เกือบ 6 ปีในเรือนจำ บุรินทร์กำลังจะกลับคืนสู่โลกภายนอก

คดีมาตรา 112 ของบุรินทร์ มาจากการโพสข้อความบนเฟซบุ๊ก และการแชทคุยกันกับเพื่อนของเขาชื่อพัฒน์นรี หรือแม่ของจ่านิว ซึ่งต่อพัฒน์นรีตอบกลับมาว่า “จ้า” และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แยกต่างหาก แม้ศาลยกฟ้องในคดีส่วนของพัฒน์นรี แต่คดีของบุรินทร์นั้นศาลพิพากษาให้ลงโทษหนัก ศาลทหารพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ การคุยกันในกล่องสนทนา (Facebook Chat) ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 และเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน กรรมที่สอง จากการโพสต์บนเฟซบุ๊กของตัวเอง ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 และลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน

เมื่อเราถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำด้วยคดีนี้ บุรินทร์ตอบสั้นๆ ว่า “ผมรู้สึกเฉยๆ นะ เพราะผมเคยผ่านเรือนจำแล้ว”

สำหรับชีวิตในเรือนจำ บุรินทร์เล่าว่า เมื่อเข้าไปใหม่จะมีคนข้างในพยายามมาดึงไปเข้ากลุ่มของตัวเอง แต่บุรินทร์เลือกที่จะไม่เข้ากลุ่มไหนและใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองในเรือนจำ หน้าที่ของเขาคือการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยการเปิดปิดประตูทางขึ้นเรือนนอน โดยเขาอยู่อาศัยในแดนแปด ซึ่งเป็นแดนที่จะรับผิดชอบในการทำอาหารส่งให้แดนอื่นๆ ด้วยแต่บุรินทร์ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการทำอาหาร แค่พอทราบระบบการทำงานภายใน

“ผมพอรู้นิดหน่อย เราได้เห็นเอกสารเวลาสั่งของ เราจะรู้ว่ามันมีปริมาณมาอยู่แล้วว่าต้องใส่อะไรเท่าไรๆ ไก่ห้ากิโลนี่น่าจะเหลือจริงประมาณครึ่งกิโล เพราะเอาไปกินเล็กกินน้อยก่อน พวกทำครัวได้กินอาหารต่างหาก เพราะทำกินเองไม่ได้กินรวมกับพวกเรา”

ในเรือนจำบุรินทร์ได้พบกับนักโทษในคดีการเมืองคนอื่นๆ อีกหลายรุ่น ตั้งแต่คดีระเบิดหรือคดีจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง คดีมาตรา 112 รวมทั้งพบปะนักเคลื่อนไหวรุ่นน้องจากกลุ่มทะลุแก๊ส แม้บุรินทร์จะได้รับผลจากการอภัยโทษในวาระสำคัญ 4 ครั้งทำให้ได้ลดโทษลงมาเหลือต้องอยู่ในเรือนจำจริงๆ ประมาณ 5 ปี 11 เดือน แต่ก็เป็นเวลานานพอที่จะเห็นนักเคลื่อนไหวของคนอื่นๆ ที่เข้าๆ ออกๆ อยู่หลายรอบ หลายคนเข้ามาทีหลังแต่ก็ได้ออกไปก่อนเขา หลายคนศาลวางกำหนดโทษให้สูงกว่าแต่ก็ยังได้ออกก่อนเขา แต่บุรินทร์ไม่ได้รู้สึกว่า การต้องอยู่นานกว่าเพื่อนจะเป็นปัญหาอะไร

“ยังไงก็ไม่สะทกสะท้านอยู่แล้ว จะให้ประกันตัวหรือไม่ก็ได้ ถ้ามึงขังกูได้ กูก็อยู่ได้”

“ความจริงยังไงก็ได้ออก ยังไงก็ไม่เกินสิบปีถ้าเราไม่ตาย ต่อให้ไม่มีอภัยโทษและถ้าเราไม่ทำผิดวินัย ยังไงก็ได้ออก”

“ผมอยากทำอะไรก็ทำครับ ผมจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อใคร ผมจะเป็นผมยังงี้” บุรินทร์เล่า

เมื่อถามว่า กิจกรรมที่ชอบทำในเรือนจำ คืออะไร บุรินทร์ตอบทันทีว่า คือ การเล่นหมากรุก “เพราะเวลามันหมดไวนะ นั่งคิดนั่งอะไรมันนานครับ สองสามกระดานก็หมดเวลาหมดวันแล้ว”

โดยบุรินทร์เล่าด้วยว่า ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำเขาเคยเจอกับจตุภัทร์ หรือไผ่ ที่ถูกคุมขังเพราะไม่ได้ประกันตัวอยู่ช่วงเวลาหนึ่งและได้เล่นหมากรุกแล้วบุรินทร์แพ้ “ไปขอแก้ มันไม่ยอมให้แก้”

ระหว่างอยู่ในเรือนจำบุรินทร์ยังได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองบ้าง โดยได้รับหนังสือพิมพ์บ้าง จากการขอเจ้าหน้าที่ให้เอามาให้อ่านบ้าง และจากการ “ลักมาอ่าน” บ้าง ทำให้เขาทราบดีถึงความเคลื่อนไหวทางการเมือง และการผลักดันข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ เมื่อได้รับอิสรภาพออกจากเรือนจำบุรินทร์ได้กลับไปสมัครทำงานเป็นช่างเชื่อมที่โรงงานแห่งเดิม และเจ้าของก็ยังต้อนรับให้กลับมาทำงานอยู่ บุรินทร์ยังตั้งใจว่าจะยังคงเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อไปเท่าที่ตัวเองจะสามารถทำได้

“ถ้าว่างจากงานก็จะไปเคลื่อนไหว ถ้ามีการชุมนุมใหญ่จริงๆ ผมก็ไม่ไปทำงาน เมื่อก่อนเข้าคุกบางเดือนก็ไปทำงานไม่กี่วันเพราะไปเคลื่อนไหวอยู่ ถ้าเบื่อๆ ค่อยไปทำงาน”

เมื่อได้คืนสู่อิสรภาพมีเพื่อนใจดีพาบุรินทร์ไปหาที่พักเป็นการชั่วคราวก่อนได้เริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองอีกครั้ง ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำทุกคนต้องตื่นแต่เช้าพร้อมกันตอนตีห้า เมื่อออกมาข้างนอกได้บุรินทร์ก็ยังติดนิสัยการตื่นเช้าอยู่ และเริ่มตื่นสายขึ้นได้บ้างเล็กน้อย ในช่วงแปดวันแรกของการใช้ชีวิต บุรินทร์เล่าว่า ยังถือว่าเขาปรับตัวไม่ค่อยได้

“ไม่กล้าเดินไปนู่นไปนี่ เจอคนก็ไม่กล้าเดินไปหา เพราะตอนอยู่ในเรือนจำจะเดินเข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เราก็เกร็ง แต่ก็โอเค ไม่มีปัญหา”

ดูรายละเอียดคดีมาตรา 112 ของบุรินทร์ ในฐานข้อมูลได้ คลิกที่นี่