18 วันในเรือนจำของ “นิว สิริชัย”

ฮิวโก้ หรือ นิว สิริชัย นาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีหมายเลขดำที่ ฝ 382-390/2564 จากการชุมนุม #ม็อบ2สิงหา ที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (ตชด.ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี โดยฮิวโก้ได้รับการประกันตัวในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เขาถูกตั้งหาร่วมกันกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ อีกแปดคน ฐานรวมตัวกันมั่วสุมก่อความวุ่นวาย และในระหว่างการฝากขัง เขาและเพื่อนรวมหกคนได้ติดเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางความแออัดภายในเรือนจำ

จับกุมและฝากขัง 

9 สิงหาคม 2564 ฮิวโก้ปรากฏตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พร้อมกับเพนกวิ้น-พริษฐ์ และณัฐ-ณัฐชนน โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการควบคุมตัวทั้งสามไปยังสภ.คลองห้า เพื่อทำบันทึกการจับกุม รวมทั้งนำตัวไปสอบสวนที่ ตชด.1 ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ จะเข้ามอบตัวในวันรุ่งขึ้นและเข้ารับการไต่สวนในชั้นศาลพร้อมกัน

“เข้าใจว่าที่ให้ไปสอบสวนที่ ตชด.1 เพราะว่าวันนั้นมันมีชุมนุมด้วย พวกฝ่ายสืบสวนของตำรวจยกกันไปอยู่ที่ ตชด. ก็เลยให้ไปสอบสวนที่นั่น แล้วอีกวัน พวกคนที่เหลือก็มามอบตัวที่ สภ.คลองห้า แล้วก็ไปศาลประมาณตอนช่วงสายๆ ของวันนั้นเลย”

“แต่ว่ากว่าศาลจะอ่านคำสั่งก็ปาไปประมาณสองทุ่มกว่าเกือบสามทุ่มแล้ว ศาลก็อ่านคำสั่งว่า อนุมัติฝากขังแล้วก็ไม่ให้ประกัน ให้ฝากขังที่เรือนจำธัญบุรี แต่ว่าเขาไม่ได้แจ้งกับใครเลย เขาพาตัวไปที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต มันเป็นเหมือนที่กักโรค เหมือนคุกเอาไว้กักโรคเฉยๆ แต่ว่าทนายก็ไม่รู้ เท่ากับว่าวันนั้นก็ไม่ได้เจอทนายที่เรือนจำ ไม่ได้เจอใครเลย”

เหตุผลในการย้ายตัวจากเรือนจำธัญบุรีไปที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต สืบเนื่องจากมาตรการของทางราชทัณฑ์ในการจัดหาพื้นที่กักตัวสำหรับผู้ต้องขังเข้าใหม่ ตามที่ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาในเดือนมิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม ฮิวโก้ถูกฝากขังอยู่ที่นั่นได้เพียงหนึ่งอาทิตย์ ก็ถูกย้ายตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เนื่องจากติดเชื้อ ‘โควิด-19’

“ไปถึง (เรือนจำชั่วคราวรังสิต) ก็ให้ swap เลย มีการแจ้งผลแบบชั่วคราวก่อน แล้วก็มีพยาบาลวิชาชีพมาถ่ายรูป เพราะวันนั้น ทุกคนเห็นพ้องกันว่าคำสั่งและเหตุผลที่ตำรวจให้ฝากขังมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ‘เกรงกลัวว่าจะไปเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ’ เราเห็นพ้องต้องกันว่ามันขัดต่อรัฐธรรมนูญ พวกผมก็เลยอารยะขัดขืน คือ นั่ง แล้วก็คล้องแขนกัน ทีนี้ตำรวจศาลไม่มีปัญญาพาตัวไป เขาเลยไปขอแรงจากตำรวจ ตชด.มาอุ้มไป พอเขาอุ้มไปพวกผมก็ดิ้น แล้วมันก็มีรอยฟกช้ำตามตัว พยาบาลวิชาชีพเลยมาถ่ายรูปไว้ แต่ผมไม่รู้นะว่าตอนนี้รูปภาพพวกนั้นอยู่ที่ไหน”

“เราก็อยู่ที่นั่น (เรือนจำชั่วคราวรังสิต) ยาวเลย นโยบายของที่นั่นจะมีตึกขังอยู่สองตึก ให้อยู่ที่ตึกหลังสองอาทิตย์ แล้วย้ายมาอยู่ตึกหน้าอีกสองอาทิตย์ถึงจะไปลงแดนที่ธัญบุรี ผมอยู่ที่นั่นได้ประมาณ 6-7 วัน แล้วก็ติดโควิดตั้งแต่ 14-15 สิงหา”

“เขาจะมีผู้ช่วยผู้คุมเป็นคนเลี้ยงข้าว เลี้ยงข้าวทั้งเรือนจำ ผู้ช่วยผู้คุมคนนี้เขาติดก่อน จากนั้นคนอื่นๆ ที่เข้าไปก็ติดทั้งหมดหกคน ผมเป็นหนักสุดเลยตอนนั้น นอนซมไข้เลย ไข้ 39 องศา แล้วก็ปวดทั้งตัวเลย พอมีอาการก็เริ่มโวยกันอยู่ในนั้น กว่าหมอจะมา กว่ายาจะมา”

“พอมา swap ให้อีกครั้ง วันที่ปูนได้ออก (ปูน-ธนพัฒน์ ได้รับประกันตัวในตัวที่ 14 สิงหาคม) ผลแล็ปของปูนออกมาว่าติดโควิด ปูนก็เลยได้ออกพร้อมๆ กับรู้ว่าติดโควิด พอวันรุ่งขึ้น เขาก็บอกว่าผมติดโควิด เย็นวันนั้นก็ย้ายตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เลย”

ย้ายไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

ฮิวโก้เล่าว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์กับเรือนจำชั่วคราวรังสิตนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในแง่ของการเป็น ‘คุก’ กับ ‘โรงพยาบาล’ อย่างไรก็ตาม ด้วยนิยามของคำว่าโรงพยาบาล เขากลับไม่พบเห็นมาตรการโควิด-19 ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนทั้งบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยภายในได้รับการดูแลที่ไม่ทั่วถึง

“ห้องที่ผมไปอยู่เขาเรียกว่าสีเขียว (ผู้ป่วยสีเขียว) คือไม่รุนแรงมาก อย่างกวิ้นก็จะสีเหลือง พอเป็นสีเขียวผมก็ได้อยู่ห้องรวม เป็นห้องโถงกว้างๆ ใหญ่กว่าคอร์ทเทนนิสหน่อยนึง แต่ยาวกว่า อัดกันอยู่ในนั้น 40-50 คนต่อห้อง ทุกคนเป็นโควิดหมด แต่ว่าไม่มีการแยกว่าคนไหนมาก่อน คนไหนมาหลัง มีห้องแบบนี้ประมาณอย่างน้อย 6 ห้อง ที่ผมเห็นนะ.. แล้วก็นอนพื้น มีผ้าห่มบางๆ แต่หนากว่าเสื่อโยคะ”

“อาบน้ำเป็นแบบรวม เขาเรียกว่าบล็อก คือเป็นอ่างเสมอเอว กำแพงที่ล้อมปิดไว้จะเลยประมาณราวนม แล้วทุกคนก็อาบที่เดียวกัน เป็นอ่างอาบน้ำกลาง จะอาบเมื่อไหร่ก็ได้แล้วแต่เรา เขาไม่ได้มีกำหนด แต่คนติดเชื้อมาก่อนมาหลังก็อาบน้ำรวม เท่ากับว่าเชื้อมันก็จะวนอยู่ เพราะอาบที่เดียวกัน”

“เจล (แอลกอฮอล์) ไม่มี พยายามจะเบิกอยู่แต่เบิกยากมาก แล้วหน้ากากก็มีแจกไปครั้งหนึ่ง ใช้ตลอดที่อยู่ข้างในเพราะว่ามันขาดแคลน บางคน หน้ากากมันขาดแล้วก็ต้องเอามาผูก แต่ส่วนมากก็ไม่ใส่นะ เพราะว่าทุกคนเป็นหมด แล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะใส่แมสก์ตลอดเวลา”

สิทธิ(พิเศษ)ในฐานะนักโทษทางการเมือง 

เนื่องจากเป็นนักโทษทางการเมือง ฮิวโก้และเพื่อนๆ จึงได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่แตกต่างกับนักโทษทั่วไปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ มีการเข้าหาอย่างประนีประนอมและให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การไม่ถูกกดขี่หรือการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมควรเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ที่นักโทษทุกคนพึงมี มากกว่าการเป็น ‘สิทธิพิเศษ’ เฉพาะกลุ่มคนที่เกิดจากความเกรงใจของเจ้าหน้าที่

“ต้องเข้าใจว่าระบบนักโทษข้างใน เขาจะช่วยเหลือกัน แทนกันว่าเพื่อน เพราะว่าผู้คุมเองก็กดขี่เขาเหมือนกัน อยู่ในนี้ก็ต้องช่วยเหลือกันแบบนี้แหละ ผู้คุมมันก็ไม่ช่วย ผู้คุมมันก็แกล้งเหมือนกัน กดขี่ละเมิดสิทธิเหมือนกัน”

“ส่วนมาก (นักโทษ) จะไม่ทะเลาะกัน มีอะไรก็จะคุยกัน เพราะมีกันอยู่แค่นั้น…อย่างตอนผมป่วย คนอื่นก็จะคอยดูแล สภาพจิตใจก็จะคอยซัพพอร์ทกัน เพราะว่ามันก็มีกันอยู่แค่ในนั้น”

“พอเรารู้เรื่องสิทธิ เรื่องอะไรพวกนี้ เรารู้เยอะกว่าเขา เราก็พูดให้เขาฟังว่า จริงๆ ราชทัณฑ์ละเมิดสิทธิคุณอยู่นะ มันก็เหมือนการแลกเปลี่ยนกัน…แล้วพอเราเข้าไป เราก็ไปด่าผู้คุมเรื่องการละเมิดสิทธิ์ ไปขู่เขา บอกว่าเดี๋ยวจะฟ้องทนาย เดี๋ยวจะเขียนรายงานให้หมดเลย พวกนักโทษเขาก็ไม่เคยเห็น เพราะส่วนมากเขาไม่รู้ว่าทำได้ แล้วเขาก็จะถูกละเมิดสิทธิ์ เราก็ค่อนข้างที่จะ privilege พอสมควร แต่จริงๆ ไอความ privilege นี้มันเป็นสิทธิพื้นฐานทั่วไป แค่ราชทัณฑ์ทำให้มันเป็นสิทธิพิเศษ”

“นักโทษทั่วไป ผมใช้คำว่าตามมีตามเกิดเลย เพราะว่าบางคนป่วย เบิกยาลำบากมาก หมอกว่าจะมายากว่าจะมานานมาก แต่พอเป็นนักโทษการเมือง แค่ผมออกซิเจนตกไปแค่ขีดเดียว เขามากันเยอะมาก 4-5 คน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเขียนบ่นเกี่ยวกับเรื่องภายในโรงพยาบาล แล้วส่งไปที่ ผอ. เขาก็ลงมาคุยด้วยตัวเองเลย”

“ท่าทีของเขาค่อนข้างที่จะกลัว เขา compromise กับเรามาก วันแรกๆ เขาจะไม่ค่อย compromise เท่าไหร่ พอเราได้เจอทนายก็เลยฟ้องก่อน เชือดไก่ให้ลิงดูไปก่อนเลย ทีนี้พอเป็นข่าวแล้วเขาล่ก ก็เริ่มปฏิบัติกับเราดีขึ้น”

ไม่มีใครได้ติดต่อญาติที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

อีกปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลราชทัณฑ์จากคำบอกเล่าของฮิวโก้ คือ การไม่แจ้งญาติถึงรายละเอียดการย้ายสถานที่ฝากขัง หรือกระทั่งแจ้งเรื่องอาการเจ็บป่วย ส่งผลให้ญาติหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าเยี่ยม หรือฝากของเยี่ยม เช่น อาหาร เงิน เข้ามาให้นักโทษได้

“คือมันก็มีวิธีฝาก (ของเยี่ยม) แต่ทีนี้ปัญหาก็คือเขาไม่ได้แจ้งญาติ เท่ากับว่าญาติก็จะไม่รู้และจะไม่มีของเยี่ยมจากญาติ แล้วก็ถ้าจะให้นักโทษซื้อของได้ ต้องให้ญาติฝากเป็นธนาณัติเข้าไป เขาจะเอาไปขึ้นเป็นชื่อของนักโทษคนนั้น นักโทษคนนั้นก็จะขอไปซื้อของจากผู้คุมได้ แล้วก็ซื้อวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะได้ เขาจะหักยอดออกจากธนาณัติ แต่ว่ามันยากมากเลย คนที่จะซื้อได้ ต้องให้ญาติฝากเข้ามาเท่านั้น มันน้อยมาก ห้องผมมีแค่คนเดียว เฉลี่ยห้องละคน”

“นักโทษจะมีระบบที่เรียกว่า ‘บุ๊ก’ ที่เป็นเงินของนักโทษ แต่ว่าเขาไม่ได้ยกบุ๊กนั้นมาที่โรงพยาบาลด้วย นั่นหมายความว่านักโทษจะซื้อของด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้ยกยอดเงินมาจากเรือนจำ ซึ่งนักโทษที่อยู่ที่นั่น มันมาจากหลายเรือนจำ ทั้งจากธัญบุรี จากมีนบุรี จากพิเศษกรุงเทพฯ จากบำบัด จากคลองเปรม มารวมกันอะไรอย่างนี้”

“แล้วก็กับข้าว พอมันเป็นโรงพยาบาล เราค่อนข้างคาดหวังกับกับข้าว เออว่าน่าจะดีหน่อย เป็นผู้ป่วยอะเนอะ คือพวกผมได้กินข้าวจากเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นกับข้าวแบบแย่มาก แย่แบบแย่จริงๆ ผมขอใช้คำนี้เลยคือแบบอาหารหมา อาหารหมาจริงๆ นะ”

“เรื่องการรับรู้ข่าว ห้องขังหนึ่งจะมีโทรทัศน์หนึ่งเครื่อง หัวหน้าห้องก็จะคอยดูแล เปิดนู่นเปิดนี่ จะมีข่าวบ้าง อะไรบ้าง แล้วก็จะมีอัพเดทจากทนาย ทนายก็จะพูดให้ฟัง”

“มีแค่แก๊งพวกผมที่เข้าไปได้รับเยี่ยม เพราะว่าเขียนใบคำร้องกันเยอะมาก ทนายก็ดันจากข้างนอก ผมก็ดันจากข้างใน ก็เลยได้เยี่ยมผ่าน video conference แล้วการเยี่ยมก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวด้วย เพราะว่าทุกคำที่เราพูดคุยกับทนาย มีคนฟังอยู่”

คืนสู่อิสรภาพ

 26 สิงหาคม 2564 ภายหลังการยื่นประกันครั้งที่สามจากทนาย ฮิวโก้ได้รับการปล่อยตัวภายใต้การวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ในวันเดียวกันกับแซม สาแมท และต๋ง ทะลุฟ้า ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของบทสนทนา เขาได้เล่าถึงสภาพจิตใจภายหลังการเข้าเรือนจำครั้งแรกในวัย 21 ปี

“ตอนแรกๆ ผมงงอยู่ เพราะว่าไม่เคยติดคุก ก็ blank (ว่างเปล่า) ไปเลย ผมมีปัญหาอยู่นิดหน่อย เพราะว่าผมยังอธิบายตัวเองไม่ได้ ปัญหาของผมคือ ผมไม่รู้ว่าผมเป็นอะไร ผมไม่ได้ฝันร้าย แต่ผมนอนไม่หลับ”

“..ก็รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ว่ายังเลือกที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง (ยังไม่ต้องการพบแพทย์) จริงๆ ผมเป็นคนปากแข็งด้วย ไม่ค่อยเอาปัญหาไปพึ่งคนอื่นเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคนอื่น เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาตรฐานการขอความช่วยเหลือของเขามันจะเท่าเราไหม”

“คนอื่นๆ ที่ได้คุยก็คือแซมเพราะออกมาพร้อมกัน ได้คุยกันเยอะหน่อย ได้อยู่ที่โรงพยาบาลด้วยกันเลย แซมเขาไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะแซมติดคุกรอบที่สองแล้วครับ ว่าก็ว่า เขาเจนมากกว่าเรา เขามีประสบการณ์”

“จริงๆ ผมเข้าคุกไป มันทำให้เราเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนข้างในมันแย่มาก พี่มาจาก iLaw ใช่ไหม ถ้าเป็นไปได้ อยากฝากให้เน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขัง เพราะว่ามีนักโทษถูกละเมิดสิทธิ์เยอะมาก” นักกิจกรรมหนุ่มฝากข้อความทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงเรื่องการเรียนที่มหาวิทยาลัย ฮิวโก้ตอบว่าเขามีเพื่อนๆ คอยให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การถูกจับกุมและฝากขังจากคดีอาญามาตรา 112 ในเดือนมกราคม 2564 รวมถึงอาจารย์ประจำวิชาหลายคนก็เข้าใจถึงสถานะทางกฎหมายและสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังมีผู้ต้องหาอีกจำนวนห้าคนที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ได้แก่ ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ณัฐชนน ไพโรจน์, บอย-ชาติชาย แกดำ และไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก