1362 1837 1508 1932 1211 1075 1663 1068 1373 1053 1795 1777 1175 1710 1022 1476 1582 1812 1373 1450 1900 1761 1353 1786 1085 1609 1694 1791 1355 1561 1593 1762 1349 1264 1318 1306 1239 1781 1896 1319 1406 1860 1313 1968 1150 1045 1566 1919 1382 1637 1898 1918 1008 1730 1265 1884 1977 1770 1394 1959 1267 1289 1813 1749 1390 1895 1328 1425 1512 1240 1203 1448 1869 1471 1957 1808 1434 1057 1304 1441 1191 1983 1148 1856 1563 1437 1220 1947 1103 1352 1848 1284 1257 1528 1147 1256 1305 1859 1647 เสียงจากนักเรียนนายร้อยตำรวจ ในวันที่ความฝันพังทลาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เสียงจากนักเรียนนายร้อยตำรวจ ในวันที่ความฝันพังทลาย

สำหรับใครก็ตามที่ฝันใฝ่อยากเป็นตำรวจ จุดตั้งต้นที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารและต่อเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ “เอก” เป็นหนึ่งในเด็กหลายคนที่มีความตั้งใจอยากเป็นตำรวจ และในที่สุดก็สามารถฝ่าฟันการสอบมหาโหดทั้งทางวิชาการและสภาพร่างกาย เพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้
 
 
1911
 
ปัจจุบัน “เอก” เพิ่งจบการศึกษาและเริ่มทำงานเป็นข้าราชการตำรวจได้ไม่นาน ช่วงชีวิตของเขาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจจนถึงตอนนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สถาบันตำรวจต้องเผชิญกับ “การเปลี่ยนผ่าน” ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ วัฒนธรรมภายใน ไปจนถึงแรงกดดันจากสังคมที่สืบเนื่องมาจากบทบาทของตำรวจในการเป็นด่านหน้าที่ต้องปะทะกับผู้ชุมนุม ความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่เด็กนักเรียนเตรียมทหารจนมีนักเรียนผู้หนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความผิดหวังต่อระบบการเรียนการสอน เช่น มีการให้เด็กไปทำปฏิบัติการ  “ไอโอ” 
 
 
เราชวน “เอก” ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็น “เสื้อแดง” มาพูดคุยถึงความฝันในการเป็นตำรวจ ความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รวมถึงมุมมองของเขาในฐานะตำรวจรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันตำรวจท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
 
ทำไมถึงตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
 
 
“พ่อเป็นตำรวจและเราก็โตอยู่หลังโรงพัก เลยคุ้นชินและโตมาก็อยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อมาตั้งแต่เด็ก ส่วนที่เลือกเหล่าตำรวจเพราะส่วนตัวไม่ชอบทหารอยู่แล้ว ที่บ้านเป็นเสื้อแดงจากฝั่งตาและชอบทักษิณมาก เราเลยชอบทักษิณตามไปด้วย พอทักษิณโดนปฏิวัติก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราเกลียดทหาร เราเริ่มศึกษาว่าทำไมทหารต้องทำแบบนั้น แล้วก็รู้ว่าเขาทำแบบนี้กันมาตลอด เลยไม่ชอบมากขึ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เลือกเหล่าทหารทั้งที่สอบติดทหารทุกเหล่าแล้วมาเลือกเหล่าตำรวจแทน”
 
 
โรงเรียนเตรียมทหาร/นายร้อยตำรวจมีชื่อเสียงว่าระเบียบโหดมาก ตอนเข้าไปเจอเองคิดอย่างไร
 
 
“จริง ๆ ตอนเข้าไป [โรงเรียนเตรียมทหาร] ก็ไม่ได้แปลกใจกับระเบียบมาก พอจะคาดเดาได้อยู่แล้ว แต่ยังมีระเบียบยิบ ๆ ย่อย ๆ ที่เราไม่ค่อยใจว่าทำไปทำไม เช่น ต้องขัดรองเท้าให้เงายันพื้นรองเท้า แต่สุดท้ายตอนเช้าก็ต้องเอาไปเดินให้มันเละและตอนกลางคืนกลับมาขัดให้มันเงาใหม่ ระบบมันคือระบบทหาร ใช้ระบบลงโทษ จวก แดก กักอิสรภาพ มากดดัน มีถูกเนื้อต้องตัวบ้างแต่ก็ไม่มาก มีการลงโทษส่วนรวมเยอะ แต่ถามว่าเราต่อต้านระบบไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ ตอนเราเข้าไปยังไฟแรงอยู่ เขาสั่งอะไรมาก็ทำหมด เคยมีความรู้สึกท้อและอยากลาออกบ้าง เพราะรู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไป แต่สุดท้ายเราก็อยู่ต่อเพราะมีเพื่อนคอยช่วยกันดึงขึ้นมา”
  
