1135 1218 1757 1636 1550 1036 1716 1441 1518 1883 1275 1398 1883 1378 1483 1829 1703 1091 1936 1310 1045 1898 1889 1641 1057 1787 1570 1859 1852 1365 1843 1953 1240 1004 1772 1660 1660 1579 1896 1955 1744 1286 1927 1765 1382 1113 1323 1770 1110 1738 1088 1700 1956 1297 1500 1805 1994 1557 1237 1699 1451 1845 1878 1336 1388 1871 1473 1225 1851 1280 1774 1594 1177 1688 1472 1033 1199 1697 1492 1065 1107 1357 1507 1008 1104 1709 1375 1646 1453 1967 1721 1849 1877 1998 1578 1249 2000 1266 1189 รวมข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ต่างชาติมีต่อมาตรา 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รวมข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ต่างชาติมีต่อมาตรา 112

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” (lèse-majesté law) เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งองค์กรระหว่างประเทศและประเทศอื่นอยู่บ่อยครั้ง นอกจากปัญหาในตัวเนื้อหาของกฎหมายเอง เช่น อัตราโทษที่สูงเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและการไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ ไปจนถึงการไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของคำว่า “ดูหมิ่น” นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังมีปัญหาในการบังคับใช้ที่ถูกตีความอย่างไร้ขอบเขต และยังไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่วางไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) เนื่องจากขาดความชัดเจน ขัดกับหลักการได้สัดส่วนและหลักความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
 
ด้วยเหตุนี้ มาตรา 112 จึงตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมระหว่างประเทศ ผ่านทั้งกลไกระหว่างประเทศ การส่งจดหมายซักถาม ไปจนถึงการออกมาให้ความเห็นของเอกราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2564 ประเทศไทยถูกต่างชาติวิจารณ์เรื่องมาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 22 ครั้ง โดยส่วนใหญ่นั้นมาจากองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และชาติตะวันตกต่าง ๆ เนื้อหามีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้และเสนอแนะให้ปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมาย
 
2023
 
ปี 2554
 
1. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณี 112 และนักวิชาการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ถูกขู่
 
วันที่: 10 มิถุนายน 2554
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: THA 5/2011
 
กระบวนการพิเศษแห่งสภาสิทธิมนุษยชน (Special Procedures of Human Rights Council) เป็นกลไกหนึ่งของสหประชาชาติที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระ ทำหน้าที่รายงานและให้คำแนะนำรัฐภาคีเพื่อตรวจสอบและปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะมีผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ดำเนินงานตามอาณัติ (mandate) ที่ได้รับมอบหมาย เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นต้น
 
สำหรับประเทศไทย ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ มักจะส่งจดหมาย (Communication) เพื่อซักถามข้อมูลจากรัฐบาลไทยในกรณีข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยผู้แทนรัฐบาลไทยก็มักจะมีจดหมายตอบกลับด้วย ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2564 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนส่งจดหมายถามรัฐบาลไทยในกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมกว่า 57 ครั้ง
 
ในกรณีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล สมยศ พฤกษาเกษมสุข และชนินทร์ คล้ายคลึง 
 
เนื้อหาของจดหมายได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา 112 เนื่องตัวบทกฎหมายยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่านิยามของ “ดูหมิ่น” นั้นคืออะไร ทำให้มาตรา 112 สามารถถูกนำมาใช้ตามอำเภอใจ และนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกได้ นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังไม่สอดคล้องกับ ICCPR ที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี ตามการตีความใน UN General Comment No. 34 เพราะไม่ได้กับหลักความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและการได้สัดส่วน
 
ผู้รายงานพิเศษปิดท้ายด้วยการแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณายกเลิกมาตรา 112
 
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2554 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ มีเนื้อหาว่าสิ่งที่ผู้รายงานพิเศษซักถามมานั้นเป็นการกระทำอย่างจงใจโดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์เข้ามาอยู่ในการเมือง และยังอาศัยประโยชน์จากเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสร้างความขัดแย้งในสังคมไทย ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย
 
ตัวแทนประเทศไทยกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว (2553) ได้แสดงให้เห็นถึงผลร้ายที่ตามมาจากการใช้สื่อในการปลุกปั่นความเกลียดชัง และยืนยันว่าการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และได้มีการจัดตั้งกรรมการที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายต่อไป
 
2. ต่างชาติวิจารณ์ไทยใน UPR ให้ยกเลิก/แก้ไข 112
 
วันที่: 5 ตุลาคม 2554
 
โดย: ประเทศต่าง ๆ ผ่านกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR)
 
 
Universal Periodic Review หรือ UPR เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) โดยประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศจะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองรวมถึงให้ภาคประชาสังคมในประเทศทำรายงานควบคู่กัน เพื่อนำเสนอคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และเปิดโอกาสให้ตัวแทนของประเทศอื่นซักถามและเสนอแนะข้อควรปรับปรุง UPR นั้นจะมีการทบทวนทุก ๆ สี่ปีครึ่ง
 
ปี 2554 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าร่วมกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตาม UPR แม้ว่ารายงานที่จัดทำโดยรัฐบาลไทย จะระบุว่าประเทศไทยพยายามที่จะ “หาสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเสาหลักของอัตลักษณ์และความมั่นคงของไทย” กับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกบุคคล แต่ในขั้นตอนการทบทวนโดยประเทศอื่น ๆ มาตรา 112 และเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต่างชาติให้ความสนใจ
 
สำหรับในการเข้าร่วม UPR ครั้งแรกของไทย มีทั้งหมด 11 ประเทศที่มีข้อเสนอแนะโดยตรงเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (lèse-majesté law) ได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นอร์เวย์ บราซิล เยอรมนี สหราชอาณาจักร สโลวีเนีย สเปน แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ และฮังการี โดยข้อเสนอมีตั้งแต่ให้ยกเลิกมาตรา 112 ไปจนถึงให้มีการปรับปรุงแก้ไขและจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการใช้กฎหมายข้อนี้ เช่น นอร์เวย์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ไทยต้องหาสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันกษัตริย์กับเสรีภาพในการแสดงออก โดยนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยและยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ “พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในด้านดังกล่าว”
 
ทั้งนี้ ตัวแทนของรัฐบาลไทยได้ตอบกลับว่า ไทยได้มีความพยายามที่จะหามาตรการเพื่อจัดการปัญหาการใช้มาตรา 112 เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทบทวนข้อกล่าวหา แต่ไทยก็ได้ปฏิเสธข้อแนะนำการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง การคงอยู่ของมาตรา 112 นั้นมีความสำคัญต่อการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ซี่งประเทศอื่นที่มีกษัตริย์ก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้
 
3. อียูกังวล กรณีศาลจำคุก “อากง” คดี 112
 
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2554
 
โดย: คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand)
 
เอกสาร: แถลงการณ์
 
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยยึดหลักนิติรัฐ (rule of law) จากกรณีศาลสั่งจำคุกอําพล ตั้งนพกุล “อากง” ส่งข้อความไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยกฎหมายมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
 
“สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยรับรองว่าจะใช้หลักนิติรัฐอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และได้สัดส่วนสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก”
 
4. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีไม่ให้ประกันสมยศคดี 112
 
วันที่: 20 ธันวาคม 2554
 
โดย: คณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยอำเภอใจ (Working Group on Arbitrary Detention) และผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: THA 9/2011
 
วันที่ 20 ธันวาคม 2554 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ดำเนินคดีกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
เนื้อหาในจดหมายแสดงความกังวลกับการดำเนินคดีกับสมยศในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่อาจจะมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของสมยศ ซึ่งรวมถึงการรณรงค์ในยกเลิกมาตรา 112 ด้วย ผู้รายงานพิเศษยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักสากล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของสมยศให้ครบถ้วน
 
ทั้งนี้จดหมายยังร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีกับสมยศตามมาตรา 112 และคำอธิบายว่าการดำเนินคดีนั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร
 
ในกรณีนี้ คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา มีจดหมายตอบกลับเพื่อชี้แจงลงชื่อโดยพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ
 
ฉบับแรกลงวันที่ 4 เมษายน 2555 ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ไทยกับประชาชนนั้นแตกต่างจากกษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากคุณูปการของสถาบันต่อการพัฒนาชาติไทย เอกสารของผู้แทนรัฐบาลไทยยกตัวอย่างโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการของรัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชวาทที่เป็นคำแนะนำที่ทรงคุณค่าต่อประชาชนไทย ดังนั้น กษัตริย์ไทยจึงไม่ใช่แค่ประมุขของรัฐ แต่ยังเป็น “ศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ” (Soul of the Nation) ความมั่นคงของชาติจึงเป็นเรื่องของความรู้สึกที่คนไทยมีต่อกษัตริย์ด้วย การโจมตีกษัตริย์สำหรับคนไทยจึงไม่ต่างอะไรกับการโจมตี “พ่อ” ของตนเอง และอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยขาดความเป็นเอกภาพได้
 
ดังนั้นการคงอยู่ของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์จึงเป็นผลมาจากฉันทามติที่สังคมไทยมีร่วมกันว่าต้องปกป้องพ่อของตนเอง ส่วนโทษที่รุนแรงกว่าหมิ่นประมาทคนธรรมดานั้นเนื่องจากการหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้โจมตีแค่บุคคลเดียวเท่านั้น แต่เท่ากับโจมตี “ทั้งสังคม” (whole society) อีกด้วย และเนื่องจากไม่ใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่ รัฐบาลไทยจะไม่แก้ไขมาตรา 112
 
ฉบับที่สองลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ชี้แจงว่าสมยศถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 จากกรณีเผยแพร่ข้อความและรูปภาพที่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ไม่ใช่จากการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และสมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวเนื่องจากถูกจับในระหว่างที่พยายามเดินทางไปกัมพูชา การที่สมยศต้องเดินทางไปขึ้นศาลในหลายจังหวัดนั้นเพื่อความสะดวกของพยานฝั่งอัยการซึ่งอาศัยอยู่คนละแห่งกัน 
 
ปี 2555
 
5. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 กับ “อากง” และ “ดา ตอร์ปิโด”
 
วันที่: 6 มกราคม 2555
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: THA 10/2010
 
วันที่ 6 มกราคม 2555 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ตัดสินจำคุกอําพล ตั้งนพกุล “อากง” เป็นเวลา 20 ปี ด้วยเหตุจากการส่งข้อความไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี และการคุมขัง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล “ดา ตอร์ปิโด” จากมาตรา 112 เช่นเดียวกัน
 
ผู้รายงานพิเศษแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ไม่ได้สัดส่วนและขาดความชัดเจนในการตีความ รวมถึงการละเลยปัญหาสุขภาพของผู้ต้องหา โดยเฉพาะดาราณีที่มีการกล่าวหาว่าถูกปฏิเสธให้การรักษา ทั้งที่หลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศให้การรับรองการปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดในเรือนจำ โดยรัฐมีหน้าที่ต้องให้การรักษาอย่างถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญก็ควรถูกส่งออกไปรักษานอกเรือนจำ
 
จดหมายยังได้สอบถามข้อมูลของคดี และรายละเอียดการให้การรักษากับอำพลและดาราณี
 
ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยยืนยันว่าอำพลได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้อง และถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการส่งข้อความที่มีเนื้อหาร้ายแรงดูหมิ่นราชินี ส่วนในเรื่องของโทษนั้นมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเนื้อหาของคดีนี้และอาจจะเข้าข่ายหมิ่นศาลไทยได้ โทษจำคุกที่อำพลได้รับกรรมละห้าปีทั้งหมดสี่กรรมรวมเป็น 20 ปีนั้นผู้แทนรัฐบาลไทยระบุว่าได้สัดส่วนแล้ว เพราะมากกว่าที่มาตรา 112 กำหนดขั้นต่ำมาเพียงแค่สองปีเท่านั้น
 
นอกจากนี้ อำพลยังไม่รับการรักษาพื้นฐานในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ อย่างไรก็ตาม อำพลเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ ซึ่งในระหว่างการรักษา ก็ได้รับอนุญาตให้ออกไปบำบัดคีโมด้วย รัฐบาลไทยยืนยันว่าอำพลได้รับการรักษาอย่างไม่เลือกปฏิบัติแล้ว
 
ส่วนกรณีของดาราณี ผู้แทนไทยระบุว่าดาราณีได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากลแล้ว ดาราณีนั้นปฏิเสธรับการรักษาเอง เนื่องจากหวังว่าตนเองจะได้รับการประกันตัว
 
6. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 กับ 58 คน
 
วันที่: 14 ธันวาคม 2555
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: THA 13/2012 
 
วันที่ 14 ธันวาคม 2555 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน 58 คนในช่วงที่ผ่านมา จดหมายแสดงความกังวลถึงการบังคับใช้และความถี่ของการใช้กฎหมาย บทลงโทษที่รุนแรง และแรงกดดันที่ตุลาการมีต่อคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมถึงการฟ้องร้องที่สามารถริเริ่มโดยใครก็ได้แทนที่จะเป็นผู้เสียหาย
 
ผู้รายงานพิเศษได้แนะนำให้ปรับแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทจากโทษทางอาญาเป็นโทษทางแพ่งให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรจะฟ้องร้องหมิ่นประมาท โดยที่บุคคลสาธารณะเองต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคนทั่วไป กฎหมายใดก็ตามที่ให้การปกป้องบุคคลสาธารณะเป็นพิเศษก็ควรถูกยกเลิก
 
ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยระบุว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยไม่ให้กษัตริย์สามารถฟ้องร้องได้ด้วยตนเอง จึงต้องมีกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญไทยเองก็มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่ามาตรา 112 นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีความสำคัญต่อการปกป้องประมุขของรัฐ 
 
มาตรา 112 ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการแสดงออก เห็นได้จากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ภาคประชาสังคมมีบทบาทมากที่สุด เนื่องจากประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เป็นเรื่องภายใน คนไทยจึงเห็นว่าพิจารณากันภายในมากกว่า
 
ปี 2556
 
7. อียูกังวล กรณีศาลจำคุกสมยศ 10 ปีข้อหา 112
 
วันที่: 23 มกราคม 2556
 
โดย: คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand)
 
เอกสาร: แถลงการณ์
 
วันที่ 23 มกราคม 2556 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลจากกรณีที่ศาลมีคำคัดสินจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี จากคดีตามกฎหมายมาตรา 112 
 
“คำตัดสินนี้บั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในฐานะสังคมประชาธิปไตยด้วย สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยรับรองว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นจะต้องได้สัดส่วนสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล”
 
ปี 2557
 
8. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 กับชาวซาอุฯ
 
วันที่: 25 มีนาคม 2557
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: THA 1/2014
 
วันที่ 25 มีนาคม 2557 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีกฎหมายมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กับชาวซาอุดิอาระเบียที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสุขภาพของกษัตริย์ไทย ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง
 
เนื้อหากฎหมายแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ควรสอดคล้องกับหลักสากล และการเนรเทศชาวซาอุฯ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดออกจากประเทศ มีปัญหากับหลักการได้สัดส่วนของโทษ
 
นอกจากนี้ จดหมายจากผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนฯ ยังร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และคำอธิบายว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร
 
ผู้แทนรัฐบาลไทยยังไม่มีการตอบกลับผู้รายงานพิเศษ
 
9. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 กับ 21 คน
 
วันที่: 8 ธันวาคม 2557
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: THA 13/2014
 
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีและคุมขังตามมาตรา 112 กับประชาชนทั้งหมด 21 คน ซึ่งมีสี่คนที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารด้วย โดยการดำเนินคดีนี้อยู่ภายใต้บริบทของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีคำสั่งให้ศาลทหารพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
 
เนื้อหาในจดหมายตอบโต้ข้ออ้างของรัฐบาลไทยที่ว่ากฎหมายมาตรา 112 มีไว้เพื่อปกปกป้องสถาบันกษัตริย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงของชาติ โดยผู้รายงานพิเศษกล่าวว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่วางไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ICCPR รวมถึงปริมาณของโทษที่หนักเกินไปจนอาจก่อให้เกิด Chilling effect หรือเหตุการณ์ที่รัฐสร้างความหวาดกลัวจนประชาชนไม่กล้าออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตนเอง
 
จดหมายยังได้ร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และคำอธิบายว่าการดำเนินคดีนั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร
 
ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2557 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยกล่าวว่ามาตรา 112 นั้นเป็นกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐไม่ต่างกับที่ประเทศอื่นมี ผู้ต้องหามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมครบถ้วน และหากมีคำตัดสินว่ามีความผิด ก็สามารถอุทธรณ์ต่อได้ด้วยเช่นกัน สำหรับในเรื่องของคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นคดีที่ค้างอยู่ก่อนจากรัฐบาลที่แล้วด้วย
 
ปี 2558
 
10. รัฐสภายุโรปร้องไทยทบทวน 112
 
วันที่: 10 ตุลาคม 2558
 
โดย: รัฐสภายุโรป (European Parliament)
 
 
รัฐสภายุโรปออกข้อมติ (resolution) แสดงความกังวลถึงการจับกุมประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนมากหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายมาตรา 112 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
 
11. ทูตสหรัฐวิจารณ์ศาลทหารลงโทษคดี 112
 
วันที่: 25 พฤศจิกายน 2558
 
โดย: เอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เกล็น เดวีส์ (Glyn Davies)
 
เอกสาร: คลิป
 
เอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยในขณะนั้น เกล็น เดวีส์ (Glyn Davies) กล่าวในงานที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติประจำประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) ว่าสหรัฐเป็นห่วงคำตัดสินของศาลทหารในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ลงโทษด้วยโทษจำคุกที่ยาวนานและไม่เคยมีมาก่อน
 
“เรามีความเห็นว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกเพียงเพราะแสดงความเห็นของตนเองโดยสงบ และเราสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลและองค์กรอิสระต่าง ๆ สามารถค้นคว้าและเผยแพร่ในประเด็นที่สำคัญได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคุกคาม”
 
ความเห็นของเดวีส์เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลทหารตัดสินจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง อายุ 48 ปี เป็นเวลา 60 ปี จากการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กจำนวนหกข้อความที่เข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ลดโทษลงเหลือ 30 ปี หลังรับสารภาพ รวมถึงตัดสินจำคุก ศศิวิมล อีก 56 ปี แต่เนื่องจากสารภาพจึงลดลงเหลือ 28 ปี
 
คำพูดของเอกอัคราชทูตได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากทั้งมวลชนฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และเจ้าหน้าที่รัฐไทย ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 มีการชุมนุมของมวลชนที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ณ บริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐ ทำให้มาร์ค เคนท์ (Mark Kent) เอกอัคราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยวิจารณ์ผ่านทวิตเตอร์ถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยที่ปล่อยให้มีการประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐ แต่กลับจับกุมนักกิจกรรมที่เดินทางไปตรวจสอบการทุจริตกรณีอุทยานราชภักดิ์
 
หลังจากนั้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 สนธิญา สวัสดี ได้ไปยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกร้องให้มีการสืบสวนการกระทำของเดวีส์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ก็ยอมรับว่ามีการสืบสวนว่า สิ่งที่เดวีส์พูดนั้นเข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่จริง และได้มีการขอความร่วมมือจาก FCCT ด้วย อย่างไรก็ดี รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ยอมรับว่าเอกอัคราชทูตสหรัฐได้รับความคุ้มครองทางการทูต ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้
 
ปี 2559
 
12. ต่างชาติวิจารณ์ไทยใน UPR รอบสอง ให้ยกเลิก/แก้ไข 112
 
วันที่: 11 พฤษภาคม 2559
 
โดย: ประเทศต่าง ๆ ผ่านกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR)
 
 
หลังจากที่ UPR รอบแรกเมื่อปี 2554 ผ่านไปสี่ปีครึ่ง ไทยก็ต้องเข้าร่วมกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนหรือ UPR อีกครั้ง โดยครั้งนี้ถือว่าเป็นการทบทวนครั้งแรกหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 รายงานของรัฐบาลไทย ระบุคล้ายกับครั้งที่แล้วว่ามาตรา 112 มีเพื่อปกป้องกษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการเหมือนที่ประเทศอื่นมี โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกแต่อย่างใด
 
สำหรับใน UPR รอบที่สอง ไทยได้รับข้อเสนอแนะให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นการเจาะจงจากทั้งหมดเก้าประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สเปน ลัตเวีย เบลเยียม แคนาดา เยอรมนี ไอซ์แลนด์ และบราซิล โดยข้อเสนอ เช่น เบลเยียมเสนอให้แก้ไขโดยนำโทษจำคุกออกไป หรือสหรัฐอเมริกาที่เสนอให้ไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำ
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยก็ไม่ได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้เหตุผลสถานการณ์ในไทยว่ากำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป แต่ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจจะหันกลับมาทบทวนข้อเสนอแนะเหล่านี้อีกครั้ง
 
13. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 กับ 26 คน
 
วันที่: 25 กันยายน 2559
 
โดย: คณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยอำเภอใจ (Working Group on Arbitrary Detention) และผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: UA THA 9/2015
 
คณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยอำเภอใจ (Working Group on Arbitrary Detention) และผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย กรณีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีและตัดสินจำคุกรวมกันทั้งหมด 26 คน และการใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีแทนที่จะเป็นศาลพลเรือน
 
ในจดหมายมีการกล่าวถึงรายละเอียดของทั้ง 26 คนที่ถูกดำเนินคดี และกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยตอบโต้ข้ออ้างของรัฐบาลไทยที่ว่ามีความจำเป็นต้อง “มีการจำกัดในระดับหนึ่งเพื่อปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น และรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อย” ว่าใน ICCPR ที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีนั้น ระบุเอาไว้ว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต้องทำโดยมีกฎหมายรองรับ บนฐานที่ชอบธรรม และอยู่ในเกณฑ์อย่างแคบของหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน แต่มาตรา 112 ของไทยนั้นไม่ได้สอดคล้องกับหลักที่วางไว้ใน ICCPR โดยเฉพาะการคุมขัง ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม และบทลงโทษที่รุนแรงเกินสัดส่วน
 
จดหมายยังทวงถามคำตอบจากรัฐบาลไทยที่ก่อนหน้านี้ผู้แทนสหประชาชาติเคยส่งให้รัฐบาลไทย และยังขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ขั้นตอนและสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีความตามมาตรา 112 ได้รับ ความคืบหน้าในการแก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ผู้แทนแห่งสหประชาชาติยังปิดท้ายด้วยการขอให้ส่งสำเนาของจดหมายฉบับนี้ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย
 
ต่อมาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยยืนยันว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้มีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แต่เพื่อปกป้องกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ เช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทคนธรรมดา
 
การดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 ยังถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมายที่ผู้ต้องหามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ
 
ปี 2560
 
14. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 กับไผ่ดาวดิน
 
วันที่: 24 มกราคม 2560
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: UA THA 1/2017
 
วันที่ 24 มกราคม 2560 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 และคุมขังจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน จากการแชร์โพสต์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีในโลกออนไลน์ 
 
เนื้อในจดหมายกล่าวย้ำว่ามาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับหลักสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะซึ่งรวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดอย่างประมุขของรัฐสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงเพราะรูปแบบการแสดงออกบางอย่างนั้นอาจจะเป็นส่งผลกระทบต่อประมุขของรัฐไม่มากพอที่จะนำมาลงโทษได้ 
 
ผู้รายงานพิเศษได้ขอข้อมูลคดีของจตุภัทร์ คำอธิบายว่าการแสดงออกนั้นเป็นไปตามหลักสากลอย่างไร รวมถึงการโพสต์ในโซเลียลมีเดียนั้น “ทำร้ายประเทศ” อย่างไรจนผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว
 
ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2560 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยมีเนื้อหาว่าได้ส่งข้อซักถามไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และจะส่งต่อคำตอบกลับไปทันทีที่ได้รับข้อมูล ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลไทยชี้แจงในเบื้องต้นว่าคดีของจตุภัทร์นั้นอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลทำให้รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ รัฐบาลไทยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและไม่สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมดังเช่นที่เขียนไว้ใน ICCPR ข้อที่ 19 ด้วย
 
15. ยูเอ็นกังวลคดี 112 แนะไทยต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับ ICCPR
 
วันที่: 13 มิถุนายน 2560
 
โดย: สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights)
 
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรง โดยแถลงการณ์ระบุว่า กังวลถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2557 และความรุนแรงของคำตัดสิน รวมถึงการตัดสินจำคุกนายวิชัย เทพวงศ์ เป็นเวลา 35 ปี (ลดโทษจาก 70 ปีเนื่องจากรับสารภาพ) จากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นรวม 10 ครั้ง ลงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เข้าใจถึงความซับซ้อนและความอ่อนไหวของประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย แต่ก็รู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งต่ออัตราการดำเนินคดีและการลงโทษของศาลที่ไม่เหมาะสมต่อการกระทำผิด ทั้งนี้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ การลงโทษจำคุกบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นการละเมิดต่อมาตรา 19 ของ ICCPR ซึ่งประเทศไทยลงนามในสนธิสัญญานี้เมื่อปี 2539
 
นอกจากนี้ ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการไต่สวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 โดยนับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารในปี 2557 ศาลทหารทำหน้าที่ในการไต่สวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่วนใหญ่ และมักจะกระทำโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธการประกันตัว และบางคนถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานในช่วงก่อนการไต่สวน ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วในการยุติการไต่สวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในศาลทหาร แต่ต้องการเน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องต่อทางการไทยว่าจำเป็นต้องให้มีผลย้อนหลังกับคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนด้วย
 
ทางสำนักข้าหลวงใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯในทันที เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้ทบทวนคดีที่อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทุกคดีด้วย
 
16. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์กับ 21 คน
 
วันที่: 22 ธันวาคม 2560
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: UA THA 7/2017
 
วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีใช้กฎหมายมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดำเนินคดีกับประชาชน 21 คน
 
จดหมายระบุผู้แทนพิเศษมีความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 เนื่องจากเป็นกฎหมายไม่สอดคล้องกับหลักสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะซึ่งรวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดอย่างประมุขของรัฐสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงเพราะรูปแบบการแสดงออกบางอย่างนั้นอาจจะเป็นส่งผลกระทบต่อประมุขของรัฐไม่มากพอที่จะนำมาลงโทษได้ 
 
ผู้แทนพิเศษยังสอบถามข้อมูลการดำเนินคดี และความชอบธรรมของการมีอยู่ของมาตรา 112 ที่สอดคล้องกับหลักสากลจากรัฐบาลไทย
 
ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม 2561 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยมีเนื้อหาว่าได้ส่งข้อซักถามไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และจะส่งคำตอบกลับไปทันทีที่ได้รับข้อมูล ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลไทยยืนยันว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักสากล รวมถึงต้องพิจารณาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะเสาหลักแห่งความมั่นคงต่อสังคมไทย ทำให้จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในแง่หนึ่ง กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์จึงเป็นภาพสะท้อนของประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ให้ความเคารพสถาบันกษัตริย์
 
การดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 ยังถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมายที่ผู้ต้องหามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ
 
ปี 2563
 
17. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกพรรคเสี่ยงโดน 112
 
วันที่: 20 มกราคม 2563
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: AL THA 1/2020
 
วันที่ 17 กันยายน 2563 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีพรรคอนาคตใหม่ ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง และยังแสดงความกังวลว่าสมาชิกพรรคที่วิพากษ์วิจารณ์อาจจะถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายมาตรา 112 พร้อมกับสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีของพรรคอนาคตใหม่
 
ผู้แทนรัฐบาลไทยยังไม่มีการตอบกลับผู้รายงานพิเศษ
 
18. พรรคกรีน เยอรมนี ค้านดำเนินดคี 112 กรณีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี
 
วันที่: 21 กรกฎาคม 2563
 
โดย: พรรคกรีน (Bündnis 90/Die Grünen) สหพันธรัฐเยอรมนี
 
 
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 พรรคกรีน สหพันธรัฐเยอรมนี ได้เผยแพร่แถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนกับผู้ชุมนุมทั้ง 13 ที่ถูกยื่นฟ้องในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563
 
“รัฐบาลทหารของประเทศไทยได้ตอบโต้การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปตามหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้ความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) เพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มากกว่า 100 รายและมีการฟ้องร้องคดีแล้วหลายราย ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดผู้ต้องหาอาจมีโทษจำคุกมากถึง 15 ปีต่อหนึ่งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุมอีกหลายร้อยราย”
 
“เราขอประณามการดำเนินการที่รุนแรงต่อผู้ที่ชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งรวมไปถึงการฟ้องร้องคดีโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง ในประเด็นนี้เรายังได้แสดงจุดยืนในจดหมายที่ได้ยื่นแก่สถานทูตไทยไปแล้วด้วย เราขอยืนหยัดอยู่ข้างทุกคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองโดยสันติ”
 
“รัฐบาลเยอรมันและสหภาพยุโรปมีหน้าที่ต้องปกป้องประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเสรีภาพในการชุมนุม อันเป็นคุณค่าพื้นฐานของยุโรป โดยเฉพาะจากการปกครองแบบอำนาจนิยม การฟ้องร้องคดีโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองต้องถูกกล่าวถึงและถูกประณามอย่างเปิดเผย”
 
19. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นกังวลกรณีปิดกรุ๊ปเฟสบุ๊ค ผู้ใช้งานเสี่ยงโดน 112
 
วันที่: 17 กันยายน 2563
 
โดย: ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: AL THA 7/2020
 
วันที่ 17 กันยายน 2563 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีกับประชาชนและผู้ชุมนุม และการปิดกั้นการเข้าถึงกรุ๊ปเฟสบุ๊ค “รอยัลลิสต์ มาเก็ตเพลส” หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขู่จะดำเนินคดีกับพนักงานเฟสบุ๊คในไทย
 
จดหมายแสดงความกังวลว่าผู้ที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาลในโลกออนไลน์อาจจะเสี่ยงถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 และมาตรา 116
 
ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ ยืนยันว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถชุมนุมได้โดยสงบ และมีตัวแทนจากหลากภาคส่วนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในด้านการดูแลการชุมนุมนั้นก็ใช้มาตรการตามสัดส่วน และมีการป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมที่มาจากคนละกลุ่ม
 
ผู้แทนรัฐบาลไทยระบุว่า มุมมองของคนไทยส่วนมากที่เลือกที่จะเงียบ (silent majority) ซึ่งแตกต่างกับผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงต้องมีการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพื่อรับประกันว่าการใช้สิทธิของฝ่ายหนึ่งจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิและชื่อเสียงของอีกฝ่าย
 
สำหรับกรณีการปิดกรุ๊ปเฟสบุ๊คนั้น รัฐบาลยืนยันว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และไม่มีการขู่พนักงานของเฟสบุ๊คแต่อย่างใด
 
20. ยูเอ็นออกแถลงการณ์กังวลกรณีดำเนินคดี 112 กับเด็กอายุ 16 ปี
 
วันที่: 18 ธันวาคม 2563
 
โดย: สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights)
 
เอกสาร: แถลงการณ์
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีผู้ชุมนุม 35 คน รวมถึงเด็กอายุ 16 ปีตามกฎหมายมาตรา 112 
 
แถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่าประเทศไทยมีพันธกรณีตามกลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ของสหประชาชาติ แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่กฎหมายมาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ใช้มากว่าสองปี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องตามมาตรา 19 ของ ICCPR
 
ปี 2564
 
21. ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งจดหมายถามกรณีดำเนินคดี 112 ผู้ชุมนุม 40 คน
 
วันที่: 11 มกราคม 2564
 
โดย: คณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยอำเภอใจ (Working Group on Arbitrary Detention) และผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
 
เอกสาร: AL THA 11/2020
 
วันที่ 10 กรกฎาคม 2554 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 กับประชาชนและผู้ชุมนุมอย่างน้อย 40 คน เช่น อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และพริษฐ์ ชิวารักษ์
 
จดหมายระบุถึงเหตุการณ์การชุมนุมในไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 โดยเฉพาะการชุมนุมและการปะทะเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่บริเวณรัฐสภาท่ามกลางการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ซึ่งหลังจากนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับในการจัดการกับผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง
 
ผู้รายงานพิเศษแสดงความกังวลถึงการใช้มาตรา 112 ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมที่รุนแรงเกินสัดส่วน รวมถึงสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีตามมาตรา 112 จากรัฐบาลไทย
 
รัฐบาลไทยยังไม่มีจดหมายตอบกลับเพื่อชี้แจงตามที่ผู้รายงานพิเศษสอบถามในจดหมาย มีเพียงแจ้งว่ากำลังส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น 
 
22. ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็นกังวลกรณีจำคุก “อัญชัญ” 43 ปี
 
วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2564
 
โดย: ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (UN human rights experts)
 
เอกสาร: แถลงการณ์
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยเฉพาะกรณีที่ศาลอาญาตัดสินจำคุก อัญชัญ ปรีเลิศ ข้าราชการ ทั้งหมด 87 ปี โดยลดโทษให้เหลือ 29 ปี 174 เดือน จากการแชร์คลิปยูทูปที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยแถลงการณ์ระบุว่า
 
“เราเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีของอัญชัญ ปรีเลิศ ให้สอดคล้องกับมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล และยกเลิกคำพิพากษาที่รุนแรงนี้”
 
“เราได้เน้นย้ำหลายครั้งแล้วว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย”
 
“เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขและยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถอนฟ้องทุกคนที่กำลังเผชิญกับการดำเนินคดีอาญา และปล่อยตัวทุกคนที่ถูกคุมขังเนื่องจากใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”
Article type: