8 ปีคสช. : คดีจากการแสดงออกของประชาชนมีแต่พุ่งขึ้น

วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเคยแต่งเพลงที่มีเนื้อหาว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ในความเป็นจริงก็ยังนั่งครองตำแหน่งนายรัฐมนตรีต่อเนื่องมายาวนานจนเข้าวันครบรอบครั้งที่ 8 ในปี 2565

“การปิดกั้น” เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนโดยอาศัยเครื่องมือทางกฎหมาย เป็นโลโก้สำคัญประจำยุคสมัยของ คสช. การเรียกรายงานตัวและส่งคนติดตามไปคุกคามประชาชนที่บ้าน การสั่งห้ามทำกิจกรรมเข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม การควบคุมการชุมนุมสาธารณะและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 8 ปี และเครื่องมือที่โดดเด่นเมื่อยังมีประชาชนไม่เชื่อฟัง ก็คือ “การตั้งข้อหา” ดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ

แม้จะมีการจัดเลือกตั้งในปี 2562 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎกติกา และการควบคุมทั้งหมดของ คสช. ซึ่งส่งให้ประยุทธ์และผองเพื่อนยังคงอยู่ในอำนาจต่อ ภายใต้รัฐบาล คสช. 2 ที่มีหน้าตาคล้ายเดิม สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกไม่ได้มีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้น เมื่อรัฐบาล คสช.2 ต้องเผชิญกับการต่อต้านของประชาชนที่รุนแรงมากขึ้น การตอบโต้ก็จึงเข้มข้นขึ้น และกลายเป็นว่าสถิติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับประชาชน มีแต่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในทางตัวเลข และในทางการตีความที่มุ่งเอาผิดปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

________

มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์  เป็นข้อหาที่มีโทษสูง และเมื่อนำมาใช้ดำเนินคดีกับใครก็ให้ผลรุนแรงที่สุด เป็นข้อหาทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนต้องเข้าเรือนจำสูงที่สุด มาตรานี้ถูกใช้อย่างหนักในช่วงปี 2557-2558 หลังการรัฐประหาร และใช้กว้างขวางอีกครั้งหลังเหตุการณ์สวรรคคของรัชกาลที่ 9

ตลอดเวลาของ คสช.1 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 98 คน จาก 72 คดี ซึ่งเคยคาดหมายว่าเป็นยุคสมัยที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางที่สุดแล้ว แต่ในยุคของ คสช.2 เมื่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ดังขึ้น มาตรา 112 กลับมาอีกครั้งชนิดที่รุนแรงกว่าเดิม ตีความกว้างขวางกว่าเดิม พบปรากฏการณ์ไม่ปกติในกระบวนการยุติธรรมมากกว่าเดิม มีคนถูกดำเนินคดีนับถึงวันครบรอบ 8 ปี คสช. อย่างน้อย 194 คน จาก 209 คดี

________

มาตรา 116 หรือความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น”  เป็นข้อหาที่ใช้เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ แต่ถูกตีความกว้างขวางใช้กับการแสดงออกที่ต่อต้านรัฐบาล วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือบุคคลสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งใช้กับการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากด้วย มาตรานี้ถูกใช้อย่างหนักในช่วงปี 2557-2558 หลังการรัฐประหาร ตลอดเวลาของ คสช.1 มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 118 คน จาก 42 คดี ต่อมาในยุคของ คสช.2 ช่วงต้นการดำเนินคดีใหม่ๆ ตามมาตรานี้ยังเกิดขึ้นน้อย มีเพียงการดำเนินคดีย้อนหลังกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักการเมืองฝ่ายค้านที่โดดเด่น  แต่เมื่อการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับความไม่มั่นคงของรัฐบาลนี้ สถิติการดำเนินคดีกับประชาชนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 128 คน จาก 42 คดี

________

การ “ชุมนุมทางการเมือง” เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานและไม่ควรเป็นความผิด แต่ในยุค คสช.1 มีการออกทั้งประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เอาผิดกับการ “ชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” ซึ่งเป็นข้อห้ามค่อนข้างเด็ดขาดที่ไม่อยากให้มีการแสดงออกทางการเมืองเลย ผู้ที่ทำกิจกรรมทางการเมืองตรงข้ามกับ คสช. ยุคแรกถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 421 คน ใน 52 คดี ต่อมาเมื่อใกล้ช่วงเลือกตั้ง หัวหน้า คสช. ก็ยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง ทำให้บรรยากาศควรจะกลับมาเป็นปกติ

แต่ก็อยู่ได้เพียงปีเศษเมื่อมีสถานการณ์โควิด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกข้อกำหนดอย่างน้อย 14 ฉบับ สั่งห้ามการชุมนุม มีทั้งที่กำหนดจำนวนคนไม่เกินห้าคน หรือมากกว่า และใช้ต่อเนื่องยาวนานกว่าสองปี ท่ามกลางการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกว่า 2,300 ครั้ง ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,451 คน จาก 630 คดี 

________

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  เป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ส่งออกไปได้ลำบาก แต่เมื่อเริ่มบังคับใช้ก็ใช้ไปพร้อมกับประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามชุมนุม ทำให้การดำเนินคดีแต่ละครั้งผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีหลายข้อหาพร้อมกัน มีข้อหาตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเป็นข้อหาที่โทษเบากว่า

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในยุคของ คสช.1 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 245 คน เมื่อเข้าสู่ยุค คสช.2 กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือหลักในช่วงแรก และเมื่อใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยกเว้นไม่ให้ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แม้ระยะเวลาการบังคับใช้จะนับรวมได้ไม่ถึงสองปีเต็ม แต่ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 131 คน จาก 93 คดี

________

การพยายามดำเนินคดีต่อประชาชนด้วยข้อหามาตรา 112 เป็นข้อหาที่ส่งผลกระทบหนักที่สุด เพราะผู้ต้องหาหลายคนไม่ได้ประกันตัว และหลายคดีศาลพิพากษาลงโทษหนัก ก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในสังคม แต่คดีในข้อหาอื่นๆ ในยุค คสช.1 ไม่ได้นำไปสู่การลงโทษมากนัก ส่วนใหญ่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีหรือศาลตัดสินยกฟ้อง หรือข้อหาตามคำสั่งห้ามชุมนุมก็ยกเลิกไปก่อนที่ศาลจะตัดสิน ทำให้คดีความจบไปโดยไม่ทราบผล 

แต่ความพิเศษของคดีในยุค คสช.1 คือ การกำหนดให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงและคดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ คสช. ต้อง “ขึ้นศาลทหาร” เพิ่มภาระและเพิ่มความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกขึ้นไปอีก

สำหรับคดีในยุค คสช.2 ก็มีลักษณะคล้ายกัน คดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนมากยังไม่มีความคืบหน้า ส่วนที่มีการดำเนินคดีไปแล้วอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง หรือในชั้นศาลก็จะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง  มีเพียงข้อหามาตรา 112 ที่เด่นชัดว่า มีคำพิพากษาให้ผู้ที่แสดงออกต้องเข้าเรือนจำ หรือมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว หรือตามมาด้วยเงื่อนไขการประกันตัวที่จำกัดเสรีภาพอย่างกว้างขวาง และเป็นช่วงเวลาที่มาตรานี้ถูกใช้อย่างหนักท่ีสุดในประวัติศาสตร์ 

.

นอกจากนี้ยังมีการนำเอากฎหมายอื่นๆ มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงออกอีกมาก เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินคดีคู่กับข้อหาด้านความมั่นคง ข้อหาอั้งยี่หรือซ่องโจร ข้อหาชุมนุมมั่วสุม ตามมาตรา 215-216 รวมทั้งการนำข้อหาที่มีความผิดเล็กๆ น้อยๆ มาดำเนินคดีเพื่อเพิ่มภาระต่อผู้ชุมนุม เช่น ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อหาตามพ.ร.บ.การรักษาความสะอาดฯ

.

จึงเห็นได้ว่า การดำเนินคดีต่อประชาชนในยุคของ คสช.1 และ คสช.2 มีลักษณะปิดกั้นไม่ต่างกัน ไม่ได้มีความพยายามผ่อนคลายเพื่อคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ปริมาณคดีความมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นๆ ตามบรรยากาศทางการเมืองที่มีคนต่อต้านการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลนี้มากขึ้น

ดูข้อมูลการดำเนินคดีในยุค คสช.1 ได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/politically-Charged