8 ปีคสช. : เราจะทำตามสัญญา…คุกคามประชาชนถ้วนหน้า

ในช่วงที่กระแสการชุมนุมทางการเมืองสูงขึ้น เรื่องราวของนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมที่บ้าน โทรศัพท์ข่มขู่ หรือขับรถตาม เกิดขึ้นแทบทุกวันจนเห็นรายงานข่าวอยู่บ่อยๆ และกลายเป็นเรื่องชินตาของสังคม อย่างไรก็ตาม การคุกคามในรูปแบบที่กล่าวถึงนั้น “ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น” หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่การยึดอำนาจของคสช.ในปี 2557 โดยเป็นปฏิบัติการที่มุ่งหวังให้สังคมไทยกลายเป็น “สังคมปลอดการเมือง” (Depoliticize society) ผ่านการปราบปรามและปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในรูปแบบต่างๆ 

เมื่อล่วงเวลามาภายหลังการเลือกตั้ง 2562 วลี “เลือกความสงบ..จบที่ลุงตู่” ที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียงในโค้งสุดท้าย ก็ดูจะ “ไม่จริง” แต่ปรากฏเป็นการชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐที่พุ่งสูงขึ้นในแง่ปริมาณ ไม่น้อยกว่า 2,300 ครั้ง จนถึงปี 2565 เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในตำแหน่งมานานถึงแปดปี ประตูบ้านของเหล่านักกิจกรรมก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่รัฐแวะเวียนมา “เคาะ” หาอยู่เป็นประจำ

ไอลอว์ชวนย้อนดู “การคุกคาม” จากเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้รัฐบาล คสช.1 (2557-2561) และ คสช.2 (2562-2565) ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านไทม์ไลน์สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา “8 ปี” ดังนี้

o คสช. 1 (2557-2561) : 4 ปีภายใต้ชุดทหาร อ้างต้องการให้สงบ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” คณะบุคคลผู้ทำการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยภายหลังการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร คสช. ก็เริ่มต้นเปิดฉากการปิดกั้นเสรีภาพตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจผ่านหลากหลายกลวิธี

++ ออกคำสั่งรายงานตัว ++

การออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของ คสช. นับเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในช่วงของการยึดอำนาจ โดยมีทั้งการประกาศออกอากาศทางโทรทัศน์ การโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก หากบุคคลมีลักษณะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวหรือถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ก็จะถูกเรียกไปพูดคุยเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ให้ยุติการเคลื่อนไหว หรือควบคุมตัวไว้ด้วยอำนาจตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ที่ให้ทหารมีอำนาจ จับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถเข้าจับกุมได้แม้ในที่รโหฐาน ในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่มีสิทธิติดต่อญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความ พร้อมออกประกาศคสช. ฉบับที่ 40/2557 กำหนดให้การไม่มารายงงานตัวเป็นความผิด

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ตามต่างจังหวัด การโทรศัพท์เรียกให้ไปรายงานตัว หรือออกหมายเรียกจากส่วนราชการเพื่อให้บุคคลมารายงานตัว อาจออกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ทหาร และจะทำการส่งจดหมายไปที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งบุคคลที่รายงานตัวจะต้องมาปรับทัศนคติและทำเอกสารข้อตกลง (MOU) กับเจ้าหน้าที่เพื่อยุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง

สถิติของไอลอว์พบว่า ในช่วงสามเดือนแรกของการยึดอำนาจ มีประชนถูกออกประกาศเรียกจำนวน 570 คน และหากจำแนกตามความเกี่ยวข้อง จะพบว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. และพรรคเพื่อไทย 388 คน รองลงมาคือ กลุ่มนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ และนักกิจกรรม 140 คน 

++ จำกัดเสรีภาพในสถาบันการศึกษา ++

ภายหลังการประกาศยึดอำนาจ ได้มีประกาศให้สถาบันทางการศึกษาหยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 22 – 25 พฤษภาคม 2557 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดชั่วคราว และต่อมา มีความพยายามทั้งจากมหาวิทยาลัยและทหารเข้าไปแทรกแซงเพื่อจำกัดสถานที่หรือกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น กรณีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 5 มิถุนายน 2557 มีนักศึกษา 3 คนถูกควบคุมตัว เนื่องจากมีสติกเกอร์ “ต้านรัฐประหาร” อยู่ในครอบครอง โดยคนหนึ่งถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยหลังเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาและรปภ.มหาวิทยาลัยรามคำแหงออกตรวจตราและไล่นักศึกษาที่ยังนั่งเล่นอยู่ให้กลับบ้านก่อนเวลาเคอร์ฟิว ขณะที่คนอื่นๆ ถูกทหารเข้าควบคุมตัวพร้อมอาวุธปืน

กรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2557 มีคำสั่งเพื่อควบคุมไม่ให้นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทางเข้า-ออก ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อตรวจบัตรพนักงานและบัตรนักศึกษาอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีทหารควบคุมอยู่บางจุด นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี “อั้ม เนโกะ” ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมทางสื่อสังคมออนไลน์ และให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเชิญบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้การเพื่อสรุปหาข้อเท็จจริง และรายงานเสนอมหาวิทยาลัยลงโทษต่อไป 

++ บุกรุกสถานที่ ++

ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนตามมาตรา 8 “เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่” 

จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์พบว่า ในระยะเวลา 2 เดือนแรกของการยึดอำนาจ มีการบุกรุกสถานที่เอกชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 177 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นหลักและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสมทบ หากจำแนกความเกี่ยวข้องของสถานที่ที่บุกรุก พบว่ามากที่สุดคือสถานีวิทยุชุมชน 99 แห่ง รองลงมาคือบ้านพักของนักวิชาการและกลุ่มนักเคลื่อนทางการเมือง 59 แห่ง และหากจำแนกตามภูมิภาค พบว่าการบุกรุกมักเกิดขึ้นที่ภาคอีสาน 107 แห่ง รองลงมาคือภาคเหนือ 31 แห่ง นอกจากนี้สถิติยังพบว่ามีผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายหลังการบุกรุกโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 53 คน 

++ เยี่ยมบ้าน ++

  • ชวนพูดคุยปรองดอง

ตั้งแต่มกราคม 2558 คสช. พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการคุกคามเป็นการไปพบที่บ้าน ชวนไปกินกาแฟ หรือกินข้าว เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ทหารค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน ต่อมา มีการออก “จดหมายเชิญบุคคล” ให้ไปพบโดยอ้างว่าต้องการติดตามบุคคลเป้าหมาย ต่อมา ในช่วงเดือนเมษายน 2558 รัฐบาลโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ได้เชิญนักกฎหมาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม และทนายความจำนวนมาก เข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สโมสรกองทัพบก  โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในมีผู้ถูกเชิญเข้าร่วมหารือทั้งหมด 82 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันคือเคยร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 

  • เกลี้ยกล่อมครอบครัว

ในเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2558 สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมรำลึกครบ 1 ปี รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 มีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกจับ นำมาสู่การจัดตั้ง “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่” ที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมือง จากกรณีนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากการเรียกรายงานตัวที่ใช้มาแต่เดิม เป็นการเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านพักโดยไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า มักเป็นการไปโดยไม่มีธุระสำคัญอย่างเป็นทางการ และเข้าพูดคุยกับครอบครัวนักกิจกรรมในลักษณะเกลี้ยกล่อมผู้ปกครองให้พาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม โดยรูปแบบการเยี่ยมเยียนที่บ้านในช่วงเวลาดังกล่าว มักกระทำโดยตำรวจในท้องที่หรือตำรวจจากกองบังคับการตำรวจสันติบาลที่ไม่แต่งเครื่องแบบ และไป “แสดงตัว” พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่อาจจะขอถ่ายภาพร่วมกับบุคคลในเป้าหมายเพื่อ “รายงานนาย” ด้วย 

