8 ปี ไม่เปลี่ยนผัน รังสิมันต์ โรม สส.สมัยแรกกับคู่ต่อสู้คนเดิม

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวียนมาครบรอบแปดปีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ระยะเวลาแปดปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศนี้หลายประการ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผันตัวจากหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจตามกลไกปกติรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่คสช.ผันตัวเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวด้วยการสมัครเป็นสมาชิกและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาจากการแต่งตั้งของคสช. ก็แปลงรูปร่างใหม่เป็น ส.ว.แต่งตั้ง จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งในปี 2562 และการสิ้นสภาพของคสช. น่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นแต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศและบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษอีกครั้ง แม้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่กว้างขวางและเข้มข้นเท่าอำนาจตามมาตรา 44 ก็ตาม ขณะที่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นในช่วงต้นหลังการยึดอำนาจของคสช. ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายในไปในช่วงปี 2560 ก็ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้งหลังเดือนพฤศจิกายน 2563 และถูกใช้หนักกว่ายุคที่คสช.มีอำนาจเต็มเสียด้วยซ้ำ

เมื่อผู้นำไม่เปลี่ยนหน้าและสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมืองบางส่วนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช. จึงยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป ในโอกาสครบรอบแปดปีการรัฐประหาร เราอยากชวนย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของรังสิมันต์ โรม อดีตนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลารวม 24 วัน ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ได้ผันตัวไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนาคตใหม่ก่อนจะย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกลเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

แม้จะเปลี่ยนบทบาทจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนมาทำงานในสภาผู้แทนราษฎร แต่รังสิมันต์หรือ “โรม” ตามคำเรียกขานของคนทั่วไป ยังคงนำเรื่องที่อ่อนไหวและแหลมคมที่ ส.ส.บางคนอาจไม่อยากพูดถึงเข้าไปอภิปรายในสภา27 กุมภาพันธ์ 2563  โรมเตรียมข้อมูลเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อในฐานะข้อต่ออำนาจระหว่างทหารกับกลุ่มทุนภายใต้การนำของพล.อ.ประวิตรเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เนื่องจากเวลาในการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้านหมดลงโดยที่มีส.ส.ฝ่ายค้านสี่คน รวมทั้งตัวของโรมซึ่งยังไม่อภิปราย ท้ายที่สุดที่ประชุมสภาลงมติให้ปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โรมจึงตัดสินใจนำประเด็นป่ารอยต่อที่เขาเตรียมไว้มาอภิปรายนอกสภาต่อสาธารณะจนทำให้ถูกมูลนิธิป่ารอยต่อฟ้องคดีหมิ่นประมาท 

+++จากกินแซนด์วิชต้านรัฐประหาร ถึงการฝากขังที่ศาลทหารตอนเที่ยงคืน+++

“ผมเริ่มชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหาร ครั้งนั้นผมกับเพื่อนๆตั้งใจจะเดินจากธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ตอนแรกที่เราตั้งขบวนมีคนมาร่วมประมาณ 50 คน แต่พอเริ่มเดินก็มีคนมาร่วมเพิ่มเป็น 200 – 300 คน น่าเสียดายที่ครั้งนั้นเราเดินไม่ถึงจุดหมายเพราะระหว่างทางเราผ่านไปเขตที่กลุ่มกปปส.เคยชุมนุมแล้วเขายังเก็บของไม่หมดเจ้าหน้าที่บอกกับพวกผมว่ากลัวจะมีการปะทะกันซึ่งผมก็คิดว่าพอจะเป็นเหตุผลที่รับฟังได้”

โรมเล่าถึงการเคลื่อนต่อต้านการรัฐประหาร 2557 ครั้งแรกของเขา ซึ่งขณะนั้นชื่อของรังสิมันต์ โรม ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชน ประมาณหนึ่งเดือนหลังการรัฐประหารเขากับเพื่อนอักกลุ่มหนึ่งไปร่วมกันจัดกิจกรรมกินแซนด์วิชต่อต้านรัฐประหารที่หน้าห้างสยามพารากอน การทำกิจกรรมครั้งนั้นจบลงที่เขากับเพื่อนๆถูกควบคุมตัวไปที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีเพื่อทำการปรับทัศนคติ

“…ผมจำได้ว่าตลอดห้าชั่วโมงของบทสนทนา ทหารที่คุยกับผมต่อว่าผมประมาณ 10 นาทีแต่หลังจากนั้นก็เป็นการพูดคุยเรื่องปัญหาต่างๆของประเทศ เรื่องคอร์รัปชั่น การยึดอำนาจ ทหารที่คุยกับผมเขาก็ยอมรับว่ามันมีปัญหาอยู่แต่ลำพังตัวเค้าคนเดียวคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ หลังห้าชั่วโมงผ่านไปพวกเราก็ได้รับการปล่อยตัว วันนั้นผมกับเพื่อนๆยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่พวกเราก็ต้องเซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และยอมถูกดำเนินคดีหากพวกเราฝ่าฝืนข้อตกลง”

โรมหวนรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งที่เขากับเพื่อนๆถูกควบคุมไปพุดคุยกับทหารเพราะการออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง ครั้งนั้นเขาเพียงแต่ถูกจำกัดอิสรภาพชั่วระยะเวลาสั้นๆและการเคลื่อนไหวของพวกเขาในครั้งนั้นก็อาจยังไม่ได้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชนในวงที่กว้างมากนัก แต่หนึ่งปีหลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

22 พฤษภาคม 2558 ครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารโรมกับเพื่อนนักกิจกรรมนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งประมาณ 50 – 60 คน นัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ยืนดูนาฬิกาที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ในช่วงเย็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปควบคุมไว้ที่ สน.ปทุมวันราว 30 คน 

โรมคือหนึ่งในคนที่ถูกจับกุม ก่อนที่การชุมนุมจะถูกด้วยกำลังโดยเจ้าหน้าที่ โรมในชุดนักศึกษากับเพื่อนๆนักกิจกรรมนั่งคล้องแขนเป็นวงกลมบนลานหน้าหอศิลป์เพื่อยึดพื้นที่ลานหน้าหอศิลป์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็วางกำลังเป็นกรอบล้อมรอบพวกเขาก่อนที่จะทยอยจับตัวผู้ชุมนุมเข้าไปควบคุมไว้ในหอศิลป์เป็นระยะ โรมเป็นหนึ่งคนที่ถูกจับกุมตัวระหว่างร่วมชุมนุมโดยในภายหลังมีการเผยแพร่ภาพข่าวโรมในสภาพเสื้อเชิ้ตสีขาวหลุดลุ่ยกำลังยื้อกับเจ้าหน้าที่ขณะกำลังถูกควบคุมตัว

“…ก่อนถูกคุมตัวผมสังเกตว่ามีตำรวจในเครื่องแบบน่าจะเป็นคนที่มีอำนาจสั่งการชี้มาทางผม จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเอาตัวผมไป ก็มีการฉุดกระชากกันเพราะผมเป็นคนตัวใหญ่และผมก็ไม่ยอมให้เขาเอาตัวไปเพราะผมถือว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด จำได้ว่าผมถูกชกด้วยนะแต่น่าจะมีหมัดหนึ่งเข้าใต้เข็มขัด ตอนนั้นผมจุกไปเลย แล้วก็รู้สึกโกรธว่าทำไมต้องทำกันขนาดนี้ ผมก็พยายามป้องกันตัวอย่างดีที่สุดในจังหวะตะลุมบอนตอนนั้น เพื่อนๆก็พยายามดึงตัวผมจากเจ้าหน้าที่แต่สุดท้ายผมก็ถูกเอาตัวไปในหอศิลป์ฯจนได้…” 

หลังเหตุการณ์ในวันนั้น โรมเป็นหนึ่งในเก้านักกิจกรรมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน โรมกับเพื่อนๆตัดสินใจทำอารยะขัดขืนไม่เข้ารายงานตัวกับตำรวจโดยมีนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินเจ็ดคนที่ทำกิจกรรมที่จังหวัดขอนแก่นและถูกดำเนินคดีร่วมทำอารยะขัดขืนโดยไม่เข้ารายงานตัวกับตำรวจที่ขอนแก่นแต่ลงมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ

จากนั้นโรมกับเพื่อนนักศึกษา 14 คน ซึ่งรวมตัวกันเป็น “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ร่วมกันทำกิจกรรมยืนถือป้ายผ้าและปราศรัยต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ก่อนที่ในวันต่อมาโรมกับเพื่อนๆ ทั้ง 14 คน จะถูกจับกุมตัวส่งศาลทหารกรุงเทพเพื่อดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่น่าแปลกคือแทนที่ตำรวจจะควบคุมตัวโรมกับเพื่อนๆไว้หนึ่งคืนและนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในเวลาราชการตามปกติ ตำรวจกลับนำตัวนักกิจกรรมทั้ง 14 คนไปที่ศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขังในช่วงประมาณช่วงค่ำซึ่งศาลทหารก็เปิดให้มีการไต่สวนคำร้องฝากขังในช่วงดึก

“ในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายพระธรรมศาสตร์ มีส่วนหนึ่งบอกไว้ว่าการพิพากษาให้คนบริสุทธิ์ติดคุกนั้น เป็นบาปกรรมยิ่งกว่าการฆ่าคน พวกเราบริสุทธิ์ เหตุใดพวกเราถึงบริสุทธิ์ เพราะการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน พวกเราต่างได้รับผลกระทบ บางคนถูกทำร้ายร่างกาย บางคนสูญเสียอิสรภาพและทรัพย์สิน…”

“สิ่งที่พวกเราปฏิบัติในวันนี้คือการเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกับที่คนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, และพฤษภา 35 ทำมาแล้วในอดีต ซึ่งล้วนแต่ได้รับการชื่นชม การร้องขอฝากขังพวกเรานั้นไม่ชอบ เพราะเราไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ตำรวจทราบว่าเราอยู่ที่ไหนและทราบความเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องหนี เพราะจะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ของพวกเรา การชุมนุมของพวกเรานั้นถูกต้อง ประชาชนให้รับการรับรองแก่เรา”

คือบางช่วงบางตอนของคำแถลงที่โรมในฐานะผู้ต้องหาแถลงต่อศาลทหารกรุงเทพด้วยตัวเองเพื่อคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน โรมในฐานะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ได้มีโอกาสใช้ความรู้ด้านกฎหมายของเขาในสนามจริงก่อนจะต้องพบกับความผิดหวังเมื่อศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังเขาและเพื่อนๆทั้ง 14 คน โรมกับเพื่อนๆพร้อมใจกันทำอารยะขัดขืนไม่ยอมรับอำนาจศาลทหารด้วยการไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พวกเขาถูกส่งเข้าเรือนจำช่วงเที่ยงคืนวันนั้นเอง

+++คนอยากเลือกตั้ง การตัดสินใจครั้งสำคัญและบทบาทใหม่+++

“ชีวิตในเรือนจำทำให้ผมเห็นชีวิตคนมากขึ้น ผมรู้สึกว่าเวลาคนข้างนอกมองมา นักโทษดูเลวร้าย แต่อยู่ที่นั่นทุกคนถอดหัวโขนกันหมด ผมรู้สึกได้ถึงความเป็นคน ผมเห็นคนสักลายเต็มตัว เขามาคุยกับเราดี มาให้ความช่วยเหลือเราผมว่าถ้าเราอยากเห็นคน เราต้องไปในจุดตกต่ำที่สุด ในเรือนจำไม่ได้มีอะไรทำเป็นพิเศษ บางทีผมยืมหนังสือในห้องสมุดมานั่งอ่าน แน่นอนว่าเราก็คิดว่าเรามาอยู่ตรงนี้ทำไม นี่มันเรือนจำนะ มองขึ้นไปบนเพดาน เห็นพัดลมหมุนๆ เกิดอะไรขึ้นกับเรา คนอะไรวะ เรียนจบได้แป๊บเดียว จบนิติฯ ด้วยนะ อาชีพแรกที่ได้ดันเป็นนักโทษ”

“…มันลอยมาก เหมือนเราเป็นวิญญาณ ทุกอย่างเหมือนแช่แข็งเวลาเลย สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผมมีอยู่สองอย่างในตอนนั้น คือเวลา 20 นาทีที่มีคนมาเยี่ยม ทำให้ผมรู้ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ได้ฟังความเป็นไปของสังคมต่างๆ จากการบอกเล่า กับอีกอย่างหนึ่งคือหนังสือ ทำให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังมีความหวังอยู่ หนังสือเล่มแรกที่ผมอ่านในเรือนจำคือThe Hunger Game แม้ว่าจะเป็นเรื่องแฟนตาซี แต่ทำให้มีหวังจะปลดแอกตัวเอง คิดเสมอว่าเราอยู่ตรงนี้แค่ชั่วคราวสิ่งที่รอเราทำคือสิ่งที่อยู่ข้างนอก” โรมเปิดเผยความรู้สึกเมื่อครั้งที่เขาถูกคุมขังกับ The 101 World 

หลังเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้ 12 วัน โรมได้รับการปล่อยตัวเมื่อศาลทหารไม่อนุญาตให้ตำรวจฝากขังเขากับเพื่อนต่อเป็นผลัดที่ 2 หลังได้รับการปล่อยตัวโรมยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในปี 2559 การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะบุคคลที่คสช.แต่งตั้งเป็นประเด็นหลักที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เคลื่อนไหว 

วันที่ 23 มิถุนายน 2559 โรมถูกจับกุมตัวระหว่างที่เขากับเพื่อนนักกิจกรรมและผู้ใช้แรงงานรวม 13 คนไปแจกเอกสารรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติที่เคหะบางพลี หลังถูกจับโรมและเพื่อนเจ็ดคน ตัดสินใจไม่วางหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว เขาจึงถูกคุมขังเป็นคำรบที่สองต่ออีก 12 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง 

น่าสนใจว่าเวลาที่โรมเข้าเรือนจำในครั้งแรกกับครั้งที่สองห่างกันเกือบครบหนึ่งปีพอดี โดยในปี 2558 เขาเข้าเรือนจำในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ส่วนในปี 2559 เขาเข้าเรือนจำในวันที่ 24 มิถุนายน โดยทั้งสองครั้งเขาถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วันก่อนได้รับการปล่อยตัวในลักษณะเดียวกันคือศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ

มาถึงปี 2561 โรมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จัดในกรุงเทพทั้งสี่ครั้ง โดยเขามีบทบาทเป็นผู้ร่วมปราศรัยและถูกดำเนินในฐานะแกนนำการชุมนุม ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยในการชุมนุมครั้งสุดท้ายของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2561 

โรมเป็นหนึ่งในแกนนำที่ถูกสกัดที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ให้เคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลตามที่ตั้งใจไว้ หลังประกาศยุติการชุมนุมโรมและแกนนำบางส่วนตัดสินใจมอบตัวกับตำรวจจากนั้นเขากับเพื่อนนักกิจกรรมก็ถูกนำตัวไปขังเพื่อรอการสอบสวนที่ห้องขังของสน.ชนะสงคราม การถูกจับครั้งทำเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้โรมตกผลึกบางอย่างกับตัวเอง

“ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมบนท้องถนนผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าท้ายที่สุดเราต้องการอะไร ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเราต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่พอถูกจับหลายครั้งและคสช.ก็ดูทีท่าจะไม่ไปไหน ผมก็เริ่มทบทวนกับตัวเองว่าแนวทางที่ตัวเองทำอยู่มันใช้ได้ไหม ตอนที่ถูกจับเพราะชุมนุมครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร ผมก็มาตกผลึกในห้องขังของตำรวจว่าถ้าเราไม่อยากให้ประเทศอยู่ในวังวนเดิมๆ เราคงหวังพึ่งคนเดิมๆ หมายถึงนักการเมืองแบบเดิมๆไม่ได้ผมก็เลยตัดสินใจว่าในเมื่อมันจะมีการเลือกตั้ง ทำไมเราไม่ลองเข้าไปทำงานการเมืองดูเผื่อเราจะผลักดันอะไรได้” 

หลังตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทไปทำงานเคลื่อนไหวในสภาแทนเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนน โรมสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อในนามพรรคอนาคตใหม่และเขายังได้ดำรงตำแหน่งโฆษกของกรรมาธิการสภาผู้แทน กฎหมายสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรด้วย ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โรมก็ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล 

แม้จะเปลี่ยนบทบาทไปทำงานในสภาแต่คู่ต่อสู้ของโรมก็ยังคงเป็นพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรซึ่งเขาเคยออกมาต่อต้านสมัยทำกิจกรรมบนท้องถนน ขณะที่ตัวโรมเองแม้จะถอดเสื้อยืดที่เคยสวมปราศรัยบาท้องถนนมาสวมสูทอภิปรายในห้องแอร์ โรมยังคงเหมือนเดิมคือพร้อมที่จะชนกับผู้มีอำนาจแบบเปิดหน้าแลกโดยเลือกเป็นคนอภิปรายในประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563 โรมเตรียมข้อมูลเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อไปอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประวิตร โดยมีสาระสำคัญของประเด็นว่ามูลนิธิป่ารอยต่อเป็นเครื่องมือที่พล.อ.ประวิตรใช้เชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใหญ่ 

แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องเวลาในการอภิปรายในส่วนของฝ่ายค้านที่หมดลงไปแล้ว โรมจึงไม่ได้ขึ้นอภิปรายในสภา แต่เนื่องจากเขาเห็นว่าประเด็นที่เตรียมมาจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงตัดสินใจนำข้อมูลดังกล่าวมาอภิปรายนอกห้องประชุมและถ่ายทอดเผยแพร่ต่อสาธารณะประหนึ่งว่าเขากำลังทำการอภิปรายในสภาตามปกติ ซึ่งทำให้เขาไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเฉกเช่นการอภิปรายในสภา สุดท้ายการอภิปรายดังกล่าวส่งผลให้โรมถูกมูลนิธิป่ารอยต่อแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 

“พี่น้องครับ ผมทราบดีตั้งแต่ต้น ว่าการอภิปรายเรื่องนี้ ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงองค์กรและบุคคลต่างๆ ที่เชื่อมโยงถักทอเป็นโครงข่ายของอาณาจักรประวิตร มีความเสี่ยงที่ผมจะถูกฟ้องดำเนินคดี ไม่ว่าจะอภิปรายในหรือนอกสภาฯก็ตาม พี่ๆหลายท่านในอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ก็ไต่ถามแสดงความห่วงใยอยู่หลายครั้ง ว่าเอาจริงๆเหรอ เสี่ยงนะ”

“แต่สิ่งที่ผมต้องการนำเสนอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือการตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของอาณาจักรประวิตรรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผมได้อภิปรายในสภาฯ และพลเอกประวิตรได้ตอบ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติมากกว่านี้” คือความในใจที่โรมโพสต์บนเฟซบุ๊กหลังทราบว่าเขาถูกมูลนิธิป่ารอยต่อดำเนินคดี 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โรมอภิปรายประเด็นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่เป็นไปโดยไม่ปกติและมีเส้นสายที่เขาใช้คำว่า “ตั๋วช้าง” ซึ่งเป็นการอภิปรายที่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลสำคัญในรัฐบาลทั้งพล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ รวมไปถึงนายตำรวจระดับสูงหลายนาย

การอภิปรายในประเด็นตั๋วช้างซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว ทำให้ในเวลาต่อมาโรมและครอบครัวต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการคุกคาม เช่นมีชายแปลกหน้าพยายามจะเข้ามาในที่พักของเขา และมีคนแปลกหน้าโทรศัพท์ไปหาภรรยาของเขา สอบถามว่าเป็นภรรยาของโรมหรือไม่จากนั้นก็วางหูไป ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบพบว่าเบอร์ที่ใช้โทรมาหาภรรยาของเขาคือเบอร์ที่ถูกจดทะเบียนโดยคนต่างชาติและถูกใช้โดยหน่วยงานหนึ่งของตำรวจ ทำให้โรมต้องไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน 

“ความท้าทายของการทำงานส.ส.คือในสภามีคน 500 คน บางเรื่องถ้าต้องประชุมร่วมก็จะต้องใช้เสียงถึง 750 เสียงตัวผมคนเดียวถ้าจะเทียบไปมันก็เป็นเพียงเสียงเล็กๆหนึ่งเสียงในนั้น แต่ผมเชื่อว่าถ้าผมทำงานอย่างแข็งขันไปเรื่อยๆการผลักดันความเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นไปได้ เพราะในสภาก็คงไม่ได้มีผมคนเดียวที่อยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นมันต้องอาศัยเวลา เพราะกว่าที่ประเทศมันจะเลวร้ายขนาดนี้มันก็ใช้เวลาในการสั่งสมสถานการณ์เหมือนกัน” 

ครั้งหนึ่งโรมเคยให้สัมภาษณ์ความในใจเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและความท้าทายเกี่ยวกับการหน้าที่ส.ส.ไว้ก่อนหน้าที่เขาจะอภิปรายทั้งในและนอกสภาในประเด็นอ่อนไหวจนเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีและถูกคุกคาม คงต้องติดตามกันต่อไปว่าหากในการเลือกตั้งปี 2566 โรมมีโอกาสกลับมาทำหน้าที่ส.ส.อีกครั้ง สิ่งที่รอเขาอยู่ข้างหน้าจะหนักหนาสาหัสกว่าการทำหน้าที่ตัวแทนราษฎรสมัยแรกหรือไม่