8 ปี ไม่เปลี่ยนผัน เอกชัย หงส์กังวาน นักสู้ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวียนมาครบรอบแปดปีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ระยะเวลาแปดปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศนี้หลายประการ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผันตัวจากหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจตามกลไกปกติรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช.ผันตัวเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวด้วยการสมัครเป็นสมาชิกและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งในปี 2562 และการสิ้นสภาพของคสช. น่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นแต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศและบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษอีกครั้ง แม้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่กว้างขวางและเข้มข้นเท่าอำนาจตามมาตรา 44 ก็ตาม ขณะที่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นในช่วงต้นหลังการยึดอำนาจของคสช. ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายในไปในช่วงปี 2560 ก็ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้งหลังเดือนพฤศจิกายน 2563 และถูกใช้หนักกว่ายุคที่คสช.มีอำนาจเต็มเสียด้วยซ้ำ

เมื่อผู้นำไม่เปลี่ยนหน้าและสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมืองบางส่วนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช. จึงยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป ในโอกาสครบรอบแปดปีการรัฐประหาร เราอยากชวนย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเอกชัย หงส์กังวาน ในช่วงที่คสช.ยึดอำนาจ เอกชัยยังอยู่ระหว่างรับโทษจำคุกสองปี แปดเดือนในคดีมาตรา 112 ที่เขาถูกกล่าวหาว่า ขายซีดีสารคดีของสำนักข่าวต่างประเทศที่มีเนื้อหาพาดพิงพระมหากษัตริย์ หลังพ้นโทษในเดือนพฤศจิกายน 2558 เอกชัยกลับมาทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองร่วมกับสมาคมเพื่อเพื่อน นอกจากนั้นก็ยังใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆเป็นระยะ

ในช่วงปลายปี 2560 ต่อต้นปี 2561 เอกชัยเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเกี่ยวกับปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยการประกาศจะไปดักรอมอบนาฬิกาให้เขาทั้งที่กระทรวงกลาโหมและที่บ้านพัก ต่อมาเมื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เอกชัยก็เข้ามาร่วมด้วยจนถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่นร่วมกับแกนนำผู้ชุมนุม ทั้งที่ตัวเขาจะไม่ได้มีบทบาทในการบริหารจัดการหรือการปราศรัยก็ตาม ในช่วงปี 2563 เอกชัยยังคงออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรตามโอกาส จนนำไปสู่การถูกดำเนินคดีในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินีซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 20 ปี โดยเขาถูกกล่าวหาว่าขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีระหว่างการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563

นอกจากการถูกดำเนินคดีแล้ว เอกชัยยังเคยถูกคุกคามในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะการเผารถยนต์, การทำร้ายร่างกายและการถูกเจ้าหน้าที่อุ้ม อ้างว่า “พาไปเที่ยว” ที่จังหวัดกาญจนบุรีหลังเขาประกาศว่าจะสวมเสื้อสีแดงและจะทำ “สิ่งที่คาดไม่ถึง” ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่เก้า 

แม้จะถูกดำเนินคดีและคุกคาม แต่เอกชัยก็ยืนยันที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป และยืนยันที่จะไม่หลบหนีแม้เขาจะถูกดำเนินคดีที่มีข้อหาร้ายแรง ช่วงที่ผู้ชุมนุมอิสระไปรวมตัวกันที่แยกดินแดง เอกชัยมักแวะเวียนไปอยู่ในที่ชุมนุมด้วย แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีบทบาทใดๆในการชุมนุมเขาก็จะมี “ข้อหา” ติดมือกลับบ้านด้วยทุกครั้งซึ่งอาจเป็นเพราะเขาเป็นคนที่เจ้าหน้าที่ติดตามและมีประวัติจึงง่ายในการถูกตั้งข้อกล่าวหา 19 เมษายน 2565 เอกชัยถูกคุมขังในเรือนจำอีกครั้งหลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีที่เขาเล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำบนเฟซบุ๊ก

+++ยุทธการตีป้อม รื้อ ‘หมุดหน้าใส’ เปิดเพลงกล่อมผบ.ทบ. เปิดปฏิบัติแสบๆคันๆของเอกชัย หงส์กังวาน+++

ค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำการยึดอำนาจ เอกชัยหงส์กังวานยังอยู่ในเรือนจำจากการที่เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยถูกกล่าวว่าจัดทำและจำหน่ายซีดีสารคดีของสำนักข่าวเอบีมาตั้งแต่ช่วงปี 2554 ระหว่างต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแต่หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 20 มีนาคม 2556 ลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เอกชัยสู้คดีต่อจนถึงชั้นฎีกาโดยไม่เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอีกเลย ในวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนว่าเอกชัยมีความผิดตามมาตรา 112 แต่ปรับลดโทษจำคุกของเขาเหลือ 2 ปี 8 เดือน เอกชัยรับโทษจำคุกโดยไม่ได้รับการลดหย่อนโทษแม้แต่วันเดียวและถูกปล่อยตัวในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 เมื่อเขาถูกคุมขังจนครบ 2 ปี 8 เดือน หรือที่คนในเรือนจำเรียกว่า “ขังชนป้าย” คือรับโทษเต็มตามคำพิพากษา

ในปี 2559 ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ นักกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับเพื่อนจัดตั้งสมาคม “เพื่อเพื่อน” เพื่อนให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคคสช. เอกชัยได้เข้ามาร่วมทำงานในส่วนนี้และได้ให้ใช้บ้านพักของเขาย่านลาดพร้าวเป็นที่ทำงานของสมาคม 

“พวกเราเน้นให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษที่เพิ่งถูกคุมขัง เนื่องจากถูกริบเงินทั้งหมดก่อนที่จะเข้าเรือนจำ ทางสมาคมได้ให้ความช่วยเหลือในสัปดาห์แรกๆ เป็นเวลา 3-4 วันแรก เพราะพวกเขาไม่มีทางเข้าถึงเงินเก็บของพวกเขาได้” เอกชัยในฐานะอดีตผู้ต้องขังรู้ดีว่าความต้องการเร่งด่วนของคนที่เพิ่งเข้าเรือนจำใหม่ๆคืออะไร 

ต่อมาในปี 2560 เอกชัยเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นที่มีความอ่อนไหวและแหลมคมมากขึ้น ช่วงเดือนเมษายน 2560 มีรายงานว่าหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือ ‘หมุดคณะราษฎร’ ถูกเปลี่ยนเป็นหมุดที่จารึกข้อความเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่มีความตอนหนึ่งว่า “ประชาสุขสันต์หน้าใส” เอกชัยจึงประกาศในเดือนมิถุนายน 2560 ว่าในวันที่ 24 มิถุนายน หากไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของเข้าจะไปขุด “หมุดหน้าใส” ออกและนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปฝังแทน ทว่าทันทีที่เขาไปถึงใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้าพร้อมหมุดจำลองและถังปูนเขาก็ถูกควบคุมตัวไป “ปรับทัศนคติ” ก่อนถูกพาตัวกลับไปค้นบ้านในวันเดียวกันโดยที่ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ 

จากนั้นในเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งมีกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่เก้า เอกชัยโพสต์เฟซบุ๊กว่าในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 (ซึ่งเป็นวันพระราชพิธี) เขาจะสวมเสื้อสีแดงและจะทำในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง ปรากฎว่าในวันที่ 22 ตุลาคม มีทหารและตำรวจบุกมาที่บ้านเขาเพื่อควบคุมตัวโดยที่ไม่มีหมายหรือเอกสารใดๆ จากนั้นเขาถูกควบคุมตัวขึ้นรถก่อนจะถูกพาไป “เที่ยว” ที่จังหวัดกาญจนบุรีภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ระหว่างมีพระราชพิธีและถูกนำตัวกลับมาส่งบ้านหลังพ้นวันพระราชพิธีไปแล้ว เอกชัยเปิดเผยว่านับเป็นโชคดีที่เขาติดต่อผู้สื่อข่าวเรื่องที่ตัวเองถูกอุ้มตัวไปได้ ไม่เช่นนั้นเขาอาจถูกอุ้มหายได้เหมือนกัน 

ในเดือนธันวาคม 2560 เริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังมีภาพเจ้าตัวสวมใส่นาฬิกาหรูและแหวนเพชรร่วมถ่ายภาพกับคณะรัฐมนตรี เอกชัยในฐานะนักกิจกรรมทางการเมืองเริ่มทำกิจกรรมแบบ “บุกเดี่ยว” ในประเด็นนี้ เช่น ในวันที่ 28 ธันวาคม 2560 เขาไปดักรอมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตรที่บ้านสี่เสาเทเวศน์แต่ไม่สำเร็จเพราะถูกกันตัวออกจากพื้นที่ไปก่อน 

วันที่ 19 มกราคม 2561 เอกชัยไปดักรอมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตรที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างนั้นมีชายวัยกลางคนชื่อ ฤทธิไกร ชัยวรรณศานส์ เข้ามาหาเขาและทำท่าจะทำร้ายร่างกายแต่ถูกเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณนั้นควบคุมตัวได้ก่อน ซึ่งจากการตรวจค้นพบว่าฤทธิไกรพกมีดพับมาด้วย และในวันที่ 23 มกราคม เอกชัยเดินทางไปมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตรที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งหลังเอกชัยเดินทางกลับจากการทำกิจกรรมก็ถูกฤทธิไกร มาดักทำร้ายร่างกายที่ป้ายรถประจำทางใกล้บ้านของเขา จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อเอกชัยเดินทางไปติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรที่ทำเนียบรัฐบาล ก็มีคนนำน้ำปลาร้ามาสาดใส่เขาเมื่อไปถึงทำเนียบรัฐบาล 

ปฏิบัติการทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งของเอกชัยเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลังอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ตอบโต้นักการเมืองบางส่วนที่หาเสียงเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน เอกชัยซึ่งไม่เห็นด้วยกับท่าทีของผบ.ทบ.จึงชวนโชคชัย เพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งมาทำกิจกรรมเปิดเพลงประเทศกูมีให้ผบ.ทบ.ฟังที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก รวมถึงยังได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จำลองเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วยเพราะเพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงที่ใช้ปลุกระดมกลุ่มพลังฝ่ายขวาช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของเขาในครั้งนั้นส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯและถูกลงโทษปรับ 

+++จากคดีชุมนุมสู่คดีขัดขวางขบวนเสด็จ การเคลื่อนไหวและราคาของเสรีภาพ+++

ช่วงต้นปี 2561 เอกชัยออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยที่เขาไม่ได้มีบทบาทในการบริหารจัดการการชุมนุมหรือขึ้นปราศรัยบนเวที ในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งครั้งแรกที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯในวันที่ 27 มกราคม 2561 เอกชัยไปร่วมการชุมนุมโดยถือไวนิลที่เขาทำเป็นรูปนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรโดยไม่ได้มีบทบาทในการปราศรัยหรือควบคุมการชุมนุมแต่กลายเป็นว่าเขาถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

นอกจากการชุมนุมครั้งนี้ เอกชัยยังไปร่วมการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีกสองครั้งได้แก่การชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกและที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ การไปร่วมชุมนุมทั้งสองครั้งเป็นมูลเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มอีกสองคดีแม้ว่าในการชุมนุมทั้งสองครั้งเขาจะไม่ได้ปราศรัยหรือมีส่วนตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางการชุมนุมใดๆ สำหรับคดีการชุมนุมที่สกายวอล์กหอศิลป์กรุงเทพ (คดี MBK39) ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปแล้ว ส่วนคดีการชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (คดีArmy57) กับที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ (คดี UN62) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

ช่วงปี 2562 เมื่อมีกระแสข่าวว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม จากเดิมที่คาดว่าน่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เอกชัยไปร่วมรณรงค์คัดค้านการเลื่อนวันเลือกตั้งด้วย ซึ่งหลังไปร่วมรณรงค์ที่ตรอกข้าวสารในวันที่ 19 มกราคม 2562 เขาถูกดักทำร้ายร่างกายจนลำโพงขนาดเล็กที่เขานำไปใช้ในการรณรงค์ได้รับความเสียหายเพราะระหว่างถูกทำร้ายร่างกายได้ใช้ลำโพงดังกล่าวป้องกันตัว

มีความน่าสนใจว่าในเดือนเมษายนเมื่อเอกชัยออกมาร่วมรณรงค์ให้ประชาชนลงลายมือชื่อเผื่อถอดถอนกกต.รถของเขาที่จอดอยู่หน้าบ้านพักก็ถูกเผาทำลายจนได้รับความเสียหายชนิดที่ซ่อมไม่ได้และเอกสารรายชื่อประชาชนที่เก็บไว้ในรถก็ได้รับความเสียหายไปด้วย  

