8 ปี ไม่เปลี่ยนผัน อานนท์ นำภา จากจำเลยคดีชุมนุมสู่ผู้ต้องขังคดี 112

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวียนมาครบรอบแปดปีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ระยะเวลาแปดปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศนี้หลายประการ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผันตัวจากหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจตามกลไกปกติรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช.ผันตัวเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวด้วยการสมัครเป็นสมาชิกและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาจากการแต่งตั้งของคสช. ก็แปลงรูปร่างใหม่เป็น ส.ว.แต่งตั้ง จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งในปี 2562 และการสิ้นสภาพของคสช. น่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นแต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศและบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษอีกครั้ง แม้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่กว้างขวางและเข้มข้นเท่าอำนาจตามมาตรา 44 ก็ตาม ขณะที่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นในช่วงต้นหลังการยึดอำนาจของคสช. ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายในไปในช่วงปี 2560 ก็ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้งหลังเดือนพฤศจิกายน 2563 และถูกใช้หนักกว่ายุคที่คสช.มีอำนาจเต็มเสียด้วยซ้ำ

เมื่อผู้นำไม่เปลี่ยนหน้าและสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมืองบางส่วนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช. จึงยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป ในโอกาสครบรอบแปดปีการรัฐประหาร เราอยากชวนย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของทนายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยออกมาเคลื่อนไหวในยุคคสช. จนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ก่อนที่เขาจะเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นในการชุมนุมช่วงปี 2563 และเป็นผู้เริ่มปราศรัยประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยเป็นทางการในที่ชุมนุมเป็นคนแรกจนทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวม 14 คดี (นับถึง 11 พฤษภาคม 2565) ซึ่งมากเป็นอันดับที่สองในบรรดาคนที่ถูกดำเนินคดี 112 ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563

จากเลือกตั้งที่(รัก)ลักถึงคนอยากเลือกตั้ง “ทนายน้อยๆ” ในยุคคสช.

ทนายอานนท์อาจไม่ใช่คนใหม่สำหรับแวดวงการเมืองเพราะในช่วงหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ทนายอานนท์ก็เข้าไปทำงานเป็นทนายความให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงด้วย นอกจากนั้นก็เป็นทนายความให้เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในปี 2554 อย่างไรก็ตามบทบาทข้างต้นก็ยังถือว่าเป็นการแสดงบทบาทในวิชาชีพทนายความไม่ใช่ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ทนายอานนท์ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.ในฐานะผู้ชุมนุมจนตัวเองตกเป็นจำเลยครั้งแรกในกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ซึ่งจัดในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้ง 4 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ โดยก่อนวันที่จะมีกิจกรรมดังกล่าวทนายอานนท์ยังร่วมแสดงในมิวสิควิดีโอ จูบเย้ยจันทร์โอชา มิวสิควิดีโอเสียดสีการเมืองที่ใช้โปรโมทกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักด้วย 

“ผมก็มีความเป็นพลเมือง ไม่ได้เป็นทนายความ 24 ชั่วโมง ในความเป็นพลเมืองก็ต้องพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ” คือเหตุผลที่ผลักดันให้ทนายอานนท์ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ทนายความว่าความให้ผู้ถูกดำเนินคดีเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในวันที่ทำกิจกรรมทนายอานนท์และผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกสามคนถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวันเพื่อตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร แม้ว่าในคดีนี้ทนายอานนท์จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกันแต่เนื่องจากราชทัณฑ์ไม่มีส่วนงานที่ศาลทหารทนายอานนท์จึงถูกนำตัวไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอคำสั่งประกันซึ่งครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นการชั่วคราว ก่อนที่เขาจะกลายเป็นแขก “พักยาว” ในเวลาต่อมา 

“ไม่คิดว่าจะถูกจับเพราะการทำกิจกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่คาดหมายได้ว่าจะถูกปิดพื้นที่ไม่ให้จัด อย่างมากก็อาจจะโดนเรียกไปคุย เวลาทำกิจกรรมแต่ละครั้งที่ผ่านมาก็จะมีทหารและตำรวจมาคอยทำให้การจัดไม่ราบรื่น เราคิดว่าการพูดถึงการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็คงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ทหารตำรวจไม่อยากให้พูด”

“ผมอยากทำให้คนอื่นที่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรได้เห็นเป็นตัวอย่างนะ เวลาคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะคิดเรื่องการติดคุกไม่ได้ เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ การถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นั้นเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่ความผิดของคนออกมาเคลื่อนไหว” คือบางช่วงบางตอนที่ทนายอานนท์เปิดใจหลังถูกดำเนินคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก

หลังเกิดคดีนี้ทนายอานนท์ยังคงเคลื่อนไหวจนตัวเองถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีกรณีที่วัฒนา เมืองสุข และประชาชนเก้าคนถูกทหารใช้อำนาจพิเศษบุกควบคุมตัวถึงบ้านในช่วงเช้ามืด ทนายอานนท์ นำภาก็โพสต์เฟซบุ๊กประกาศว่าจะไปยืนสงบนิ่งที่สกายวอล์กอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวประชาชนที่ถูกควบคุมตัวส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกสองคดี 

ทนายอานนท์มาเริ่มถูกตั้งข้อหาความมั่นคงครั้งแรกในปี 2561 เมื่อเขาออกมาร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและมีบทบาทในการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีคสช. โดยเขาถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมสี่คดี ได้แก่คดีการชุมนุมที่สกายวอล์กซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรก (คดี MBK39) คดีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (คดี RDN50) คดีการชุมนุมที่หน้ากองทัพบก (คดี Army57) และ คดีการชุมนุมที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ (คดี UN62) แต่ในการถูกดำเนินคดีเหล่านั้นทนายอานนท์ยังไม่เคยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี

นอกเหนือไปจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและว่าความให้จำเลยคดีการเมืองแล้ว ทนายอานนท์ยังมีบทบาทในการระดมทุนสาธารณะเพื่อนำเงินมาใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองด้วย โดยเขาประกาศระดมทุนครั้งแรกเมื่อตัวเขาและนักกิจกรรมอีกสามคนถูกดำเนินคดีจากกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” ทนายอานนท์สามารถระดมเงินบริจาคเพื่อนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวของเขาและนักกิจรรมอีกสามคนได้ถึง 500,000 บาทในเวลาอันรวดเร็ว แต่เนื่องจากศาลทหารกรุงเทพเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวไม่ถึงเงินที่ระดมไว้ อานนท์จึงเก็บเงินที่เหลือไว้และเมื่อมีคนถูกจับจากการแสดงออกทางการเมืองเขาจะโพสต์ข้อความขอความเห็นเรื่องการนำเงินที่ระดมทุนที่เหลือมาให้วางเป็นหลักทรัพย์ให้จำเลยคนอื่นๆและประกาศขอระดมทุนเพิ่มเติมในบางโอกาสเมื่อเงินประกันไม่พอ เพื่อความโปร่งใสอานนท์จึงให้ วีรนันท์ ฮวดศรี ทนายอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่งและ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการวารสารอ่านซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายคนมาร่วมถือบัญชีและการเบิกจ่ายแต่ละครั้งต้องใช้รายชื่อผู้ถือบัญชีสองในสาม

“เป้าหมายของการระดมทุนไม่เพียงแค่เพื่อช่วยนักโทษทางการเมืองเท่านั้น แต่เราอยากส่งสารถึง คสช. ว่าการกระทำของเรามีประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุน” คือแนวคิดเบื้องหลังการระดมทุนตามคำบอกเล่าของทนายอานนท์ ในช่วงปี 2563 เมื่อทนายอานนท์ตกเป็นจำเลยในคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีมาตรา 112 หลายคดี เขาจึงถอนตัวจากการเป็นผู้ถือบัญชีร่วม ส่วนเงินในบัญชีที่เหลือก็ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทุนราษฎรประสงค์” ในเวลาต่อมา 

เปิดฟ้ารือเพดาน คำปราศรัยว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์และชีวิตในพันธนาการ

“ด้วยความให้เกียรติและเคารพต่อตัวเอง ให้เกียรติและเคารพต่อพี่น้องที่มาฟังและเคารพและให้เกียรติอย่างสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้” คือคำเกริ่นนำของทนายอานนท์ นำภาก่อนกล่าวปราศรัยในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยเมื่อ 3 สิงหาคม 2563 การปราศรัยครั้งนั้นกลายเป็นอิฐก้อนแรกที่ปูให้การปราศรัยเรื่องการสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมกลายเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเช่นแต่ก่อน

ในขณะทึ่ทนายอานนท์ปราศรัย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังอยู่ระหว่าง “งดใช้ชั่วคราว” ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ในเดือนมิถุนายนว่า ในหลวงรัชกาลที่สิบทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เบื้องต้นทนายอานนท์จึงถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมาแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมกับเขาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรากับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

หลังขึ้นปราศรัยในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทนายอานนท์ยังคงเข้าร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยอยู่เป็นระยะๆ โดยการปราศรัยครั้งสำคัญๆ ได้แก่ การปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการเคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงไปทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น โดยในหลายๆ ครั้งที่ขึ้นปราศรัยทนายอานนท์อภิปรายประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้หลังมีการเปลี่ยนนโยบายเรื่องมาตรา 112 ทนายอานนท์ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น หากนับถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เขามีคดี 112 รวมทั้งสิ้น 14 คดี 

ระหว่างปี 2563 – 2565 ทนายอานนท์ถูกคุมขังทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลห้าครั้งคิดเป็นเวลารวม 339 วัน โดยช่วงเวลาที่ถูกคุมขังนานที่สุดเป็นเวลา 202 วัน ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเขาถูกฝากขังในคดีการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 (คดีปราศรัยเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน – ปราศรัยแฮรี พอตเตอร์ ภาค 2) ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งศาลอาญานัดสืบพยานคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ (คดี UN62) ทนายอานนท์ซึ่งเป็นทั้งจำเลยและทนายความให้จำเลยในคดีนี้ถูกเบิกตัวมาศาลจากเรือนจำในชุดนักโทษ ซึ่งทนายอานนท์เองก็ได้สวมชุดครุยทับชุดนักโทษทำหน้าที่ทนายความในคดีดังกล่าวด้วย โดยผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีกล่าวกับทนายอานนท์ว่า

“ในเมื่อศาลยังไม่ตัดสิน ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เมื่อยังเป็นทนายความอยู่ ก็ถือว่ายังมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย ควรจะมีสิทธิมานั่งทำหน้าที่ทนายความได้” 

สุดท้ายแม้ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแต่ทนายอานนท์ก็ถูกจำกัดความเคลื่อนไหวด้วยเงื่อนไขตามสัญญาประกันของศาล ซึ่งได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามจำเลยโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือซักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดียหรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาลและ ให้จำเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง เป็นต้น