 
“พวกที่เข้าไปส่วนใหญ่ 98 เปอร์เซ็นต์ผ่านระบบค่ายติวที่ปูพื้นฐานการใช้ชีวิตในโรงเรียนทหาร ทำให้พอจะคุ้นชินระดับหนึ่ง แต่พวกที่รับไม่ได้เลยก็มี ทั้งเรื่องการลงโทษ หรือบางอย่างที่มันผิดวิสัยของมนุษย์ปกติ เช่นการให้ผู้ชายต่อแถวกัน ‘จูงช้าง’ เรื่องแบบนี้ก็ทำให้มีคนออกไปบ้างพอสมควร อย่างรุ่นเราก็มีคนออกไปสิบกว่าคน”
 
 
คิดอย่างไรกับการที่มีเด็กเตรียมทหารออกมาเล่าถึงความผิดหวังของตนเองต่อโรงเรียน
 
 
“ที่มีคนออกมาให้สัมภาษณ์ แม้จะห่างกันไม่กี่ปี แต่มันเป็นคนละยุคกับตอนที่เราเรียนอยู่ สมัยเรายังไม่มีการมาล้างสมอง ยัดเยียดความคิดอะไรกันแบบนี้ ตอนนั้นแค่ท่องว่ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีคนต่อต้านอะไรเพราะถึงสังคมอาจจะไม่ได้ปกติมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ แต่จากที่มีคนออกมาเปิดเผยก็คิดว่ามันแย่มาก ๆ เด็กส่วนใหญ่แยกออกอยู่แล้วว่าอะไรควรไม่ควรทำ แต่พอเด็กเข้ามาแล้วถูกบังคับให้ไปทำไอโอ ทำให้เป็นเครื่องจักรไร้ค่า เหมือนเอาความฝันของเด็กสี่ร้อยคนที่อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจที่ดี มาทำลายทิ้ง”
 
 
“การเปลี่ยนรัชกาลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากที่รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เราอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจพอดี ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด การตัดผม การแสดงออก การแสดงความคิด มีคำสั่งมาใหม่มาให้รีเซ็ตระเบียบทุกอย่าง อย่างจิตอาสาก็บังคับทุกคนเป็น ให้ไปสร้างภาพเก็บขยะ ปลูกต้นไม้ และทำปฏิบัติการไอโอ ให้ไปเรียนเรื่องพระมหากษัตริย์ ไล่ยาวมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงยันรัชกาลที่ 10 เรียกง่าย ๆ ก็คือล้างสมอง แต่เอาตรง ๆ เด็กส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้ว จะมาล้างสมองในยุคนี้มันยาก รู้ ๆ กันอยู่ว่าความจริงเป็นอย่างไร”
 
 
“เอาเรื่องพื้นฐานที่สุด แทนที่พอขึ้นปีสองในโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วจะได้ไว้ผมยาวขึ้น ต้องมาโกนหัวทุกอาทิตย์ นิ้วต้องหยิบผมไม่ได้ ส่วนเรื่องการแสดงออกก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แสดงความจงรักภักดีออกมา เจอพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อไหร่ก็ต้องยืนตรง เดินผ่านก็ต้องทำความเคารพทันที ซึ่งต่างกับเมื่อก่อน เราอาจจะทำความเคารพด้วยใจอยู่แล้ว แต่ไม่มีมาจับผิดแบบในตอนนี้ เรื่องตำรวจถอดเสื้อครึ่งท่อนตอนกินข้าว ก็จะมีคนมาถ่ายรูปแล้วก็เอาไปฝึกทำโทษ คนไม่พอใจกันมาก อย่างหนังสือขอความเมตตาที่เอาออกมาเผยแพร่ก็เป็นเรื่องจริง เขาฝึกกันมานานเพื่อจะได้ทำงานเป็นตำรวจ แต่ถึงเวลาก็เอาเขาไปฝึกทรมาน ถ้าขัดขืนว่าไม่อยากไปก็โดนเอาไปขังอีก”
 
 
แล้วตอนนี้ที่เป็นตำรวจอยู่ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยไหม
 
 
“[ความเปลี่ยนแปลง] ส่งมาถึงตำรวจด้วยแน่ ๆ ทุกวันนี้ยังมีตำรวจที่ถูกเอาไปฝึกล้างสมองเพื่อเป็น local cat ซึ่งคล้าย ๆ กับหน่วยเฉพาะกิจตามโรงพักที่เอาไว้ทำงานของวัง แต่ก็ไม่มีใครอยากไป  วันที่เราไปคัด เอาทั้งหมด 8 คน จาก 14 คน มีคนสมัครใจไปแค่คนเดียว สุดท้ายก็ต้องใช้การจับฉลากซึ่งก็คือการบังคับ อย่างเราโชคดีที่ไม่โดน งานที่พวกนี้จะโดนสั่งไปทำคืองาน ว.5 ซึ่งหมายถึงภารกิจลับที่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครสั่งมาหรือทำเพื่อจุดหมายอะไร อย่างงานไอโอหรือให้สืบว่าในพื้นที่มีใครเป็นแบบไมค์ ไผ่ หรืออานนท์ไหม งานแบบนี้เรียกงาน ว.5”
 
 
“ถ้าเป็น local cat จะได้เงินประจำตำแหน่งมากขึ้น 4,000 บาท ถ้าสมัครใจไปฝึกอาจจะได้เป็นตำรวจดีเด่น การพิจารณาเลื่อนขั้นก็อาจได้รับการพิจารณาก่อนคนอื่น แต่ถึงได้ขนาดนี้คนยังไม่อยากไป เพราะเขารู้ว่าต้องไปทำงานอะไรหรือทำงานให้ใคร การไปฝึกไม่ได้สบาย ต้องไปฝึกประมาณสามเดือนในศูนย์ฝึกที่คล้าย ๆ กับค่ายกักกันล้างสมอง พอออกมาต้องทำงานที่ไม่ชอบ ตำรวจรู้กันอยู่แล้วว่ายุคสมัยนี้มันเป็นอย่างไร พวกเราขอทำงานแบบปกติดีกว่า”
 
 
“อีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งคือเคยเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งตามถนนไหม ตั้งแต่มีม็อบมา สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ได้สนใจเรื่องม็อบ ประชาชน หรือแม้กระทั่งภาพลักษณ์ตำรวจหรอก เขาสนใจแค่ว่าพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่ทุกจุดต้องปลอดภัย ทุกครั้งที่มีการประชุมก็จะพูดแต่เรื่องนี้ ให้มีการออกตรวจบริเวณที่มีการวางพระบรมฉายาลักษณ์ ห้ามมีการขีดเขียน ปาสี หรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใด ๆ เด็ดขาด คือมันเปราะบางมาก ระดับผู้กำกับเจ้าของพื้นที่ก็กลัว เพราะถ้ามีภาพหลุดไปว่ามีการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ก็จะมีปัญหาทันที หรือถ้าเผา ผู้กำกับคือซวยแบบไม่ต้องตั้งคำถามเลย โดนย้ายหรือตั้งกรรมการสอบทันที แต่ถามว่ามีประโยชน์อะไรกับประชาชนไหม ก็ไม่มี แถมแนวนโยบายแบบนี้ก็ลำบากตำรวจ ไปเพิ่มงานให้สายตรวจอีก”
 
 
ในฐานะที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อแดง” และยังทำงานเป็นตำรวจ คิดเห็นอย่างไรกับการที่ตำรวจตกเป็นเป้าโจมตีจากสังคมในปัจจุบัน
 
 
“จากที่คุยกับเพื่อนตำรวจที่ถูกส่งไปคุมม็อบมา เราพอจะแบ่งกันได้สามกลุ่มอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด กลุ่มแรกคือพวกที่ไม่ได้ชอบรัฐบาล แต่พอโดนสั่งไปคุมม็อบก็ไม่ชอบม็อบด้วยเพราะทำให้ตัวเองทำงานลำบากขึ้น บางคนโดนเกณฑ์มาจากต่างจังหวัด ต้องจากหน้าที่การงาน ครอบครัว เพื่อมาคุมม็อบ กลายเป็นว่าตำรวจพวกนี้เริ่มอคติกับผู้ชุมนุม กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไปเพราะหมั่นไส้ม็อบ พวกนี้คือตำรวจสลิ่ม ถ้าผู้ชุมนุมมาก็อยากจะกระทืบอยากจะยิงให้ตาย แต่พวกนี้ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก ตำรวจชุดคุมฝูงชน (คฝ.) แถวหนึ่ง 20 คนอาจจะมีสักสองคน กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่เกลียดรัฐบาล เข้าใจและสนับสนุนม็อบ แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทำให้การตัดสินใจตรงหน้างานมันเป็นไปได้ยาก สำหรับตำรวจผู้น้อยชั้นปฏิบัติ มันมีทั้งเรื่องหน้าที่การงานกับครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องมาก บางคนมีลูกเมีย หาเงินเลี้ยงครอบครัวคนเดียว พอเขาสั่งให้ไปม็อบก็ต้องไป หากไม่ไปก็จะโดนลงโทษตัดเงินเดือนหรือลดขั้น พอไปม็อบถ้าเขาสั่งให้ยิงแล้วไม่ยิง จะโดนขังก่อน หลังจากนั้นก็โดนสอบสวนวินัย ถ้าให้เหตุผลเข้าข้างผู้ชุมนุมก็โดนไล่ออกเลย ถามว่าถ้าตำรวจโดนไล่ออก ใครรับผิดชอบชีวิตครอบครัวของเขาได้บ้าง มันเป็นการตัดสินใจที่ถ้าไม่เจอกับตนเองก็พูดได้ยาก”
 
 
“เคยอ่านที่มีคนเขียนว่าคนที่ถูกตำรวจยิงก็มีครอบครัวเหมือนกัน เราก็เอามาคิด ระหว่างครอบครัวคนอื่นกับครอบครัวตัวเอง เราก็ต้องเลือกครอบครัวตัวเองอยู่แล้ว อาจจะมีรู้สึกผิดบ้าง แต่ทุกคนก็มีความเห็นแก่ตัวอยู่ ถามว่าถ้าไม่ยิง สุดท้ายเขาก็หาคนอื่นมาทำแทนอยู่ดี นี่คือเหตุผลว่าทำไมตำรวจถึงยังเป็นหมารับใช้จนถึงทุกวันนี้”
 
 
“เรายอมรับคำว่าหมารับใช้ของรัฐบาล มันเถียงไม่ได้ พอไปคุมม็อบก็คือไปรับคำสั่งอย่างเดียว มีคนเคยถามเราว่าถ้าเราถูกส่งไปเราจะยิงไหม เราบอกเลยว่าเราไม่ยิง อาจจะเป็นเพราะว่าพ่อเราเป็นตำรวจเลยทำให้มีอีโก้ว่าถ้าซวยขึ้นมาจะมีคนช่วย ครอบครัวเราไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง ดังนั้นเราจะไม่ยิง แล้วจะทำโทษอะไรก็ทำ ถ้าโดนไล่ออกก็จะไปหาทางรอดเอง แต่พอเราไม่ทำเขาก็หาคนอื่นที่มีปัจจัยบังคับมายิงอยู่ดี”
 
 
“ที่ผ่านมา มีตำรวจหลายคนที่โดนขังหรือลดขั้นเพราะแสดงความคิดเห็นไปในทางม็อบ ที่เห็นชัดเลยตำรวจที่ไป คฝ. แล้วชูป้าย โดนขังและลดขั้น พอมีกรณีแบบนี้เยอะ ๆ ตำรวจก็ไม่กล้า ต้องทำใจยอมรับคำด่าไป ถ้าเชียร์ม็อบแล้ววันหนึ่งเราต้องซวยขึ้นมา จะมีใครมาช่วยเราได้ไหม ก็คงไม่มี”
 
 
อุดมคติที่คิดไว้กับความเป็นจริงต่างกันอย่างไร
 
 
“ความคิดของตำรวจทุกคนคืออยากจับคนเลวมาลงโทษ แต่พอมาทำจริง ๆ แล้วมันยากที่จะบอกว่าใครดีใครเลวบ้าง เลยทำให้รู้สึกเหนื่อยบ้าง แต่อีกประเด็นหนึ่งก็คือตำรวจต้องรับใช้ประชาชนหรือเปล่า อุดมคติที่ท่อง ๆ กันมาทำไม่ได้หรอก ในความเป็นจริงตำรวจรับใช้ใคร ไม่ใช่ประชาชนอย่างเดียวแน่ ๆ มันมีคนอื่นอีก พอมีตำแหน่งหน่อยก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว พอมาเจอกับตัวเลยเข้าใจประโยคประโยคนึงเลยว่า ‘กฎหมายหมายมีไว้ใช้กับคนจนและคนที่ไม่มีเส้นสาย’ เหมือนกฎหมายในไทยมีไว้ใช้กับคนแค่บางกลุ่ม หรือพูดอีกแนวก็คือมีไว้ใช้รังแกฝ่ายตรงข้ามนั่นแหละ ดูตัวอย่างชัด ๆ ก็ม็อบเนี่ย ทำไมม็อบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถึงโดนหมายจับ แต่ม็อบฝ่ายรัฐบาลไม่มีใครไปยุ่งเลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน พอเจอแบบนี้หลายครั้ง ก็ท้อนะ หลายครั้งก็เคยคิดอยากจะลาออกจริง ๆ”
 
 
ฝากอะไรทิ้งท้ายหน่อย
 
 
“สุดท้ายนี้ก็คงไม่ได้มาขอความเห็นใจให้ตำรวจนะ แค่อยากให้รู้ว่าว่าสาเหตุจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไง แต่ก็สงสารตำรวจที่ไป คฝ. เขาไม่ได้อยากทำแบบนั้นทุกคน บางครั้งมันเลือกไม่ได้ แค่อยากให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่อยากทำร้ายประชาชน ยังมีตำรวจที่เข้าใจประชาชนอยู่ อยากให้ช่วย ๆ เหลือกัน แล้วไว้ไปเจอกันที่ม็อบครับ”
 
 
Article type: