ตำรวจเยี่ยมบ้าน ‘กันต์’ นักกิจกรรมบุรีรัมย์ อายุ 17 ในเช้าวันจักรี 2 ปีติดต่อกัน

6 เมษายน 2565 เวลา 11.25 น. กันตพัฒน์ หรือ กันต์ นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 17 ปีจากจังหวัดบุรีรัมย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เช้าวันนี้ซึ่งเป็นวันจักรี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสังเกตการณ์บริเวณหน้าบ้านและกำชับสมาชิกในครอบครัวไม่ให้เขาทำกิจกรรม

จากการติดต่อสอบถามของไอลอว์ กันต์เล่าว่าตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนสองคนพร้อมรถกระบะเดินทางมาถึงหน้าบ้านในเวลาประมาณ 7 โมงเช้าซึ่งเขายังไม่ตื่นนอน โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งลงจากรถมาเพื่อถ่ายรูป ในขณะที่อีกคนเข้ามาถามหาตัวเขาและพูดตักเตือนกับสมาชิกในครอบครัวว่า “ให้ดูแลหลานให้ดี วันนี้วันจักรีเขามีพิธี อย่าให้ไปสร้างความวุ่นวายที่ไหน” ซึ่งกันต์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในวันจักรีเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว (6 เมษายน 2564) ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาติดตามเยี่ยมบ้านในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ขับรถเข้ามาในซอยและยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปเมื่อถึงหน้าบ้าน

ทั้งนี้ กันต์เล่าว่าการคุกคามในรูปแบบ “เยี่ยมบ้าน” ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง หากนับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่เขาเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมือง กันต์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเยี่ยมบ้านมากกว่า 10 ครั้งขึ้นไป อีกทั้งยังต้องพบเจอการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย

โทรศัพท์เตือน – ขับรถตาม – เข้าบ้านไม่ได้

ปัจจุบัน กันต์กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อกลุ่ม “RSE-กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย” นอกจากนี้ เขายังมีหมายเรียกหนึ่งฉบับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วม #คาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564

การคุกคามครั้งแรก เกิดขึ้นภายหลังที่กันต์เข้าร่วมกิจกรรม #วิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์ เมื่อ 13 มกราคม 2563 โดยวันรุ่งขึ้น มีตำรวจขับรถมาหาที่บ้านและที่โรงเรียน ซึ่งตอนนั้นเขายังเรียนอยู่เพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อย่างไรก็ตาม กันต์รู้ตัวว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตามองหนักขึ้นภายหลังเข้าร่วมปราศรัยในกิจกรรมแฟลชม็อบ “เมืองภูเขาไฟไม่รับใช้เผด็จการ” เมื่อ 8 สิงหาคม 2563 จัดโดยกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก เขาเล่าว่าภายหลังกิจกรรมในวันนั้น มักมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาหาที่บ้านเป็นประจำทั้งก่อนและหลังวันที่จะมีกิจกรรมชุมนุม รวมทั้งโทรศัพท์มาสอบถามช่วงก่อนถึงวันที่จะมีขบวนเสด็จในจังหวัด หรือโทรมาตักเตือนเมื่อเขาโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องการเมืองหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงสะกดรอยตามเขาด้วยรถยนต์

“เคยเจอเขาขับตามผมช่วงขบวนเสด็จวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ช่วงนั้นทูลกระหม่อมฯ เขามาที่โรงเรียนผม แล้วหลังจากนั้นพอผมจะไปไหน เขาก็ขับรถตาม ขับกระบะตาม มีการทักแชทไปหาคนที่ผมเคยทำงานด้วยว่าผมจะไปสร้างความวุ่นวาย ทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้ทำอะไร”

ทั้งนี้ กันต์เล่าว่าการคุกคามครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2564 สืบเนื่องจากวันที่ 3 เมษายน 2564 เขาตั้งใจจะไปจัดกิจกรรมที่ศาลากลางจังหวัด แต่ถูกเจ้าหน้าตำรวจเข้าล้อมและขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรม และส่งผลให้กันต์ไม่สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้เป็นเวลาหลายวัน

“พอประกาศกำหนดการไปแล้วเขา (ตำรวจ) ก็มาหาที่บ้านก่อน ตามเรื่อยๆ จนถึงวันจัดกิจกรรมเขาก็มาล้อม มายืนดู มากดดันให้เลิกกิจกรรม ทางนั้นเขาก็เพิ่มคนมามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำกิจกรรมไม่ได้ พอจะเดินทางกลับบ้านหรือไปที่ไหนต่อเขาก็มีมอเตอร์ไซค์ขี่ตาม แล้วหลังจากวันนั้นก็มาหาที่บ้านอีก มาตามหาว่าอยู่ไหน”

