ทำไมผู้ต้องหาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ถ้าไม่พิมพ์แล้วจะมีความผิดหรือไม่

ในกระบวนการสอบสวนผู้ต้องหาในคดีอาญา ‘การพิมพ์ลายนิ้วมือ’ ของผู้ต้องหาถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนจะให้ผู้ต้องหาต้องทำเป็นปกติ การปรากฎภาพผู้ต้องหาชูนิ้วสีดำไม่ใช่แค่คดีการเมืองแต่รวมถึงคดีอาญาอื่นๆ ด้วย จึงเป็นเหมือน “ภาพจำ” เวลาผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ จะต้องมีภาพ “มือดำ” กลับบ้านไป และกลายเป็นภาพจำอีกด้านหนึ่งว่า คนที่ “มือดำ” คืนคนที่ผ่านกระบวนการในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญามาแล้ว

ทางฝั่งของตำรวจก็อธิบายว่า สาเหตุที่จะต้องเก็บลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาไว้ทุกครั้งเมื่อผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าว เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่สามารถเก็บได้ง่ายที่สุด และเป็นพยานชิ้นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาคือผู้ที่กระทำความผิดจริงหรือไม่ โดยเฉพาะในคดีที่ต้องนำลายนิ้วมือของผู้ต้องหาไปเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือที่ปรากฏในที่เกิดเหตุ 

เมื่อเกิดคดีอาญาขึ้น พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดให้ได้มากที่สุดเพื่อทราบข้อเท็จจริงต่างๆ อันเกี่ยวกับคดีความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งลายพิมพ์นิ้วมือนอกจากจะพิสูจน์ว่า ผู้ต้องหาคนนั้นเกี่ยวข้องหรืออยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว ก็ยังอาจช่วยพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาคนนั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่อยู่ในที่เกิดเหตุได้ด้วย โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน มีดังนี้ 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ได้วางหลักว่า ‘ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทําได้เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทําผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา’ 

มาตรา 132 (1) วางหลักว่า ‘เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไป 

(1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอมหรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของ หรือที่ทางอันสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ รวมทั้งภาพถ่าย แผนท่ี หรือภาพวาด จำลองหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น’   

นอกจากนี้ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจแห่งชาติ ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2554 บทที่ 1 ข้อ 1 กำหนดให้ พนักงานสอบสวนมีหน้าที่จัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ ผู้ต้องหาคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่คดีลหุโทษ คดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก รวมทั้งความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ซึ่งได้เปรียบเทียบปรับแล้ว 

จากมาตรา 131 และ 132 ทำให้พนักงานสอบสวนในคดีอาญามีอำนาจและหน้าที่ในการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่จะสามารถทำได้ ไม่ใช่แค่เพื่อการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา แต่รวมถึงเพื่อป้องกันการดำเนินคดีผิดตัว โดยหากผู้กระทำความผิดมาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน หลังจากที่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่ในการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเพื่อรวบรวมประกอบกับพยานหลักฐานชิ้นอื่นในคดี สำหรับอำนาจในมาตรา 132(1) ให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้นเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีอื่น เช่น ผู้ต้องหารับสารภาพแล้ว การพิมพ์ลายนิ้วมืออีกก็อาจไม่มีความจำเป็น

จากระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ ว่าด้วยเรื่องการพิมพ์นิ้วมือ ได้กำหนดข้อยกเว้นว่าถ้าหากเป็นคดีดังต่อไปนี้ไม่ต้องพิมพ์มือ ได้แก่ คดีลหุโทษ (หมายถึง คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) หรือคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก รวมทั้งความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่ได้เปรียบเทียบปรับแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ต้องหาไม่จำเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือในคดีนี้เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นตามที่ระเบียบฯกำหนดไว้  

ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย ‘การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัว’

หลังการรัฐประหารในปี 2549 คณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นพิศษ โดยไม่กี่วันหลังการยึดอำนาจก็ออกประกาศของคณะรัฐประหาร ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา กำหนดให้ผู้ต้องหาที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต่อมาในปี 2558 รังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ และถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีต่างหากตามประกาศฉบับนี้ เป็นเหตุให้รังสิมันต์ ยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อหานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ว่า ประกาศฉบับที่ 25 ในส่วนที่เป็นความผิดและโทษอาญาจากการปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือนั้น ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ เป็นผลให้ใช้บังคับไม่ได้

โดยเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งระบุว่า “การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างไปจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิดังกล่าวจึงย่อมได้รับความคุ้มครอง แม้กฎหมายจะบัญญัติให้เป็นหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ย่อมไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญาในฐานที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้าได้ รัฐชอบที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบังคับการให้ผู้ต้องหาที่ไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเกิดภาระหรือความรับผิดได้เพียงเท่าที่จำเป็น และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น หลักการนี้ได้บัญญัติรับรองไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131/1…”

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิของประชาชนในการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ และให้ยกเลิกโทษของประกาศ ฉบับที่ 25 ไป แต่ผู้ต้องหาที่ปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ยังคงถูกตำรวจดำเนินคดี โดยอาศัยข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เคยมีคำพิพากษาของศาลแขวงนนทบุรี คดีหมายเลขแดงที่ อ.2738/2563  ตัดสินให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 386 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร จากกรณีไม่พิมพ์นิ้วลายมือในคดีอาญาที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ศาลให้เหตุผลไว้ว่า แม้จำเลยจะอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 ที่ระบุว่าการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิเฉพาะตัว และการกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ศาลในคดีนี้เห็นว่าเหตุผลหลักของการมีคำวินิจฉัยเช่นนั้น คือ การออกกฎหมายในขณะนั้น (หมายความถึง ช่วงที่คณะรัฐประหารปกครองประเทศ)  ได้กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดไปในทันที โดยไม่มีข้อยกเว้น และอัตราโทษที่กำหนดก็ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ประกอบกับเมื่อสภาวการณ์ของบ้านเมืองเปลี่ยนจากช่วงรัฐประหารกลับสู่ช่วงปกติแล้วศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยให้ประกาศคณะปฏิรูปฯ ในขณะนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เหตุผลสำคัญที่ศาลในคดียกขึ้นอ้าง คือ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ปรากฏถ้อยคำใดให้เข้าใจได้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิอย่างเสรีที่จะปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือได้ โดยที่การกระทำของบุคคลนั้นไม่เป็นความผิดใดๆ 

ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ จะผิดอาญาฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานหรือไม่

เมื่อกฎหมายกำหนดให้การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานโดยเฉพาะการพิมพ์ลายลายนิ้วมือของผู้ต้องหาเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องหาปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในกระบวนการสอบสวน เนื่องจากในบางกรณีผู้ต้องหารับว่าเป็นผู้กระทำผิดจริง จึงไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนอีก หรือเคยมีการเก็บลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาคนนั้นไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงไม่จำเป็นต้องพิมพ์ซ้ำอีก เหตุผลในการปฏิเสธเหล่านี้จะทำให้มีความผิดในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 หรือไม่ 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วางหลักว่า “ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

การปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งที่จะเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368 ต้องมีเงื่อนไข ดังนี้ด้วย 

 1. เจ้าพนักงานออกคำสั่งโดยมีอำนาจตามกฎหมาย
 2. ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานนั้นแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ดังนั้น การออกคำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือของพนักงานสอบสวนจะต้องมีลักษณะตามมาตรา 132(1) ด้วย คือ เป็นการพิมพ์ลายนิ้วมือ “ซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น” หากเป็นการสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือไปก่อนโดยไม่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการหาพยานหลักฐานของคดี ก็เท่ากับเป็นการออกคำสั่งโดยไม่เข้าเงื่อนไขของมาตรา 132(1) และเป็นคำสั่งที่เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจ หรือหากเจ้าพนักงานออกคำสั่งโดยมีอำนาจ แต่ผู้ต้องหามี “เหตุผลอันสมควร” ในการไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ถือว่ามีความผิด ไม่ใช่ว่าเจ้าพนักงานออกคำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว การปฏิเสธจะเป็นความผิดเสมอไป