จากพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คสช.ลักไก่ขยายพื้นที่ห้ามชุมนุม

ก่อนหน้าการรัฐประหาร 2557 ไทยไม่มีบทบัญญัติโดยตรงในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ พื้นที่การชุมนุมทางการเมืองหลักอันเป็นที่จดจำได้แก่ สนามหลวง, ลานพระบรมรูปทรงม้าและทำเนียบรัฐบาล ต่อมาปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) และมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2558  กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมเป็นครั้งแรก หากแต่ในปี 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 และฉวยโอกาสนี้ขยายขอบเขตพื้นที่ห้ามการชุมนุมมากกว่าที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯได้เคยให้อำนาจไว้

คสช.1 ตราพ.ร.บ.ชุมนุมฯ วางพื้นที่ห้ามชุมนุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์

หลังรัฐประหารในปี 2557 คสช.ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยกษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกตามที่คสช.ถวายคำแนะนำ ต่อมาสมาชิกสนช.ได้ตรากฎหมายจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้รับการวาดหวังว่า จะเป็นกฎหมายบทหลักในการ ‘ดูแล’ การชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การกำหนดพื้นที่ห้ามการชุมนุม ในมาตรา 7 ซึ่งห้ามไม่ให้ชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังและที่ประทับของกษตริย์และสมาชิกราชวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ

“การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้”

และห้ามชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุม นอกจากนี้ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลและศาล ซึ่งต้องดูพฤติการณ์และจำนวนผู้ชุมนุมประกอบด้วย

มาตราดังกล่าวของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้พื้นที่ชุมนุมที่ประชาชนเคยชุมนุมเรียกร้องได้ในอดีตจะทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้าและพื้นที่บางส่วนของสนามหลวง

ลานพระบรมรูปทรงม้า

ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต เป็นที่ประทับของกษัตริย์หลายพระองค์ ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลา เล่าว่า มีการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 13 คน ทำให้มีการชุมนุมต่อเนื่องข้ามคืนและเคลื่อนขบวนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า “ไปพึ่งพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว”  ที่ทรงประทับอยู่ภายในพระราชวังดุสิต หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายตำรวจปะทะกับนักศึกษาที่กำลังเดินทางกลับเนื่องจากพล.ต.ท. (ยศในขณะนั้น) มนต์ชัย พันธุ์คงชื่นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับไปทางถนนพระรามห้า มีการชุมนุมของของหลากหลายกลุ่มที่เคยแสดงออกบริเวณนี้ไม่ว่าจะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ก่อนหน้าการรัฐประหารของคสช.ก็ยังปรากฏการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว วันที่ 30 ธันวาคม 2556 ตำรวจในนาม“กลุ่มปกป้องวิชาชีพตำรวจ” ซึ่งเป็นตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล 88 สน. และหน่วยอื่นๆ ประมาณ 500 นาย ได้รวมตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อแสดงพลังปกป้องวิชาชีพตำรวจและเรียกร้องผู้บังคับบัญชาให้ติดตามจับกุมคนร้ายที่ทำร้ายตำรวจจากเหตุปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556

เดือนมีนาคม 2557 สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนขบวนจากสวนลุมพินีมายังลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีการจัดตั้งจอภาพและเครื่องขยายเสียงบริเวณดังกล่าวด้วย เดือนกรกฎาคม 2558 หลังการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้การชุมนุมในพื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากอยู่ภายในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังดุสิต

สนามหลวง

สนามหลวงตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของสนามหลวงฝั่งใต้ (ฝั่งสนามหญ้า)อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากขอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง เดิมทีพื้นที่สนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้ชุมนุมมักใช้ในการเรียกร้องแสดงออกทางการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ย้อนไปตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในปี 2549 และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ในปี 2553

เดือนกรกฎาคม 2558 หลังการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  พื้นที่สนามหลวงแทบจะไม่ได้ใช้ในการแสดงออกทางการเมืองเลย เนื่องจากอยู่ภายใต้รัฐบาลคสช.ที่มีแนวโน้มในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม, มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครและในปี 2559 รัชกาลที่ 9 สวรรคตต้องใช้พื้นที่สร้างพระเมรุมาศ ทำให้ภาพของสนามหลวงและการชุมนุมถูกเจือจางลงไป การกลับมาอีกครั้งของสนามหลวงในฐานะพื้นที่เรียกร้องทางการเมืองคือ เดือนกันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งหรือยุคคสช. 2 แล้ว

คสช. 2 ฉวยเวลาฉุกเฉินฯ ขยายพื้นที่ห้ามชุมนุมกว้างขึ้น

ต้นปี 2563 ไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด” ต่อมาพลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงออกประกาศกำหนดว่า “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค…”

เห็นได้ว่า การชุมนุมต้องห้ามตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวต้องเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ทั้งนี้ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.ชุมนุมฯจะไม่ใช้บังคับระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

เดือนกรกฎาคม 2563 ช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคไม่มาก นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ให้นำพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้ในการควบคุมการชุมนุม ทำให้การชุมนุมไม่ถูกจำกัดอย่างกว้างขว้างเท่ากับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งในระหว่างนี้เอง การชุมนุมก็ค่อยๆ ขยายตัวไปพร้อมกับประเด็นข้อเรียกร้องที่ไต่ระดับจากการขับไล่รัฐบาล, การแก้รัฐธรรมนูญไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องถูกสกัดในเดือนธันวาคม 2563 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ทำให้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 มีเนื้อหาห้ามการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคขัดกับข้อกำหนดที่ 13 ออกมาก่อนหน้า ทำให้ข้อกำหนดเดิมต้องถูกยกเลิกไป

ต่อมาในปี 2564 มีช่วงที่สถานการณ์โควิด 19 ทรงตัว มีผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคยออกข้อกำหนดที่นำพ.ร.บ.ชุมนุมฯกลับมาใช้อีก ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้รัฐเองก็ไม่มีฐานอำนาจในการห้ามการชุมนุมในพื้นที่ที่เคยถูกห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก

แม้จะไม่มีอำนาจในการห้ามชุมนุมในพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลกลับฉวยโอกาสปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพการชุมนุมหนักขึ้นอ้างว่า การชุมนุมต้องห้ามตามข้อกำหนดที่ออกความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาผู้ชุมนุมก็ได้แสดงเจตนาอย่างเด่นชัดที่จะทำให้การชุมนุมปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ไม่ว่าจะการใส่หน้ากากอนามัยและการปรับรูปแบบการเคลื่อนไหวเป็นคาร์ม็อบ และยังมีพฤติการณ์ขยายขอบเขตพื้นที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองให้กว้างขึ้นกว่าที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯได้ให้อำนาจไว้

นอกจากนี้ยังมีความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมายสองฉบับนี้ เนื่องจากข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 ไม่ได้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 13 อย่างชัดเจน ทำให้แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐยังขาดความชัดเจนตามไปด้วย เช่น วันที่ 20 มีนาคม 2564 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า การชุมนุมในที่ทางสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานนั้นผิดต่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และก่อนการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าในเช้ามืดวันที่ 28 มีนาคม 2564 มีรายงานว่า ตำรวจไปที่ศาลแพ่งขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แต่ศาลไม่รับคำร้องเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

สำหรับพื้นที่ต้องห้ามชุมนุมระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินฯที่ถูกขยายขอบเขตจากพ.ร.บ.ชุมนุมฯมี ดังนี้

สนามหลวง

หากยึดถือว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อไม่มีบทบัญญัติห้ามชุมนุมในพื้นที่ต้องห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว การชุมนุมที่ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรคจะต้องทำได้ในทุกพื้นที่ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น  เห็นได้จากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่ม We Volunteer จัดกิจกรรมปาร์ตี้ย่างกุ้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรขายกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่บริเวณถนนเส้นผ่ากลางสนามหลวง พวกเขาถูกสลายการชุมนุมก่อนเริ่มกิจกรรม ระบุว่า สถานที่สาธารณะห้ามขายของเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามการชุมนุมวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่ศาลหลักเมือง อาจด้วยการประกาศเคลื่อนขบวนอย่างไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้า ทำให้ตำรวจไม่ได้ตระเตรียมแนวกั้นไว้ จึงทำให้ผู้ชุมนุมสามารถเดินเข้าไปเกือบถึงศาลหลักเมือง ก่อนหน้าหัวขบวนไปถึงตำรวจยังวางแนวกั้นไม่เสร็จ เป็นการวางแนวรั้วสแตนเลส อย่างลวกๆ ไม่ได้มีการร้อยรัดให้มั่นคง หลังการเจรจาตำรวจปล่อยให้ตัวแทนผู้ชุมนุมสามารถทำกิจกรรมที่ศาลหลักเมืองได้จนเสร็จสิ้นและประกาศยุติการชุมนุม

การขยายขอบเขตห้ามชุมนุมปรากฏเด่นชัดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2564 รีเด็มนัดชุมนุม #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ ที่สนามหลวง ก่อนถึงเวลานัดหมายตำรวจวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ยาวตั้งแต่ถนนราชดำเนินในหน้าศาลฎีกา ยาวข้ามไปสนามหลวงและถนนหน้าพระลาน นอกจากนี้ยังใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปิดที่ถนนมหาราช ถนนอัษฎางค์และถนนหลักเมืองหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นระยะเดียวกันกับที่ตำรวจเคยกระทำต่อ We Volunteer ในวันสิ้นปี 2563

การชุมนุมของรีเด็มครั้งนี้ผู้ชุมนุมบางส่วนมีพฤติการณ์เปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่หนึ่งแนวที่หน้าศาลฎีกา ซึ่งกลายเป็นจุดตัดในการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา หรือหากตำรวจจะยังคงยึดถือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตามที่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน พื้นที่ที่วางแนวคอนเทนเนอร์ก็ไม่ได้อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังด้วยซ้ำไป จากการใช้ Google map วางกรอบพิกัดพระบรมมหาราชวังและใช้โปรแกรม QGIS วัดรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังพบว่า แนวตู้คอนเทนเนอร์อยู่นอกขอบรัศมี 150 เมตรเป็นระยะทางประมาณ 220 เมตร

หลังจากนั้นพื้นที่สนามหลวงกลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ชุมนุมอย่างราษฎรและเครือข่าย ในการชุมนุมขนาดใหญ่ของราษฎรหรือการชุมนุมของกลุ่มอื่นๆที่เครือข่ายของราษฎรประกาศเข้าร่วม แม้จะไม่ได้นัดหมายหรือมุ่งหมายที่จะทำกิจกรรมบริเวณสนามหลวง เจ้าหน้าที่ก็มักจะปิดกั้นตั้งแต่แยกสะพานผ่านพิภพลีลา เช่น วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ทะลุฟ้านัดหมายทำคาร์ม็อบจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยผ่านเส้นจรัญสนิทวงศ์

ทำเนียบรัฐบาล

เป็นภาพที่เห็นชินตาของการชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล สถานที่ที่ผู้นำประเทศใช้ในการทำงานบริหารจึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อประชาชนมีความเดือดร้อนและมีข้อเรียกร้องก็มักจะไปรวมตัวกันที่นั่น ปี 2551 ระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ในปี 2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำพิธีเทเลือดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

หลังการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาลจะชุมนุมไม่ได้ เว้นเสียว่า จะมีการจัดพื้นที่ไว้สำหรับการชุมนุม และมีการให้อำนาจห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลไว้เป็นครั้งคราวไป โดยต้องพิจารณาพฤติการณ์ของการชุมนุมประกอบด้วย จากการใช้ Google map วางกรอบพิกัดทำเนียบรัฐบาลและใช้โปรแกรม QGIS วัดรัศมี 50 เมตรกรอบดังกล่าว พบว่า พื้นที่ห้ามชุมนุมเป็นครั้งคราว บริเวณที่มีการชุมนุมบ่อยครั้งคือ ฝั่งถนนพิษณุโลก รัศมีห้ามชุมนุมจะอยู่ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ค่อนมาทางแยกพาณิชยการเล็กน้อยเท่านั้น

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ระหว่างที่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯตามข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 13 การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลยังเกิดขึ้นได้ เช่น วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เครือข่ายบำนาญแห่งชาติเดินขบวนจากสหประชาชาติไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล, วันที่ 24 สิงหาคม 2563 กลุ่มรักษ์โตนสะตอปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลและวันที่ 1 กันยายน 2563 เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

สัญญาณการขยายพื้นที่ห้ามชุมนุมเริ่มต้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นราษฎร) เคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินที่บริเวณดังกล่าวไปที่ทำเนียบรัฐบาลแทน ระหว่างทางกลับเจอแนวสิ่งกีดขวางของตำรวจตลอดเส้นทาง เริ่มจากที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตำรวจปิดไม่ให้ขบวนไปทางราชดำเนินนอก, สะพานเทวกรรมและสะพานลอยก่อนเข้าแยกนางเลิ้ง ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ตำรวจมีอำนาจห้ามการชุมนุมหรือเดินขบวนผ่าน

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชนีผ่านผู้ชุมนุมคณะราษฎรและปกป้องสถาบันฯที่สะพานชมัยมรุเชฐ ท้ายสุดขบวนหลักของคณะราษฎรสามารถไปยังทำเนียบรัฐบาลได้ แต่เหตุการณ์ขบวนเสด็จก็กลายเป็นเงื่อนไขให้คณะราษฎรถูกสลายการชุมนุมในเช้ามืดวันถัดมา

ต่อมาในปี 2564 นายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกข้อกำหนดให้นำพ.ร.บ.ชุมนุมฯกลับมาใช้อีก ทำให้ไม่มีบทบัญญัติในการห้ามชุมนุมในพื้นที่ห้ามเดิมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้ว แต่กลับเดินหน้าขยายขอบเขตกว้างขึ้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมได้เข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล โดยให้อยู่ที่บริเวณขอบรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น เริ่มจากเดือนมีนาคม 2564 กลุ่ม Unme of Anarchry จะปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลแต่ไม่สามารถทำได้ ต้องมาอยู่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์แทน และวันที่ 24 มิถุนายน 2564 กลุ่มประชาชนคนไทยนำโดยนิติธร ล้ำเหลือ ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวางที่แยกพาณิชยการ

ในเดือนกรกฎาคม 2564 การชุมนุมของหลายกลุ่มเช่น ราษฎรและไทยไม่ทนก็ต้องเผชิญการปิดกั้นของตำรวจมากขึ้นกว่าเดิม มีการขยับแนวสิ่งกีดขวางออกมาที่บริเวณรั้วศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฝั่งติดกับพาณิชยการพระนคร ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2564 รีเด็มนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปพระบรมมหาราชวัง แต่ถูกตำรวจปิดพื้นที่ก่อนเริ่มการชุมนุมจึงเปลี่ยนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ครั้งนี้ตำรวจใช้ตู้คอนเทนเนอร์วางปิดถนนที่บริเวณสะพานลอยพาณิชยการพระนครจึงต้องเปลี่ยนไปที่ราบ 1

และปิดกั้นพื้นที่กว้างขวางมากที่สุดในเดือนกันยายน 2564 ทะลุฟ้าจัดการชุมนุมไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวางตั้งแต่แยกนางเลิ้ง ซึ่งอยู่นอกขอบรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะทาง 250 เมตร

ล่าสุดในเดือนมกราคม 2565 ตำรวจยังมีแนวโน้มขยายขอบเขตพื้นที่ห้ามชุมนุม วันที่ 18 มกราคม 2565 ทะลุฟ้าและเครือข่ายนักกิจกรรมชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำรวจใช้แผงเหล็กกั้นสะพานชมัยมรุเชฐ ไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปทำกิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ วันต่อมาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยจัดชุมนุมในลักษณะเดียวกัน ตำรวจปิดเส้นทางตั้งแต่บริเวณพาณิชยการพระนคร ซึ่งอยู่ห่างจากขอบรัศมี 50 เมตรของทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

กรมทหารราบที่ 1 มหาเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ1) เป็นที่ตั้งของบ้านพักพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2562 คณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ออกพระราชกำหนดโอนให้ค่ายทหารแห่งนี้กลายเป็นส่วนราชการในพระองค์​ ทำให้ต่อมาตำรวจอ้างว่าเป็นเขตพระราชฐานที่ต้องปกป้อง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ราษฎรนัดหมายชุมนุมที่ราบ 1 แต่ปรากฏว่า มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาปิดพื้นที่หน้าราบ 1 ไม่ให้มีการชุมนุมได้ จึงเปลี่ยนไปชุมนุมที่ราบ 11 แทน

เวลาดังกล่าวพ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกใช้บังคับตามข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 13 โดยมาตรา 7 ห้ามไม่ให้ชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังและที่ประทับของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ เจตนารมณ์มุ่งหมายไม่ให้การชุมนุมส่งผลกระทบต่อในพื้นที่ที่เป็นที่ประทับหรือที่พักของพระบรมวงศานุวงศ์และพระราชอาคันตุกะเท่านั้น ซึ่งราบ 1 เป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์และที่พักของพลเอกประยุทธ์ยาวนานตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารไม่ได้เกี่ยวข้องหรืออยู่ในความมุ่งหมายของมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ขณะที่ในปี 2564 พ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ได้บังคับใช้แล้ว ราบ 1 ก็ยังถูกปกป้องด้วยข้ออ้างว่า เป็นเขตพระราชฐานอย่างคงเส้นคงวา เริ่มจากการชุมนุมของรีเด็มวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่วางแนวตู้คอนเทนเนอร์ปิดหน้าราบ 1 ฝั่งวิภาวดีทั้งหมด เมื่อผู้ชุมนุมเลื่อนเปิดตู้คอนเทนเนอร์ สื่อรายงานว่า มีการประกาศจากด้านในราบ 1 ว่า เป็นเขตพระราชฐาน จากนั้นตำรวจเปิดฉากสลายการชุมนุมโดยปราศจากการเจรจาก่อน ทั้งยังเป็นวันที่ที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 โดยไม่มีการแจ้งเตือนหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน

การขยายขอบเขตพื้นที่ห้ามชุมนุมเริ่มต้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 หลังจบคาร์ม็อบของสมบัติ บุญงามอนงค์ที่บริเวณถนนวิภาวดีแล้ว ผู้ชุมนุมกำลังรอแยกย้าย ตำรวจตั้งแถวแสดงกำลังที่แยกดินแดง เป็นเหตุให้เกิดการปะทะตามมา และวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เยาวชนปลดแอกนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ถูกปิดกั้นเส้นทางเดินไปพระบรมมหาราชวังจึงเปลี่ยนไปชุมนุมที่ราบ 1 แทน เมื่อผู้ชุมนุมเปลี่ยนปลายทาง ตำรวจก็เริ่มปิดพื้นที่ตั้งแต่แยกดินแดง มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์และวางกำลังปิดเส้นทางอย่างรัดกุม

หลังจากวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมาหากมีนัดหมายชุมนุมตำรวจปิดกั้นเส้นทางบริเวณแยกดินแดง แม้ว่า บางวันผู้ชุมนุมไม่ได้มีปลายทางที่ราบ 1 ก็ตาม เช่น วันที่ 10 สิงหาคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชุมนุมแบบคาร์ม็อบเคลื่อนขบวนจากแยกราชประสงค์ไปที่คิง พาวเวอร์ ซอยรางน้ำ ระหว่างที่ขบวนผ่านแยกดินแดง ตำรวจตั้งแถวแสดงกำลังบริเวณทางลงทางด่วนดินแดงและเกิดการเผชิญหน้ากันกับผู้ชุมนุมอิสระ หรืออาจสลายการชุมนุมก่อนเคลื่อนขบวนไปที่ราบ 1 เลยอย่างกรณีวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ทะลุฟ้านัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปราบ 1 ก่อนเคลื่อนขบวนตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมเพื่อสกัดไม่ให้ขบวนไปถึงราบ 1 ได้

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เริ่มปรากฏการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระโดยมุ่งที่จะไปที่หน้าราบ 1 แต่ก็ต้องติดแนวสิ่งกีดขวางของตำรวจที่บริเวณทางลงทางด่วนดินแดง ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ชาวแฟลตดินแดงเรียกร้องให้ตำรวจถอยแนวสิ่งกีดขวางจากแยกดินแดงไปที่หน้าราบ 1 แทน วันดังกล่าวตำรวจถอยไปตั้งกำลังที่บริเวณโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ไม่เปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปถึงราบ 1  หลังจากนั้นจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ผู้ชุมนุมอิสระยังรวมตัวกันที่แยกดินแดงต่อเนื่อง มุ่งขับไล่รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ไม่เคยผ่านไปถึงราบ 1 ได้เลย