การต่อสู้ที่ไม่เดียวดายของ เตย เฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้

การต่อสู้ที่ไม่เดียวดายของ เตย เฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้

เตย ชมพูนุท ณ อยุธยา หญิงสาววัย 25 ปี สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้ที่เคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสภาพจิตใจแก่กลุ่มนักกิจกรรมในภาคใต้รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจ

เตยถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับเพื่อนอีกสองคนโดยเธอกับเพื่อนถูกกล่าวหาว่าไปฉายเลเซอร์ด้วยข้อความต่างๆที่จังหวัดพัทลุง  เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

ตื่นตัวเพราะที่บ้าน ก่อน “ตื่นรู้” ด้วยตัวเอง

เตยเล่าให้ฟังว่าเธอเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เธอสนใจการเมืองมาจากการซึมซับบรรยากาศในครอบครัวเพราะพ่อของเธอเป็นคนที่สนใจการเมืองและยังเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

“พ่อสนใจการเมืองอยู่แล้ว เคยขึ้นเวทีพันธมิตร เป็นมวลชนเสื้อเหลือง เราก็ค่อนข้างมีความสนใจทางการเมืองแต่ก็ยังมีความคิดอยู่ในกรอบ”

เตยเล่าว่า เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยเธอทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งสมัครเข้าชมรม เข้าไปช่วยงานในสโมสรนิสิต ซึ่งเปิดโอกาสให้เธอได้ทำงานเพื่อสังคม พูดคุยถึงประเด็นการเมือง และเป็นช่วงเดียวกันที่เตยเริ่ม ‘ตื่นรู้’ ทางความคิด  

“พอเทอมสุดท้ายได้ไปเป็นครูอาสาในโรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบ ก็ทำให้ได้ลืมตาขึ้นมาจริงๆว่าการทำแบบนี้มันไม่ได้แก้อะไรเลย ถ้าเราไม่ได้ไปถึงรากของปัญหา ประกอบกับช่วงนั้นตื่นรู้ทางการเมือง มีหนังสือของฟ้าเดียวกัน มีคนแจกไฟล์ สามารถหาอ่านได้ตามร้านหนังสือ ตามบูธมติชน ทำให้ช่วงนั้นเราหาอ่านพวกนี้เยอะมาก ก็ค่อยๆมองเห็นทีละนิดว่า ที่เราเคยคิดจะแก้ปัญหาโดยเราจะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีอำนาจ ไปเป็นอาจารย์แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายใน มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกวิธี เพราะถ้าเราเอาตัวเองไปอยู่จุดนั้น เราก็จะบิดเบี้ยวตามเขา”

“พอมาช่วงปี 2563 ที่มีแฟลชม็อบเยอะๆ เราก็รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองเป็นผู้มีอำนาจเลย ทำไมการเปลี่ยนแปลงมันจะเริ่มจากคนตัวเล็กๆอย่างพวกเราไม่ได้”

เมื่อเตยคิดได้แบบนั้น จึงได้ติดต่อไปยังรุ่นพี่นักกิจกรรมเพื่อขอคำแนะนำว่าถ้าอยากจัดชุมนุมต้องทำอย่างไรบ้าง จึงเป็นที่มาของการจัดการชุมนุม #ส้มโอโอ้โหโอชา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 ซึ่งครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เตยมีส่วนร่วมในการจัดการชุมนุม

คดี 112 กับความกังวลถึงอนาคต

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีคนกลุ่มหนึ่งนำเลเซอร์ไปฉายตามสถานที่ต่างๆในจังหวัดพัทลุง ช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองจังหวัดพัทลุง โดยข้อความที่ถูกฉายมีทั้งข้อความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซุ้มเฉลิมพระเกียรติ และเรื่องธนาคารไทยพาณิชย์ หลังในเกิดเหตุคดีนี้ ในเดือนสิงหาคม 2564 เตยกับเพื่อนอีกหนึ่งคนถูกออกหมายจับแต่เตยกับเพื่อนก็ไม่เคยทราบเรื่องเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ กระทั่งเพื่อนของเตยที่ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกันไปฉีดวัคซีนในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ก็ถูกเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับและควบคุมตัวโดยในหมายจับดังกล่าวมีชื่อของเตยกับเพื่อนอีกคนรวมอยู่ด้วย

เมื่อทราบว่ามีชื่อของตัวเองปรากฏในหมายจับ หลังเพื่อนของเตยถูกจับและได้รับการประกันตัวเตยจึงไปเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและรับทราบข้อกล่าวหาโดยเธอได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แม้เตยจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนแต่กระบวนการในชั้นสอบสวนก็สร้างความไม่สบายใจให้เธออยู่ไม่น้อย

“ตำรวจพยายามพูดกับเราว่า ถ้าศาลถามว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ ให้ตอบว่าไม่คัดค้านนะ ไม่งั้นเรื่องจะวุ่นวาย นั่งรอในห้องสอบสวน เดี๋ยวพี่ก็ปล่อยไป แต่มีประเด็นว่าหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น ตำรวจไม่ให้ทนายคัดลอกบันทึกสำนวนคดีเพื่อนำไปใช้สู้คดี ทั้งๆที่ทนายมีสิทธิ เมื่อตำรวจไม่ให้ ทนายจึงได้ปรึกษากับเพื่อนเราอีกคนว่าให้พูดเรื่องนี้กับศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทนายคัดลอกบันทึกดังกล่าว หลังจากที่เพื่อนเราบอกกับศาล ตำรวจก็โกรธมาก หลังจบการวิดิโอคอนเฟอเรนซ์กับศาล ตำรวจก็พาเราไปที่ห้องฝากขัง และหันมาพูดกับเราว่า อยู่ดีๆไม่ชอบ ใช่ไหม แต่สุดท้ายศาลก็อนุญาตให้ประกันตัว” 

เตยระบุด้วยว่า เธอไม่เข้าใจถึงการทำงานของตำรวจ ตามหลักการแล้วจะยื่นขอฝากขังก็ทำไปเลย ไม่ใช่ว่ามายื่นเงื่อนไขแล้วก็มาไม่พอใจกับสิ่งที่เธอทำทั้งที่เธอก็เพียงแต่รักษาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของตัวเอง เตยระบุด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอเห็นว่าตำรวจใช้อำนาจในการฝากขังผู้ต้องหาตามอำเภอใจซึ่งไม่ถูกต้อง

เตยระบุด้วยว่าแม้จะไม่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีแต่เธอก็มีความกังวลใจอยู่ไม่น้อย

“เริ่มแรกตั้งแต่น้องที่พัทลุงได้รับหมายเรียกพยาน ในช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะทราบว่ามีการดำเนินคดีนี้ เรามีปัญหาส่วนตัวอยู่แล้ว สภาพจิตใจค่อนข้างเหนื่อยล้า พอมีเรื่องคดีเข้ามาก็ยิ่งกังวล เรารู้สึกแบกรับความกดดันและความกลัวตรงนั้นไม่ได้ ก็เป็นจุดที่ทำให้เราพักการทำกิจกรรมไประยะหนึ่ง หลังจากมีหมายขึ้นมาจริงๆ และเพื่อนของเราถูกจับก็รู้สึกว่า อยู่กันดีๆไม่ได้ใช่มั้ย อุตส่าห์เงียบไปครึ่งปีแล้วนะ ยังจะหาเรื่องดึงกลับมาอีก ได้มึงเจอกูแน่ ก็เลยได้กลับมาทำกิจกรรม ตอนกลับมาก็ยังกล้าๆกลัวๆ ว่าจะเชื่อมต่อกับคนอื่นได้ไหม พอโดนคดีขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่เคยคิดว่าเราพร้อม จะสู้ ถึงเวลาจริงๆก็มีความกลัว แต่พอมาเจอพี่ทนาย จาก law long beach ที่ให้ความช่วยเหลือเราก็ยังรู้สึกว่ามีคนคอยช่วยเหลือ รู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว”  

โดนคดีแต่ใจฟูเพราะไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว

“ความฝัน(ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม) ยังเหมือนเดิมแต่วิธีการเปลี่ยนไป ไม่ได้พยายามจะทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว และก็รู้ว่ามีคนพร้อมช่วยเหลือ มีเพื่อนที่อยู่ข้างเรา ทำให้เรากล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมากขึ้น ตอนนี้ก็ระมัดระวังสภาพจิตใจของเรามากขึ้นด้วย”

“มันเป็นเรื่องจิตใจเตยด้วย คือหลังจากนี้อาจจะไม่ได้เป็นผู้ปราศรัยเหมือนแต่ก่อน อาจจะค่อยก้าวไปทีละขั้นเล็กๆ เริ่มจากวงที่เราสนใจที่สุด อย่างประเด็นเฟมินิสต์ โดยจะทำงานในพื้นที่ไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ก็ยอมรับว่ามันไม่ได้ใจพังเพราะคดีอย่างเดียว มีเรื่องการทำงานด้วย เราเอาแต่คิดภาพใหญ่แล้วจะกระโดดไปให้ถึงทีเดียว โดยไม่ได้ประเมินความพร้อมของตัวเอง”

“การถูกดำเนินคดีมันเป็นเรื่องที่แย่ แต่อย่างน้อยมันก็ยังมีเรื่องที่ทำให้เราพอจะรู้สึกดีอยู่บ้าง การถูกดำเนินคดีนี้ทำให้เรากลับไปคุยกับที่บ้าน เราก็ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่าพ่อที่คิดว่าเขาน่าจะไม่เห็นด้วยกับเราแน่ๆ จะบอกกับเราว่า อย่าทิ้งเพื่อนนะ จะสู้ก็ให้รู้จังหวะ ไม่ถึงขั้นห้ามเราไปเลย ทำให้รู้ว่าความจริงแล้วพ่อก็ยังเป็นพ่อเรา เคารพในความเชื่อของเรา”