ข้าว ราษฎรใต้: หมายจับ 112 เปิดประตูสู่ห้วงแห่งความ ‘เปราะบาง’

“วันนั้นเราก็ช็อกเหมือนกัน ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก จนตั้งสติได้เราเลยขอนั่งและโทรบอกเพื่อนว่า มึงอยู่ไหน กูโดนจับแล้วนะ เขามาจับกูตอนฉีดวัคซีนที่มหา’ลัย แล้วเขาจะพากูไป สภ. แล้ว”

ข้าว นักกิจกรรมหนุ่มอายุ 25 ปี จากกลุ่ม ‘ราษฎรใต้’ ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพัทลุง เข้าเรียนและพัฒนาความคิดทางการเมืองที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกับเครือข่ายนักกิจกรรมในภาคใต้ เมื่อถึงวันได้รับ ‘หมายจับมาตรา 112’ ฉบับแรก ข้าวต้องพบเจอกับประสบการณ์นอนคุกหนึ่งคืน อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับความไม่เข้าใจของครอบครัวไปพร้อมๆ กับการประคับประคองจิตใจที่เปราะบางลงของตนเอง

เติบโตจากแดนใต้ ในครอบครัวคนเสื้อเหลือง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ข้าวได้นิยามตัวเองในอดีตว่าเขาเป็นผู้เพิกเฉยต่อการเมืองและไม่ชอบเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็กเนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ และเป็นผู้ปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของ กปปส. โดยข้าวเล่าว่า การเฝ้ามองกิจกรรมการเมืองของผู้เป็นพ่อมาตลอดชีวิตได้ส่งผลให้เขารู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องของ ‘ความวุ่นวาย’ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าวได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ความคิดของเขาต่อโลกทางการเมืองก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

“จุดเปลี่ยน คือ เรามาเรียนเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เราได้จากมหาลัยมันก็มีหลายส่วน ช่วงแรกๆ ที่เข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่เราเป็นนักกิจกรรม เราออกค่ายอาสา เราไปเป็นหัวหน้าฝ่ายก่อสร้าง สร้างห้องน้ำให้ตามโรงเรียนชนบท ไปลงชุมชน”

“การที่เราเรียนเรื่องเศรษฐกิจ นโยบาย ภาษี สิ่งเหล่านี้ที่เราได้รับทุกวันในมหาวิทยาลัย มันค่อยๆ กล่อมเกลาให้เรารู้สึกเอะใจ รู้สึกคิดมากขึ้นกับการเมืองว่ามันส่งผลกับคนที่เราไปเจอ ทำไมกูต้องมาก่อสร้างห้องน้ำให้โรงเรียน ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการควรจะให้เงินมาสร้าง”

“ย้อนกลับไปสมัยปีหนึ่ง (ประมาณปี 2559) ที่ออกไปทำค่ายใหม่ๆ ยังเป็นอารมณ์ที่รู้สึกว่าเราออกไปช่วยคน แต่พอกลับเข้ามาในห้องเรียนก็คิดขึ้นมาได้ว่า ‘ทำไมกูต้องไปทำ’ มันควรจะมีหน่วยงานอื่นที่กูจ่ายตังให้มาทำ เขาหักภาษีเราไปแล้ว ก็ควรมีคนเหล่านั้นมาทำหน้าที่นี้แทนพวกเรา เราจะได้ไปทำอย่างอื่น ไปเพิ่มความสามารถในการผลิต (productivity) ให้ประเทศในด้านอื่นๆ แต่เปล่าเลย เป็นการสูญเปล่าโดยใช่เหตุ”

ล่วงเลยมาหลายปี คำถามมากมายต่อรัฐบาลที่สะสมไว้ก็ได้ดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักจากเหตุการณ์ ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’ เมื่อต้นปี 2563 โดยเด็กหนุ่มจากพัทลุงชี้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้เขาตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ด้วยความที่ข้าวเคยเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัย การชักชวนและรวบรวมผู้คนเพื่อทำกิจกรรมจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเขา

ตอนนั้นเราก็พยายามหันไปมองข้างๆ ว่าจะมีใครในพื้นที่นี้ทำอะไรบ้างไหม เข้าใจว่าด้วยความเป็นภาคใต้ ในพื้นที่นี้โดนตราหน้ามาตลอดว่าเป็นรากฐานของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และเป็นรากฐานของความฉิบหายในปัจจุบัน.. ทีนี้ ถ้าไม่มีใครทำอะไรเลย มันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราไม่อยากไปหวังพึ่งคนอื่นแล้ว ในเมื่อไม่มีใครทำ เราทำเองก็ได้”

“ก่อนหน้านี้เราเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาตอนอยู่ปีสาม (2561) เราจะเห็นอยู่แล้วว่าใครทำอะไร หรือรู้จักกับคนที่เขาทำกิจกรรมอยู่แล้วบ้าง มันก็เลยทำความรู้จักต่อได้ไม่ยาก  จากที่แค่เห็นกันเฉยๆ เราก็เข้าไปพูดคุยว่า ผมสนใจเรื่องเดียวกับคุณนะ เรามาช่วยกันทำไหม เรามาทำสิ่งที่ที่นี่ไม่มีใครทำแล้วนอกจากพวกคุณ”

บทบาทนักปราศรัย และผู้ประสานงานเครือข่ายภาคใต้

การจัดการชุมนุมครั้งแรกของเขาภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผลตอบรับที่ดีจากการจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวยังเกื้อหนุนให้ผู้ที่สนใจทำกิจกรรมทางการเมืองได้มาพบเจอและเชื่อมร้อยกันจนเกิดเป็นเครือข่ายนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ ‘ราษฎรใต้’ กลุ่มกิจกรรมที่ข้าวเป็นสมาชิกอยู่

“วันแรกที่คิดอยากทำ เราโพสต์ถามในเฟซบุ๊กว่ามีใครอยากทำบ้าง จากนั้นก็มีเพื่อนมาคอมเมนต์ตอบว่า “มึงก็ทำสิ” เพื่อนใน ม. คนอื่นๆ ก็ตอบมาแนวเดียวกัน 90% ว่า “มึงก็ทำสิ มึงทำสิ มึงทำสิ” เราก็เลยบอก “เออ กูทำก็ได้” พอตัดสินใจแล้วว่าจะทำ เราก็โพสต์ชวนเพื่อนในเฟซบุ๊กต่อ แล้วมันได้ผลตอบรับดีเกินคาด มีคนแชร์กันไป 2-3 พันแชร์ จากโพสต์ที่เราแค่บอกว่าเราอยากจัดกิจกรรมแบบนี้ ในหาดใหญ่ ในภาคใต้”

“สิ่งหลักๆ ที่อยากทำ คือ อยากมีพื้นที่ให้คนได้พูดสิ่งที่อยากพูด วันที่จัดกิจกรรมมีผู้ปราศรัยตั้งแต่นักศึกษา ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น หมอจากในพื้นที่ มีพนักงานบริษัทก็มาด้วย ผลตอบรับเราถือว่าดีนะ เพราะมันเป็นครั้งแรกแล้วเราจัดแบบไม่รู้อะไรเลย มีคนมาเข้าร่วมประมาณ 1,500 คน เป็นวันที่ทำให้เราเริ่มเข้ามาทำงานด้านนี้แบบเต็มตัว และทำให้เราเป็นที่รู้จัก พอเป็นที่รู้จักมากขึ้น มันก็จะดึงคนใกล้เคียงที่ทำงานเหมือนกันเข้ามาเจอกัน พอเข้ามาเจอกันอีก ก็มีการจัดกิจกรรมเพิ่มอีก”

ข้าวอธิบายว่า บทบาทหลักในการทำงานของเขานอกจากการจับไมค์ปราศรัยเองแล้ว ข้าวยังเป็นนักประสานงานที่คอยสานความสัมพันธ์ระหว่างกันในแต่ละกลุ่มสมาชิกอีกด้วย

“ในภาคใต้จะมีกลุ่มย่อยแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ แต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป หลักๆ ที่เราทำคือสร้างเครือข่ายให้เขาได้รู้จักกัน เครือข่ายที่เราไปพูดคุย เป้าหมายก็จะแยกย่อยกันไป เช่น จะนะ ก็จะมีเป้าหลักเรื่องนิคมอุตสาหกรรม หรือที่ชุมพร จะเป็นเรื่องการถูกไล่ที่เพื่อนำไปสร้างเขื่อน ที่นครศรีธรรมราชจะเป็นเรื่องบ่อขยะที่ไม่ได้รับการแก้ไขจนกลายเป็นมลพิษแก่คนในบริเวณ แล้วก็เรื่องทั่วไป เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน สิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่กระจายตัวอยู่ตามทั่วทุกจังหวัด”

แม้เป้าหมายที่กระจายตัวจากเครือข่ายหลายกลุ่มจังหวัดอาจทำให้งานเคลื่อนไหวนั้นล้นมือ แต่ข้าวเน้นย้ำว่า วัตถุประสงค์หลักที่ทุกเครือข่ายมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ‘การปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง’

“ข้อเรียกร้องหลักๆ เลย เราอยากปฏิรูปสถาบันฯ เพราะเราคิดว่าสถาบันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน มันจะโยงมาถึงการเมืองการปกครอง การปกครองที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดปัญหาเล็กๆ ย่อยๆ ต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเชื่อมโยงกันหมด”

“ข้อเรียกร้องที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือรัฐบาลนี้มีปัญหา เพราะรัฐบาลนี้ พวกเขาจึงไม่สามารถจัดการปัญหาของตัวเองได้ รัฐบาลนี้ไม่รับฟังปัญหาของพวกเขา ต่อเนื่องมาด้วยการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รัฐบาลนี้ใช้อยู่ มันทำให้ปัญหาหลายๆ เรื่องของพวกเขาเชื่อมโยงกัน เพราะเขามีศัตรูคนเดียวกัน มีปัญหาใหญ่ปัญหาเดียวกัน จากคนกลุ่มเดียวกัน”

ไปฉีดวัคซีน แต่ได้นอนคุก

บทสนทนาดำเนินไปอย่างราบเรียบ กระทั่งข้าวได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564 วันธรรมดาๆ ของการไปฉีดวัคซีนวันหนึ่งที่ต้องกลายเป็นวันลุ้นระทึก เนื่องจากเขาไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะต้องพบเจอกับ ‘คณะบุคคลไม่คาดคิด’ ดักรออยู่ ณ ปลายทาง

“วันนั้นเราไปฉีดวัคซีนที่มหาวิทยาลัย แล้วตอนเราจะกลับก็มีน้าคนหนึ่งมาเรียก เราก็เข้าใจว่าเป็นชาวบ้านจะมาถามว่าต้องฉีดวัคซีนที่ไหน เพราะโดยทั่วไปจุดวัคซีนมันมีคนมาเยอะมากอยู่แล้ว พอเราเดินเข้าไป เขาก็หยิบกระดาษใบหนึ่งขึ้นมา และในจังหวะนั้น พอเราหันไป ก็มีเพื่อนๆ ของเขาอีก 5-6 คนมายืนล้อมเราไว้ เราก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่า กูโดนจับแล้วแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าจากเรื่องอะไร แล้วเขาก็อ่านหมายให้เราฟังว่า น้องมีคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์”

“เป็นนอกเครื่องแบบหมดเลย เราเห็นครั้งแรกห้าคน แต่หลังจากนั้นก็ยังโผล่มาอีกเรื่อยๆ … เราไปถามเขาทีหลังว่าทำไมไม่มีหมายเรียกเลย เพราะเราเคยเห็นคนอื่นได้หมายเรียก เขาบอกว่า ‘มันเป็นคดีโทษสูง 15 ปี ขอหมายจับเลยก็ได้’ แล้วเราก็ถามไปว่า ‘พี่รู้ได้ไงว่าผมจะมาฉีดวัคซีนวันนี้’ เขาก็บอกว่า ‘อ๋อ พี่แค่ขับรถผ่าน แล้วก็เห็นน้องเข้ามหาวิทยาลัยพอดี ก็เลยจับ’ แต่ในใจก็คิดว่าพี่จะผ่านอะไรมาตั้ง 20 กว่าคน ซึ่งเราก็มารู้อีกทีตอนหลังว่าเขาก็ไปดักรอหน้าบ้านคนอื่นๆ ที่โดนคดี 112 เหมือนกันกับเรา”

ที่มาของหมายจับมาตรา 112 ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกิจกรรมฉายเลเซอร์ตามศาลหลักเมืองและพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุงเมื่อคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 โดยในข้อกล่าวหาอธิบายว่า ข้อความบนเลเซอร์นั้นเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 เช่น ‘ภาษีกู’ หรือ ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ 

แม้ว่าก่อนถูกนำตัวไปที่ สภ.พัทลุง ข้าวจะได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ซึ่งติดต่อไปยังศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนให้ภายในวันดังกล่าว รวมทั้งคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มารอทำเรื่องประกันตัวอยู่ก่อนแล้ว แต่เนื่องด้วยอุปสรรคเรื่องระยะทางที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดจากสงขลามาที่พัทลุง ส่งผลให้ทนายไม่สามารถทำเรื่องยื่นประกันได้ทันเวลาในวันเดียวกัน

“วันนั้นเขามาจับเราประมาณช่วงบ่าย พี่ที่เป็นทนายก็บอกเราไว้เบื้องต้นเลยว่า อาจจะประกันตัวไม่ทันวันนี้เพราะว่าต้องเดินทางข้ามจังหวัด น้องอาจจะต้องนอนในคุกหนึ่งคืน ซึ่งเราก็ โอเค๊ (เสียงสูง) ตอนนั้นเราคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปถึงจริงๆ เข้าไปในห้องขังจริงๆ แล้ว ความรู้สึกมันแตกต่างกัน ตอนเราเข้าไปมีคนที่โดนคดีอยู่ข้างใน 4-5 คน แล้วจากนั้นก็มีเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ คนอื่นๆ โดนคดียาเสพติดหมดเลย แล้วคนอื่นๆ ให้เยี่ยมได้ แต่กรณีของเราเขากลับห้ามเข้ามาเยี่ยม พอเพื่อนเราถามว่าทำไมห้าม ตำรวจก็บอกว่า ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกในสังคม…”

ข้าวเล่าว่าเขาถูกฝากขังตั้งแต่ช่วงหนึ่งทุ่ม ก่อนจะถูกเรียกตัวออกไปสอบสวนในเวลาแปดโมงของเช้าวันถัดไปและนำตัวมาขังใหม่อีกครั้ง กระทั่งศาลได้อนุมัติการประกันในช่วงบ่าย นั่นเท่ากับว่าเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องขังครั้งแรกเป็นเวลาเกือบ 20 ชั่วโมง  

“ในนั้นมันไม่มีมือถือ ไม่มีนาฬิกา ต้องไปนั่งรออยู่คืนหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกถูกบีบประสาท ทำให้เราคิดมาก ฟุ้งซ่าน ในใจเรานึกตลอดเวลาว่า เมื่อไหร่จะเช้าวะ เมื่อไหร่เขาจะเรียกเราออกไปสอบสวน หรือพูดคุยสักที จะได้จบๆ เรื่องนี้สักที เมื่อไหร่จะเช้า เมื่อไหร่จะถึงคิวเรา เห็นเขาเรียกคนอื่นๆ ออกไป ก็ได้แต่คิดว่าเมื่อไหร่เขาจะมาเรียกเราบ้าง”

“มันคือห้องขังของสถานีตำรวจ เป็นห้องสี่เหลี่ยมประมาณ 5×3 เมตร มุมห้องครึ่งหนึ่งจะเป็นห้องน้ำที่สูงประมาณเอว ไม่มีประตู เป็นแค่อิฐกั้นๆ แล้วก็มีส้วมนั่งยองซึ่งสีน้ำตาล คือมันเป็นสีขาวมาก่อน แต่ความสกปรกทำให้มันเป็นสีน้ำตาลทั้งพื้นที่ แล้วก็ไม่มีถังน้ำ มีแค่ขันโง่ๆ ตั้งกับพื้นใบหนึ่งกับก๊อก สิ่งที่เราเข้าไปเห็นคือ คนที่อยู่มาก่อนเราก็ทั้งอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน อยู่ตรงนั้น”

“ถัดจากส้วมมาก็จะเป็นกองขยะถุงดำ เราจะนอนอีกฟากหนึ่ง เป็นเสื่อสามผืนซึ่งต้องนอนเบียดกัน 6-7 คน แล้วทีนี้เราก็จะนอนเห็นกองขยะนั้นบวกกับได้กลิ่นห้องน้ำตลอดทั้งคืน แล้วก็จะมีหนูวิ่งคาบขยะไปมา เราก็ต้องนั่งมองหนูวิ่งทั้งคืน”

“เขาบอกว่ามันเป็นพิเศษช่วงโควิด ให้ฝากขังที่นี่ได้เลย แต่ตำรวจจะวิดีโอคอลคุยกับศาล แล้วทีนี้ถ้าเราจะทำเรื่องประกันตัว ให้ไปคุยกับศาลเอาเอง ศาลก็เรียกหลักทรัพย์ประกันประมาณแสนห้า แต่อาจารย์เราใช้ตำแหน่งประกันให้”

“จะเลือกแม่หรือเลือกทำกิจกรรม?

ข้าวเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเลือกที่จะไม่เล่าเรื่องการได้รับหมายเรียกจากการทำกิจกรรมให้คนที่บ้านฟัง เนื่องจากมองว่ายังเป็นเพียงข้อหาเล็กน้อย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ภายหลังได้รับการประกันตัวพ้นออกมาจากอาณาเขตคุมขัง ‘ฝันร้าย’ ของเขาจึงยังคงไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับครอบครัวในวันที่ไม่สามารถกุมความลับเรื่องคดีความได้อีกต่อไป

“ตอนออกมา ที่บ้านถามเราว่า ‘เลิกทำได้ไหม เลิกเคลื่อนไหว เลิกยุ่งได้ไหม’ ซึ่งเราคิดว่าเราเป็นคนที่มีอุดมการณ์ เราทำมาแล้ว เราไม่อยากหยุดเพียงเพราะว่า เขาขู่ให้กลัวหรือเพราะเขามาจับ ถ้าเราหยุด เขาก็ชนะแล้ว เราก็เลยไม่อยากหยุด มันจึงทำให้เราทะเลาะกับที่บ้านบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พ่อกับแม่เริ่มด่าเราบ้าง”

ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกชายทำ ได้ส่งผลให้ความเปราะบางเกิดขึ้นระหว่างกันในเส้นความสัมพันธ์ โดยข้าวได้หยิบยกประโยคจากบทสนทนาในวันที่อุณหภูมิร้อนจนถึงขีดสุดระหว่างเขาและผู้เป็นแม่มายกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น “ไม่รักแม่แล้วเหรอ?”, “จะเลือกแม่หรือเลือกทำกิจกรรม?” มากไปกว่านั้น จนถึงปัจจุบันครอบครัวของข้าวก็เลือกที่จะไม่ส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้ อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังไม่ได้กลับไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับแม่อีกเลย

“คุณเลี้ยงเรามา 20 ปี คุณสอนให้เราใส่ใจเพื่อนมนุษย์ มีเมตตาต่อคนรอบข้าง ให้เราไม่เห็นแก่ตัว แต่พอวันหนึ่งเราทำในสิ่งที่คุณสอน คุณกลับบอกว่าอย่าทำนะ เราก็รู้สึกแบบ อะไรกันวะ ก็คุณสอนให้เราเป็นแบบนี้ เราก็เป็นแบบที่คุณสอนแล้ว แต่คุณกลับบอกว่าอย่าเป็น ก็เลยไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไรจากเรา เราก็เลยถามคำถามหนึ่งกลับไปว่า ถ้าแม่รักเขามากกว่าผม ก็ตัดผมจากลูกเลยก็ได้นะ ถ้าแม่เห็นคนอื่นนอกครอบครัวดีกว่าลูกตัวเองที่เกิดมาและเลี้ยงมา” ข้าวเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

“บอกตรงๆ เราก็ไม่รู้ว่าต้องจัดการด้วยวิธีไหน จะเข้าไปคุยอย่างไร เราควรไปอธิบายให้เขาเข้าใจอีกไหม เพราะว่าเราก็อธิบายมาหลายครั้งแล้ว ถ้าเขาจะเข้าใจก็คงจะเข้าใจไปตั้งนานแล้ว”

ไม่ไหว บอกไม่ไหว

นอกจากปัญหาเรื่องความรู้สึกของคนในครอบครัวแล้ว ข้าวเล่าว่าการตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ยังส่งผลต่อพลังใจที่มีต่อการเคลื่อนไหว โดยความรู้สึกของการเป็น ‘รุ่นพี่’ ในขบวน ทำให้ข้าวเลือกที่จะแบกรับความทุกข์ใจนี้ไว้เพียงลำพัง เนื่องจากไม่อยากส่งต่อพลังงานลบที่อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับน้องๆ ในกลุ่ม

“เอาเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ในหมู่นักเคลื่อนไหวเยาวชนด้วยกันเราค่อนข้างโตกว่าคนอื่นๆ ในสายตาน้องๆ เราเป็นพี่ เวลาน้องๆ จะทำอะไรเขาก็จะมาปรึกษา มาถามว่า ‘พี่ข้าว อันนี้ต้องทำอย่างไร ผมเจอแบบนี้มาทำอย่างไรดี’ ถ้าเราไปแสดงให้เห็นว่าเราไม่ไหว แล้วน้องๆ ที่เดินตามเรามา เขาจะเอาอะไรยึดวะ เขาจะไปหนักแน่นกับใครวะถ้าเรายังไม่รู้สึกหนักแน่นกับตัวเองเลย มันเลยทำให้เราไม่อยากไปพูดกับใคร ไม่รู้ว่าจะไปพูดกับใคร และไม่รู้ว่าถ้าพูดไป น้องๆ ที่ฟังอยู่เขาจะรู้สึกอย่างไร จะเป็นการทำลายกำลังใจคนเหล่านั้นไปด้วยไหม มันก็เลยทำให้เราเลือกที่จะไม่พูด”

“หยุด ไปช่วงหนึ่งเลย ดร็อปไปช่วงหนึ่ง แบบ… พักก่อน เคลียร์ตัวเองก่อน เราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรจนมีรุ่นพี่มาถามว่า ‘ข้าวไหวไหม สภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง คุยกับพี่ได้นะ อยากปรึกษาอะไรไหม’ เพราะก่อนหน้านี้แทบจะไม่ค่อยมีใครมาถามเราในมุมนั้นเลยว่าเรารู้สึกอย่างไรบ้าง แม้กระทั่งครอบครัวเราเองก็ไม่เคยถามว่าเรารู้สึกอย่างไร เรามีความคิดเห็นอย่างไรกับมัน คนส่วนใหญ่อาจจะให้กำลังใจ อาจจะออกตัวเห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยถามเรื่องความรู้สึกเราเลย”

“เราพยายามจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เคยคิดจะไปปรึกษากับจิตแพทย์ด้วยเหมือนกันว่ารู้สึกเครียด มีความกดดัน แต่ก็ไม่กล้าไปอีก พยายามไปทำแบบทดสอบของโรงพยาบาลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต แล้วเขาก็จะมีให้กรอกเบอร์โทรไปสำหรับให้จิตแพทย์ติดต่อกลับมา เราก็ยังรู้สึกไม่พร้อมให้เขาติดต่อกลับมา เพราะเรายังไม่พร้อมที่จะพูดกับเขา แล้วเราก็มาโดนครอบครัวกดดันอีก เพราะมันยังมีหมายมาที่บ้านอีกเพื่อเรียกมาสอบปากคำเพิ่ม การที่หมายไปที่บ้านเรื่อยๆ ก็ทำให้แม่กับพ่อ หรือย่า มากดดันเราอีกทีหนึ่ง จริงๆ พ่อจะเข้าใจในมุมมองที่ว่า เราทำเพื่ออะไร เราทำเพราะอะไร แต่พ่อก็ค่อนข้างรู้สึกว่า ทำไมต้องไปทำให้ตัวเองเจ็บตัว เราเลือกที่จะไม่ทำก็ได้ ก็ไม่เจ็บตัวแล้ว”

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อตัวเองในช่วงเวลาปัจจุบัน ข้าวเลือกที่จะตอบอย่างไม่ลังเลว่าเขา ‘ชอบตัวเองมากขึ้น’ เมื่อได้มองย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ยังไม่เข้ามาสู่โลกของการเป็นนักกิจกรรม

“เรารู้สึกชอบตัวเองมากกว่าเมื่อก่อน อย่างน้อยๆ ก็ชอบตัวเองมากกว่าตอนที่ยังเป็น ignorant เมื่อเทียบกันชีวิตเรามีความหมาย เพราะเราได้ทำอะไรเพื่อใครบ้าง ที่เขาเห็นด้วยกับเรา ที่เขาต้องการมัน แต่เขาอาจจะทำไม่ได้ หรือทำมานานแล้วแรงเหลือน้อยเต็มที”

ความหวังต่อการเมืองในรัฐสภา

เมื่อถามถึงความสนใจอื่นนอกเหนือจากเรื่องการเมืองในช่วงท้ายของบทสนทนา ข้าวเล่าว่าปัจจุบันเขากำลังสนใจสกุลเงินคริปโตฯ (Cryptocurrency) รวมทั้งช่องทางการหารายได้จากการแลกเปลี่ยน (trade) สินค้าในเกม แต่เมื่อพูดถึงเงินๆ ทองๆ ได้ไม่นานนัก หนุ่มน้อยเมืองหนังโนราห์ก็วกบทสนทนากลับเข้ามาที่เรื่องการเมืองอีกตามเคย โดยข้าวมองว่า ถ้ามีโอกาสในอนาคต เขาก็สนใจที่จะลงเล่นการเมืองเองเพื่อเพิ่มช่องทางการผลักดันในสิ่งที่ขบวนต้องการเรียกร้อง

“เราคิดไว้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นที่เราเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะเราอยากเป็นนักธุรกิจ เราอยากมีบริษัทคริปโตฯ เป็นของตัวเอง แต่พอเราได้มาเคลื่อนไหวการเมือง แล้วเราก็ได้เห็นการเมืองในมุมที่เราฝากความหวังกับใครไม่ได้ ฝากความหวังกับพรรคการเมืองที่มีอยู่ก็เหมือนจะไม่ได้ ก็เลยเหมือนกับครั้งแรกที่เราลุกขึ้นมาเรียกร้องเอง เพราะเราหันไปแล้วไม่มีใครเรียกร้องแทน นี่ก็เหมือนกัน บางครั้งเราก็นึกอยากจะไปลงเล่นการเมืองเอง เพราะเราไม่รู้จะฝากความหวังกับใคร เขาไม่สามารถหรือเขาไม่ทำก็ไม่รู้ เขาไม่ทำในสิ่งที่เราต้องการอย่างตรงไปตรงมา”

“เราอาจจะต้องอยู่แบบนี้ไปอีกเป็นห้าปี สิบปี อาจจะมีคนเห็นด้วยเพิ่มนะ แต่เราก็อาจจะต้องทนอยู่กับระบบนี้แล้วใช้การต่อรอง (deal) ในระดับรัฐสภาที่หน้าตาโอเคขึ้นมากว่านี้หน่อย…” นักกิจกรรมพัทลุงกล่าวทิ้งท้าย