ไหม ธนพร: พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เคยคุมโรค คุมแค่เพียงความทุกข์ยากของแรงงาน

ไหม-ธนพร วิจันทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2564 เราพบว่า คดีของเธอมีไม่น้อยกว่าเจ็ดคดี จากนั้นผ่านมาเพียงสี่เดือนเท่านั้น คดีของเธอเพิ่มขึ้นเป็น 17 คดี เธอไล่เรียงแต่ละคดีด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากเหตุใดบ้าง มี 15 คดีที่เป็นคดีความในการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเคลื่อนไหวของราษฎร ส่วนอีกสองคดีเป็นคดีชุมนุมของแรงงาน

ชีวิตการทำงาน 29 ปีของเธอตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐประหารอีกสองครั้ง ผ่านรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมานับไม่ถ้วน ทำให้สะท้อนภาพเสรีภาพการชุมนุมของแรงงานในประเทศนี้ได้ดี เธอบอกว่า สถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่รัฐประหาร 2557 นายจ้างกระทำกับแรงงานสารพัดแต่แรงงานไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ และปี 2563 พวกเขาถูกกระทำซ้ำด้วยวิกฤติโควิด นายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและกลไกรัฐไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้แก่พวกเขาได้ เมื่อออกมาชุมนุมเรียกร้องก็ต้องเผชิญกับคดีความ

“ที่ไม่เห็นแรงงานออกมาชุมนุม ไม่ใช่เขาไม่อยากออกไปแต่เขาถูกปิดกั้น ไม่ใช่เขาไม่มีความทุกข์แต่ออกไปก็โดนคดี” 

บทสัมภาษณ์นี้คือความทุกข์ของแรงงานผ่านเรื่องเล่าของไหม นักสหภาพแรงงานหญิงที่พร้อมสู้เพื่อขบวนแรงงานและประชาธิปไตยแม้ต้องเจออีกกี่คดีก็ตาม

รัฐประหารกัดกร่อนกระบวนการต่อรองนายจ้างของแรงงาน

ไหมเล่าประสบการณ์การชุมนุมระบุว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานที่มีเสรีภาพมากที่สุดคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเพื่อสิทธิแรงงานมากมายแต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ปี 2541 ตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ขบวนการแรงงานยังสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในเวลานี้ ข้ามมาสู่รัฐประหาร 2557 คสช.ออกคำสั่งให้ผู้นำสหภาพแรงงานต้องรายงานตัวในค่ายทหาร เธอเป็นอีกคนที่ต้องไปรายงานที่ค่ายอดิศร สระบุรี ในตอนนั้นมีการถามถึงบทบาทของสหภาพแรงงาน เธอมองว่า คสช.มีเป้าหมายเพื่อป้องปรามไม่ให้พวกเธอที่เรียกว่าเป็นแกนนำจัดการชุมนุม