รวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุม ในปี 2564

เปิดข้อมูลผู้บาดเจ็บจากเหตุปะทะในการชุมนุมตลอดปี 2564 พบผู้บาดเจ็บ 528 คน เป็นตำรวจ 146 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน ตาบอด 2 คน เป็นนักข่าวบาดเจ็บ 29 คน ส่วนใหญ่จากเหตุปะทะดินแดง และโดนกระสุนยางยิงแบบขัดหลักสากล

จากการรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บจากการสังเกตการณ์ของเว็บไซต์ Mobdatathailand.org และโครงการ Child in Mob, ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, การรายงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) และการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักและตำรวจ พบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 มีรายงานผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 528 คน (มีอย่างน้อย 2 คนที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง และ 1 คนได้รับบาดเจ็บ 3 ครั้ง) แบ่งเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน 348 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 88 คน (มีซ้ำ 1 คน), นักข่าว 29คน (มีซ้ำ 2 คน), อาสาแพทย์และพยาบาล 3 คน, ผู้สังเกตการณ์ 2 คน, ตำรวจ 146 นาย และทหาร 1 นาย

อาการบาดเจ็บที่ถูกนับรวมในจำนวนนี้ สำหรับคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐนับเฉพาะกรณีที่การบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ไม่นับรวมกิจกรรมแสดงออกที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมด้วย เช่น กิจกรรมติดป้ายที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และไม่นับการข่มขู่คุกคามที่ไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อร่างกาย กรณีที่บาดเจ็บจากการทำร้ายร่างกายหรือมีวัตถุไม่ทราบชนิดมากระทบร่างกาย นับรวมทั้งกรณีที่พบและไม่พบบาดแผลภายนอกร่างกาย ส่วนการบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา นับจากกรณีที่เข้ารับการปฐมพยาบาลหรือเป็นสถิติที่ถูกรายงานจากหน่วยแพทย์ในพื้นที่ชุมนุม

ดังนั้น สถิติผู้บาดเจ็บที่รวบรวมไว้ในที่นี้ อาจยังไม่ครอบคลุมกรณีการบาดเจ็บของผู้ชุมนุมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนมากที่ไม่เข้ารับการรักษา หรืออาจยังไม่ครอบคลุมกรณีที่ถูกยิงกระสุนยาง แต่ไม่ได้เกิดบาดแผลจึงไม่เข้ารับการรักษาหรือไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ

สำหรับการนับจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่รัฐ เราใช้สถิติที่ศูนย์เอราวัณหรือตำรวจรายงานต่อสาธารณะ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดเกณฑ์การนับ อาการบาดเจ็บเริ่มตั้งแต่การปวดศีรษะเพราะอากาศร้อน, ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา, ถูกกระแทกด้วยของแข็งและถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด

เดือนสิงหาคม บาดเจ็บสูงสุด #ม็อบ28กุมภา พบคนเจ็บมากสุดในวันเดียว

ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 มีรายงานผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 528 คน (มีอย่างน้อย 2 คนที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง และ 1 คนได้รับบาดเจ็บ 3 ครั้ง) แบ่งเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน 348 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 88 คน (มีซ้ำ 1 คน), นักข่าว 29คน (มีซ้ำ 2 คน), อาสาแพทย์และพยาบาล 3 คน, ผู้สังเกตการณ์ 2 คน, ตำรวจ 146 นาย และทหาร 1 นาย

เดือนสิงหาคม 2564 เป็นเดือนที่พบผู้บาดเจ็บมากที่สุดคือ 175 คน เกิดขึ้นในการชุมนุม 15 วัน รองลงมาคือเดือนกันยายน 2564 ที่จำนวน 123 คนเกิดขึ้นในชุมนุม 16 วัน โดยการชุมนุมในสองเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระบริเวณแยกดินแดงและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

วันที่มีรายงานผู้บาดเจ็บมากที่สุดคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 การชุมนุม #28กุมภาบุกรังขี้ข้าปรสิต ของรีเด็ม ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 63 คนแบ่งเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน 34 คน, อาสาพยาบาล 1 คนและตำรวจ 28 นาย โดยปรากฏภาพที่รัฐนำกระสุนยางออกมาใช้เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยไม่มีการแจ้งเตือนและไม่มีเหตุอันควรจะใช้ วันดังกล่าวตำรวจเปิดฉากสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงมีการผลัก เตะเข้าที่กลางลำตัวและทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมที่ไม่มีอาวุธ

จากนั้นตำรวจบริเวณโรงพยาบาลทหารผ่านศึกใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่ประกาศเตือน ทราบจากหลักฐานภายหลังคือปลอกกระสุนยางตกที่พื้น นอกจากนี้มีรายงานการยิงกระสุนยางใส่เยาวชนเข้าที่กลางหลัง รวมทั้งตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้ามาที่เต็นท์พยาบาลที่ปั๊มเชลล์ฝั่งตรงข้ามราบ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการรักษาพยาบาลและการส่งผู้ชุมนุมกลับบ้าน

วันที่มีรายงานผู้บาดเจ็บรองลงมาคือ วันที่ 20 มีนาคม 2564 ในการชุมนุมจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ของรีเด็มที่สนามหลวง มีรายงานผู้บาดเจ็บ 43 คน จากข้อมูลของศูนย์เอราวัณระบุว่า มีตำรวจบาดเจ็บ 13 นาย ไม่มีรายละเอียดอาการบาดเจ็บและจากการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบเพิ่มเติมทั้งจากศูนย์เอราวัณและการสังเกตการณ์พบว่า มีประชาชนและผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 26 คน, อาสาพยาบาล 1 คนและผู้สื่อข่าว 3 คน กรณีของผู้สื่อข่าวทั้ง 3 คนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางทั้งหมด เจ็บหนักสุด คือ ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ขมับต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู, ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกกระสุนยางเข้าที่สะบักหลังและผู้สื่อข่าวข่าวสดที่บริเวณต้นขา

ขณะที่มีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริงหนึ่งคน มติชนออนไลน์รายงานว่า หลังสิ้นสุดการชุมนุมในเวลา 21.00 น. แบงค์ การ์ดอาชีวะ อายุ 17 ปี กำลังเดินทางกลับบ้าน แต่พบผู้ก่อเหตุไม่ทราบจำนวนขับรถจักรยานยนต์มาที่ด้านหน้าแมคโดนัลด์ ราชดำเนินกลาง จากนั้นใช้ปืนคาดว่า เป็นปืนลูกซองสั้นยิงออกมาหนึ่งนัดถูกเข้าบริเวณขาของแบงค์ ต้องนำส่งโรงพยาบาล

ผู้ชุมนุมถูกทำร้ายร่างกาย เจ็บหนักเฉียดเสียชีวิตใน #ม็อบ14พฤศจิกา

จากหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากทั้งภาพและคลิปวิดีโอ แสดงให้เห็นว่า ปี 2564 มีเหตุการณ์ที่ตำรวจทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง เริ่มจากกรณีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ในการชุมนุมของราษฎรที่หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้วยังคงมีผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมเลิกชุมนุม ขว้างปาสิ่งของเข้าไปที่แนวของตำรวจ จนกระทั่งตำรวจประกาศให้เวลา 30 นาทีและจะดำเนินการสลายการชุมนุม ทว่าผ่านไปเพียง 5 นาที ตำรวจเริ่มต้นเดินเท้าออกมาจากแนวกั้นบริเวณศาลฎีกา จากนั้นวิ่งไล่จับกุมและทำร้ายร่างกายผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าว พบหลักฐานอย่างน้อยสองกรณี ดังนี้

๐ จากคลิปวิดีโอของประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวข่าวสด เห็นว่า ตำรวจเข้าคุมตัวผู้ชุมนุมรายหนึ่งและลากเข้ามาในวงตำรวจไม่น้อยกว่า 10 นายจากนั้นตำรวจจึงรุมทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมคนดังกล่าว แม้ว่า ผู้ชุมนุมรายนี้ไม่ได้มีท่าทีจะต่อสู้ก็ตาม

๐ หนึ่งในทีมแพทย์และพยาบาลอาสาของ DNA กำลังจะออกพื้นที่ระหว่างการสลายการชุมนุม โดยตำรวจที่เข้ามาชุดแรกเห็นว่า เป็นทีมแพทย์ฯ จึงบอกว่า ให้รอก่อน เดี๋ยวจะให้ออกไป แต่ตำรวจที่วิ่งไล่มาอีกชุดหนึ่งมาถึงกลับทำร้ายร่างกายทีมแพทย์ฯ คนนั้นจนสลบไป ภาพหลังถูกทำร้ายร่างกายปรากฏในสื่อต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ หลังจากนั้นเขาถูกคุมตัวไปที่ตชด. และมีการต่อรองไม่ให้ฟ้องร้องเอาผิดตำรวจ จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่คนใดมาขอโทษผู้ที่ถูกกระทำรายนี้

อีกกรณีหนึ่ง คือ การชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 ซึ่งมีข้อกล่าวหาการกระทำการละเมิดของตำรวจหลายกรณีหลังการจับกุม ยกตัวอย่างเช่น

  • วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เยาวชนรายหนึ่งเล่าว่า ที่บริเวณแยกดินแดง เขาอยู่บนแท็กซี่กำลังเดินทางกลับบ้าน ตำรวจเห็นจึงเข้ามาล้อมแท็กซี่และสั่งให้ลงมา จากนั้นให้ถอดเสื้อ จับมือไพล่หลังและทำร้ายร่างกาย หลังเหตุการณ์เยาวชนคนนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งแพทย์ระบุว่า มีรอยฟกช้ำที่ด้านหลังและศีรษะกะโหลกร้าวหรือยุบ
  • วันที่ 20 สิงหาคม 2564 เยาวชนรายหนึ่งเล่าว่า เขาขี่รถจักรยานยนต์ผ่านจุดตรวจตำรวจแห่งหนึ่ง ตำรวจประมาณสิบนายเรียกให้หยุดและเข้ามาจับกดศีรษะกระแทกพื้น ทุบหลัง กระทืบหลัง 
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2564 เด็กอายุ 14 ปีเล่าว่า เขาถูกตำรวจประมาณเจ็ดนายล้อมจับ สั่งให้นอนกับพื้น ถีบที่ท้ายทอย, ตีที่ศีรษะและเตะที่หน้าอก
  • วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่บริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จากนั้นตำรวจหลายนายวิ่งเข้าไปที่รถคันดังกล่าว ตำรวจไม่น้อยกว่าห้านายเข้าล้อมและพาตัวชายผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลงมาจากรถ ต่อมาตำรวจสี่นายกดตัวชายผู้ถูกคุมตัวลงที่พื้นถนน แม้เขาไม่ได้มีท่าทีต่อสู้ แต่ตำรวจอีกนายใช้กระบองยางฟาดเข้าที่ท้ายทอยชายคนดังกล่าวอย่างแรง 
  • ไม่ทราบวันที่แน่ชัด รสิตา โรจนกุลกร ทีมแพทย์และพยาบาลอาสาเล่าว่า ผู้ถูกจับกุมที่แยกดินแดงส่วนใหญ่คือวิ่งหนีไม่ทันและโดนเจ้าหน้าที่ทำร้าย ทุบตี มีกรณีที่เขากลัวมากและถามว่า “พี่ผมจะตายไหม เมื่อกี้เหมือนผมจะตายเลย” สภาพของผู้ชุมนุมรายนี้ คือ ศีรษะแตก

นอกจากนี้รสิตาเล่าด้วยว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือทางการแพทย์ในพื้นที่ชุมนุม บาดแผลของผู้ชุมนุมที่ถูกกระสุนยางร้ายแรงที่สุดคือวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 บริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ชุมนุมถูกยิงในระยะประชิด 3 คน สามารถยืนยันว่า บาดแผลเกิดจากกระสุนยาง 2 คน คือ กรณีของอลงกต อายุ 33 ปีที่บริเวณไหปลาร้าและอนันต์ อายุ 19 ปีที่บริเวณหัวไหล่ ส่วนภิญโญ อายุ 23 ปีถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดทะลุปอด

จากรายงานการตรวจสอบของกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ระบุว่า จนถึงปัจจุบันตำรวจไม่เคยแสดงหลักฐานที่ได้จากแพทย์ว่า กระสุนที่ยิงออกมานั้นเป็นชนิดใด วันเกิดเหตุนั้นรสิตาและทีมแพทย์อยู่ในพื้นที่ทำการช่วยเหลือและวันนั้นโชคดีที่มีศัลยแพทย์ลงพื้นที่ด้วย ทำให้ช่วยเหลือภิญโญเบื้องต้นได้ดีจนรอดชีวิต เธอบอกว่า ถ้าวันนั้นไม่มีศัลยแพทย์อยู่และส่งโรงพยาบาลช้ากว่านั้น ภิญโญอาจเสียชีวิต

“ตอนที่ม็อบกำลังเลี้ยวผ่านหน้าทางเข้าโรงพยาบาลตำรวจแล้วเกิดมีการปะทะกันเกิดขึ้น แล้วทีนี้มีคนโดนยิงกระสุนยาง หนึ่งคนถูกยิงทะลุเข้าไปข้างในไปโดนปอดทำให้ปอดฉีก ตอนที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นข้างหน้า มันเป็นจังหวะที่พอปอดเป็นรู มันก็ผุดแล้วเป็นลมเอาเลือดออกมา อันนี้ก็เป็นเคสที่ร้ายแรงมากสำหรับกระสุนยาง กับอีกเคสหนึ่งคือ โดนกระสุนยางเข้าไหปลาร้า จนไหปลาร้าหัก อันนี้เป็นเคสกระสุนยางที่รุนแรงมาก เราเอาน้องที่โดนยิงโดนปอดไปส่งโรงพยาบาล โชคดีมากที่วันนั้นมีหมอศัลยแพทย์มาด้วยคนหนึ่ง หมอก็สามารถทำอะไรได้บ้างบนรถก่อนจะนำส่ง ถ้าสมมติว่า วันนั้นไม่มีหมอศัลย์ฯ มาและฉุกเฉินมาก น้องมีสิทธิเสียชีวิตได้”

อ่านเพิ่มเติม : การสลายการชุมนุมและการใช้กระสุนยางขัดหลักสากล

ผู้ชุมนุมเยาวชนเสียชีวิตคนแรก สูญเสียการมองเห็นสองคน

ในปี 2564 มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการเข้าร่วมชุมนุม เป็นคนแรกและทุพพลภาพ 2 คน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่บริเวณแยกดินแดงทั้งสิ้น ดังนี้

กรณีเสียชีวิต คือ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถือเป็นผู้ชุมนุมคนแรกที่เสียชีวิตนับตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 อาการบาดเจ็บสืบเนื่องจากวันที่ 16 สิงหาคม 2564 หลังตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่ทำเนียบรัฐบาล มีผู้ชุมนุมอิสระย้อนกลับไปที่แยกดินแดง ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พบเยาวชนรายนี้บาดเจ็บที่หน้าสน.ดินแดง นำตัวส่งโรงพยาบาลราชวิถี แรกรับหมดสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร ตรวจพบบาดแผลจากกระสุนที่ลำคอด้านซ้าย ทีมแพทย์ทำการปั๊มหัวใจประมาณหกนาที ทำให้กลับมามีสัญญาณชีพได้

จากการตรวจเพิ่มเติมโดยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบกระสุนปืนค้างอยู่บริเวณก้านสมองหนึ่งนัดและกระดูกต้นคอซี่ที่หนึ่งและสองแตก หลังอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าสองเดือน วาฤทธิ์เสียชีวิตลงในช่วงเข้าของวันที่ 28 ตุลาคม 2564 นอกจากวาฤทธิ์แล้ว วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ยังมีผู้ถูกยิงด้วยกระสุนจริงอีกสองคนคือ เยาวชนอายุ 14 ปีถูกยิงไหล่ขวาบริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 14 และจากการแถลงข่าวของตำรวจระบุว่า มีชายอายุ 20 ปีถูกยิงที่บริเวณเท้า

กรณีทุพพลภาพอย่างน้อยสองคน เกิดขึ้นวันเดียวกัน คือ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้าจัดการชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเดินเท้าไปที่ราบ 1 แต่ตำรวจตั้งแนวตู้คอนเทนเนอร์ปิดบริเวณทางลงทางด่วนดินแดง โดยตั้งแต่เวลา 16.30 น. ผู้ชุมนุมขบวนหลักทะลุฟ้ายังเดินมาไม่ถึงแยกดินแดง มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปประชิดตู้คอนเทนเนอร์และมีผู้ชุมนุมที่พยายามจะโยนสิ่งของติดไฟไปหลังแนวคอนเทนเนอร์แต่โยนไม่ข้าม รวมทั้งมีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดึงตู้คอนเทนเนอร์ เจ้าหน้าที่จึงเริ่มยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งพบตำรวจขึ้นไปบนทางด่วนและยิงลงมากลางแยกดินแดง

เวลา 17.19 น. ทีมทะลุฟ้าประกาศให้มวลชนถอยหลังสามก้าว ก่อนจะมีแก๊สน้ำตาหลายกระป๋อง ตกลงมามาตรงจุดรถเครื่องเสียง ซึ่งอยู่กลางแยกดินแดงและผู้ชุมนุมบริเวณนั้นไม่ได้มีท่าทีปะทะกับตำรวจ ต่อมาเวลา 17.35 น. มีรายงานว่า ลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวยที่อยู่บริเวณรถเครื่องเสียงทะลุฟ้าถูกวัตถุกระแทกเข้าที่ดวงตาด้านขวาเลือดอาบ หลังเข้ารับการรักษาแพทย์วินิจฉัยว่า ตาด้านขวาของลูกนัทบอด มีพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า วัตถุที่ลอยมากระแทกลูกนัทจนเป็นเหตุให้สูญเสียตาขวา คือ ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงมาจากบนทางด่วน

ด้านพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นอธิบายว่า เวลาการยิงแก๊สน้ำตา ปลอกแก๊สน้ำตา(กระบอกเหล็ก)จะค้างในลำกล้อง แต่จะมีตัวนำแก๊สเป็นกระบอกสีดำไปหาเป้าหมาย ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สไลด์ออกปลอกแก๊สน้ำตาจะอยู่ในอาวุธปืน กรณีที่จะพุ่งออกไปทั้ง ปลอกแก๊สน้ำตาจึงเป็นไปไม่ได้ และต่อมามีการสาธิตวิธีการใช้แก๊สน้ำตา ระบุว่า ตัวนำแก๊สน้ำตาเป็นลักษณะพลาสติกสีน้ำเงินภายในบรรจุสารแก๊สน้ำตา ซึ่งสามารถลุกไหม้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ชนิดระเบิดเหมือนที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงปี 2551 ดังนั้น ชนิดที่ใช้ในปัจจุบันจึงไม่เป็นอันตราย ส่วนปลอกเหล็กจะค้างที่ลำกล้อง

ทั้งนี้ก่อนและหลังการชี้แจงของตำรวจ พบว่า ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาที่มีตัวนำแก๊สเป็นกระบอกเหล็กในการสลายการชุมนุมอยู่หลายครั้ง โดยมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานขณะที่กระบอกเหล็กดังกล่าวลอยคว้างพร้อมควันแก๊ส

วันเดียวกันเวลา 17.00 น. ฐนกร ผ่านพินิจ สวมเสื้อแดงขับรถจักรยานยนต์มาดูการชุมนุมที่แยกดินแดง โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อไปถึงแยกดินแดงรถสามารถเลี้ยวซ้ายไปทางพระราม 9 ได้เพียงอย่างเดียว เวลานั้นเขาเห็นตำรวจประมาณสิบนายบนทางด่วน ต่อมาตำรวจระดมยิงกระสุนยางใส่จนทะลุหมวกกันน็อคถูกเข้าที่ตาขวาและเฉียดตาซ้าย หลังเข้ารับการรักษา แพทย์พบว่า ตาข้างขวาของเขามีการฉีกขาดรุนแรงอันเนื่องมาจากการถูกของแข็ง แพทย์ได้ทำการผ่าตัดและเย็บแผลที่ฉีกขาด ซึ่งขณะนี้ตาขวายังมองเห็นแสงเลือนๆ ไม่สามารถมองเห็นระบุใบหน้าใครได้

ตามหลักสากล กระสุนยางจะใช้ต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรง กรณีที่กำลังจะเกิดอันตรายต่อตำรวจหรือสาธารณะ เล็งที่ท้องส่วนล่างหรือขา การเล็งที่หน้าหรือศีรษะ อาจทำให้กระโหลกศีรษะแตก ตาบอดหรือเสียชีวิตได้ การยิงทีละหลายๆ นัด ไม่มีความแม่นยำขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน ขณะที่ในปี 2564 มีรายงานผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณเหนือเอวจำนวนมาก เช่น หน้าอก, สะบักหลังและบริเวณศีระษะ นอกจากนี้ยังมีการยิงในลักษณะประชิดและกระทำต่อผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือใช้ความรุนแรง เช่น ประชาชนทั่วไปและผู้สื่อข่าว

นักข่าวตกเป็นเป้าความรุนแรงระหว่างสลายการชุมนุม

ในปี 2564 มีรายงานว่า นักข่าวที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 28 คน รวม 31 ครั้ง ในจำนวนนี้มี 21 ครั้งที่บาดเจ็บในการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระบริเวณดินแดงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปราบปรามโดยรัฐอย่างรุนแรงและผู้ชุมนุมเองก็มุ่งจะใช้สันติวิธีเชิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสลายการชุมนุม ตั้งแต่กระบองยาง, แก๊สน้ำตา, ปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางและปืน FN 303 ข้อมูลนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ มีดังนี้

วันที่

สถานที่เกิดเหตุหรือใกล้เคียง

รายละเอียด

16 มกราคม 2564

จามจุรีสแควร์

ระหว่างการสลายการชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์มีบุคคลขว้างระเบิดแรงดันต่ำเข้ามาที่จามจุรีสแควร์ ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว The standard ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ขา

28 กุมภาพันธ์ 2564

ราบ 1

ระหว่างการสลายการชุมนุมผู้สื่อข่าวแนวหน้าถูกตำรวจวิ่งเข้ามารวบตัว กดลงกับพื้น ถูกเตะ และถูกกระบองตี ก่อนใช้เคเบิลไทร์รัดข้อมือ แม้จะแสดงตัวเป็นสื่อมวลชน

20 มีนาคม 2564

แยกคอกวัว

ผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยาง 3 คน คือ ผู้สื่อข่าวประชาไทที่บริเวณสะบักหลัง, ผู้สื่อข่าวข่าวสดที่บริเวณน่องและผู้สื่อข่าวช่อง 8 ที่บริเวณขมับ

18 กรกฎาคม 2564

แยกสะพานผ่านฟ้า

ช่างภาพ Plus seven ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นขา

18 กรกฎาคม 2564

แยกนางเลิ้ง

ผู้สื่อข่าวหญิงโดนแก๊สน้ำตาและน้ำแรงดันสูงอัดใส่หน้าจนเลือดกำเดาไหล

18 กรกฎาคม 2564

ไม่ทราบสถานที่

พีระพงษ์ พงษ์นาค ช่างภาพมติชนถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นแขนซ้าย

18 กรกฎาคม 2564

พาณิชย์พระนคร

ช่างภาพเดอะแมทเทอร์ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นแขนซ้าย

18 กรกฎาคม 2564

แยกเทวกรรม

ณัฐพงษ์ มาลี สำนักข่าวราษฎรถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณด้านหลัง ชายโครงด้านขวา

7 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ช่างภาพอิสระถูกยิงด้วยกระสุนยาง

10 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยาง 2 คน

11 สิงหาคม 2564

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ระหว่างเหตุชุลมุนที่ตำรวจเข้ามาไล่จับผู้ชุมนุม ช่างภาพอิสระอยู่บริเวณเกาะพญาไท ตำรวจตีเข้าที่ไหล่ ไม่ทราบชนิดวัตถุ เธอยกกล้องขึ้นมาบังทำให้ฟิลเตอร์กล้องแตกและเลนส์บุบ

11 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ช่างภาพอิสระถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณน่อง

13 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ผู้สื่อข่าวและช่างภาพถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 3 คน

15 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ประชาไทรายงานว่า มีนักข่าวถูกยิงกระสุนยางอย่างน้อย 2 คน

21 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ผู้สื่อข่าว The Reporters  ถูกวัตถุบางอย่างกระแทกเข้าที่หมวกนิรภัยที่สวมอยู่ด้านขวาอย่างแรง ทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ

29 สิงหาคม 2564

แยกดินแดง

ฉัตรอนันต์ ฉัตรอภิวัน เป็นผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ได้รับบาดเจ็บบริเวณมือข้างซ้ายมีแผลขนาดใหญ่, วราพงศ์ น้อยทับทิม ช่างภาพเครือเนชั่นมีอาการฟกช้ำที่มือขวา, สันติ เต๊ะเปีย ช่างภาพอาวุโสเอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นคอยังไม่ทราบสาเหตุ และศุภชัย เพชรเทวี ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง บาดเจ็บบริเวณกกหูด้านขวา

10 กันยายน 2564

แยกดินแดง

สื่ออิสระเพจ Live real ไลฟ์เฟซบุ๊กในช่วงเวลา 22.14 น. บริเวณถนนมิตรไมตรี และระบุว่า เขาถูกยิงด้วยกระสุนยาง

11 กันยายน 2564

แฟลตดินแดง

ช่างภาพ Rice media ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่แฟลตดินแดง

13 กันยายน 2564

แยกดินแดง

ณัฐพงษ์ มาลี สำนักข่าวราษฎรถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณด้านหลัง

19 กันยายน 2564

แยกตึกชัย

นักข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 1 คน

6 ตุลาคม 2564

แยกดินแดง

ช่างภาพอิสระถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หัวเข่า

29 ตุลาคม 2564

แยกประชาสงเคราะห์

ช่างภาพวอยซ์ทีวีถูกกระสุนไม่ทราบชนิดจากปืน FN 303 ถูกเข้าที่นิ้วเท้าและช่างภาพอิสระถูกเข้าที่เป้า

ตำรวจหัวใจล้มเหลวกลางม็อบ รวมเจ็บอย่างน้อย 146 นาย

ในการชุมนุมปี 2564 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 146 นาย อาการบาดเจ็บที่ถูกนับเริ่มตั้งแต่เป็นลมเพราะอากาศร้อน, การได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา, การถูกสะเก็ดระเบิดแสวงเครื่องและการถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด มี 1 นายเสียชีวิต คือ ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ อายุ 47 ปี ตำรวจสน.ธรรมศาลา หัวใจล้มเหลวขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวันที่พบตำรวจบาดเจ็บมากที่สุดคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 28 นาย รองลงมาคือ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 20 นาย

ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตอบผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องตำรวจเสียชีวิตที่มีข่าวเผยแพร่ว่า เป็นการใช้กำลังโดยที่ไม่มีการพักผ่อนว่า “ใช้กำลังก็ใช้ตามห้วงเวลาปฏิบัติ แต่ว่างานตำรวจเยอะ จะบอกว่า ใช้โดยไม่ได้พักผ่อน คงเป็นหาเรื่องกัน ผมว่า เขาเสียชีวิตเราก็ดูแลกำลังพลของเรา” ขณะที่พีพีทีวีรายงานคำสัมภาษณ์ของภรรยาของ ร.ต.อ.วิวัฒน์ว่า ระยะหลังมีการชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง สามีเริ่มบ่นว่าเหนื่อยและไม่ค่อยมีเวลาพัก ทำให้เธอเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ และขอให้สามีไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล แต่สามีไม่ยอมไปตรวจร่างกาย

จากการสัมภาษณ์ตำรวจระดับปฏิบัติได้ข้อมูลว่า การเกณฑ์ตำรวจตามสถานีต่างๆ มาดูแลการชุมนุม เกณฑ์คัดเลือกคือ อายุไม่เกิน 35 ปี สถานีตำรวจนครบาลจะมีกำลังพลใหม่ทุกปีจึงสามารถใช้กำลังพลอายุน้อยได้ แต่ในต่างจังหวัด สถานีตำรวจบางแห่งมีกำลังพลน้อย ทำให้บางครั้งต้องส่งนายตำรวจอายุมากมาช่วยดูแลการชุมนุม หลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของตำรวจสน.ธรรมศาลา มีการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติ มีการจัดหาแพทย์มาตรวจสุขภาพให้แก่ตำรวจ

การใช้ตำรวจอายุมากและเกินเกณฑ์ยังคงปรากฏอยู่ จากการรายงานข่าวของเดลินิวส์ระบุว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 10 นาย หนึ่งในนั้นคือ ร.ต.อ.ปิยะภัทร บัวจูม อายุ 48 ปี รอง สว.สืบสวน สน.ตลาดพลู ซึ่งเป็นลมจากอากาศร้อนระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และอีกนายหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่ขาที่บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือป.ป.ส. (ชนิดอาวุธได้รับการยืนยันจากทีมแพทย์อาสาแล้ว)

อาการบาดเจ็บหนักของตำรวจในการชุมนุมที่แยกดินแดง ตามรายงานของตำรวจเกิดขึ้นในคืนวันที่ 11 กันยายน 2564 ส.ต.ต.ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ถูกแรงระเบิดไปป์บอมบ์และสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณใบหน้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตำรวจจับกุมสุขสันต์และไพฑูรย์ อายุ 19 และ 20 ปีตามลำดับ กล่าวหาว่า ทั้งสองเกี่ยวข้องกับการปาระเบิดใส่ส.ต.ต.ธนาวุฒิ ตำรวจตั้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

อีกครั้งในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 22.30 น. ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณแฟลตดินแดง ตำรวจปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปรายงานข่าว อนุญาตให้อยู่บริเวณถนนด้านหน้าแฟลตดินแดง เยื้องไปทางแยกดินแดงเท่านั้น ต่อมามีรายงานว่า เวลา 22.43 น. ส.ต.ต.เดชวิทย์ เล็ทเทนสัน ถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดเข้าที่ขมับศีรษะด้านซ้าย หลังจากนั้นตำรวจทำการ “ซีล” ปิดพื้นที่ซอยต้นโพธิ์ ด้านข้างแฟลตดินแดงและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อค้นหาตัวผู้กระทำการดังกล่าวตลอดทั้งคืน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 34 คน ในจำนวนนี้มี 18 คนเป็นเยาวชน

ในกระบวนการสืบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด วันที่ 20 ตุลาคม 2564  พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า ตำรวจเตรียมออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องในกรณีนี้หลายคน ในข้อหาขัดขวางและข่มขู่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยใช้อาวุธจากนั้นจะมีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมว่า ในจำนวนนี้หากพบบุคคลใดเป็นผู้ลงมือยิง ส.ต.ต.เดชวิทย์ ก็จะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน