อาลีฟ วีรภาพ: ว่าที่คุณพ่อกับทางวิบากหมายเลข 112

วีรภาพ วงษ์สมาน หรือ อาลีฟ ชายหนุ่มชาวกรุงเทพมหานครวัย 19 ปี น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนหมายหัวว่าเป็นพวกตัวอันตรายสายบวกที่ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด อาลีฟเป็นคนผิวคล้ำ ไว้หนวดและเคยไว้ผมหยิกยาว เวลาที่เขาอยู่แนวหน้าของผู้ชุมนุม เขามักตะโกนต่อว่าหรือท้าทายตำรวจจึงไม่ยากที่เจ้าหน้าที่จะชิงตีตราไปแล้วว่าเขาเป็นพวกชอบก่อความวุ่นวายไม่มีงานทำ แต่หากใครมีโอกาสใช้เวลาพูดคุยกับเขา ทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น เชื่อว่าความเข้าใจของใครหลายคนที่เคยมีกับเขาน่าจะเปลี่ยนไป.

ครอบครัวของอาลีฟเป็นครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน แม่ของเขาเป็นแม่บ้านคอยดูแลบ้านและลูกๆ ไม่มีรายได้ พ่อของเขาจึงเป็นกำลังหลักที่คอยหาเลี้ยงลูกๆ ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดสี่คน แม้ว่าพ่อของเขาจะไม่ได้จบการศึกษาสูงแต่ก็เป็นคนขยันทำมาหากิน พ่อของเขาเคยทำงานรับจ้างขับรถขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพกับภาคใต้ เวลาไปทำงานก็มักจะหายจากบ้านไปครั้งละเป็นเดือน ต่อมานายจ้างขอเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินจากจ่ายรายเดือนเป็นแบ่งเปอร์เซ็นจ่าย ซึ่งทำให้รายได้ของพ่อลดลงจนไม่พอใช้ ครอบครัวของเขาจึงต้องย้ายออกจากห้องเช่าย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปอาศัยอยู่ที่โกดังเก็บสินค้าที่พ่อเคยทำงานประมาณหนึ่งปี ในเวลาต่อมามีรุ่นน้องของพ่อมาชักชวนไปทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง สถานะทางการเงินที่บ้านจึงค่อยๆ ดีขึ้นและได้ย้ายออกจากโกดังไปอยู่อพาร์ตเมนต์แถวดินแดง

อาลีฟเองได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจของที่บ้าน เขาต้องออกจากโรงเรียนสามัญมาเรียน กศน. แต่ก็ยังพยายามขวนขวายหารายได้จนสุดท้ายไปจับธุรกิจขายเสื้อผ้ามือสองจนพอมีเงินเก็บและลืมตาอ้าปากได้ แต่การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป อาลีฟต้องปิดร้านและตกงาน ถึงจุดนี้เขาเริ่มหันมาสนใจประเด็นทางการเมืองเพราะเห็นว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล 

อาลีฟเริ่มเข้าไปร่วมชุมนุม ทำหน้าที่ทั้งเป็นการ์ด และขึ้นเวทีปราศรัยจนสุดท้ายเขามาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการพ่นสเปรย์ที่ใต้ทางด่วนดินแดงเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ระหว่างต่อสู้คดีอาลีฟจะได้รับการประกันตัวแต่อิสรภาพของเขาก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย และความไม่แน่นอนในอนาคตของอาลีฟก็ไม่ได้ส่งผลต่อเขาเพียงคนเดียวหากแต่จะกระทบต่อ “ว่าที่” สมาชิกใหม่ของครอบครัวด้วย เพราะในเดือนมกราคม 2565 แฟนของอาลีฟที่พบรักกันในที่ชุมนุมตั้งท้องได้ราวห้าเดือนแล้ว 

ระหกระเหินในวัยเด็ก เพราะปัญหาด้านการเงิน

อาลีฟเล่าว่าในช่วงที่เป็นเด็ก ชีวิตของเขาค่อนข้างระหกระเหิน ต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆ เพราะปัญหาด้านการเงิน สมัยเด็กๆ พ่อของเขาเป็นแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียวของครอบครัวเพราะแม่ของเขาเป็นแม่บ้านไม่ได้ทำงาน พ่อของเขาเรียนหนังสือไม่สูงนักจึงทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ก็เป็นคนหนักเอาเบาสู้และมีความรู้ด้านงานช่าง พ่อของเขาเคยถูกนายจ้างเอาเปรียบด้วยการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินจนทำให้ครอบครัวมีรายได้ไม่พอใช้จนต้องย้ายออกจากบ้านเช่าไปอาศัยอยู่ในโกดังสินค้า โชคดีที่สุดท้ายมีรุ่นน้องมาชวนพ่อไปทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องในกองถ่าย สถานการณ์ทางการเงินจึงกระเตื้องขึ้นมาบ้าง

“ผมเกิดปี 2545 ตอนนี้ก็อายุ 19 ปีแล้ว ครอบครัวผมมีกันทั้งหมดหกคน พ่อกับแม่ แล้วก็ผมกับพี่น้องอีกสี่คน ผมเป็นคนที่สาม พี่สาวคนโตกับพี่ชายคนรองอายุห่างจากผมประมาณสิบกว่าปี ส่วนน้องสาวคนเล็กห่างจากผมสองปี ตอนนี้พี่น้องรวมทั้งตัวผมเองก็ย้ายออกมาอยู่ข้างนอกกันหมดแล้ว ครอบครัวผมเป็นคนกรุงเทพ ตอนเด็กๆเราย้ายที่อยู่กันบ่อยครั้งเพราะปัญหาด้านการเงิน พ่อผมเคยทำงานเป็นคนขับรถขนส่งสินค้าพวกอุปกรณ์การเกษตร หรืออุปกรณ์ก่อสร้างไปภาคใต้ แต่ไม่ได้ขับรถบรรทุกนะ ขับรถกระบะธรรมดา ตอนที่พ่อทำงานขับรถส่งของเราก็จะไม่เจอพ่ออยู่บ่อยๆ แล้วเวลาพ่อไปทำงานก็หายไปเป็นเดือน ช่วงที่พ่อทำงานขับรถขนส่งครอบครัวเราเช่าห้องอยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยฯ ตอนนั้นพ่อน่าจะได้เงินเดือนประมาณเดือนละ 15,000 บาทมั้ง”

“ทีนี้มาตอนหลังนายจ้างเขาเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน จากจ่ายเงินเดือนมาเป็นแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้แทน กลายเป็นว่าพ่อผมแทบไม่ได้อะไรเลย บางเดือนนายจ้างแบ่งมาให้ 9,000 – 10,000 บาท จำได้เลยมีเดือนหนึ่งที่ได้เงินจากนายจ้างแค่ 2,000 – 3,000 บาท เพราะของขายไม่ดี ช่วงนั้นครอบครัวเราแย่มาก ไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าเช่า สุดท้ายเราเลยต้องย้ายไปอยู่ที่โกดังเก็บของที่พ่อทำงานอยู่ โกดังก็อยู่แถวๆ อนุสาวรีย์ฯ นั่นแหละ ถ้าผมจำไม่ผิดเราน่าจะย้ายไปอยู่ที่โกดังตอนปี 2557 แล้วก็มาย้ายออกจากโกดังช่วงปี 2559 หลังจากพ่อผมลาออกจากงานขับรถขนส่ง” 

“หลังออกจากงานที่บริษัทขนส่ง พ่อผมก็ออกมาขับวินอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นานมากก็มีรุ่นน้องของพ่อที่เขาทำงานในกองถ่ายของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งมาชวนพ่อไปทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องในกองถ่ายที่มีเงินเดือนที่แน่นอน ประมาณ 21,000 บาท บ้านเราเลยพอลืมตาอ้าปากได้ พอพ่อได้งานใหม่เราก็ย้ายออกมาอยู่อพาร์ทเม้นท์แถวดินแดง”

“พ่อของผมเค้าเรียนจบไม่สูง จบแค่ ม.3 แต่เขามีความสามารถด้านการช่าง รุ่นน้องของพ่อเลยช่วยรับรองว่าพ่อทำงานได้ พ่อเลยได้เข้าไปทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ช่วยเซตไฟหรืองานเทคนิคอื่นๆ แล้วพอพ่อเค้าเริ่มชำนาญบางทีช่างกล้องก็ให้ช่วยแพนกล้องด้วย” 

ไม่ได้เรียนต่อ ต้องหารายได้จากการขายเสื้อผ้ามือสอง

สถานการณ์ทางการเงินที่บ้านทำให้อาลีฟซึ่งเรียนไม่ทันจบ ม.3 ต้องออกจากโรงเรียนแล้วไปสมัครเรียน กศน. แทน แต่จุดวิกฤตในชีวิตของอาลีฟไม่ได้กดให้เขาตกต่ำจนเสียผู้เสียคน ตรงกันข้ามกลับทำให้อาลีฟกลายเป็นคนสู้ชีวิตจนสุดท้ายเขาก็หาลู่ทางทำธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากจะยิ่งกระตุ้นให้อาลีฟพยายามเติบโต เหมือนหน่ออ่อนของต้นไม้แม้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจอย่างพื้นคอนกรีต แต่ก็ยังพยายามที่จะหารอยแยกเพื่อแทงหน่อแตกใบ 

“ตัวผมเองช่วงที่สถานการณ์ทางการเงินของที่บ้านย่ำแย่ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ผมต้องออกจากโรงเรียนปกติมาเรียน กศน.ทั้งที่ตอนนั้นยังเรียนไม่จบ ม.3 พอออกจากโรงเรียนผมก็คิดว่าคงต้องเริ่มหาเงินแล้วเพราะที่บ้านลำบาก พ่อกับแม่เขาชอบใส่เสื้อผ้ามือสอง ผมเองก็ชอบใส่ เลยตัดสินใจลองหาเสื้อมือสองมาขายบนเพจดู ตอนนั้นผมน่าจะเพิ่งอายุได้ 13 ถึง 14 ปี เอาจริงๆ ตอนที่ผมมาจับธุรกิจเสื้อมือสอง ที่บ้านก็พอลืมตาอ้าปากได้แล้ว พ่อผมเองก็ได้ทำงานผู้ช่วยตากล้องแล้ว แต่ด้วยสภาพหนี้สินของที่บ้านทำให้ผมกับน้องสาวไม่ได้กลับมาเรียนต่อ” 

“ผมเริ่มธุรกิจของตัวเองด้วยการใช้เฟซบุ๊กหาข้อมูลเกี่ยวกับเสื้อมือสองว่าจะไปซื้อที่ไหน ราคาเสื้อแต่ละแบบเป็นอย่างไร แล้วไปขายได้ที่ไหน จำได้ว่าเงินก้อนแรกผมไปขอจากพ่อมา 3,000 บาทแล้วเอาไปซื้อเสื้อล็อตแรกมาขายบนเพจ หลังจากขายบนเพจได้ประมาณหนึ่งปีผมก็เริ่มขยับขยายไปหาทางเปิดหน้าร้าน ผมยังเคยยืมเงินจากพ่อมา 10,000 บาทเพื่อไปลงทุนเปิดร้านด้วย เริ่มจากการไปขายที่ตลาดนัดแถวดอนเมือง พอธุรกิจเริ่มโตผมเลยขยายไปตั้งร้านที่ตลาดนกฮูกเส้นเลี่ยงเมืองนนท์กับตลาดปัฐวิกรณ์ด้วย แล้วอาศัยเพื่อนคนที่ไว้ใจได้ให้ช่วยดูร้าน”

“ถามว่าออกมาขายของเองเหนื่อยไหม ผมตอบเลยว่าเหนื่อย ผมเคยดูคนอื่นขายของเหมือนมันง่าย แป๊บๆ ได้เงินมา พอผมมาลองกับตัวเองแล้วแบบ โหแม่งโคตรเหนื่อยเลย กว่าจะได้เงิน กว่าที่ร้านจะขยายมาสามร้านไม่ใช่เรื่องง่าย” 

“ช่วงที่ผมเปิดร้านเสื้อครบสามร้านนี่เรื่องการเงินค่อนข้างโอเคเลย ผมขายแต่เสื้อมือสองอเมริกา กระสอบหนึ่งเหมามาประมาณ 15,000 บาท เสื้อก็จะคละๆ กัน แต่พวกเสื้อวงดนตรีมันมีราคา ยิ่งวงยุค 70 ถึง 90 นี่ราคายิ่งดี บางตัวถึงหลักหมื่น บางตัวก็หลายพัน”

“ช่วงพีคๆ ผมน่าจะเคยจับเงิน 120,000 บาท ในเดือนเดียวเลยนะ เพราะครั้งนั้นได้เสื้อหายากมาในกระสอบเดียวกันหลายตัว น่าจะมีเสื้อวง Scorpions ที่หายากมาก เปิดกระสอบนั้น 10,000 บาท เฉพาะเสื้อหายากที่มาในกระสอบนั้นก็น่าจะตีราคาได้ประมาณ 30,000 บาทแล้ว ครั้งนั้นน่าจะเป็นรอบเดียวที่ได้จับเงินแสน หลังจากนั้นก็ได้หลักหมื่น อาศัยเก็บเล็กผสมน้อยเอา”

ตลาดนัดปิดเพราะโควิด ในบัญชีไม่เหลือสักบาท

หลังจากทำธุรกิจของตัวเองไปได้ประมาณสองถึงสามปี ชีวิตของอาลีฟก็ถึงคราวพลิกผันอีกครั้ง เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาดนัดในฐานะพื้นที่ที่ผู้คนไปอยู่รวมตัวกันในลักษณะแออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคคือหนึ่งในสถานที่ที่ถูกภาครัฐออกมาตรการปิดเป็นลำดับแรกๆ เช่นเดียวกับสถานบันเทิง สถานะทางการเงินของอาลีฟซึ่งเคยพอเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ก็เริ่มสั่นคลอน เงินในบัญชีที่เคยมีอยู่หลายหมื่นก็ค่อยๆ ร่อยหรอลง

“หลังผมขยายร้านไปสามร้านทุกอย่างดูจะไปได้ด้วยดี ผมมีเงินในบัญชีน่าจะหลายหมื่นอยู่จากการขายเสื้อ ช่วงนั้นผมเองก็เริ่มส่งเงินบางส่วนให้ที่บ้าน แล้วก็ย้ายออกมาหาห้องเช่าอยู่เองเพราะตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองอยากโต อยากพิสูจน์ให้พ่อกับแม่เห็นว่าผมทำได้ ยืนด้วยตัวเองได้ ตอนนั้นผมน่าจะอายุประมาณ 16 ปีมั้ง ช่วงที่โควิดยังไม่มาผมก็พออยู่รอดนะ แต่พอโควิดมานี่ฟุบเลย”

“รอบแรกที่ตลาดนัดถูกสั่งปิด ผมยังเก็บของไว้ก่อน พยายามขายในเพจบ้าง ขายกับเพื่อนบ้าง แต่ก็อย่างที่รู้กัน โควิดทำให้เศรษฐกิจมันพังไปหมด คนไม่มีกำลังซื้อ บางเดือนทั้งเดือนขายเสื้อได้แค่สามตัว เสื้อวง (ลายวงดนตรีต่างประเทศ) ก็ราคาตก จากตัวละเป็นหมื่นหรือหลายพันก็เหลือตัวละพันต้นๆ”

“ตอนโควิดมารอบแรกผมยังคิดว่าจะกลับมาเปิดร้านใหม่ ยังเก็บสต็อกเสื้อไว้ แต่พอโควิดมารอบสองผมก็ยอมตัดใจเลิกทำร้านเพราะไม่สามารถแบกต้นทุนได้อีกต่อไป เสื้อมีราคาที่พอเหลืออยู่ก็เอามาปล่อยถูกๆ เสื้อที่ไม่มีราคาก็แจกเพื่อนบ้างแจกคนไร้บ้านบ้าง ครั้งนั้นรวมๆ แล้วผมน่าจะขาดทุนไปราว 30,000 บาท”

“พอเสียร้านผมก็กลายเป็นคนตกงาน อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร จนเงินในบัญชีเริ่มพร่องไป ตอนนั้นผมก็ยังมองโลกในแง่บวกพยายามหาอะไรมาขาย ก็พอดีผมไปได้รถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้ามาคันหนึ่ง ผมเอาเงินที่เก็บไว้ไปซื้อแล้วเอามาปล่อยต่อก็ได้กำไรมาประมาณเกือบๆ เท่าตัวพอต่อชีวิตไปได้ แต่นั่นก็เป็นรอบเดียวที่ผมจับมอเตอร์ไซค์มาขายได้ หลังจากนั้นผมก็พยายามขายเสื้อขายหมวกออนไลน์แต่ก็ไปไม่รอด ตอนนั้นผมเอาหมดนะ หาเงิน พอช่วงที่ขายของไม่ได้ก็เคยไปสมัครรับจ้างล้างจานที่ร้านอาหาร เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่งผมเคยตกต่ำสุดขนาดเงินในบัญชีแม่งไม่เหลือสักบาท”

ชีวิตไม่ดี เพราะการเมืองแย่ เลยต้องไปม็อบ

หลังจากธุรกิจที่อาลีฟเพียรสร้างมาต้องพังทลายลงเพราะโควิด-19 อาลีฟเริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ตัวเขาเองในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างจริงจัง เมื่อเริ่มเห็นคนออกไปชุมนุมอาลีฟก็เริ่มติดตามข่าวสารมากขึ้น ช่วงแรกเขายังไม่กล้าออกไปชุมนุมเองเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการเมืองมาก แต่สุดท้ายเมื่อเขาติดตามสถานการณ์ได้พอสมควรแล้วเขาก็ตัดสินใจไป โดยครั้งแรกที่เขาออกไปก็เจอของแข็งเลย เมื่อครั้งนั้นจบลงด้วยการสลายการชุมนุม 

“ผมไปร่วมชุมนุมครั้งแรกวันที่ 16 ตุลาคม 2563 แล้วก็เจอสลายการชุมนุมเลย วันนั้นผมไปอยู่ตรงใกล้ๆ แนวปะทะ ใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม ความรู้สึกแรกที่เจอแก๊สน้ำตา คือ เชี่ย! แม่งโคตรแสบเลย ด้วยความที่เราไม่เคยเจอมาก่อนก็ตื่นเต้น วิ่งเข้าใส่ ผลคือร่วงเลยวันนั้น ร่วงเพราะหายใจไม่ทัน จริงๆ วันนั้นแม่กับน้องสาวผมไปม็อบด้วยนะ แต่พอเขาจะเริ่มสลายแม่กับน้องสาวก็ถอยออกไป แต่ผมดื้อ เหมือนกับเรามันเด็กใหม่อยากรู้อยากลอง ไม่ยอมถอย วิ่งไปแนวหน้า สุดท้ายคือร่วงไปกองกับพื้นเพราะหน้ามืด ก่อนจะมีคนช่วยหิ้วปีกพาไปแนวหลัง”

“ผมคิดว่าการเมืองมันโยงกับเศรษฐกิจนะ เพราะการบริหารประเทศมันก็คือเรื่องการเมือง พอบริหารไม่ดีเศรษฐกิจมันก็แย่ อย่างเรื่องการปิดตลาดเพื่อคุมโรคผมก็พอเข้าใจได้ แต่พอคุณบริหารไม่ดี ไม่มีมาตรการรองรับ คนที่ขายของก็ซวยไป ส่วนที่ถามว่าทำไมผมต้องออกมาชุมนุม ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนตัวนายกฯ เปลี่ยนตัวผู้บริหาร เอาคนที่มีความสามารถมาทำงาน เขาก็คงแก้ปัญหาได้และอะไรๆ ก็คงจะดีขึ้น”

“หลังเข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรก ผมก็เริ่มไปร่วมการชุมนุมครั้งต่อๆ มาเป็นระยะ ตอนแรกก็ไปในฐานะผู้ชุมนุม ทีนี้พอมาถึงเดือนพฤศจิกามีการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา วันนั้นพอผมไปที่ชุมนุมก็มีคนรู้จักมาชวนให้ไปเป็นการ์ดดูแลความปลอดภัยให้มวลชนกับเขา ผมก็เลยตกลงว่าจะทำ ผมเริ่มทำงานการ์ดเป็นครั้งแรกกับกลุ่มการ์ดเมแฮม อยู่ที่นั่นได้พักหนึ่งผมก็ย้ายไปอยู่กับกลุ่มอาชีวะสมุทรปราการ ตอนนั้นผมรู้จักพี่คนหนึ่งในกลุ่ม เขาก็ชวนผมไปช่วยงาน ผมก็บอกผมอยากไปนะ แต่บ้านผมอยู่กรุงเทพ ตอนนั้นย้ายไปอยู่ดอนเมืองแล้ว ไม่ได้ใกล้กับสมุทรปราการเลย แต่พี่คนนั้นเขาบอกว่าไม่เป็นไรถ้าเอ็งมีใจก็มาช่วยกัน ผมเลยเข้าไปอยู่กับกลุ่มอาชีวะสมุทรปราการ ก่อนที่สุดท้ายจะย้ายมาอยู่กับทีมการ์ดเดโมแล้วก็อยู่มาจนตอนนี้”

“พอมาถึงเดือนธันวา น่าจะวันที่ 26 ธันวาคม 2563 กลุ่มเสื้อแดงประชาธิปไตยจัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมก็มีโอกาสขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมขึ้นไปพูดเรื่องกระท่อมกับกัญชา เพราะตัวผมเองก็กินใบกระท่อม แล้วทางรัฐบาลก็สัญญาไว้ว่าจะทำให้กระท่อมถูกกฎหมายแต่ถึงตอนนั้นแล้วก็ยังทำไม่ได้ ครั้งนั้นพี่ตี้พะเยา (วรรณวลี ธรรมสัตยา) ที่ขึ้นปราศรัยด้วยก็ชมผมว่าผมปราศรัยดี ถ้าถามว่าในหมู่นักกิจกรรมผมสนิทกับใครที่สุดก็คงต้องเป็นพี่ตี้นี่หล่ะ จริงๆ ผมรู้จักพี่ตี้มาตั้งแต่ก่อนขึ้นปราศรัยครั้งนั้นแล้วเพราะผมเป็นการ์ด พี่ตี้แกก็เป็นการ์ดเพียงแต่อยู่คนละกลุ่มกัน” 

ถูกจับด้วยกัน ขอคบกันในค่าย ตชด.

อาลีฟเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเรื่อยมาตามแต่โอกาสจะอำนวย ในเดือนมีนาคม 2564 อาลีฟไปร่วมการชุมนุมค้างคืนของชาวบ้านบางกลอยที่มาปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 โดยคอยทำหน้าที่การ์ดรักษาความปลอดภัย จากนั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2564 นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าก็มาปักหลักตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อชาวบ้านบางกลอยเดินทางกลับในวันที่ 16 มีนาคม 2564 อาลีฟก็ตัดสินใจอยู่ช่วยงานที่หมู่บ้านทะลุฟ้าต่อ ที่หมู่บ้านทะลุฟ้านี้เอง อาลีฟซึ่งแอบประทับใจผู้หญิงคนหนึ่งในที่ชุมนุมตัดสินใจสารภาพความในใจที่เขามีต่อเธอในวันหนึ่ง และเป็นจังหวะประจวบเหมาะพอดีที่ช่วงรุ่งสางของวันต่อมาเจ้าหน้าที่ก็ทำการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า อาลีฟกับแฟนของเขาจึงต้องใช้ช่วงเวลาแรกของความสัมพันธ์ร่วมกันในสถานที่คุมขังของ ตชด.

“ผมจำได้เลยว่าเห็นเธอครั้งแรกวันที่ 21 มีนาคม 2564 ที่จำได้เพราะผมมาเจอเธอหนึ่งวันหลังเหตุการณ์ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ที่สนามหลวงซึ่งตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ที่ซึ่งผมพบกับแฟนผมครั้งแรกคือที่หน้าหมู่บ้านทะลุฟ้า ตอนนั้นผมยืนคุยกับเพื่อนของผมที่เป็นการ์ดปลดแอก พอเห็นเธอผมก็ถามเพื่อนของผมว่า เฮ้ย! คนนี้แม่งใครวะ น่ารักตรงสเปกเลย สิ่งแรกที่ผมประทับใจคือแนวการแต่งตัว วิธีการพูดการจาของเธอ ที่ดูบ้าๆ บอๆ เหมือนผม เห็นเธอแล้วผมก็รู้สึกว่าคลิกเลย ใช่เลย”

“ทีนี้พอเพื่อนผมที่อยู่การ์ดปลดแอกบอกผมว่าเขารู้จัก เพราะอยู่การ์ดปลดแอกด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน ผมก็เลยบอกกับเพื่อนทำนองว่าให้แนะนำผมหน่อย ตอนนั้นคือพูดจริงจังมาก ประมาณวันสองวันหลังจากนั้นผมก็เริ่มเข้าไปตีสนิทพูดคุยกับแฟนผม จริงๆ แฟนผมเค้าก็ไม่ได้มาทะลุฟ้าบ่อย แต่พอเริ่มคุยกับเขาแฟนผมเขาก็มาทะลุฟ้าบ่อยขึ้น ก่อนที่เพื่อนผมจะมาเฉลยว่าแฟนผมเองก็แอบชอบผมอยู่เหมือนกัน พอได้รู้จากเพื่อนว่าแฟนผมก็แอบชอบผมเหมือนกัน ผมก็แบบ เชี่ย! แม่ง! เป็นความรู้สึกที่ดีมากเลยที่เราไปชอบใครสักคนแล้วมารู้ว่าเขาเองก็ชอบเราเหมือนกัน”

“จากนั้นเราก็เริ่มใช้เวลาในม็อบทะลุฟ้าด้วยกัน พอมาถึงคืนวันที่ 27 มีนาคม แฟนผมก็แวะมาที่หมู่บ้าน น่าจะเมาอยู่ประมาณหนึ่งด้วย เธอเข้ามาถึงที่หมู่บ้านประมาณเที่ยงคืนแล้วเราก็คุยเล่นกันจนประมาณตีสามครึ่งผมก็เดินไปส่งเธอที่เต็นท์ ส่วนผมก็เดินตรวจหมู่บ้านต่อ พอมาถึงท้ายหมู่บ้านก็เห็นอะไรแปลกๆ ผมก็แบบเฮ้ยนั่นเหี้ยอะไรมันวิบวับๆ เห็นเหมือนเงาสะท้อนแสง สักพักรุ่นน้องผมก็วิ่งหน้าตื่นมาตะโกน คฝ. มา คฝ. มา ผมก็ตะโกนรหัสแดง รหัสแดง แต่ไม่ทันแล้ว โดนรวบทั้งหมู่บ้าน ทั้งผมทั้งแฟนถูกส่งไป ตชด.พร้อมกับชาวหมู่บ้านคนอื่นๆ สุดท้ายผมก็ไปขอคบกับเธอที่ ตชด.

สมรภูมิดินแดง ความเข้าใจผิดที่อยากแก้คือที่มาของคดี 112

ตัวอาลีฟเองแม้จะถูกดำเนินคดีจากการร่วมการชุมนุม ทั้งคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงคดีมาตรา 116 แต่เขาก็ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาไม่ใช่ทั้งแกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัยอยู่เป็นประจำและไม่ใช่คนที่ชอบแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ เมื่อกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” เริ่มชุมนุมที่ดินแดง เขาเองก็มาร่วมชุมนุมด้วย ก่อนที่เขาจะมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะไปพ่นสเปรย์ที่ใต้ฐานทางด่วนดินแดงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

“ตัวผมเองน่าจะไปร่วมชุมนุมที่ดินแดงตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่กลุ่มทะลุแก๊สชุมนุมกัน ถ้าถามว่าการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สเป็นแนวทางสันติหรือไม่ อันนี้ผมว่าก็เถียงกันได้ แต่ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวมันก็มีหลายวิธี หลายแนวทาง บางคนถนัดปราศรัยก็ปราศรัยไป แต่บางคนเขาก็ถนัดแนวอื่น ผมเคยคุยกับน้องๆ กลุ่มทะลุแก๊สว่าทำไมเขาเลือกเคลื่อนไหวแนวทางนี้ น้องเขาก็บอกว่าก็พวกผมถนัดทางนี้ จะให้พวกผมไปขึ้นเวทีปราศรัยก็คงไม่ใช่”

“พวกน้องๆ ที่ดินแดงเขาถนัดการเคลื่อนไหวแบบปะทะตรง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเคลื่อนไหวโดยไม่มีเป้าหมายนะ เอาเข้าจริงแล้วน้องๆ ที่ดินแดงหลายคนคือหลักฐานความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ หลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะความล้มเหลวของรัฐบาล บางคนที่พ่อแม่ยากจนอยู่แล้วก็ยิ่งทรุดหนักไปอีก นั่นคือเหตุผลที่ชาวดินแดงหลายๆ คนออกมาชุมนุม”

“มันก็อาจจะมีอยู่เหมือนกันนะ คนที่ออกมาปะทะเพื่อเอามัน แต่สำหรับผมไม่ว่าพวกเขาจะออกมาด้วยเหตุผลอะไร ผมก็เคารพและจะไม่ไปลดทอนพวกเขา แม้แต่คนที่ออกมาแค่เอามัน ผมเชื่อว่าการต่อสู้บนท้องถนนจะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าเผด็จการไม่ใส่ใจหรอกว่าคนที่ออกมาจะเจ็บจะตายอย่างไร และพวกเขาก็จะได้รู้ว่าถึงพวกมึงจะออกมาแค่มาเอามัน แต่เผด็จการมันเอาจริง” 

“ผมเองก็ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊สตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ผมโดนอัดหนักสุดก็ที่ดินแดงนี่แหละ วันที่น้องๆ ดินแดงจัดรำลึกน้อง วาฤทธิ์ สมน้อย (เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกยิงด้วยกระสุนที่หน้า สน.ดินแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวันที่ 28 ตุลาคม 2564) ที่หน้า สน. ผมก็ไปด้วย ว่ากันว่าศาลพระภูมิที่ สน.ดินแดงไม่ถูกโฉลกกับของไหว้สีแดง ตำรวจที่นั่นจะกลัวของไหว้สีแดงมากเพราะเชื่อว่าจะทำให้มีเหตุร้ายหรือคดีเยอะ ผมเลยจัดทั้งน้ำแดงไปถวาย ซื้อสีแดงไปสาด ถึงขั้นเอารองเท้าไปแขวนบนศาลด้วย”

“ตำรวจคงแบบไม่ไหวแล้ว พอจับผมได้ก็ทั้งสอบทั้งซ่อมผมตั้งแต่หกโมงเย็นถึงตีสามโดยไม่ให้พบทนาย ผมโดนซ่อมหนักจนเกือบสลบ เลือดออกจากปาก สุดท้ายตอนเช้าทนายความก็มาเจอผมก็ในสภาพเลือดเลอะเต็มเสื้อ ตัวผมเองเคยคิดว่าตัวเองแน่ ตัวเองอึด แต่วันนี้ตำรวจก็เล่นผมหมอบไปเหมือนกัน หลังจากผ่านเหตุการณ์วันนั้นผมก็ขอให้ทนายสิทธิฯ ช่วยดำเนินการเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่แล้วก็ไปยื่นเรื่องกับดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) แล้ว” 

“ที่ผมมาโดนคดีมาตรา 112 ก็เป็นเพราะผมมาร่วมชุมนุมที่ดินแดงด้วยเหมือนกัน วันนั้นผมเอาสเปรย์ไปพ่นข้อความว่า ‘ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ’ ใต้ทางด่วนดินแดง”

“สิ่งที่ผมพ่น ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะหมิ่นหรืออะไรทั้งนั้น ถ้าไปอ่านข้อความที่ผมพ่นก็จะเห็นว่าผมแค่เรียกร้องสิ่งที่มันควรจะเป็น ไม่ได้เขียนข้อความหมิ่น ไม่ได้ใช้คำหยาบ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผมไปพ่นสีในวันนั้นเป็นเพราะผมอยากจะทำลายความเข้าใจผิดของคนในสังคมบางส่วน หลายคนโจมตีทะลุแก๊สว่าไม่สนใจข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน” ของราษฎร ซึ่งไม่ใช่ จริงๆ แล้วน้องๆ ในทะลุแก๊สหลายคนก็สนใจประเด็นนี้ พวกเขาเพียงแต่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร สิ่งที่ผมทำก็แค่อยากจะบอกว่าคนดินแดงสนใจข้อเรียกร้องของราษฎรทั้งสามข้อเพียงแต่อาจจะไม่ได้แสดงออกมาเท่านั้น”

ทางวิบากที่รอข้างหน้า กับสมาชิกใหม่ที่กำลังจะลืมตาดูโลก

“ประมาณสองสามวันหลังพ่นสีมีตำรวจไปตามจับผม วันที่ถูกจับผมไปช่วยน้าแฟนที่ร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วก็เพิ่งสั่งก๋วยเตี๋ยวชามแรกของวันมากิน ตอนนั้นประมาณสองทุ่มเศษ ยังไม่ทันที่ผมจะเริ่มกินก็เห็นตำรวจนอกเครื่องแบบเดินลงจากรถปรี่มาที่ผม ผมก็รู้ละว่าโดนแน่ เขามาถามว่าน้องวีรภาพหรือเปล่า ผมตอบไปว่าใช่ครับ เขาก็แสดงหมายจับจากแท็บเล็ตให้ดู ผมก็บอกเขาว่าโอเคพี่ทำหน้าที่พี่ ผมทำหน้าที่ผม แต่ขอผมกินข้าวก่อน ยังไม่ได้กินข้าวทั้งวัน เขาก็บอกว่าไม่ได้เขารีบ ผมเลยบอกพี่รีบก็เรื่องของพี่ ผมไม่รีบ แต่สุดท้ายตำรวจไม่ยอม ผมเลยต้องหิ้วก๋วยเตี๋ยวไปกินที่ สน.พหลโยธิน วันที่ผมโดนจับคือช่วงเดือนกันยายน ตอนนั้นยังมีเคอร์ฟิว แฟนผมเลยต้องขี่รถฝ่าเคอร์ฟิวเพื่อตามผมไปที่ สน.”

“จะบอกว่าผมดวงแข็งก็ได้นะ ช่วงนั้นคนที่โดนคดี 112 อย่างพวกทนายอานนท์ เพนกวิน หลายคนไม่ได้ประกันตัว ผมกลับได้ประกันตัว แต่ผมก็รู้ว่าอิสรภาพของผมมันเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ผมยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่ข้างหน้า”

“หลังได้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 ไม่กี่วันมีตำรวจนอกเครื่องแบบสองคนไปหาผมที่บ้านแต่เช้า ตัวผมเป็นประเภทอยู่ดึกนอนเช้า วันที่พวกเขามาพอผมได้ยินเสียงตำรวจคุยกับพี่ชายผมก็เริ่มหงุดหงิด พอพี่ชายตามผมลงไปคุยตำรวจก็ถามผมทำนองว่ากลางค่ำกลางคืนทำอะไรมา ผมก็อาละวาดเลย บอกตำรวจไปว่า ‘แล้วพี่เสือกเหี้ยอะไร พี่มากันสองคน มาคุกคามกันแบบนี้ ถ้าพวกพี่ไม่ใช่ตำรวจผมฟันพวกพี่หัวแบะไปแล้ว ทีเรื่องอย่างงี้มึงรีบ ที่คนเสพยา คนฆ่ากันตาย กว่าพวกมึงจะไปตามได้’ ที่ตำรวจสองคนมาหาผมที่บ้านก็ไม่มีอะไรมาก จะมาถามผมว่าผมจะไปม็อบไหม จำได้วันถัดจากวันนั้นจะมีม็อบผมเลยตอบเขาไปว่าผมจะไป แล้วการที่ผมไปม็อบก็ไม่ได้ไปสร้างความฉิบหายให้ครอบครัวพวกพี่ วันนั้นผมด่าตำรวจจนแม่งเดินหนีไปเลย”

“ถามว่าผมกังวลเรื่องคดีมาตรา 112 ไหม ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ผมคงไม่ได้กังวลอะไร ถ้าจะต้องติดคุกมันก็ต้องติด แต่ตอนนี้ผมมีลูกแล้ว แฟนผมท้องได้ห้าเดือน จากนี้ผมคงต้องคิดอะไรให้หนักขึ้น จะเคลื่อนไหวจะทำอะไรก็คงต้องรอบคอบมากขึ้น แต่ถามว่าผมจะเลิกเคลื่อนไหวหรือไม่ก็คงไม่”

“ตอนที่แฟนบอกผมว่าท้อง มันเป็นวันที่พิเศษมาก มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่แฟนผมเมนส์ขาดไปสองเดือน ผมเลยให้แฟนลองซื้อชุดตรวจครรภ์มาตรวจดู แล้วเช้าวันหนึ่งแฟนผมก็ปลุกผมแล้วเอาผลให้ดู ตอนแรกผมก็งัวเงียกลับไปนอนต่อ แต่สักพักไอ้ผลตรวจสองขีดมันเด้งขึ้นมาในหัวผมเลย ผมก็แบบเฮ้ย เหี้ยอะไรวะ เสร็จแล้วพอตั้งสติได้ผมก็ดีใจแล้วก็กอดแฟน”

“ถามว่าผมพร้อมไหมที่จะมีลูก ก็ต้องยอมรับว่าไม่พร้อม โดนคดีเยอะแบบนี้ผมแทบหางานไม่ได้ ไปสมัครมาหลายที่ก็ยังไม่ได้ อย่างล่าสุดเดือนมกราคม 2565 ไปสมัครที่ร้านค้าแห่งหนึ่งเค้าก็ไม่รับ อ้างว่าผมมีคดีเยอะจะต้องลาบ่อยกลัวกระทบงาน ช่วงนี้แฟนผมเลยต้องเป็นกำลังหลักในการหาเงินไปก่อน ตั้งแต่รู้ว่าท้องแฟนผมก็ไม่ได้ไปม็อบแล้ว” 

“ถึงจะเพิ่งถูกปฏิเสธงานมา แต่ผมเองก็จะพยายามหางานให้ได้ เพราะไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม ลูกก็คือลูกของผม ผมต้องทำให้ดีที่สุด การมีลูกยิ่งทำให้ผมอยากเคลื่อนไหวต่อไป เพราะลูกผมกำลังจะเกิดมาในยุคที่ประเทศนี้มันต่ำตมถึงที่สุด ถ้าผมไม่ทำอะไรผมก็ไม่รู้เลยว่าลูกผมที่จะต้องเติบโตในสังคมแบบนี้จะมีอนาคต จะไปได้ไกลกว่าผมไหม”