กสม. ชี้รัฐปราบปรามละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม ใช้อาวุธขัดหลักสากล

24 ธันวาคม 2564 เวลา 10.30 น. คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแถลงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประจำปี 2564 กรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 ซึ่ง กสม. มีมติในคราวการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 53/2564 (28) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อจัดการ มีแนวโน้มเป็นการห้ามชุมนุมโดยเหมารวมและห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมกับความปลอดภัยสาธารณะ นอกจากนี้มีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมและดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จึงเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม ส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนหรือคฝ.ได้ใช้เครื่องมือด้วยวิธีการไม่เหมาะสม เช่น ใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรง ยิงกระสุนยางในแนวสูงระดับศีรษะ หรือยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษชนต่อองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย

ขณะที่การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมนั้นหลายกรณี ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่เช่น การใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี การขับรถยนต์ตัดหน้า เฉี่ยวชนหรือถีบรถจักรยานยนต์จนล้มลง ซึ่งกสม.เห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้วิธีการรุนแรง โดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่จะตามมา โดยเพราะการเข้าจับกุมเด็กและเยาวชน จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม พบว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะที่ถูกจับกุม ในบางกรณีเยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวาง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่สายรัดข้อมือเป็นเครื่องพันธนาการ และปรากฏกรณีเยาวชนถูกคุมตัวร่วมกับผู้ใหญ่โดยไม่มีการแยกที่อยู่เป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ถูกจับกุมไปยังสถานีตำรวจ ซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ถูกจับหรือรับผิดชอบ เช่น ที่ตชด.ภาคที่ 1 ส่งผลให้ทนายความไม่สามารถเข้าพบให้ความช่วยเหลือในทันที บางกรณีตำรวจไม่แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ถูกจับกุม หรือไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันและมีประกัน พฤติการณ์ในการกระทำผิดเงื่อนไขและกระทำผิดซ้ำ กรณีนี้แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจนตามอำนาจหน้าที่ของศาลแต่การพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราว ควรยึดหลักที่ว่า ทุกคนควรได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องเป็นเหตุที่กำหนดไว้ในป.วิอาญา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการสันนิษฐานว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดและมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

วสันต์ ภัยหลีกลี้กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 จะอยู่ในช่วงการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันโควิด 19 แต่การชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบและไบค์ม็อบ เป็นการขับขี่ยานพาหนะไปตามเส้นทางต่างๆ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งไม่ปรากฏว่า มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น ส่วนกรณีที่มีเหตุใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังการชุมนุมยุติ หรือเชื่อได้ว่า เกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการชุมนุม

เช่นเดียวกับการชุมนุมประท้วง เดินขบวนประท้วงและการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ โดยทั่วไปเป็นการชุมนุมที่แสดงออกทางการเมืองและไม่มีจุดประสงค์ใช้ความรุนแรง การชุมนุมทั้งสองรูปแบบนี้กสม.ถือว่า เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพและการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามรูปแบบการชุมนุมไม่มีกลุ่มแกนนำขับเคลื่อนชัดเจน มีการใช้สิ่งเทียมอาวุธตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการบังคับได้แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและได้สัดส่วน โดยเฉพาะกับการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน

ความเห็นเรื่องสิทธิเด็ก กสม.ได้หยิบยกสิทธิเด็กมาพิจารณาเป็นกรณีเฉพาะ มีการจัดเวทีและให้น้ำหนักความสำคัญเรื่องนี้ กสม.เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกมาจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ทั้งในเรื่องของการใช้กำลังในการควบคุมการชุมนุมและปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม กสม.มีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุมกรณีสามเหลี่ยมดินแดงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อเดือนกันยายน 2564

จากผลการตรวจสอบและความเห็นข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้

  • ในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องงดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและหลักสากล รวมทั้งต้องจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหลีกเลี่ยงการกระทำ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
  • ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง ไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป และควรมอบหมายกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางในการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณีรวมทั้งกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองโดยเร็ว ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมการชุมนุมกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ โดยการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต้องให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว ให้สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครอง และควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขังด้วย

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อการจัดการชุมนุม ซึ่งต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและความปลอดภัยของบุคคลอื่น รวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายในการชุมนุม และการแพร่ระบาดของโควิด 19 และเหตุอื่น โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล

ไฟล์แนบ