ตำรวจดักปากซอย – แกล้งส่งหมายเรียกซ้ำ คุกคามสองนักกิจกรรม “ไอซ์-บุ้ง” จากการเข้าร่วม #โพลขบวนเสด็จ

17 มีนาคม 2565 เวลา 21.48 น. เพจ “ทะลุวัง – ThaluWang” โพสต์ข้อความเล่าถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏตัวที่บ้านพักของนักกิจกรรมสองคนซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 จากการทำกิจกรรม “โพลขบวนเสด็จ” ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 แม้ว่าผู้ต้องหาทุกคนจะได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 10 มีนาคม 2565

“เขาอ้างว่าเป็นผู้กำกับคนใหม่แวะมาตรวจตรา” – ไอซ์ นักกิจกรรมอิสระ อายุ 15 ปี

ไอซ์ เยาวชนอายุ 15 ปี หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกคุกคามเล่าว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 6 คน พร้อมรถกระบะมาหาที่บ้านพักเพื่อแนะนำตัวว่าเป็นผู้กำกับคนใหม่ พร้อมทำการถ่ายรูปบ้านพัก อีกทั้งยังพยายามเจรจาขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง ส่งผลให้เพื่อนบ้านหลายคนเกิดความตกใจและมายืนมุงดู แต่เนื่องจากไอซ์ไม่ได้อยู่บ้านเวลาดังกล่าว ตำรวจจึงได้แจ้งกับทางครอบครัวว่าจะมาหาอีกครั้งในช่วงบ่าย

ต่อมา เมื่อทราบข้อมูลจากครอบครัว ไอซ์จึงตัดสินใจเดินไปดักรอที่หน้าปากซอยในเวลาประมาณ 13.00 น. เพื่อหวังพูดคุยด้วยตนเอง และได้พบกับตำรวจนอกเครื่องแบบที่ทราบภายหลังว่ามาจาก สน.บางมด กำลังนั่งอยู่ในรถ เขาจึงเข้าไปเคาะกระจกและขอให้ตำรวจลงมาพูดคุย โดยไอซ์เล่าว่า เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องการมาเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ทั่วไป พร้อมกับพูดว่า “พรุ่งนี้ขอได้ไหม อย่าไปขบวนเสด็จ” ซึ่งไอซ์ตอบกลับไปว่า ตนไม่ได้มีแผนจะเดินทางไปอยู่แล้ว ก่อนที่ตำรวจจะเดินทางกลับไป

เมื่อถามจุดเริ่มต้นการของการเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมือง ไอซ์เล่าว่าตนเองเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมทั่วไปมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ก่อนจะเริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรกกับกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ครั้งแรกจากการไปชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยนักกิจกรรมทางการเมือง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยที่เขาและเพื่อนอีกหนึ่งคนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวก่อนการชูป้าย และพาขึ้นรถสายตรวจไปคุมขังที่กรมบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ก่อนจะถูกนำตัวไปที่ สน.ดุสิต และย้ายไปสอบปากคำที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ต่อด้วยการแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมฝากขังที่ บช.ปส. ในคืนเดียวกัน

ภายหลังได้รับการประกันตัวในเช้าวันถัดมา ไอซ์เริ่มรู้ตัวว่า ถูกเจ้าหน้าที่สอดส่องในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ในช่วงมกราคม 2565 เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินตามจากบริเวณหน้าปากซอยบ้านพัก จนกระทั่งเดินไปขึ้นรถเมล์ เจ้าหน้าที่จึงเลิกตาม

หมายเรียกมาตรา 112 ใบที่สองของไอซ์มาจากการทำกิจกรรมโพลขบวนเสด็จ ถูกส่งมาถึงที่พักในวันที่ 13 มีนาคม 2565 ไอซ์อธิบายว่าในวันทำกิจกรรม เขาไม่ได้เป็นผู้จัดและเพียงแค่ต้องการไปถ่ายรูปกิจกรรม แต่ในช่วงที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ที่ทำโพลกับเจ้าหน้าที่ตอนที่กำลังเดินไปใกล้ถึงที่วังสระประทุม เจ้าหน้าที่ได้ดันแผงเหล็กมาชนกล้องของไอซ์ ส่งผลทำให้เขามีปากเสียงเล็กน้อยกับตำรวจ ซึ่งไอซ์คาดการณ์ว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่า เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มทะลุวังด้วย

ภายหลังเหตุการณ์เยี่ยมบ้าน ไอซ์กล่าวว่า รู้สึกเครียด เนื่องจากถูกครอบครัวกดดัน และเขาอาจต้องทำเรื่องแต่งตั้งผู้ปกครอง ให้มีบุคคลอื่นภายนอกครอบครัวดำเนินเรื่องทางกฎหมายแทนในอนาคต เนื่องจากยังมีสถานะเป็นเยาวชน

“เราดูเจตนาออกว่าเขาต้องการจะคุกคามเราและคนรอบตัว” – บุ้ง สมาชิกกลุ่มทะลุวัง

บุ้ง นักกิจกรรมสังกัดกลุ่มทะลุวัง อายุ 26 ปี เล่าว่าเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 2 คนมาหาที่หน้าบ้าน โดยอ้างว่าจะมาส่งหมายเรียก พร้อมพูดจาหว่านล้อมให้สมาชิกในบ้านออกมาเซ็นเอกสาร อีกทั้งพยายามที่จะขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง ซึ่งครอบครัวของบุ้งเลือกที่จะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ และยืนยันที่จะไม่เซ็นเอกสาร อีกทั้งต้องขอกำลังเพื่อนบ้านให้มาช่วยไล่ตำรวจกลับไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจขู่ว่า หากไม่ยอมเซ็นจะทำการ “ออกหมายจับ” และได้ยืนเฝ้าที่หน้าบ้านของเธอเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงก่อนจะยอมถอนกำลังกลับไป

เมื่อถามถึงรายละเอียดของเอกสารที่ตำรวจต้องการให้เซ็น บุ้งเล่าว่า ตำรวจได้นำหมายเรียกในคดีเดียวกันที่เคยส่งมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 จากคดีการทำโพลขบวนเสด็จมาให้ ซึ่งในคดีนี้เธอไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันมาแล้ว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 และได้รับการประกันตัวพร้อมติดกำไล EM เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บุ้งจึงตั้งข้อสังเกตว่า การมาเยี่ยมบ้านของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้เป็นการตั้งใจคุกคามเธอและคนในครอบครัวให้เกิดความหวาดกลัว

ในด้านบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง บุ้งเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองในฐานะ “คนเบื้องหลัง” มาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ทั้งประเด็นเรื่องระบบการศึกษา เพศ และแรงงาน โดยจุดเวลาที่เธอเริ่มรู้สึกตัวว่าภาครัฐกำลังเพ่งเล็งนั้นเกิดขึ้นจากกิจกรรมเรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์จากภาครัฐในนามกลุ่ม “ไพร่ปากแจ๋ว” เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากวันดังกล่าว เธอได้มีส่วนร่วมในการปะทะวาจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน และภายหลังกิจกรรมวันนั้น บุ้งเล่าว่าเธอเคยถูกเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาชี้ตัวระหว่างการจัดกิจกรรมพร้อมพูดว่า “ไปหามาว่าคนนี้คือใคร” รวมทั้งการเคลื่อนไหวในกิจกรรมโพลขบวนเสด็จ บุ้งยังถูกเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาพูดขู่ในระยะประชิดว่า “ให้ระวังตัวไว้”

“เราเคยมีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่บางคน เขาก็อ้างว่ายืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตยเหมือนกันแต่ออกมาไม่ได้ เพราะจะกระทบกับหน้าที่การงาน เลยอยากจะบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยังอยู่ภายใต้คำสั่งของเผด็จการให้มาทำร้ายประชาชนว่า ทุกคนมีเรื่องที่ต้องสูญเสียกันทั้งนั้น บุ้งเองก็สูญเสียหลายอย่าง แต่บุ้งก็ยังเลือกที่จะแสดงจุดยืนว่าสิ่งที่ถูกต้องและสิ่งที่เราอยากเห็นในประเทศนี้คืออะไร ดังนั้นทุกคนมีเรื่องที่ต้องแลกด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะแสดงจุดยืนของตัวเองอยู่ที่ตรงไหน”

สำหรับคดีจากการทำกิจกรรมโพลขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ห้างสยามพารากอน ผู้ต้องหาจำนวน 9 คน ถูกตั้งข้อหาจำนวน 4 ข้อ ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน มาตรา 138 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368 โดยภายหลังรายงานตัวในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 200,000 บาท พร้อมเงื่อนไข 5 ข้อ ได้แก่ 1. ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ 2. ห้ามโพสต์ปลุกปั่นยั่วยุชักจูงให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย 3. ห้ามร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง 4. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และ 5. ให้ติดอุปกรณ์กำไล EM