ความอยุติธรรมในยุคคสช.-สิ่งที่ กสม. (อาจ)ไม่รู้และไม่ทำอะไร

แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา อดีตอาสาสมัครพยาบาลที่รอดชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 และพยานปากสำคัญในคดี “6 ศพ วัดปทุมวนาราม” ได้กล่าวในงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย” ว่า หลังการรัฐประหารในปี 2557 ที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เธอต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมนานัปประการ โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเธออย่างที่ควรจะเป็น

แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า เธอเป็นผู้ประสบเหตุ เป็นทั้งเหยื่อ เป็นผู้ถูกกประทำ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเป็นมนุษย์คนเดียวที่ยังเหลืออยู่บนโลกใบนี้จากเหตุการณ์จากเหตุการณ์ 6 ศพวัดปทุม เป็นตัวแทน 99 ศพ เป็นตัวแทนของ ผู้ต้องขังที่ถูกกักขัง โดยไร้สิทธิในการประกันตนทั้งประเทศ โดยในยุคของคสช. ในเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 เธอถูกจับกุมโดยอาศัยเพียงแค่ “เหตุสงสัย” เป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และผู้ที่จับกุมเธอก็เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มีอาวุธยุทธโธปกรณ์ครบมือ ในขณะที่เธอเป็นเพียงแค่ประชาชนตัวคนเดียว

แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวถึงสิ่งที่เธอได้พบและได้เจอมาว่า ในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่เป็นเพศหญิง เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศ มีการลวนลามอนาจาร มีการเปิดเสื้อขึ้นดูรอยสัก หน้าอก การจับต้องอวัยวะเพศหญิงในจุดสงวนว่าใหญ่แค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ต้องสงสัยถูกผูกผ้าปิดตา และเมื่อมีการพาตัวมาที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐจะมีการยื่นข้อเสนอให้ร่วมหลับนอนกับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการหลุดพ้นจากคดี หรือ ได้รับการช่วยเหลือในทางคดี

แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัย หรือ “เหยื่อ” ที่ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารยุคคสช. จะถูกสอบสวนโดยการตั้งคำถามในลักษณะของการชี้นำ หรือ มีลักษณะเป็นการบังคับให้ยอมรับตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อสันนิษฐานไว้ ถ้าหากไม่ตอบแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการ ก็มีการข่มขู่ว่าจะไม่รับประกันชีวิตและความปลอดภัยของตัวผู้ต้องหา รวมถึงคนรอบตัว อาทิ คนในครอบครัวด้วย

แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า หลังจากถูกตั้งคำถามในเชิงชี้นำและสืบสวนเหยื่อจนพอใจแล้ว ก็จะถูกนำตัวไปดำเนินคดี และเธอต้องถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำในระหว่างการพิจารณาคดีนานถึง 3 ปี 6 เดือน แม้ว่าเธอจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ขอคืนอิสรภาพ อาทิ การยื่นขอประกันตัว แต่ก็ถูกคัดค้านและปฏิเสธ จนกระทั่งในวันที่ 24 มีนาคม 2560 เธอถึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ทว่า เธอก็ถูกอายัติตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันที พร้อมกับถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอาปืนจี้เอว พร้อมกับถูกอุ้มขึ้นรถฟอร์จูเนอร์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะถูกพาตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม

แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า ในระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ เธอยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีแต่กลับถูกริดรอนสิทธิในด้านการศึกษา เธอถูกคัดค้านการนำหนังสือเข้าไปเรียนต่อ เธอถูกคัดค้านการอ่านหนังสือทุกอย่าง ถูกคัดค้านการฝึกวิชาชีพ ถูกริดรอนสิทธิทุกสิทธิทั้งที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดยังมีสิทธิแต่เธอไม่มี และยังไม่ได้รับสิทธิในการขอประกันตัวอีก

แหวน-ณัฏฐธิดา กล่าวว่า หลังถูกฟ้องในคดี 112 เธอพยายามหาพยานหลักฐาน และทำเรื่องโอนย้ายคดีจากศาลทหารมาศาลพลเรือน โดยมีประชาชนเป็นคนเรียกร้องและกดดัน ในขณะที่ กสม. กลับไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ที่ชัดเจน กสม. ไม่เคยรับรู้ว่ามีประชาชนที่ถูกกระทำจากความขัดแย้งทางการเมือง กสม. ไม่เคยรับรู้ว่ามีประชาชนถูกริดรอนสิทธิมากขนาดไหน แม้แต่ในคดี 112 ที่ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง เธอก็ไม่เคยได้รับการเยียวยา ทั้งที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน สูญเสียทั้งอาชีพการงาน สูญเสียเวลาในการอยู่กับครอบครัว เลี้ยงดูครอบครัว แต่ทาง กสม. กลับไม่เคยช่วยเหลือ และผลักภาระให้ไปดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองแต่เพียงลำพัง