คุยกับนรินทร์ จำเลยคดีสติกเกอร์ กูKult: ความหวังที่มีก่อนมาศาล สูญสิ้นไปหลังการสืบพยาน

หลังการสืบพยานคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 112 ของนรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ กูkult ที่ศาลอาญาระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ และวันที่ 1 มีนาคม 2565 เสร็จสิ้นลง นรินทร์ได้เล่าให้ไอลอว์ฟังถึงความคิด ความเชื่อของเขาต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเข้ากระบวนการสืบพยาน จนถึงจบการสืบพยาน และสิ่งที่เขาเตรียมตัวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีของเขาซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นเพียงสามวันหลังการพิจารณาคดีนัดสุดท้าย

ก่อนเข้ากระบวนการ: ยังเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมไทยเพราะไม่เคยสัมผัสมาก่อน

“ก่อนจะถึงการสืบพยาน ตอนนั้นเรารู้สึกว่า “มันถึงวันแล้วเหรอวะ” ด้วยความที่เราไม่เคยมีประสบการณ์และไม่เคยไปศาลมาก่อน ก็รู้สึกทำตัวไม่ถูก คดีนี้ถือเป็นการขึ้นศาลครั้งแรกในชีวิตของเรา ที่จริงก่อนถูกดำเนินคดีนี้เราเองเพิ่งเคยไปสถานีตำรวจครั้งแรกในวันที่ 20 กันยายน ปี 63 วันนั้นเราไปแจ้งตำรวจเรื่องที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบติดตาม ไปๆมาๆเรากลับถูกดำเนินคดีนี้เสียเอง

“ในส่วนของความหวังก่อนเริ่มการพิจารณาคดี เราคิดว่าจะขอต่อสู้คดีก่อน เอาไงก็เอากัน ด้วยความที่ฝั่งตำรวจมีหลักฐานพอสมควรว่าเราเป็นคนติด เราก็เลยคิดว่าคงจะยอมรับว่าเราเป็นคนติดสติกเกอร์จริง แต่ไปต่อสู้คดีเรื่องเจตนาแทน เราคิดว่ายังไงการติดสติกเกอร์ก็ไม่น่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 แบบที่เขาฟ้องมา เราคิดในทางปรัชญา และทางศิลปะหน่อยๆ”

“ประเด็นแรก เราตั้งคำถามว่ารูปภาพกับบุคคลในภาพคือสิ่งเดียวกันหรือไม่ วิธีคิดแบบนี้เราอิงมาจากงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่เป็นรูปไปป์แล้วมีข้อความบอกว่าไม่ใช่ไปป์ (ผลงาน: This is Not a Pipe. — Ceci n’est pas une pipe (1926)) เราก็คิดว่าในเรื่องนี้น่าจะเป็นลักษณะเดียวกันกับงานศิลปะชิ้นนั้น คือถ้าถามว่าภาพของคนที่ปรากฎในรูปภาพ คือตัวบุคคลจริงๆของคนที่อยู่ในภาพนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ตัวบุคคล เป็นแค่ภาพเหมือน เพราะฉะนั้นการกระทำต่อรูปไม่ว่าจะเป็นการเอาสติกเกอร์ไปติด หรือกระทำการใด ๆ ต่อรูปภาพของเขาจะเป็นการหมิ่นตามกฎหมายได้อย่างไร อันนี้เราหมายถึงเฉพาะกระทำที่เกิดขึ้นกับภาพเท่านั้นนะ ถ้าเราไปกระทำต่อตัวบุคคลจริงๆ เช่นนำสติกเกอร์ไปติดที่ตัวบุคคลอันนั้นเรายอมรับว่าเป็นการหมิ่นจริงๆ ซึ่งพอไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นกับคนจริงๆเราก็เลยคิดว่าน่าจะพอสู้คดีได้”

“ประการที่สอง ในเรื่องของคำว่า “เกียรติ” หรือ “เกียรติยศ” เราก็ตั้งคำถามกับสิ่งนี้ว่า เกียรติ หรือเกียรติยศ เกิดจากอะไร สำหรับเราเกียรติยศมันเกิดจากสิ่งที่คนทำ เช่นจากการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามออกมาให้คนได้รับรู้ แต่พอรูปภาพกับคนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เราเลยคิดว่ามันไม่ใช่การหมิ่นหรือลบหลู่เกียรติของตัวบุคคลจริง ๆ อย่างถ้าเป็นตัวเราเองมีคนถือรูปภาพเรามาแล้วเอามาด่า วิจารณ์ต่าง ๆ นา ๆ ว่ามันเป็นคนไม่ดี หรือเอารูปเราไปเผาไปทำลาย เราคิดว่ามันไม่เป็นการหมิ่นเกียรติเรานะ แต่ถ้ามาทำลายรูปต่อหน้าตัวเรา หรือเผารูปต่อหน้าตัวเราจริง ๆ แบบนั้นค่อยมาว่ากันอีกทีว่าเป็นการหมิ่นเกียรติเราไหม ในตอนแรกก่อนมาสู้คดีเราจึงมองว่าที่ทำลงไปมันจึงไม่สามารถจะเป็นการหมิ่นได้ หรือเป็นการอาฆาตมาดร้าย”

ระหว่างการสืบพยาน: หมดศรัทธากับระบบราชการและกระบวนการยุติธรรมไทย

“พอถึงวันที่ต้องมาศาลเพื่อมาร่วมกระบวนการสืบพยานทั้งสี่วัน จริง ๆเรารู้สึกเบื่อมากเพราะต้องมานั่งฟังเฉยๆตลอดการพิจารณาคดี อีกอย่างคือเราได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรม และระบบราชการทั้งหมดในช่วงเวลาที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้น เราเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมระบบราชการไทยถึงคัดคนไม่มีคุณภาพเข้ามาบริหารงานหรืออยู่ในตำแหน่งสำคัญ ทั้งตำรวจ อัยการ รวมถึงศาลด้วย อย่างในคดีของเรา เวลาตำรวจพูดหรือตอบคำถามตอนสืบพยาน เห็นได้ชัดเลยว่าตำรวจจะใช้ตรรกะไม่เป็น ใช้เหตุผล และความรู้ในการตอบคำถามในการสืบพยานไม่เป็น บางคนก็พูดถามคำตอบคำ บางคนก็เป็นหุ่นยนต์ทำตามคำสั่งเท่านั้น ซึ่งพยานแต่ละคนมียศสูงทั้งนั้น ตั้งแต่พันตำรวจตรีถึงพันตำรวจเอกซึ่งเป็นหัวหน้าคนทั้งนั้น เราเลยมีคำถามว่าพวกเขามีความสามารถเพียงเท่านี้หรือ”

“อย่างหรือตัวศาลเองเราก็สงสัยว่าเหตุใดจึงต้องตัดพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีเราออกไป โดยเฉพาะพยานที่เป็นนักวิชาการสาขาเฉพาะทาง ทั้งที่นักวิชาการเหล่านั้นต่างมีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่พวกเขาศึกษามา แต่ศาลกลับบอกว่าข้อเท็จจริงที่เป็นความรู้ของของนักวิชาการไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นแค่ความคิดเห็นซึ่งศาลไม่จำเป็นต้องรับฟัง เราก็มีคำถามว่าแล้วสังคมนี้จะมีวิชาการไปทำไม แล้วก็มีคำถามว่าศาลเองมองเราอย่างเป็นกลางหรือไม่”

“ในวันแรกของการพิจารณาคดี ศาลถามเราว่าจะยอมรับผิดตามฟ้องหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ในแนวทางการพิจารณาคดี เหมือนศาลจะให้เรายอมรับความผิดไปเลยทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์เจตนา แล้วตอนเราปรึกษาทนายว่าถ้าเรายอมรับข้อเท็จจริงว่าเราไปติดสติกเกอร์จริงแล้วจะขอสืบพยานไปในประเด็นเจตนาว่าเราไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทบุคคลใดในการติดสติกเกอร์แทน ศาลกลับบอกว่าถ้าเรายอมรับว่าเป็นคนติดก็จะเลิกกระบวนการสืบพยานทั้งหมดแล้วจะตัดสินเลย ยังดีที่ทนายความของเราคัดค้านศาลและปฏิเสธแนวทางที่ศาลเสนอมาได้สำเร็จ”

“เรารู้สึกเหมือถูกกลั่นแกล้งโดยกระบวนการยุติธรรม เรายังตั้งคำถามด้วยว่าศาลมีอิสระในการพิจารณาคดีเราจริงๆหรือเปล่า เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างการพิจารณา ศาลบอกว่าขอออกไปปรึกษากับ “คนข้างบน” ก่อนแล้วจึงจะมาให้คำตอบกับแนวทางการต่อสู้คดีที่เราเสนอไป ตรงนี้เราเห็นว่าสุดท้ายที่บอกว่าศาลมีความอิสระในการตัดสินคดีความเป็นเพียงคำพูดที่ไม่มีน้ำหนัก ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง อีกประเด็นหนึ่งคือกรณีที่ศาลไม่ยอมบันทึกประเด็นต่างๆที่ทนายความถามพยานที่เป็นตำรวจไป ตรงนั้นเรามีคำถามถึงความโปร่งใสว่าเหตุใดจึงไม่บันทึกถ้อยคำหรือกระบวนการให้ครบถ้วน ทั้งหมดนี้คือคำถามและความรู้สึกที่ติดค้างในใจเราหลังผ่านกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด”

“ในส่วนที่ศาลถามเราสองสามครั้งว่าจะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพหรือไม่ ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ตอนที่เราปรึกษากับศาลว่าจะรับข้อเท็จจริงเรื่องที่เราเป็นคนติดสติกเกอร์ เรายังเชื่อว่าศาลยังมีความยุติธรรมเลยถามเราไว้ก่อน ส่วนเจตนาจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวศาลคงรับฟัง แล้วนำข้อเท็จจริงทั้งหมดไปพิจารณาก่อน แต่กลายเป็นว่าพอเราจะต่อสู้ในประเด็นเจตนาว่าเราไม่ได้มีเจตนาหมิ่นในการติดสติกเกอร์ ท่าทีของศาลอดทำให้เรารู้สึกไม่ได้ว่าศาลเชื่อไปแล้วว่าเราทำ เราเลยคาดเดาได้ว่า สุดท้ายศาลคงตัดสินว่าเรามีความผิด ยังไงก็คงต้องเข้าเรือนจำแน่นอน”

หลังจบกระบวนการสืบพยาน: สิ้นหวัง และเตรียมใจติดคุก

“หลังเสร็จกระบวนการ ความรู้สึกของเราต่างไปจากวันก่อนเริ่มสืบพยานมาก อย่างสองวันแรกพอจบกระบวนพิจารณาคดีเราก็รู้สึกเครียด เพราะว่าคู่กรณีจริงๆของเรามาเป็นพยานทั้งหมด คู่กรณีของเราในคดีนี้มีอยู่สองกลุ่ม คือตำรวจสน.ชนะสงครามกับตำรวจสันติบาล ที่พยายามรวบรวมหลักฐานต่างๆมาเอาผิดเรา ระหว่างสืบพยานเราเห็นว่าพยานทั้งสองกลุ่มนี้จะพยายามเบิกความเอาผิดเราให้ได้ ยัดทุกอย่างมาในศาล รวมไปถึงยัดไส้หลักฐานต่างๆ เช่น รูปจากกล้องวงจรปิดที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามเอาไปให้เราเซ็นต์ทั้งๆ ที่เราถูกดำเนินคดีอีกคดีอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง”

“ในการสืบพยานโจทก์วันที่สาม ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เรารู้สึกดีขึ้นหน่อยเพราะพยานที่เป็นตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) มาเบิกความตามข้อเท็จจริงที่เขาทราบ อันไหนที่ไม่ใช่ก็ตอบตรงๆ ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น เรื่องที่ถูกถามว่าเราเกี่ยวข้องกับเพจ กูkult หรือไม่ เมื่อตำรวจพิสูจน์ใม่ได้ เขาก็ตอบว่าพิสูจน์ไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา”

“แต่สุดท้ายเมื่อจบกระบวนการสืบพยานทั้งหมด ความหวังที่เราเคยมีก่อนมาศาลวันแรกว่า กระบวนการยุติธรรมจะช่วยให้เราพ้นผิดก็หายไปทั้งหมด เราคิดแค่ว่าปล่อยมันเลยตามเลยไป เพราะตั้งแต่เข้ามาที่ศาลวันแรกก็เห็นชัดแล้วว่าระบบยุติธรรมของไทยคงไม่อาจเอื้อประโยชน์กับเราได้ เราสู้คดีได้เท่าที่ศาลจะเปิดโอกาสให้ได้เท่านั้น แล้วศาลก็ไม่ยอมให้ทนายจำเลยซักค้านพยานโจทก์ในหลายๆ คำถาม บางครั้งทนายถามคำถามก็ถูกตำหนิ แต่พอโจทก์ซึ่งเป็นอัยการถามพยาน บางครั้งก็เหมือนศาลไปตอบคำถามแทนพยานเสียเอง เราได้เจอสิ่งเหล่านี้กับตัวก็อดคิดไม่ได้ว่ากระบวนยุติธรรมมันล้มเหลว” 

“สำหรับชะตากรรมของเรา เราไม่ได้กลัวที่จะติดคุกเพราะคดีการเมืองแล้ว เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอะไร ความผิดที่เราถูกตัดสิน อย่างมากที่สุดก็เป็นความผิดต่อผู้มีอำนาจ”    

หลังจากจบการสืบพยานวางแผนกับตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

“ก่อนจะต้องไปฟังคำพิพากษาเราคุยกับที่บ้านไว้นิดหน่อย ว่าแนวโน้มที่ศาลน่าจะไม่ได้เป็นไปในทางบวก แค่นั้นสั้นๆ จะพูดไปมากกว่านั้นคงไม่ได้เพราะที่บ้านเราเขาไม่สามารถทนทานกับความเครียดหรือฟังอะไรที่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงมากๆ ได้ เอาตรงๆ คือคนที่บ้านส่วนใหญ่จะไม่สนใจการเมืองหรือเชื่อในทางตรงข้ามกับเรา อย่างพี่ชายที่มาส่งเราที่ศาลทุกวันก็ยังพยายามพูดให้เราเลิกเคลื่อนไหว หรือมองว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องไม่เข้าเรื่อง เราคิดว่าเขาควรจะต้องสนับสนุนเรามากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่คนที่บ้านบางส่วนแสดงออกว่าเป็นห่วงเรา เราคิดว่าจริงๆแล้วเขากลัวมากกว่า ซึ่งพอเป็นแบบนี้เราก็ไม่อยากจะพูดอะไรกับที่บ้านมากแล้วก็เลยไม่ได้คุยอะไรกันเป็นพิเศษ”

“ส่วนเรื่องการจัดการตัวเอง อย่างแรกเลยเราเตรียมใจเรื่องที่จะต้องติดคุกไว้บ้างแล้ว แผนระยะสั้นคือเราเคลียร์งานสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ที่รับสอนเด็กๆไว้ ปกติเราจะรับสอนเด็กตามบ้านเป็นการส่วนตัว บางคนที่คิดว่าเขาพอจะรู้เรื่องเราก็บอกเขาตรงๆว่าเราจะไปไหน แต่เด็กบางคนที่อ่อนไหวมากๆเราก็คงบอกเขาแค่ว่าเราไปไหนไกลๆสักที่ เราเคยบอกลูกศิษย์บางคนไปตรงๆเหมือนกันว่า เราเคลื่อนไหวทางการเมือง และอยู่ฝ่ายนี้ ลูกศิษย์เราที่ส่วนใหญ่อยู่ม.ปลายเขาก็อยู่ฝ่ายเรา บางคนก็เคยไปม็อบช่วงปี 63 มีลูกศิษย์คนหนึ่งที่เราไปสอนพิเศษ บ้านเขาเป็นคนเสื้อแดงทั้งบ้านเลย แรกๆที่ไปสอนเราก็ไม่รู้แล้วมารู้ทีหลัง พอรู้แบบนั้นเราก็คุยกับคุณพ่อคุณแม่ของน้องได้อย่างสบายใจมากขึ้น แล้วก็สอนได้อย่างสบายใจ บางบ้านก็อาจจะไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่ก็สนใจการเมืองแล้วบางครั้งก็เคยโอนเงินสนับสนุนผู้ชุมนุมบ้าง

“ส่วนเรื่องการเตรียมใจที่จะไปอยู่ในเรือนจำ เราคงไม่กลัวอะไรแล้ว เราคิดว่าทุกอย่างมันคือการเรียนรู้ ทุกอย่างมันเรียนรู้ได้หมด เราเลยสนใจและอยากรู้อยากเห็นว่าในเรือนจำเป็นอย่างไร คิดว่าเข้าไปก็คงได้เจอคนใหม่ๆ ได้รู้เรื่องใหม่ๆ  ที่สำคัญคือเราอยากหาคำตอบให้ได้ว่า ทำไมคุกไทยเปลี่ยนคนไม่ได้ ระบบข้างในมันเป็นยังไง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราอยากรู้จริงๆ” 

สิ่งที่อยากจะฝากถึงทุกคน

“สิ่งที่เราจะพูดอาจจะไม่น่าอภิรมณ์เท่าไหร่ แต่เราคิดว่าหลังจากเข้าไปอยู่ข้างในเรือนจำแล้วมันก็เรื่องของคนที่อยู่ข้างนอกว่าจะให้คุณค่าเรามากไหน ส่วนตัวเราก็ได้แต่รอว่าจะได้ประกันตัวออกมาสู้คดีเมื่อไหร่ เราคิดว่าในหมู่คนที่ติดตามการเมืองหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง มันอาจจะมีการให้คุณค่ากับตัวบุคคลหรือ Cult of personality อยู่ระดับหนึ่ง เวลาบุคคลสาธารณะหรือแกนนำถูกคุมขังกับคนธรรมดาที่ไม่มีชื่อเสียงถูกดำเนินคดีความสนใจมันก็อาจจะไม่เท่ากัน เราเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติที่บุคคลที่สาธารณะรู้จักจะได้รับความสนใจมากกว่าคนทั่วไป แต่อย่างน้อยเราก็หวังว่าคนที่ไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะจะได้รับการจดจำหรือพูดถึงด้วย ถ้าหากเขาได้รับผลกระทบจากการออกมาเคลื่อนไหว อยากเห็นภาพขบวนที่โอบอุ้มกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”