระมหากษัตริย์ 99 คดี รวมทั้งประเทศแล้ว 166 คดี ซึ่งกรมพระธรรมนูญใช้หน่วยเป็นคดี ไม่ใช้หน่วยเป็นข้อหา 
 
2) คดีที่มีการตั้งข้อกล่าวหาในชั้นตำรวจ หรือการดำเนินคดีในชั้นอัยการ แต่สุดท้ายคดีไม่ถูกส่งฟ้องต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือเป็นเพราะเวลาผ่านไปนานแล้วแต่ก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ตัวอย่างเช่น คดีอภิปรายเรื่องประวัติศาสตร์สมัยพระนเศวร ของส.ศิวลักษณ์ ที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี หรือคดีของจารุวรรณ ที่ถูกจับจากการโพสเฟซบุ๊ก และได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบกำหนดฝากขัง ต่อมาอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี 
 
4. รวมทั้งคดีจากการแอบอ้าง ไม่ใช่เฉพาะการใช้เสรีภาพ
 
สถิติชุดนี้รวมถึงการดำเนินคดีทั้งหมดด้วยมาตรา 112 ซึ่งในยุคสมัยของ คสช. มีการตีความและนำมาตรา 112 ไปใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งการกระทำลักษณะนี้เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งน่าจะเป็นความผิดที่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายมากกว่า แต่ในการจับกุมดำเนินคดีคนกลุ่มนี้กลับเลือกใช้มาตรา 112 บางคดีพิจารณาที่ศาลทหาร บางคดีพิจารณาที่ศาลยุติธรรม ไอลอว์เคยบันทึกข้อมูลคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างไว้ได้อย่างน้อย 37 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทราบว่า "ไม่ครบถ้วน" เนื่องจากผู้ถูกดำเนินคดีประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว ไม่ต้องการเปิดเผยเรื่องราว และไอลอว์เคยถูกผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีร้องขออย่างเป็นทางการให้ลบข้อมูลคดีของเขาออกจากการบันทึกในฐานข้อมูลด้วย
 
การดำเนินคดีจากการแอบอ้างที่ขึ้นศาลทหารยังถูกสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ จำเลยบางคนไม่เข้าร่วมการพิจารณาคดี จำเลยบางคนเสียชีวิตอย่างปริศนาระหว่างการควบคุมตัว ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ไอลอว์จึงแยกชุดข้อมูลออกจากกันและเน้นการบันทึกข้อมูลการดำเนินคดีมาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ได้นับรวมคดีจากการแอบอ้างเข้าเป็นสถิติชุดเดียวกันด้วย แต่สถิติของศาลยุติธรรมนั้นรวมการดำเนินคดีมาตรา 112 ทุกประเภทเข้าไว้ด้วยกัน
 
5. สถิติคนละชุดกับรายงานประจำปี
 
ก่อนหน้านี้บนเว็บไซต์ของสำนักแผนและงบประมาณ เผยแพร่รายงานสถิติคดีประจำปี ตั้งแต่พ.ศ.2536 - 2562 ซึ่งใช้ระบบการนับสถิติเช่นเดียวกัน คือ นับสถิติคดีตามประมวลกฎหมายอาญาแบ่งเป็นหมวด ไม่ได้แบ่งเป็นมาตรา และนับหน่วยเป็นข้อหา ไม่ใช่หน่วยเป็นคดี แต่ว่าสถิติที่อยู่ในรายงานประจำปีแตกต่างกับสถิติที่ได้รับมาอย่างมาก โดยในรายงานประจำปีที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ มีสถิติจำนวนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2558 เท่านั้น หลังจากนั้นระบบเปลี่ยนการรายงาน โดยระบุเพียงจำนวนข้อหาสูงสุด 5 อันดับที่ขึ้นสู่การพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้รายงานจำนวนข้อหาความผิดที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมดเหมือนก่อนหน้านี้ 
 
โดยจากรายงานแต่ละฉบับ มีสถิติดังนี้ ปี 2549 จำนวน 30 ข้อหา ปี 2550 จำนวน 156 ข้อหา ปี 2551 จำนวน 77 ข้อหา ปี 2552 จำนวน 164 ข้อหา ปี 2553 จำนวน 478 ข้อหา ปี 2554 จำนวน 84 ข้อหา ปี 2555 จำนวน 96 ข้อหา ปี 2556 จำนวน 90 ข้อหา ปี 2557 จำนวน 79 ข้อหา ปี 2558 จำนวน 124 ข้อหา 
 
มีความเป็นไปได้ว่า ในรายงานประจำปีของที่เผยแพร่นั้นนับรวมสถิติของการดำเนินคดีของศาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งหมดในปีนั้นๆ ซึ่งอาจรวมเอาจำนวนข้อหาที่ส่งฟ้องในปีก่อนหน้านั้นแต่คดียังพิจารณาไม่เสร็จเข้ากับข้อหาที่มีการฟ้องใหม่ในปีนั้นด้วย จึงทำให้ตัวเลขรวมสูงกว่าจำนวนที่มีการยื่นฟ้องในปีนั้นๆ มาก
 
 
 
 
 
AttachmentSize
จำนวนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น ปี 2549-2563.jpeg82.63 KB
Article type: