อัยการสั่งไม่ฟ้อง Car Mob ใหญ่ 1 สิงหา เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่แออัด ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

คดีจัดการชุมนุม Car Mob ไล่ประยุทธ์ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ตลอดสาย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ลงชื่อในหนังสือสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อวัน 8 มีนาคม 2565 และส่งหนังสือถึงผู้ต้องหาในวันที่ 29 มีนาคม 2565 เพื่อแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลดังนี้ 

“การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคระบาด ลักษณะการชุมนุมเป็นการขับรถยนต์และจักรยานยนต์ไปตามถนน ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น. จึงยุติ จึงไม่ได้อยู่ในสถานที่แออัดจะเสี่ยงต่อการแพร่โรค และผู้ร่วมชุมนุมมีการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่ระบาด และไม่ปรากฏว่ามีการปิดกั้นการจราจร แม้จะทำให้รถคันอื่นบนท้องถนนเกิดความไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ถึงกับกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรแต่อย่างใด กรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสามกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง”

คดีนี้มีผู้ต้องหา 3 คน คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ซึ่งเป็นผู้ประกาศนัดหมายการจัด Car Mob, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท ผู้ประกาศเข้าร่วมการชุมนุมและมีภาพถ่ายปรากฏชูสามนิ้วบนหลังคารถ และเอกชัย หงษ์กังวาน ผู้เข้าร่วมการชุมนุม โดยก่อนหน้านี้ตำรวจสน.ดอนเมือง ตั้งข้อกล่าวหากับทั้งสามคนฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่าห้าคน และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรตามข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 28, ประกาศกรุงเทพมหานคร และพ.ร.บ.โรคติดต่อ ม.50 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385

การชุมนุมในวันดังกล่าวอยู่ในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักหมื่นคนต่อวัน ประเทศไทยยังขาดแคลนวัคซีน และระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศข้อห้ามการรวมกลุ่มที่เข้มงวดมากที่สุด คือ การจำกัดจำนวนคนอยู่ที่ 5 คนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยประกาศออกมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่เกิดความไม่พอใจต่อความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ความต้องการแสดงออกจึงพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน และเกิดเป็นรูปแบบการชุมนุม Car Mob ขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่ต้องการร่วมแสดงออกอยู่บนรถของตัวเองอย่างปลอดภัยจากการติดเชื้อเพิ่ม และขับรถวนไม่จอดอยู่กับที่เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรสำหรับผู้ใช้ถนนอื่นๆ 

การประกาศนัดหมายชุมนุมแบบ Car Mob ในวันดังกล่าวเป็นการนัดหมายใหญ่ ( ดูรายละเอียดการชุมนุม https://www.mobdatathailand.org/case-file/1627789801884/ ) ที่ได้รับการขานรับอย่างดี โดยการชุมนุมหลักมีผู้เข้าร่วมจำนวนหลายพันคนที่บริเวณถนนวิภาวดี รังสิต แต่ไม่สามารถประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมได้แน่นอนเพราะส่วนใหญ่อยู่ในรถยนต์ และยังมีรถยนต์ของผู้สัญจรผ่านที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมปะปนอยู่ด้วย ขณะเดียวกันการชุมนุมในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ยังมีการนัดหมายชุมนุมเกิดขึ้นพร้อมกันรวม 46 ครั้งใน 39 จังหวัด ซึ่งนับเป็นวันที่มีการนัดหมายจัดชุมนุมพร้อมกันมากที่สุดในปี 2564 ผู้ชุมนุมบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่นัดหมายโดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นัดรวมตัวที่สี่แยกราชประสงค์ กลุ่มที่นัดหมายโดยกลุ่มพะยอมเก๋า ที่มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มที่นัดหมายโดยชาวนครปฐมที่พระปฐมเจดีย์ ต่างก็เคลื่อนขบวนรถเข้ามาสมทบที่ถนนวิภาวดีรังสิตด้วย

นับถึงวันที่รัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครบสองปี กฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างกับรัฐบาล มีผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศต่างๆ เพื่อควบคุมโรคอย่างน้อย 1,445 คน ใน 623 คดี ซึ่งก่อนหน้านี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือศาลสั่งยกฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 12 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมไม่มาก และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 

คำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย จึงเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สำคัญ ที่ยืนยันว่า การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองสมารถทำได้แม้ในภาวะโรคระบาด ในกรณีที่ผู้ชุมนุมได้ออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมและระมัดระวังตัวเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อไปสำหรับคดีอีกหลายร้อยคดีที่พนักงานอัยการยังไม่มีคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ และในจำนวนนั้นเป็นคดีจากการจัด Car Mob อย่างน้อย 22 คดี 

ไฟล์แนบ