1721 1818 1913 1777 1780 1318 1031 1140 1549 1637 1655 1296 1470 1763 1943 1975 1925 1411 1088 1611 1676 1588 1716 1683 1652 1062 1534 1865 1916 1268 1458 1523 1034 1218 1122 1992 1759 1506 1307 1738 1508 1265 1159 1045 1757 1934 1556 1597 1390 1714 1645 1310 1284 1877 1005 1551 1415 1555 1947 1649 1914 1919 1038 1060 1330 1941 1479 1379 1067 1354 1871 1586 1721 1861 1741 1370 1092 1125 1804 1560 1960 1110 1752 1202 1745 1891 1462 1903 1618 1850 1273 1012 1509 1497 1323 1447 1558 1722 1046 ปี 64 อ้างโควิดสลายชุมนุม 60 ครั้ง ใช้กระสุนยางขัดหลักสากลตลอดปี | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ปี 64 อ้างโควิดสลายชุมนุม 60 ครั้ง ใช้กระสุนยางขัดหลักสากลตลอดปี

 
ปี 2564 ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม 60 ครั้ง  ในจำนวนนี้มี 42 ครั้งที่ถูกสลายการชุมนุมเพราะเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม เช่น สนามหลวง, ทำเนียบรัฐบาล และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1)  กรณีของราบ 1 นั้นเป็นพื้นที่ที่นักกิจกรรมวางเป้าหมายแรกเริ่มไว้ แต่ไม่สามารถไปได้ เป็นเหตุให้เกิดการสลายการชุมนุมในบริเวณนี้ 35 ครั้ง ขณะที่เดือนกันยายน 2564 เป็นเดือนที่มีการสลายการชุมนุมมากที่สุด 18 ครั้ง รองลงมาคือ เดือนสิงหาคม 2564 ที่ 17 ครั้ง 
 
สามารถแบ่งรูปแบบของการสลายการชุมนุมคือ การคุมตัวโดยมีเป้าหมายให้การชุมนุมยุติ แต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา, การจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุมออกจากพื้นที่, การแสดงกำลังเพื่อให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม, การแสดงกำลังและใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน แต่ไม่มีการจับกุมในทันที, การใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนและการจับกุม และการแสดงกำลัง พร้อมๆ กับการจับกุมเป็นผลให้การชุมนุมดำเนินต่อไปไม่ได้
 
2127
 

 

ปราบหนักชุมนุมที่หวงห้าม เมื่อโควิด 19 ไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกในการดูแลชุมนุม

 
ตั้งแต่ต้นปี 2564 ประชาชนหลายกลุ่มยังเดินหน้าจัดการชุมนุมบนท้องถนนอีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงข้อเรียกร้องเดิมในปี 2563 และแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของรัฐบาล ต้นเดือนเมษายน 2564 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นเหตุให้การชุมนุมซาลง แต่ในเดือนกรกฎาคม 2564 การชุมนุมขยายตัวอีกครั้ง ผู้ชุมนุม “ไม่รออีกต่อไปแล้ว” เพราะการรอคอยภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจหมายถึงชีวิตจำนวนมากขึ้นที่ต้องเสียไป เพียงแต่การกลับมาชุมนุมรอบใหม่ พวกเขาพยายามออกแบบกิจกรรมที่จะหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรค เช่น การจัดคาร์ม็อบ หรือการชุมนุมที่ใช้เวลาไม่นานนัก
 
2128
 
2129
 
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ขยายเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาอย่างต่อเนื่องโดยอ้างเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และใช้มาตรการควบคุมโรคมาเป็นข้อห้ามหลักในการชุมนุมและการจัดกิจกรรมทางการเมือง แม้ไม่เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การชุมนุมในที่โล่งแจ้งเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดหรือกลายเป็นคลัสเตอร์ของโควิด 19 แต่อย่างใด แต่ผู้ชุมนุมก็ยังคงถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง
 
อีกทั้ง ตำรวจก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการป้องกันโรค มีเพียงการดำเนินคดี, ประกาศข้อกฎหมายหรือหากมีการใช้อุปกรณ์คัดกรองก็ไม่ได้ใช้อย่างเคร่งครัดนัก ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ค ปทุมวันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 มีการตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิ แต่ไม่ได้บังคับตรวจ และผู้ชุมนุมบางคนยังเดินเข้าออกพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ต้องตรวจคัดกรอง และปรากฏประปรายว่า ตำรวจได้ตักเตือนให้ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง 
 
ในทางกลับกันจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ปัจจัยที่ตำรวจให้ความสำคัญ เพื่อพิจารณาใช้มาตรการต่างๆ เข้าควบคุมการชุมนุม ขึ้นอยู่กับ “พื้นที่เป้าหมาย” มากกว่า “รูปแบบของการชุมนุม” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด19  มาตรการที่รัฐเลือกใช้อยู่เสมอ คือ การวางกำลังปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่หวงห้ามของรัฐ อย่างเช่น
 
  • แยกสะพานผ่านพิภพ ถนนราชดำเนินใน มุ่งหน้าศาลฎีกา

2136

  • แยกสะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินนอกมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล
  • แยกพาณิชยการมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล

2137

2139

  • แยกวัดเบญจฯ มุ่งหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า
  • แยกราชเทวี มุ่งหน้าแยกปทุมวัน
  • กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1)
โดยจากจำนวนการสลายการชุมนุม 60 ครั้ง มี 42 ครั้งที่ถูกสลายในพื้นที่ดังกล่าว และเนื่องจากเมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่กำหนดให้ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานและ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ไม่มีผลบังคับใช้ แต่รัฐก็ยังเลืิอกใช้กำลังการชุมนุมโดยใช้ “พื้นที่” เป็นปัจจัยหลัก เสมือนยังมีอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ​ อยู่ โดยที่ประชาชนไม่อาจเข้าใจได้ว่า พื้นที่ใดบ้างที่กฎหมายอนุญาตให้ชุมนุมได้หรือไม่ได้ และการนัดหมายชุมนุมในพื้นที่ใดจะถูกใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหรือไม่ 
 
2130 การสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระที่บริเวณแยกดินแดง เส้นทางผ่านไปยังราบ 1
 

ตัวอย่างของการสลายการชุมนุมที่สะท้อนให้เห็นว่า ตำรวจต้องการปกป้องหรือรักษาพื้นที่เป็นความสำคัญสูงสุด 

 
กรณีของวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอกเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจวางกำลังและแนวสิ่งกีดขวางบริเวณแยกสะพานผ่านฟ้า และทุกซอยบนถนนนครสวรรค์ที่เดินไปถึงถนนราชดำเนินนอกได้ เมื่อผู้ชุมนุมยืนยันจะเคลื่อนขบวนผ่านถนนราชดำเนินนอก  ตำรวจประกาศไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นเข้ามา ทั้งที่ตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 25 (ฉบับที่มีการบังคับใช้ ณ ขณะนั้น) ไม่ได้ให้อำนาจตำรวจในการกำหนดสถานที่ห้ามชุมนุม ดังนั้น การที่ตำรวจจะใช้กำลังเพื่อห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินผ่านถนนบางเส้น หรือไปยังสถานที่บางแห่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับ  อีกทั้งตำรวจยังใช้ความรุนแรงที่เกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุม เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ซึ่งไม่สัมพันธ์กับเหตุผลของกฎหมายที่ใช้อ้างอิงเพื่อป้องกันโรคแต่อย่างใด
2131
 
2132
 
กรณีของวันที่ 1 สิงหาคม 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุดจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานห้าแห่ง ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาลและถนนวิภาวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของราบ 1 ตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวางบริเวณสะพานผ่านฟ้า ฝั่งราชดำเนินนอกและหน้าราบ 1 หลังประกาศยุติกิจกรรมแล้วยังมีผู้ชุมนุมจำนวนมากอยู่ที่ถนนวิภาวดี ใกล้กับราบ 1  ซึ่งเป็นที่พักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีรายงานจากสำนักข่าวมติชนว่า มีผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของและประทัดใส่ตำรวจ ในขณะที่ตำรวจก็ตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าหาผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมต้องวิ่งหนีข้ามถนนมาทางฝั่งตรงข้ามบริเวณทางเข้าสน.ดินแดง แต่แม้ผู้ชุมนุมล่าถอยตำรวจยังยิงแก๊สน้ำตาข้ามมาอีกระลอก 
 
จากนั้นเวลา 18.04 น. บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ตำรวจเดินแถวเข้าหาผู้ชุมนุมและยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีการเผยแพร่วิดีโอในทวิตเตอร์ ที่พบตำรวจขณะยิง “อุปกรณ์พิเศษ” บนทางด่วนดินแดงลงมาที่สามเหลี่ยมดินแดง และทางวอยซ์ทีวีก็มีการเผยแพร่ภาพตำรวจใส่ปืนลูกซองจ่อที่ศีรษะผู้ชุมนุมในระยะประชิด  นอกจากนี้ยังมีภาพตำรวจถือปืนลูุกซองในระดับไหล่และไม่ได้กดปลายปืนลงต่ำขณะยิง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
 

ส่องอุปกรณ์คุมม็อบ ใช้แล้วเกือบครบทุกรายการ

 
19 สิงหาคม 2564 จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎรแถลงข่าวหลังพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้าชี้แจงเหตุการสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง ระบุว่า "การดำเนินงานเพื่อควบคุมสถานการณ์ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบัน แม้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 จะไม่ได้นำมาบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงยึดหลักและกรอบขั้นตอนการดำเนินการตามแผนการดูแลชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะในการควบคุมและสลายการชุมนุม"
 
แผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงในปี 2563 และถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อต้นปี 2564 หน้าที่ 48 ว่าด้วยประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ที่กำหนดให้ใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชนชนิดต่างๆ เท่าที่สามารถสืบค้นจากราชกิจจานุเบกษาประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือควบคุมฝูงชนฉบับเดียวเท่านั้น ระบุเครื่องมือไว้ทั้งหมด 48 รายการ แบ่งเป็นประเภทหลักๆ ดังนี้
 
  • อุปกรณ์ป้องกันของเจ้าหน้าที่ควบคุมการชุมนุม ได้แก่ หมวกปราบจราจล หรือหมวกกันกระสุน, โล่ใสหรือโล่กันกระสุน, ชุดป้องกันสะเก็ด (สนับแข้ง สนับเข่า สนับศอก), หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ, เสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน
  • อุปกรณ์สำหรับการป้องกันสถานที่ ได้แก่ แผงกั้นเหล็ก, กรวยยาง, แท่นปูน, ลวดหนามหีบเพลงและอุปกรณ์การตรวจหาอาวุธบุคคลและพาหนะ
  • อุปกรณ์สำหรับใช้ควบคุมและสลายการชุมนุม ได้แก่ รถฉีดน้ำแรงดันสูงและรถบรรทุกน้ำ, เครื่องส่งคลื่นเสียงรบกวนระยะไกล, แก๊สน้ำตาผสมน้ำและชนิดเผาไหม้, ปืนยิงแก๊สน้ำตาพร้อมอุปกรณ์, ลูกขว้างแก๊สน้ำตา, ลูกขว้างแบบควัน, ลูกขว้างแบบแสง-เสียง,  สีผสมน้ำ, ระเบิดควัน, กระบองยาง, ปืนลูกซองสำหรับกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา, ปืนช้อตไฟฟ้า, ปืนยิงตาข่ายและสปอตไลท์ส่องสว่าง
  • อุปกรณ์สำหรับการสืบสวนหาข่าว ได้แก่ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ, เครื่องบันทึกเสียงและเครื่องวัดระดับเสียง
2134
 
อุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้แทบทั้งหมดแล้ว เว้นแต่ปืนช็อตไฟฟ้าที่พบเห็นตำรวจควบคุมฝูงชนพกเข้ามาในระหว่างการสลายการชุมนุมเท่านั้นและปืนตาข่ายที่ยังไม่ได้นำมาใช้เลย ระยะหลังในช่วงการชุมนุมที่แยกดินแดง ตำรวจเริ่มใช้อุปกรณ์ชนิดใหม่ คือ ปืน FN - 303   ซึ่งในต่างประเทศมีข้อครหาเรื่องความอันตรายของอุปกรณ์ชนิดดังกล่าว 
 
2135
 
สำหรับการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เดิมทีตำรวจไม่ได้เตรียมอุปกรณ์อย่างครบครันในการชุมนุมทุกครั้ง แต่มักจะนำมาใช้ระหว่างการชุมนุมขนาดใหญ่และการชุมนุมที่มีเป้าหมายในพื้นที่หวงห้ามปกป้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังการสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่แฟลตดินแดง ตำรวจมีแนวโน้มเตรียมอุปกรณ์ครบมือมากขึ้นแม้ในการชุมนุมขนาดเล็กหรือการชุมนุมในประเด็นเฉพาะก็ตาม อุปกรณ์ที่เห็นได้ชินตา คือ ปืนลูกซองและปืน FN-303 รวมทั้งปืนพกสั้น ซึ่งเดิมทีตำรวจจะไม่พกปืนดังกล่าวในที่ชุมนุม 
 
2140
 
2141
 

ปราบม็อบหนัก ละเลยหลักสากลโดยเฉพาะกระสุนยาง

 
ในปี 2564 อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนที่มีข้อวิจารณ์มากที่สุด คือ กระสุนยาง การใช้ครั้งแรกในรอบกว่าสิบปีนับแต่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยไม่มีเหตุให้นำมาใช้ได้ตามหลักสากลในการใช้ที่จะต้องสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) คือ ควรเล็งไปที่ ‘ท้องส่วนล่าง หรือขา ของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้นและเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน’ การใช้กระสุนยางไม่ควรเล็งไปที่ ‘หัว หน้า หรือคอ’ ด้วย โดยการเล็งไปที่ส่วนเหล่านั้น อาจส่งผลให้กระโหลกศีรษะแตก สมองบาดเจ็บ เกิดอันตรายต่อดวงตา หรือเสียชีวิตได้
 
2133
 
หลังจากนั้นตำรวจใช้กระสุนยางเรื่อยมาหลายครั้งโดยไม่มีประกาศแจ้งเตือนและยังปรากฏการใช้อย่างผิดหลักสากล เห็นจากการชุมนุมที่แยกดินแดงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 มีผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงถูกยิงเข้าที่บริเวณร่างกายส่วนบน กลางขมับ, หน้าผากและกลางหลัง ผู้สื่อข่าวยังได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย มีการยิงกระสุนยางไปถูกประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชุมนุมหรือขับรถผ่าน นอกจากนี้ยังมีการซุ่มยิงหรือยิงกระสุนยางในระยะประชิด 
 

ตัวอย่างการยิงกระสุนยางที่ขัดต่อหลักสากลตลอดปี 2564

 
  • 28 กุมภาพันธ์ 2564 สายน้ำ เยาวชนวัย 16 ปีถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่สะบักหลัง
  • 20 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกยิงเข้าที่ขมับศีรษะ, ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกยิงเข้าที่สะบักหลังและผู้   ชุมนุมถูกยิงเข้าที่กลางหน้าอก

2124

  • 18 กรกฎาคม 2564 เยาวชนอายุ 16 ปีถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ใบหน้าและผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่สันจมูก
  • 10 สิงหาคม 2564 ประชาชนทั่วไปที่ขออนุญาตผ่านแนวตำรวจมาเก็บของที่ร้านค้าบริเวณแยกดินแดงถูกยิงเข้าที่กลางหลัง 
  • 13 สิงหาคม 2564 ธนกร ผ่านพินิจ อายุ 46 ปี ขับรถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาที่แยกดินแดงในเวลา 17.00 น. ถูกคฝ.ระดมยิงกระสุนยางใส่ โดยกระสุนทะลุหมวกกันน็อคเข้ามาผ่านตาทั้งสองข้าง เฉียดที่ตาซ้ายและเต็มเบ้าตาขวาและผู้ชุมนุมถูกยิงที่ใต้ราวนม
  • 19 สิงหาคม 2564 มี่ อายุ 20 ปี ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับจากการชุมนุมผ่านเส้นทางแยกดินแดง ถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยางหลายนัด พบบาดแผลที่คอ ไหปลาร้า ต้นแขนและสะโพกจนเสื้อผ้าเปียกโชกไปด้วยเลือด
  • 20 สิงหาคม 2564 เด็กอายุ 13 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนยาง พบบาดแผลที่ร่างกายจำนวน 8 นัด ยิงเข้าบริเวณ หลัง ท้อง แขนขวา กระสุนเข้าฝังใน 3 นัด ต้องผ่าตัดเพื่อนำกระสุนออก โดยบริเวณหลังเป็นแผลขนาด 4 เซนติเมตรและบริเวณต้นแขนด้านขวาเป็นแผลขนาด 2 เซนติเมตร
  • 22 สิงหาคม 2564 เยาวชน อายุ 15 ปีได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางที่กลางหน้าผาก ค่อนข้างลึกและต้องเย็บ แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ยอมไปโรงพยาบาลจะเข้าไปสู้ต่อ จากนั้นมีรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลในเวลา 17.30 น.
  • 23 สิงหาคม 2564 เยาวชนอายุ 15 ปีนั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ของพี่ชายที่กำลังขับผ่านกรมดุริยางค์ทหารบกและถูกวัตถุยิงเข้าที่บริเวณกกตา จากการตรวจสอบบาดแผลเป็นรอยฉีกขาดจากกระสุนยาง อาสากู้ภัยระบุด้วยว่า ผู้บาดเจ็บและพี่ชายไม่ใช่ผู้ที่มาร่วมการชุมนุมเพียงขับรถผ่านเข้ามา
  • 25 สิงหาคม 2564 ซอยรางน้ำ ชายวัย 19 ปีถูกยิงด้วยกระสุนยาง บริเวณด่านที่ถูกตั้งขึ้น ทะลุหมวกกันน็อคเข้าศีรษะ 
  • 6 กันยายน 2564 เยาวชนวัย 17 ปีระบุว่า ตอนที่ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วขับรถมอเตอร์ไซด์มาจับกุมที่บริเวณแยกดินแดง เขาถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หลังและถูกตีที่บริเวณใบหน้า มีบาดแผลที่มุมปาก
  • 14 พฤศจิกายน 2564 ผู้ชุมนุมถูกยิงในระยะประชิด 3 คน สามารถยืนยันว่า บาดแผลเกิดจากกระสุนยาง 2 คน คือ กรณีของอลงกต อายุ 33 ปีที่บริเวณไหปลาร้าและอนันต์ อายุ 19 ปีที่บริเวณหัวไหล่ ส่วนภิญโญ อายุ 23 ปีถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดบริเวณกลางหน้าอก จากรายงานการตรวจสอบของกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ระบุว่า จนถึงปัจจุบันตำรวจไม่เคยแสดงหลักฐานที่ได้จากแพทย์ว่า กระสุนที่ยิงออกมานั้นเป็นชนิดใด 

2125

 
2126