99 วันในเรือนจำ: อิสระและตัวตนที่ถูกพรากของ “เบนจา อะปัญ”

“ทำไมฉันถึงเจอแบบนี้ มันเกิดคำถาม แล้วก็ตอบตัวเองไม่ได้… มันผิดหวัง”

บทสนทนาหยุดนิ่งไปครู่หนึ่ง ในขณะที่เด็กหญิงผมสั้น สวมเสื้อยืดดำ กำลังนั่งทบทวนเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเอง

เบนจา อะปัญ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ใครหลายคนอาจคุ้นตาเธอในลุค “สาวแว่นผมหางม้า” สวมเสื้อแขนยาวสีเหลืองสดใส แววตามุ่งมั่นพร้อมจับไมค์ปราศรัยด้วยข้อความอันแหลมคม เธอได้ถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัวและต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2564 สืบเนื่องจากการถูกตั้งข้อหาในมาตรา 112 จำนวนสองคดี ได้แก่ คดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 และคดีอ่านแถลงการณ์หน้าตึกซิโนไทยเมื่อ 10 สิงหาคม 2564

“99 วัน” คือระยะเวลาที่เบนจาถูกพรากอิสรภาพจากโลกภายนอกไป

กระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2565 เบนจาได้รับการปล่อยตัวออกมาพร้อมเงื่อนไขห้าข้อ ได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์, ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่าง 18.00 – 06.00 น., ต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต แต่ทั้งนี้ อิสรภาพของเธอจะคงอยู่ชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เพียงเท่านั้น

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาสามเดือนที่เบนจาต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกซึ่งใบเล็กลงกว่าเก่า อะไรคือสิ่งที่พราก “ตัวตน” ความเป็นเธอไปบ้าง?

เริ่มต้นใหม่ในห้องนอนเดิม

เมื่อสลัดภาพนักกิจกรรมผู้ขึงขังออกไป เบนจาเป็นเพียงเด็กสาวธรรมดาที่รักการแต่งห้อง ไม่ว่าจะเป็นตู้ไม้ที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือการเมือง โมเดลจรวดที่วางเตะตาอยู่ตรงชั้นล่างสุด หรือบรรดาไม้น้ำในโหลเล็กใหญ่บนโต๊ะเขียนหนังสือ ทุกองค์ประกอบล้วนถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบในห้องนอนที่เป็นเสมือน “พื้นที่ปลอดภัย” ของเธอ อย่างไรก็ตาม เบนจาเล่าว่าปัญหาที่ต้องพบเจอหลังกลับออกมา คือเธอยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้อย่างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับแต่ก่อน

“เอาจริงๆ อยากบอกว่ามันเละเทะมาก เรายังหาคำเรียกพฤติกรรมตอนอยู่ที่ห้องไม่ได้แน่ชัดว่าส่วนใหญ่ทำอะไร เพราะว่าทำไปเรื่อย ก็อกแก๊ก ทำความสะอาดห้อง ซักผ้า อ่านหนังสือ เล่นคอม นั่งดูต้นไม้”

“เราเป็นคนบ้าการทำตารางงาน ตอนช่วงที่ออกมาแล้วยังคิดอะไรไม่ค่อยออก ตารางงานก็ว่างมาก เราเลยเริ่มจากงานบ้านก่อนเพราะมันเป็นงานที่ครบจบในตัวเอง ใช้ตัวเราแค่เพียงลำพัง แล้วหลังจากนั้นพอเราเริ่มใส่อะไรลงไปในปฏิทิน เริ่มมีการนัดหมายผู้คน มันก็เริ่มเรียกสติกลับมา”

เมื่อพูดถึงผู้คน ชื่อของ “รุ้ง ปนัสยา” เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวภายใต้เงื่อนไขเดียวกันก็ถูกเอ่ยขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ อีกทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญที่เบนจาส่งจดหมายไปหา เมื่อครั้งรุ้งยังอยู่ในเรือนจำ ด้วยข้อความสำคัญว่า “มึงอย่าทิ้งกูนะ”

“(ตอนเจอรุ้ง) มันก็จะหว่องๆ หน่อย เพราะมองหน้าก็รู้กัน นึกออกไหม บางทีมันไม่ต้องพูดกันเยอะ มันแบบ … มึงก็คงจะเหนื่อยมาก กูเข้าใจ มันอยากโอบกอดเพื่อน แต่กูเองก็พินาศว่ะ ไม่รู้ว่าจะปลอบ (heal) มึงยังไง จะเยียวยามึงยังไง”

“ให้ลองนึกภาพเหมือนเราติดเกาะแล้วชูป้ายอยู่ ป้ายนั้นก็จะเขียนว่า ‘มึงอย่าทิ้งกูนะ’ คิดถึงอิโมจิอ้อนๆ ทำตาอ้อนๆ ใส่เพื่อน มันเป็นช่วงเวลา (moment) ที่รู้สึกว่า กูอยากพิงไหล่ใครซักคน แล้วก็พูดออกมา เลยบอกรุ้งไปว่า มึงอย่าทิ้งกูนะ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเบนจามากที่สุด คงหนีไม่พ้น “กำไล EM” ที่ติดอยู่บริเวณข้อเท้าซ้าย และเนื่องด้วยเวลาชีวิตที่ต้องเคร่งครัดมากขึ้น ส่งผลให้บางกิจกรรมที่เธอรัก เช่น การดูพระอาทิตย์ตก ก็สามารถทำได้แค่จากริมระเบียงห้องพักเพียงเท่านั้น

“คนเราไม่ได้มีกิจวัตร (routine) ที่ต้องกลับหกโมงทุกวัน… ร้านอาหารบ้างร้านสี่โมงเพิ่งเปิด มีอีกหลายอย่างที่ตอนดึกๆ เราต้องทำ ชีวิตวัยรุ่นอะ นึกออกไหม ไม่ได้อยากจะอยู่แต่ในห้องอย่างเดียว เวลาจะทำกิจวัตรอะไรข้างนอกก็ต้องเริ่มตั้งนาฬิกา แล้วก็จะพะวงว่ากี่โมงแล้ว จะกลับทันไหม รถจะติดไหม มันเป็นวงการซินเดอเรลล่า”

“มันจะมีบางสถานที่ ที่เราไปตอนเย็นแล้วช่วยเยียวยา (heal) จิตใจเราได้ เรามีร้านกาแฟร้านโปรดอยู่ร้านหนึ่งที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศมันดีมากถ้าอยู่ช่วงพระอาทิตย์ตก แต่ด้วยระยะทางจากที่พักเรา ไม่มีทางที่จะได้อยู่ถึงพระอาทิตย์ตกดิน เราก็เลยยังไม่มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยียนร้านนั้น”

นอกจากกำไลข้อเท้าอันใหญ่ที่ดูแปลกตาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทรงผม” ที่เปลี่ยนไปของเบนจาอาจทำให้ใครหลายคนประหลาดใจว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจตัดผมสั้นหลังออกจากเรือนจำ

“ปัจจัยที่หนึ่งคือรู้สึกว่าอยากเริ่มต้นใหม่กับอะไรสักอย่างหนึ่ง เราคิดอะไรไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากสิ่งไหน ชีวิตจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี ก็เลยเริ่มจากการตัดผมก่อน เดี๋ยวมันก็ยาว… เราคิดแบบนี้ ให้มันเริ่มต้นไปพร้อมกับเรา”

“ข้อสองคือ ตอนอยู่ในเรือนจำผมยาวมันดูแลรักษาลำบาก เราเป็นคนขี้ร้อน เป็นคนที่ผมทำสีมา มันจะดูแลรักษายาก เราหงุดหงิดกับการมีผมยาว (ในเรือนจำ) มาตลอด เราอยากทำเรื่องตัดผมมาตลอดแต่ยังไม่ได้ทำ มันเลยเหมือนเป็น mission ตั้งแต่อยู่ในเรือนจำว่าจะตัดแบบนี้เลย อยากตัดซอยสั้น มันจะได้สระผมง่าย”

ตัวตนที่หล่นหายไป

เมื่อถูกถามให้เลือกกลุ่มคำเพื่อใช้อธิบายความรู้สึกของการก้าวเท้าออกมาจากเรือนจำ อาการยิ้มมุมปากก่อนหน้านี้ของเบนจาได้หย่อนลงมาเล็กน้อย ก่อนจะสวมใส่ใบหน้าสีเทาพร้อมตอบว่ารู้สึก “หน่วง” และ “กลัว” การพบเจอผู้คนในโลกภายนอก

“ตอนออกจากคุก ถามว่าเราดีใจไหมที่ได้ออกมา คำว่าดีใจไม่ใช่คำแรกที่เรารู้สึก เพราะว่าเราเพิ่งไปเจออะไรมาตั้ง 99 วันที่เราไม่สมควรจะต้องเจอ เราได้รับอิสรภาพปลอมๆ ออกมาพร้อมกับ EM เพื่อนเรายังติดคุกอยู่อีกตั้งหลายคน คำว่าดีใจเลยไม่ใช่คำตอบแรกที่ขึ้นมาในหัว แต่มันหน่วง เรายังไม่กล้าดีใจกับตัวเอง”

“มันทำให้เรากลัว ทำให้เรารู้สึกหงอ เราพยายามสู้นะ แต่บางครั้งก็รู้สึกว่า กูเหนื่อยที่จะพูดกับคนในเรือนจำหรือพวกเจ้าหน้าที่ (ถอนหายใจ) มันจมอยู่กับความรู้สึกหงอมาระยะหนึ่งแล้ว”

“พอออกมาก็เหมือนยังปรับตัวไม่ได้ … ฉันทำอะไร ฉันเจออะไรในอดีต ฉันกำลังทำอะไรกับชีวิตอยู่ สิ่งที่ฉันทำมันผิดหรอวะ มันก็ไม่ผิดนี่หว่า แล้วทำไมฉันถึงเจอแบบนี้ มันเกิดคำถาม (question) แล้วก็ตอบตัวเองไม่ได้ … มันผิดหวัง”

“ตอนเราแวะไปบ้านโดมฯ (ที่ทำการพรรคโดมปฏิวัติ) จะเป็นช่วงเวลาที่บ้านโดมฯ เงียบ มีคนอยู่ไม่กี่คน เพราะช่วงนี้เรายังไปเจอคนเยอะไม่ได้ เราจะหลีกเลี่ยงการเจอผู้คน ยกเว้นการไปศาลเพราะมันจำเป็นต้องเจออยู่แล้ว แต่พอเจอเสร็จเราก็จะหมดพลัง เจอคนเยอะแล้วเราน็อค”

“ก่อนเข้าเรือนจำเราค่อนข้างเป็น introvert พอออกมามันยิ่งแบบ … กูยังคุยกับตัวเองไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้จะไปรับมือการคุยกับคนอื่นยังไง มันรู้สึกตระหนก แพนิค เวลาเจอคนเยอะๆ”

“ในเรือนจำเราต้องเจอคนเยอะแยะไปหมด การอยู่ร่วมกับคนเยอะๆ มันทำให้ขาด privacy มันไม่มีความเป็นส่วนตัวเลยแม้กระทั่งเวลาจะอึ จะฉี่ จะอาบน้ำ คนอื่นเห็นเราได้หมดเลย ประกอบกับเราค่อนข้างรักความเป็นส่วนตัวมากๆ ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว”

“พอทุกคนเห็นเราหมด เราก็จะเกร็ง จะรู้สึกไม่เป็นตัวเอง รู้สึกว่าไม่สามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ มันขาดการอยู่คนเดียว ขาดการเลือกบรรยากาศให้ตัวเองด้วย แล้วก็ชอบกลับมาอยู่ที่ห้องคนเดียว เพราะว่ามันเป็นสภาพแวดล้อม (ambient) ที่เราเลือกได้ อยู่ในเรือนจำมันเลือกอะไรไม่ได้”

นอกจากปัญหาเรื่องการพบเจอผู้คนแล้ว “เวลานอน” ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่เบนจาต้องปรับตัวสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

“เราหลับตื่นไม่เป็นเวลา บางวันเช้าเพิ่งได้หลับ บางวันก็หลับตั้งแต่หัวค่ำ รู้สึกว่าตัวเองแบตหมดไวด้วย แปปๆ ก็จะนอนแล้ว พอนอนเยอะ เวลาอีกวันมันก็จะรวน ยังปรับเรื่องการนอนไม่ค่อยได้”

“ยังรู้สึกว่าตัวเองกลับมาไม่ 100%” เบนจากล่าวเสริม

ความน่ากลัวหลังกำแพงสูง

เมื่อบทสนทนาย้อนกลับเข้ามาในอาณาเขตคุมขัง เบนจานิยามขึ้นว่าเรือนจำนั้นล้มเหลวเรื่องการดูแลชีวิตคน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งการเอาตัวรอดและดิ้นรน

“เรารู้สึกว่าเราไม่มีความมั่นคงกับรัฐนี้เลยในทุกกระบวนการ หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ น่ากลัวไปหมด ทำไมประเทศนี้มันน่ากลัวได้ทุกอณูขนาดนี้”

“เวลาอยู่ในนั้นมันจะคิดเยอะมาก คิดอะไรก็ไม่รู้เพื่อหารายละเอียด (detail) หรือความรู้สึก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำกับเรามันเลวร้ายมาก ทำไมมนุษย์ถึงทำกันได้ลงคอวะ … เราแอบเห็นเพื่อนๆ ผู้ต้องขัง ปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ด้วยความกลัวมากๆ คนทั่วไปอาจไม่ปฏิบัติต่อกันแบบนี้ แต่พอสถานะของคุณเป็นเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังแล้ว มันทำให้เขารู้สึกว่าตัวเล็กลง ชีวิตเขามันช่างน้อยนิด”

“ชีวิตในเรือนจำมันน่ากลัว มีอยู่คืนหนึ่งเราได้ยินเสียงคนเรียกว่า ‘มีคนป่วยฉุกเฉิน!!’ตะโกนขึ้นมาจากชั้นบน จากนั้นทุกอย่างก็เงียบ ห้องนั้นก็ตะโกนๆๆ เราเองก็ไปช่วยตะโกนตอนจบ แล้วเขาก็ไม่ตะโกนอีกเลย … เราเลยรู้สึกว่าชีวิตคน ถ้ามันจะใกล้ความตาย มันใกล้แค่นิดเดียวเอง แต่เราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่น”

แต่ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานะของการเป็น “นักโทษการเมือง” เธอจึงได้รับการปฏิบัติจากผู้คุมที่ดีกว่าผู้ต้องขังคดีทั่วไป เฉกเช่นเดียวกันกับคำบอกเล่าของนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ

“เราอยู่สบายกว่าหลายๆ คน อย่างตอนขอยา เราไม่เคยได้รับการปฏิเสธเลย เคยเจอครั้งหนึ่งที่เราไม่ได้ขอด้วย ในขณะที่อีกคนหนึ่งวิ่งมาขอยาแก้ปวดไมเกรน เขาไม่ให้… เราไม่อยากเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าสิทธิพิเศษ (privilege) มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนในเรือนจำทุกคนควรจะได้ด้วยซ้ำ”

ท้องฟ้า จดหมาย และพลุในวันสิ้นปี

เบนจาอธิบายว่าชีวิตประจำวันในเรือนจำของเธอนั้นค่อนข้างจำเจ หากไม่มีโอกาสไปสถานพยาบาลที่บริเวณแดนนอกหรือออกมาพบทนาย ก็จะทำให้วันทั้งวันแทบไม่ได้ขยับเท้าก้าวเดิน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภายในอาณาบริเวณที่คับแคบนี้มีอะไรบ้างที่ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ?

“กำลังใจจากเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเอง เวลาเราเครียดๆ เขาก็จะแบบ… ‘ขนมไหม ไม่เป็นไรนะ’ คือสภาวะในนั้นมันต้องช่วยดูแล (heal) กัน ไม่ใช่แค่เราที่ไม่อยากอยู่ตรงนั้น มันไม่มีใครอยากอยู่ตรงนั้นเลย เขาก็จะเข้าใจกันดี… บางทีเราเจอทนายเสร็จ เดินขึ้นมาเราร้องไห้ เขาก็จะปลอบว่า ไม่เอาไม่ร้อง กินข้าวดีกว่า”

“แล้วก็ … การมองเล็ดลอดออกจากเรือนจำว่าท้องฟ้าเป็นยังไงบ้างนะ เป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้ผ่อนคลาย (relax) มันมีประมาณนี้ เป็นแถบ มันไม่เห็นกว้าง ไม่เห็นข้างบนทั้งหมด เห็นแค่แถบท้องฟ้า” เธออธิบายพลางยกมือขึ้นมาให้เห็นความกว้างของช่องว่าง

นอกเหนือจากกำลังใจของคนข้างในด้วยกันเองแล้ว ข้อความที่ส่งเข้ามาหลากหลายรูปแบบจากโลกภายนอกก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เบนจารู้สึกว่า “ยังไม่ถูกลืม” ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมาย กิจกรรม #SunsetForBenja ในโลกออนไลน์ หรือการจุดพลุหน้าเรือนจำในคืนวันสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา

“#SunsetForBenja เป็นกิจกรรมที่เรารู้สึกดีมาก เพราะเราชอบดูพระอาทิตย์ตก แล้วพี่เมย์ (ทนายเยี่ยม) ก็จำได้ … จริงๆ เขาก็ถ่ายส่งมาฝากด้วย เขาเอามาให้ดู ปรินต์มาให้ดู เราก็คิดว่าเป็นกิจกรรมที่น่ารักดี มันเป็นอะไรที่ไม่ได้ดูในนั้น เป็นอะไรที่ธรรมดา (simple) ในชีวิตประจำวันมากเลยนะ แต่พอไปอยู่ในนั้น การเฝ้าดูพระอาทิตย์ตกกลับเป็นเรื่องยาก”

“เรื่องพลุเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจได้ดีเยี่ยมมาก เพราะว่าห้องที่เราอยู่มันเห็น เวลามีพลุเราก็จะรีบไปดูแล้ว อยู่ตรงไหน อยู่หน้าเรือนจำหรือเปล่า ใช่พลุของพวกเราหรือเปล่า เล็กๆ น้อยๆ มันก็รู้สึกยิ้มได้หลังกรงขัง”

“มีคนส่งโปสการ์ดมาเล่าเรื่องยาน Lucy ให้เราฟังด้วย น่ารักมากๆ เลย แล้วก็มีคนรวบรวมข่าวอวกาศช่วงที่เราไม่อยู่ไว้ให้ เราก็จะไปตามอ่าน …  คือชีวิตประจำวันเรามันซ้ำๆ เดิมๆ มันวนลูบ แต่เราอยากรู้ว่าช่วง 99 วันของโลกข้างนอกมันเป็นยังไงบ้าง อยากรู้ว่าเพื่อนเป็นยังไงกัน สบายดีไหม”

“ฉันยังมีจินตนาการถึงอนาคตที่สดใส”

แม้ความอยากรู้และวิ่งตามโลกให้ทันจากช่วงเวลาที่หายไปจะมีเปี่ยมล้น แต่นั่นไม่ใช่กับข่าวประเภท “การเมือง” ที่เบนจาเล่าว่า เธอตามอ่านเรื่องราวทางการเมืองด้วยความรู้สึกช้ำและพร้อมขยาดหนีทุกครั้งที่เห็นชื่อของบุคคลในรัฐบาล ดังนั้น ภารกิจเรื่องการกลับไปเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่เบนจาอยาก “ขอหยุดพักเอาไว้ก่อน”

“มันก็คงเป็นแนวๆ นั้น คือเราติดตามนะ เปิดไลฟ์ ดูโพสต์ สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ จะให้กลับไปร่วม เราเองก็อยาก แต่เรายังค่อนข้างกลัวการไปเจอคนด้วยส่วนหนึ่ง แล้วก็ยังรู้สึกว่าอยากนิ่งๆ ไปก่อนช่วงนี้”

“เรายังอยากขับเคลื่อนอยู่ เรายังต้องทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง แต่มันอาจจะต้องเติมไฟให้ตัวเอง ช่วงนี้อาจต้องเน้นการเติมไฟ เพราะเราห่อเหี่ยว ไม่ปึ๋งปั๋งเท่าไหร่”

“อันดับแรก อยากเรียน อยากตั้งใจเรียน อยากตามให้ทัน เพราะล่าสุดไปเข้าคลาสแล้วดิชั้นเรียนไม่รู้เรื่องเลยค่า (ลากเสียงยาว) เพื่อนหันมาถามว่าเบนจารู้เรื่องไหม เบนจาตอบว่าไม่รู้เรื่องเลย เพราะเปิดเทอมมาอาทิตย์แรกเรายังไม่ได้ประกัน ส่วนอาทิตย์ที่สองเราก็ไม่ไปเรียนเลยเพราะไม่กล้าเจอคน… เพิ่งได้ไปสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรก แล้วเราเรียนไม่รู้เรื่อง”

“ความฝันน่ะมี ความหวังก็มี แต่ไฟและเรี่ยวแรงไม่ค่อยมี รู้สึกช้ำ นึกถึงแก้วมังกรที่ไปซื้อมาแล้วใส่ไว้หลังรถ แล้วลืมเอาลง แล้วมันก็ตากแดด สองสามวันพอกลับไปเอาออกอีกทีมันก็ช้ำแล้ว มันเป็นความรู้สึก (feeling) ประมาณนั้น”

“ฉันยังมีจินตนาการถึงอนาคตที่สดใส ฉันยังเชื่อว่าประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศที่มันอยากจะเกิด ฉันเชื่อว่ามันเป็นแบบนี้ แล้วฉันก็เชื่อว่าสักวันคนเรามันจะเห็นใจกันมากขึ้นจริงๆ นะ ยังมีความเชื่อ ยังมีความหวังว่ามันจะเป็นไปได้ แต่ว่า… อีกนานแค่ไหนไม่รู้”

นอกเหนือจากเป้าหมายการได้มาซึ่งประชาธิปไตยแล้ว ความฝันด้าน “อวกาศ” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนจดจำได้ในตัวเบนจา ช่วงท้ายของบทสนทนาจึงว่าด้วยเส้นทางของสายอาชีพวิศวกรรมศาสตร์ที่เธอกำลังร่ำเรียนอยู่ในชั้นปีที่สอง

“จริงๆ อันนั้นมันค่อนข้างจะยอดภูเขาเลย อยู่เหนือกว่ายอดภูเขาไปอีก ไอ้จุดความฝันเรื่องนักบินอวกาศ จริงๆ เราวางมันลงซักพักหนึ่งแล้ว มันกลายเป็นความอยากที่แฟนตาซี ถ้าได้มันก็ดี แต่เราไม่เห็นหนทางของการไปถึงจุดนั้นมาซักพักแล้ว ไกลสุดที่เราคิดไว้คือทำงานในองค์กรอวกาศ อันนี้คือจุดที่อยากบรรลุ (reach) ให้ได้ ไปเป็นวิศวกร อะไรแบบนี้”

“ส่วนที่ว่าจะได้ออกไปเห็นนอกโลกไหม อันนี้ขอให้เป็นความฝันที่ว่า ถ้ามีโอกาสจะไม่ปฏิเสธ” เบนจากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม

การชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี 26 ตุลาคม 2563

การชุมนุมหน้าตึกซิโนไทย 10 สิงหาคม 2564