ช่วงปี 2563 ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เอกชัยก็ออกมาร่วมชุมนุมด้วยเป็นระยะตามแต่โอกาสจะอำนวย ในเดือนตุลาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลา เอกชัยไปร่วมการชุมนุมเหมือนวันอื่นๆโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าการชุมนุมครั้งนี้จะทำให้เขาถูกดำเนินคดีที่มีอัตราโทษร้ายแรงกว่าคดีมาตรา 112 ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียอิสรภาพไปเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน

ระหว่างที่เอกชัยอยู่ร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆใกล้ๆทำเนียบรัฐบาล ขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนตัวผ่านมาบริเวณใกล้เคียงกับที่ผู้ชุมนุมรวมทั้งเอกชัยยืนอยู่ เมื่อขบวนเคลื่อนผ้านมาผู้ชุมนุมบางคนชูสามนิ้ว บางคนหันหน้าไปทางอื่น แต่ไม่ปรากฎว่ามีรายงานการลงไปบนพื้นถนนในลักษณะแสดงเจตนาที่จะขัดขวางขบวนเสด็จหรือมีการขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนรถพระที่นั่งแต่ย่างใด 

ขณะที่ขบวนรถพระที่นั่งก็เคลื่อนตัวช้าลงระหว่างขับผ่านผู้ชุมนุมแต่ไม่ได้หยุดชะงักและเมื่อผ่านจุดที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่ก็สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้โดยไม่มีเหตุร้ายใดๆ หลังไปร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เอกชัยก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติจนกระทั่งได้รับข่าวร้ายว่าเขาถูกออกหมายจับในคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี 

“พี่จำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นทำอะไรอยู่ รู้แต่วันนั้นไม่ได้ดูข่าวเลย พอคุณโทรมาพี่ก็เอ้า กูโดนหมายเหรอ ชิบหายแล้วข้อหาอะไรเนี่ย 110 ไม่เคยได้ยิน รู้จักแต่ 112 และพอมารู้ว่าเป็นข้อหาประทุษร้ายพระราชินีก็แบบโอ้โห ยังกะผู้ก่อการร้ายทั้งๆที่จริงๆแล้ววันนั้นไม่มีอะไรเลย ตั้งกูแต่ละข้อหา 112 116 ไปถึง 110…ก็อย่างที่บอกเหมือนชะตาชีวิตมันลิขิตไว้แล้วว่าพี่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ มันคงไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมแล้ว” เอกชัยย้อนรำลึกความหลังถึงวันที่เขารู้ว่าตัวเองถูกตั้งข้อหาหนัก 

“พี่จำได้ว่า ตัวเองตะโกนขบวนเสด็จๆ แล้วก็เดินถอยกลับไป ตอนนั้นก็นึกในใจว่าเดี๋ยวกูต้องโดนอะไรสักอย่าง เตรียมใจไว้แล้วแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะหนักขนาดนี้”

“เท่าที่พี่เห็นด้วยตาตัวเองวันนั้นไม่ได้มีใครปาอะไรหรือตะโกนอะไรนะ พี่เดาว่าเขา (ตำรวจ) คงใช้วิธีเอารูปที่ถ่ายไว้ไปดูว่าสามารถระบุตัวใครที่อยู่แถวนั้นได้บ้างแล้วก็ซิวมา”

“สำหรับพี่ไอ้การประทุษร้ายมันต้องเข้าถึงตัวหรือมีความพยายามที่จะก่อภยันตรายไม่ใช่เหรอ แต่สิ่งที่เกิดวันนั้นอย่าว่าแต่เข้าถึงตัวพระราชชินีเลยรถก็ยังไม่ได้เฉียดใกล้แล้วตรงนั้นก็มีแนวตำรวจขวางอยู่แล้วเท่าที่รู้สุดท้ายก็ไม่ได้มีใครไปขวางหรือทำให้พระราชินีเสด็จไปไม่ได้” เอกชัยร่ายยาวในบทสัมภาษณ์ที่เขาเคยให้ไว้กับไอลอว์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

โชคยังดีที่ระหว่างการต่อสู้คดีมาตรา 110 เอกชัยยังคงมีอิสรภาพ อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว ถึงกระนั้นก็สมควรบันทึกไว้ด้วยว่าใช่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 ที่เอกชัยถูกจับกุมเป็นช่วงที่รัฐบาลทำการกวาดจับแกนนำผู้ชุมนุม เช่น ทนายอานนท์ นำภา เพนกวินและรุ้ง เอกชัยจึงถูกฝากขังหลังถูกจับกุมในคดีมาตรา 110 เป็นเวลา 17 วัน ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2563 โดยเอกชัยได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สาม

ช่วงปี 2564 เมื่อมวลชนอิสระรวมตัวกันชุมนุมแบบปะทะตรงกับเจ้าหน้าที่ที่แยกดินแดง เอกชัยก็ไปร่วมชุมนุมด้วยโดยที่ไม่เคยปรากฎว่าเขาถูกจับกุมตัวจากที่ชุมนุมเพราะใช้พลุ ประทัด หรือสิ่งของอื่นยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือไม่ปรากฎว่าเขามีส่วนในการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ แต่ในฐานะผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ “หมายตา” 

ทุกครั้งที่เขาไปปรากฎตัวในพื้นที่การชุมนุมก็มักจะมีหมายตามมาถึงบ้านโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เอกชัยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพราะเขาไปปรากฎตัวในพื้นที่การชุมนุมแยกดินแดงอย่างน้อย 11 คดี โดยเหตุแห่งคดีเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เอกชัยไม่เพียงถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ก็ทำให้เขาถูกดำเนินคดีด้วย เช่น กรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ หลังเขาไปกล่าวโทษผบ.ทบ.กับพนักงานสอบสวนว่าจะก่อการกบฎ จากกรณีที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะที่ทำให้เอกชัยเข้าใจว่า ผบ.ทบ.ข่มขู่ว่าอาจมีการรัฐประหารในอนาคต สุดท้ายศาลแขวงพระนครเหนือยกฟ้องเอกชัยในคดีนี้เพราะเห็นว่าข้อกล่าวความที่เอกชัยนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษตรงกับข้อความที่ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน 

หรือคดีที่เขาโพสต์ข้อความเล่าเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในเรือนจำซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ โดยศาลให้เหตุผลว่า ข้อความที่เอกชัยโพสต์เข้าข่ายเป็นการลามกอนาจร หากเอกชัยเพียงต้องการจะสื่อสารประเด็นปัญหาในเรือนจำก็ไม่สามารถเลือกใช้คำที่ไม่ลามกอนาจารได้ 

หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเอกชัยถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำอีกครั้งในวันครบรอบแปดปีการรัฐประหารเขาน่าจะต้องอยู่ในเรือนจำ เช่นเดียวกับวันยึดอำนาจของคสช.ที่เขาอยู่ระหว่างรับโทษในคดีมาตรา 112 

ทั้งนี้หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้จำคุกเอกชัยในเดือนกันยายน 2565 เอกชัยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสู้คดีต่อในชั้นฎีกา แต่ศาลฎีกายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเขาโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และยังถูกฟ้องอีกหลายคดี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาเอกชัยจะเดินทางไปศาลตามนัดทุกครั้งและในทุกๆคดี ไม่เว้นแม้คดีมาตรา 110 ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี โดยเอกชัยเคยพูดเกี่ยวกับเรื่องการหลบหนีไว้ว่า

“มีคนยุให้หนี กูไม่หนี การหนีมันไม่ใช่การแก้ปัญหา คนส่วนใหญ่คิดว่าก้าวพ้นประเทศไทยก็รอดแล้ว แต่ถามหน่อยไปต่างประเทศมึงจะอยู่ยังไง อยู่เมืองไทยอย่างน้อยพูดภาษาไทยได้ ยังมีคนรู้จัก ไปอยู่ที่โน่นต้องพูดภาษาต่างประเทศมึงพูดได้มั้ย มีเงินมีคอนเนคชันพร้อมมั้ย ไปถึงแล้วมีคนช่วยมั้ย พี่ว่าเอาเข้าจริงแล้วลำบากกว่าติดคุกอยู่ที่นี่อีก ดูอย่างพี่พอติดคุกออกมาก็เป็นอิสระไปไหนมาไหนทำอะไรก็ได้ แต่คนที่เลือกหนีหลายคนก็ไปลำบากอยู่แล้วก็ไม่รู้ว่าเรื่องจะจบจะได้กลับมาอีกเมื่อไหร่”