“วันที่ 3 เมษา ตำรวจขับรถตามทั้งคืน ผมคิดว่าตัวเองไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจยังไม่เข้าบ้าน พอวันที่ 4-5 เมษา ตำรวจก็ยังไปถามหาที่บ้าน มารู้ทีหลังว่าช่วงที่ผมไม่อยู่ มีรถแปลกๆ ขับมาวนๆ แถวบ้านตอนกลางคืนบ่อยๆ”

“ทุกวันนี้ผมก็ยังกลับเข้าบ้านบ้าง ไม่เข้าบ้าง เวลารู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้ารู้ตัวทันก็ออกไปข้างนอก แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องเก็บตัวในบ้าน เพราะพวกผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในบุรีรัมย์เขาไม่ชอบผม บางทีเป็นหน่วยไหนมา ผมยังไม่รู้เลย คนแปลกหน้าแปลกตามาบ้าง”

ตามหาถึงโรงเรียน – เรียกเซ็นเอกสารไม่เคลื่อนไหวการเมือง

กันต์เล่าว่าเมื่อวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2564 เขานำป้ายข้อความ “ยกเลิก 112” ไปติดที่หน้ารั้วโรงเรียน ภายหลังเหตุการณ์ ได้มีตำรวจมาขอดูกล้องวงจรปิดที่โรงเรียนและตามไปหาเขาถึงหน้าบ้านพร้อมขู่ดำเนินคดี โดยกันต์อธิบายเพิ่มว่า โรงเรียนมักจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกๆ ครั้ง อีกทั้งเขายังเคยถูกครูเรียกพบผู้ปกครองเพื่อพูดคุยเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมือง และถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ในชีวิตประจำวันกันต์ยังต้องพบเจอกับแอคเคาท์ IO ที่มาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว, แอคเคาท์ปริศนาที่คอยทักแชทไปหาคนรู้จักเพื่อขอรูปถ่ายของเขา หรือกล่าวหาว่าเขาจะไปสร้างความวุ่นวายในขบวนเสด็จ ไปจนถึงการคุกคามคนรู้จักในชีวิตจริง เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกบุคคลไม่ทรายฝ่ายเดินไปให้ข้อมูลเท็จกับเพื่อนบ้านด้วยการพูดว่า “เด็กคนนี้เป็นพวกล้มเจ้า” รวมทั้งเคยถูกตำรวจเรียกตัวไปที่โรงพักเพื่อให้เซ็นรับทราบ และยืนยันว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองชั่วคราว ในช่วงเวลาที่มีขบวนเสด็จผ่านเส้นทางในจังหวัดบุรีรัมย์

“มันเป็นเอกสารหน้าตาเหมือนลงบันทึกประจำวัน เขาจะเขียนว่า ขอความร่วมมือไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองในระหว่างวันที่ … ถึงวันที่ … อะไรแบบนี้ แล้วก็ให้เราเซ็น”

เมื่อถามถึงสภาพจิตใจ กันต์กล่าวว่าการถูกคุกคามเคยทำให้รู้สึกแย่จนอยากจบชีวิตตนเอง แต่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะใช้ชีวิตต่อไปเพราะยังมีหวังว่าสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมทิ้งท้ายว่าว่าขอให้สังคมช่วยกันจับตามองเจ้าหน้าที่รัฐและร่วมกันต่อสู้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สู้ดีนักในปัจจุบัน

“เคยจะฆ่าตัวตายสองรอบ แต่ผ่านมาได้เพราะกำลังใจ ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เราอยากเห็นกฎหมายที่ยุติธรรม ระบบการศึกษาที่เด็กมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกในสิ่งที่คิด…”

“ขอให้สังคมรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง นี่คือการละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น และหน้าที่ของตำรวจคือการทำหน้าที่ปกป้องประชาชน ไม่ใช่คุกคามประชาชนแบบนี้ ขอให้สังคมช่วยกันจับตามองเจ้าหน้าที่ตำรวจ และช่วยกันต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ อย่าให้ต้องส่งต่อไปถึงอนาคตคนรุ่นหลัง ขอให้เรื่องเลวร้ายนี้จบที่รุ่นของพวกเรา”