  • มาหาในช่วงวันสำคัญ 

หากเป็นในช่วงที่มีกิจกรรมสำคัญ เช่น ช่วงที่มีพระราชพิธี หรือกรณีที่หัวหน้า คสช. เดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัด จะมีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านของคนที่มีประวัติทำกิจกรรมและแจ้งตรงๆ ให้งดการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะนัดอ่านคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ก็ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปบ้านของแกนนำเสื้อแดงหลายรายอย่างต่อเนื่อง  

ไม่เฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองเพื่อต่อต้าน คสช. เท่านั้น แต่คนที่เคลื่อนไหวแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ก็ตกเป็นเป้าการไปติดตามถึงบ้านอย่างจริงจัง เช่น 21 พฤษภาคม 2559 ทหารแต่งชุดลายพราง 2 คน พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินทางไปที่บ้านของ “เสมอ” ผู้เข้าร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์, 11 พฤศจิกายน 2560 ทหารควบคุมตัวแกนนำสวนยางจากจังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรังไปเข้าค่ายทหาร หลังเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ, 12 มิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานทั้งทหาร กอ.รมน. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ไปที่บ้านของแสวง แอบเพ็ชร์ ชาวบ้าน จ.นครสวรรค์ที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อติดตามว่าจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช. หรือไม่

ตั้งแต่วันที่ 17-21 พฤษภาคม 2561  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีประชาชนอย่างน้อย 54 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้าน นัดหมายพบเจอ เฝ้าติดตาม หรือถูกโทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะ โดยทั้งหมดถูกสอบถามว่าจะเดินทางไปชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” ในวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 หรือไม่ และหลายกรณีมีการขอหรือข่มขู่ไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม รวมทั้งมีลักษณะปฏิบัติการที่รุนแรงขึ้น เช่น ควบคุมตัวไปค่ายทหาร นำหมายค้นเข้าตรวจค้น-นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปล้อมบ้าน ติดตามความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง หรือให้เซ็นเอกสารข้อตกลงไม่ไปร่วมการชุมนุม 

ต้นปี 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้ปฏิบัติการติดตามตัวถึงที่บ้านหรือที่ทำงานและการขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม เช่น กรณีตำรวจสันติบาล 2 คน ไปที่บริษัทภายในนิคมอุตสาหกรรมบางพลีเพื่อขอพบนักสหภาพแรงงานไทรอัมพ์และสอบถามว่าจะไปร่วมกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ พร้อมระบุว่า “ช่วงนี้อยากให้บ้านเมืองสงบ” ในขณะเดียวกัน ภายหลังการชุมนุมจบลงแล้ว ก็ยังมีการเข้าติดตามผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมถึงที่บ้าน เช่น กรณีของว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ สมาชิกพรรคสามัญชนแพร่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจำนวน 2 นาย เดินทางไปพบที่บ้านหลังออกมาทำกิจกรรมหน้าศาลากลาง โดยบอกว่า “ถ้าจะทำกิจกรรม ขอให้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ก่อน”

++ ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม (โดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย) ++

ปี 2561 ในช่วงเวลา 18 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง มีนักกิจกรรมทางการเมืองที่แสดงออกว่าต่อต้าน คสช. ถูกก่อกวน คุกคาม ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างน้อย 15 ครั้ง และในจำนวน 10 ครั้งเป็นกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2561 เอกชัยถูกปาแก้วน้ำใส่หลังเดินทางไปทำเนียบเพื่อขอมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตร ก่อนจะถูกคุกคามหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถูกตักตีจนหัวแตก ถูกชายฉกรรจ์รุมทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงถูกเผารถยนต์ 

นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกกระทำในลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น 31 มีนาคม 2562 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ถูกทำร้ายร่างกายขณะกลับบ้าน หลังจัดกิจกรรมทางการเมือง และ 2 มิถุนายน 2562 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ถูกคนร้ายไม่ต่ำกว่า 5 คน ทำร้ายร่างกาย หลังจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ ส.ว.งดออกเสียงเลือกนายกฯ และถูกดักทำร้ายซ้ำอีกครั้งอย่างรุนแรงภายในเดือนเดียวกันจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ดวงตาไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนเดิม

o ดูไทม์ไลน์การทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมระหว่างปี 2561-2562 

++ ปิดกั้นและแทรกแซง กิจกรรมสาธารณะ++

ห้วงเวลาภายใต้การปกครองของ คสช. เพดานของการแสดงออกทางการเมืองในสังคมไทยถูกกดให้ต่ำลงอย่างมากจนภาคประชาชนไม่สามารถจัดกิจกรรมสาธารณะได้อย่างราบรื่น มักถูกเจ้าหน้าที่เข้าปิดกั้นและแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การรณรงค์ในพื้นที่สาธารณะ หรือการจัดกิจกรรมความรู้ทางวิชาการในรูปแบบงานเสวนา รวมทั้งการนำกฎหมายความผิดลหุโทษมาดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น พ.ร.บ.ความสะอาดฯ  

จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์ระหว่างปี 2557-2561 พบว่ามีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะจากเจ้าหน้าที่รัฐรวมกันมากกว่า 200 ครั้ง (มากที่สุดคือปี 2558 จำนวน 67 ครั้ง) ประกอบไปด้วยรูปแบบการคุกคามที่หลากหลาย ดังนี้

  • โทรศัพท์ขอให้ยกเลิกกิจกรรม

เช่น กิจกรรม “รำกระตั้ว คั่วป๊อบคอร์น นอนดูหนัง” เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557 โดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ตำรวจได้โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอความร่วมมือกับโรงภาพยนตร์ไม่ให้ฉาย The hunger game ตามรอบกำหนดเดิมที่ทางกลุ่ม LTTD ได้แจ้งประชาชนไว้ก่อนหน้า พร้อมจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรมไป 3 ราย ก่อนปล่อยตัวออกมาภายหลังทำการตักเตือน

  • ส่งหนังสือแทรกแซง-ขอความร่วมมือยุติกิจกรรม

เช่น กิจกรรม “9 ปีที่ก้าวไม่พ้น รัฐประหาร 19 กันยา” โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อ 19 กันยายน 2558 มีหนังสือจากกองทัพภาคที่ 1 ส่งมาที่มหาวิทยาลัยให้ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ห้อง ทางกลุ่มจึงต้องย้ายสถานที่

  • บุกเข้ามาในพื้นที่ขณะทำกิจกรรม

เช่น การประชุมภายในเพื่อปรึกษาหารือคดีกับชาวบ้านที่ฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2557 มีตำรวจและทหารบุกเข้ามาในห้องประชุม รวมทั้งมีสายข่าวมานั่งเฝ้าการประชุม

  • เข้าควบคุมเนื้อหาเสวนา

เช่น งานเสวนาวิชาการ “ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และการสร้าง” ของกลุ่มสภาหน้าโดม เมื่อ 5 ตุลาคม 2557 โดยก่อนเริ่มเสวนา มีทหารเข้ามาพูดคุยและขอให้หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

ในช่วงปี 2559 ประเด็นที่เปราะบางอย่างเด่นชัด คือ กิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ “การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญออกสู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2559 เพื่อเปิดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแทรกแซงและปิดกั้นอย่างน้อย 20 ครั้ง

o อ่าน ข้อมูลการปิดกั้นกิจกรรมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 

o ดู สถิติสถิติการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะทั้งหมดใน ปี 2557-2561

o คสช. 2 (2562-2565) : คุกคามต่ออีก 4 ปี ท่ามกลางกระแสคนรุ่นใหม่

แม้ว่าในเดือนมีนาคม 2562 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ถวายสัตย์ฯ เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 อีกทั้งเมื่อ 15 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อ่านสารอำลาในโอกาสสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าความเปราะบางของ คสช.และรัฐบาลจะไม่ได้สิ้นสุดตามลง เนื่องจากรูปแบบการคุกคามแบบเดิมๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การโทรศัพท์ข่มขู่, เยี่ยมบ้าน, กดดันให้ทำ MOU หรือใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐในโลกออนไลน์ ก็ยัง “มีคง” อยู่เรื่อยมา 

ภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 เจ้าหน้าที่รัฐอ้างสถานการณ์โรคระบาดเพื่อสกัดกั้นและติดตามคุกคามผู้แสดงออกทางการเมือง ได้แก่ การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมด้วย “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในฐานะเครื่องมือหลักเพื่อปราบปรามการจัดกิจกรรมสาธารณะ โดยจากสถิติจนถึงเดือนมีนาคม 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,445 คน จากจำนวนกว่า 600 คดี นอกจากนี้ยังมีการใช้ “ข้อมูลนัดหมายฉีดวัคซีน” เพื่อตามจับนักกิจกรรมหรือสะกดรอยตามอีกด้วย

++ กดดันเยาวชนผ่านโรงเรียน ++

ภายหลังการเกิดขึ้นของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 พบว่ามีการคุกคามประชาชนเกิดขึ้นอย่างน้อย 79 ครั้ง โดย 13 ครั้งเป็นการคุกคามภายในสถาบันทางการศึกษา เนื่องจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมส่วนหนึ่งยังเป็นเยาวชน เช่น กรณีเมื่อ 22 กรกฎาคม 2563 มีการเปิดเผยหนังสือราชการที่ออกโดย ผกก.สภ.เมืองพัทลุง ส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง เรื่องขอความร่วมมือให้อำนวยการประชาสัมพันธ์ ไม่ให้นักเรียนและผู้ปกครองไปร่วมชุมนุมใน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ โดยอ้างถึงความผิดในการรวมตัวชุมนุมมาด้วย

หรือกรณีของกรณีเมื่อ 24 กรกฎาคม 2563 กรณีนักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี แจ้งว่าครูฝ่ายปกครองเชิญนักเรียนและผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน เนื่องจากมีตำรวจสันติบาลโทรศัพท์มาหา และบอกว่ามีนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวไปชุมนุมและถือป้ายรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส โดยอ้างว่าอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

++ สอดแนมด้วยเทคโนโลยี ++

ในปี 2564 ภายหลังการเคลื่อนไหวภาคประชาชนยังไม่สามารถถูกกำราบลงได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีความพยายามที่จะตรวจสอบและเก็บข้อมูลผู้ชุมนุมหรือบุคคลที่แสดงออกว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลด้วยวิธีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น  

  • ติดจีพีเอสใต้รถนักเคลื่อนไหว

กรณีเมื่อ 16 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ตรวจพบเครื่องติดตามและดักฟังใต้ท้องรถยนต์ โดยคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่นำมาติดตั้งเมื่อ 2 สิงหาคม 2564 ภายหลังกลุ่มทะลุฟ้าโดนจับกุมและถูกยึดรถจากหน้าสโมสรตำรวจไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง นอกจากนี้ยังมีกรณีเมื่อ 10 ตุลาคม 2564 พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ออกเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า เมื่อหลายเดือนก่อนในขณะที่เอารถไปซ่อม ช่างได้ตรวจพบอุปกรณ์ติดตามตัว ข้างหลังเป็นแถบแม่เหล็กติดอยู่ที่ใต้ท้องรถ ด้านในมีซิมการ์ด และมีลักษณะของวิธีการติดอย่างมืออาชีพ 

  • ส่งสปายแวร์แฮ็คโทรศัพท์นักกิจกรรม

ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2564 นักกิจกรรมและนักวิชาการหลายคน เช่น เดฟ-ชยพล ดโนทัย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสมาชิกกลุ่ม WeVo, เอเลียร์ ฟอฟิ กลุ่มศิลปะปลดแอก, รพี อาจสมบูรณ์ กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ทยอยออกมาเปิดเผยว่าได้รับอีเมลล์แจ้งเตือนจาก Apple ระบุว่า “ผู้ใช้อาจตกเป็นเป้าหมายการดำเนินการที่เข้าข่ายว่าเป็นการโจมตีโดยสปายแวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ” 

o อ่าน รวมปรากฏการณ์ ‘รูปแบบใหม่’ ของการคุกคามเสรีภาพ ตลอดปี 2564 

++ ตรวจสอบที่มารายได้/ภาษี องค์กรภาคประชาสังคม ++

  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ

เมื่อ 29 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเพิ่มเติมหลักการของร่าง “พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …” โดยมีสาระสำคัญเพื่อวางมาตรการให้องค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่ในรูปแบบสมาคม มูลนิธิ หรือคณะบุคคล ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเพื่อให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึง อีกทั้งต้องไม่ทำการที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งร่างดังกล่าวเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจสอดส่องการทำกิจกรรมของประชาชนและการใช้เงินทุนและเงินบริจาคและสั่งปิดองค์กรที่ทำงานทางสังคมได้

  • ใช้สรรพากรตรวจสอบภาษี NGO

11 กุมภาพันธ์ 2565 ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจาก 6 องค์กร เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีเจ้าหน้าที่สรรพากรออกหนังสือขอตรวจสอบภาษีและที่มาของเงินในองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ของสรรพากรให้การยอมรับว่า “มีที่มาจากใบสั่งของบุคคลในรัฐบาล” 

++ การคุกคาม เพื่อปกป้องกิจกรรมของสถาบันฯ ++

หนึ่งในข้อเรียกร้องหลักของม็อบราษฎร 2563 เรื่อง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ส่งผลให้ความอ่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น การรับปริญญา, ขบวนเสด็จ, พระราชพิธีในวันสำคัญ กลายเป็นประเด็นหลักในการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2565 โดยจากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิและมนุษยชนพบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีการคุกคามเกิดขึ้นอย่างน้อย 149 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 15 ราย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

  • การรับปริญญา

5-20 มกราคม 2565 เกิดกรณีการคุกคามสมาชิกกลุ่มโกงกาง ทั้งในรูปแบบการโทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูล, พูดคุยกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเพื่อสอบถามข้อมูล, การเข้ามาติดตามบริเวณที่พัก ไปจนถึงการขับรถติดตาม โดยกลุ่มโกงกางระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงพยายามสอบถามว่า ทางสมาชิกกลุ่มจะเข้ารับปริญญาหรือไม่และจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยบูรพาที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2565 

  • ขบวนเสด็จ

17 มีนาคม 2565 เพจ “ทะลุวัง – ThaluWang” โพสต์ข้อความเล่าถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏตัวที่บ้านพักของนักกิจกรรมสองคนซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 จากการทำกิจกรรม “โพลขบวนเสด็จ” ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยหนึ่งในผู้ถูกคุกคามเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาพูดคุยพร้อมถามว่า “พรุ่งนี้ขอได้ไหม อย่าไปขบวนเสด็จ” ในขณะที่อีกคนตำรวจส่งหมายเรียกซ้ำในคดีเดิม แม้ว่าผู้ต้องหาทุกคนในคดีจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ไปก่อนแล้ว 

  • พระราชพิธี

6 เมษายน 2565 นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 17 ปีจากจังหวัดบุรีรัมย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เช้าวันนี้ซึ่งเป็นวันจักรี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสังเกตการณ์บริเวณหน้าบ้าน โดยเจ้าหน้าที่มาถามหาตัวเขาและพูดตักเตือนกับสมาชิกในครอบครัวว่า “ให้ดูแลหลานให้ดี วันนี้วันจักรีเขามีพิธี อย่าให้ไปสร้างความวุ่นวายที่ไหน”