“ใบปอ” นักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เปิดพื้นที่ถกปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาปรากฏการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มใหม่ชื่อว่า “ทะลุวัง” ซึ่งทำกิจกรรมเน้นรูปแบบสอบถามความคิดเห็นหรือโพลแบบง่ายๆ ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “ใบปอ” นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ก่อนที่จะสังกัดกลุ่ม “ทะลุวัง” เธอเริ่มเคลื่อนไหวในเดือนธันวาคม 2564 ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ใกล้กับขบวนเสด็จ โดยเธอไม่เคยสังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวใดๆมาก่อน

ชวนรู้จัก “ใบปอ” นักกิจกรรมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่แจ้งเกิดในช่วงพักรบของกลุ่มเคลื่อนไหวหลัก ผู้เชื่อว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าการอยู่เฉยๆ ในสถานการณ์เช่นนี้

เคลื่อนไหวบนถนนครั้งแรกเรื่อง #ยกเลิก112

เธอเริ่มเข้าร่วมการชุมนุมบนท้องถนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นกิจกรรมคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราชของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2564 จึงออกมาเคลื่อนไหวอิสระเองครั้งแรก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเช่นการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เธอให้เหตุผลที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างเรียบง่ายว่า “ที่เราออกไปทำเพราะเรารู้สึกว่า เราทำอะไรได้มากกว่าอยู่เฉยๆ แน่ๆ” ใบปอบอกว่า วันนั้นเธอไปทำโพลกับสายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชนซึ่งเป็นรุ่นน้องที่รู้จักกันมาก่อนและได้มีโอกาสได้รู้จักตะวัน สมาชิกกลุ่มทะลุวังอีกคนในวันนั้นเลย

วันดังกล่าวมีการวางแผนไว้ก่อนว่า จะเดินรณรงค์ในสยาม แต่ต้องเลี่ยงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและมีการตามคุกคามอยู่เรื่อยๆ ทำให้ต้องไปปักหลักที่หน้าลานน้ำพุพารากอนซึ่งกำลังจัดกิจกรรม 5 ธันวาฯ โดยบังเอิญ วันนั้นกระแสตอบรับค่อนข้างดี คนที่เดินผ่านไปมาก็เข้ามาติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

ช่วงบ่ายที่แดดยังค่อนข้างร้อน ทำให้มีคนเดินผ่านลานดังกล่าวไม่มากนัก มีคนพยายามจะเข้ามาคุกคามพวกเธอ “มีคุณป้าที่เข้ามาร่วมงานเข้ามาปิดป้าย อีกนิดจะกระชากป้ายออก คือจะตบแล้ว แต่เราก็บอกว่า ไลฟ์อยู่ๆ ทำให้เขาไม่กล้าทำอะไรต่อ และมีคุณลุงเข้ามาเหมือนจะต่อยสายน้ำ ช่วงที่คนยังไม่เยอะเท่าไหร่ แต่พอเริ่มเย็นๆ คนเดินผ่านเยอะก็ไม่มีใครมาว่า มาทำอะไร”

“เห็นด้วยกับมาตรา 112 หรือไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ก็เข้ามาได้”
เธอเปิดพื้นที่ให้ทุกคน เธอบอกเช่นนั้น

คนที่มาร่วมกิจกรรมหลายคนมีการถ่ายภาพและนำไปลงในโซเชียลทำให้มีการพูดถึงประเด็นนี้ “รู้สึกว่า การที่เราเริ่มทำโพลวันที่ 5 วันนั้นเป็นไอเดียที่ดีจนหลายกลุ่มก็เอาไปต่อยอดได้ เรามีสองช่องให้เลือก ท่านเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ท่านก็สามารถมาแปะได้ ไม่ใช่จำกัดว่า ไม่เห็นด้วยอย่างเดียว…ถ้าคุณสนับสนุนคุณก็เข้ามาติด วันนั้นก็มีคนหลายคนเข้ามาติดแบบรู้สึกโกรธๆ เป็นฟีลแบบกระแหนะกระแหนก็มี เราก็ยินดีที่เขาจะติด” เธอมองว่า การทำโพลเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับตัวผู้แสดงออก เป็นคำถามตอบเห็นด้วยไม่เห็นด้วยและไม่ได้มีการปราศรัยใดๆ ที่จะเป็นช่องให้รัฐดำเนินคดี

ทำโพลขบวนเสด็จจากความคาใจที่ว่า ฝ่ายปฏิรูปสถาบันฯ รับเสด็จไม่ได้

“คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะคิดว่า สร้างความเดือดร้อนหรือไม่สร้างความเดือดร้อนก็สามารถมาสติ๊กเกอร์ร่วมกันได้”

“ทุกคนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้เลยนะคะ”

เป็นเสียงจากใบปอและตะวัน เพื่อนของเธอที่เชิญชวนให้ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น #ขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ในกิจกรรมทำโพลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ประเด็นดังกล่าวไม่ได้เพิ่งถูกพูดถึงในคลื่นการชุมนุมของราษฎร 2563 แต่เป็นเสียงกระซิบกระซาบในสังคมออนไลน์มาหลายครั้ง บ้างถูกปราบปรามด้วยคดีความ ทำให้ตลอดมาการถกเถียงเรื่องขบวนเสด็จของประชาชนมักจะอยู่บนโลกออนไลน์ที่อาจเปิดเผยอัตลักษณ์ตัวตนหรือปกปิดด้วยหวาดกลัวผลกระทบ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่นักกิจกรรมชูเรื่องขบวนเสด็จขึ้นมาเป็นหลัก รณรงค์และสอบถามความเห็นของคนในพื้นที่สาธารณะ

เหตุที่ใบปอทำโพลชูเรื่องขบวนเสด็จ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากวันที่ 28 ธันวาคม 2564 เธอ, สายน้ำและตะวันไปทำกิจกรรมระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ 10 ที่วงเวียนใหญ่เป็นเหตุให้ถูกทำร้ายและดำเนินดคีฐานก่อความอื้ออึง ตามมาด้วยพิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งทำกิจกรรมรณรงค์ #ไม่รับปริญญา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่งถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเดียวกันและเหตุการณ์ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่นครสวรรค์ ช่วงวันที่ 5 – 7 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งหมดทำให้พวกเธอตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่สามารถรณรงค์หรือแสดงออกในพื้นที่ใกล้กับขบวนเสด็จได้

นอกจากนี้เธอบอกว่า ตอนเด็กๆ โรงเรียนเดิมของเธออยู่ในพื้นที่ใกล้เขตพระราชฐาน ทำให้มีประสบการณ์ที่ต้องรถติดเนื่องจากมีขบวนเสด็จ ทำให้สัญจรไม่สะดวก

ใบปอบอกว่า วันนั้น (8 กุมภาพันธ์ 2565) ถ้าพวกเธอเดินรณรงค์บริเวณใด เจ้าหน้าที่จะมากันพื้นที่บริเวณนั้นทันที ไม่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้แตกต่างจากกิจกรรมวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ที่อยู่ในลานน้ำพุพารากอน คนสามารถเดินผ่านไปมาตลอด ระหว่างการสกัดกั้นใบปอบอกว่า มีจังหวะชุลมุนจนเธอถูกเจ้าหน้าที่กระแทกเข้าที่หน้าอก รู้สึกเจ็บเล็กน้อย “เราไปชั้นไหนเขาจะเคลียร์คนและปิดคนชั้นนั้นเลย เห็นได้ชัดเลยว่า เขากลัวแม้กระทั่งกระดาษ”

หลังทำกิจกรรมไปได้ระยะหนึ่งก็มีประชาชนมาแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่คิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน เธอกับตะวันจึงตัดสินใจเดินไปที่วังสระปทุมที่ประทับของกรมสมเด็จพระเทพฯ เพื่อยื่นเสียงของประชาชนให้ถึงที่ แต่กระดาษผลโพลถูก พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน กระชากไปได้เสียก่อน

เผชิญหน้าการคุกคามแต่ยังสู้อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เรื่องสถาบันฯ

หลังการทำกิจกรรม มีเพื่อนมาบอกกับใบปอว่า เจอชายคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาที่คอนโดของเธอ แม้ไม่แน่ชัดว่า ชายคนดังกล่าวเป็นใครแต่ก็ทำให้เธอต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามแต่เธอยังคงทำกิจกรรมต่อไป “เราต้องการการเปลี่ยนแปลงให้สังคมสามารถตั้งคำถามและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ได้” มุมมองของเธอคิดว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายกลุ่มเคลื่อนไหวลดลง กิจกรรมมีรูปแบบซ้ำเดิมทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเหนื่อยแต่พอเธอเริ่มทำกิจกรรมถามความคิดเห็นเรื่องสถาบันฯ ก็เหมือนสามารถจุดกระแสเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ให้กลับมาอีกครั้ง

แม้จะมุ่งทำกิจกรรมเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ แต่ก็ไม่ละทิ้งในประเด็นอื่นๆ เช่น การเรียกร้องให้ ปล่อยเพื่อนเรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 เธอบอกว่า อยากขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมกันแต่รู้สึกว่า ประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ เป็นเรื่องสำคัญ จึงให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากกว่า โดยมุ่งไปที่การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการนำประเด็นที่สื่อสารยากอย่างขบวนเสด็จมาสู่สาธารณะ

นอกจากนี้แล้วใบปอยังมีความสนใจในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ก่อนหน้าที่เธอจะลงถนนเคลื่อนไหว เธอติดตามเรื่องดังกล่าวบนโลกออนไลน์ “ส่วนใหญ่เราจะแชร์ข้อมูลและบทความ ข้อมูลที่เราอยากบอกเพื่อนเรา มีส่วนร่วมในสเปซบ่อยๆ ด้วย” ในตอนนี้หากไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มทะลุวัง เธอก็จะขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย

ใบปอแชร์ประสบการณ์ว่า ในช่วงที่มีการชุมนุม กลุ่มเพื่อนของเธอก็มีการพูดว่า ถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่ชุมนุม ไม่ว่าจะด้วยการมองโลมเลียการแต่งกาย หรือการแซว จนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย

เกี่ยวกับข้อครหาการล่วงละเมิดทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธอบอกว่า “เรารู้สึกว่า สังคมไทยตอนนี้บูชาตัวบุคคล บูชากลุ่ม จนทำให้เราแตะต้องไม่ได้ คล้ายๆ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เหยื่อที่ไม่กล้าพูดและไม่มีช่องทางที่จะพูด สิ่งหนึ่งที่เราหรือคนที่เป็นเหยื่อต้องการออกมาพูดเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก” ใบปอมองว่า นักเคลื่อนไหวต้องเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมประเด็นอื่นๆ