อัษฎา : จากการตรวจสอบทุจริตสู่พลเมืองตื่นรู้

อัษฎา งามศรีขำ หรือ “ป้าอัษ” อายุ 56 ปีเป็นหนึ่งใน 11 จำเลยคดีคาร์ม็อบหาดใหญ่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2564 การชุมนุมวันดังกล่าวมีเป้าหมายหลักคือ การขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ป้าอัษบอกว่า วันนั้นเธอใส่แมสก์ อยู่บนรถ เว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยและไม่สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ แต่ก็ไม่วายถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมที่ออกเมื่อเพื่อควบคุมโรคโควิด และข้อหาอื่นๆ รวมห้าข้อ

เธอเป็นใครมาจากไหน เหตุใดชาวหาดใหญ่ พื้นที่อันเป็นฐานที่มั่นของพรรครัฐบาลจึงออกมาร่วมคาร์ม็อบ ขับไล่รัฐบาล ชวนรู้จักชีวิตและประสบการณ์การต่อสู้ของป้าอัศที่หล่อหลอมให้เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสียงต่อสาธารณะ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่อึดอัดคับข้อง

เริ่มเห็นความไม่เป็นธรรมผ่านการสู้คดีหมิ่นฯ จากการจับโกง

เดิมทีป้าอัษขายขนมเป็นงานหลัก แต่ตอนนี้เปลี่ยนหน้าที่มารับดูแลพ่อแม่ที่อายุมากเป็นหลักและรับทำขนมตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามาประปราย การไปร่วมชุมนุมทางการเมืองของป้าอัษในกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ชีวิตของเธอผ่านการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องที่พบเห็นมาแล้วหลายสนาม

ประมาณปี 2550 ในฐานะสมาชิกของสหกรณ์แห่งหนึ่ง เธอได้พบเห็นความไม่ชอบมาพากลด้านการเงิน ทำให้เธอและสามี รวมทั้งเพื่อนๆในกลุ่มตั้งคำถามต่อประธานกรรมการสหกรณ์ ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ระหว่างนี้สื่อท้องถิ่นเริ่มรายงานข่าวจนเป็นเหตุเธอถูกฟ้องร้องคดีในข้อหาหมิ่นประมาทหนึ่งคดี ส่วนสามีของเธอถูกฟ้องร้องอย่างน้อยสามคดี ครอบครัวของเธอยังได้รับจดหมายคุกคามด้วยเป็นภาพปืน เธอร้องเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น บอกเล่าเรื่องการต่อสู้กับการทุจริต ซึ่งตามมาด้วยการถูกคุกคามทั้งครอบครัว 

ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จากส่วนกลางลงพื้นที่มาสอบข้อเท็จจริงและเมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จ ก็ระบุทำนองว่า สหกรณ์มีการบริหารงานไม่โปร่งใส โดยไม่ได้ใช้คำว่า “ทุจริต” ในส่วนคดีหมิ่นประมาทท้ายที่สุดทั้งคดีของเธอและของสามีศาลก็ ด้วยเหตุว่า เป็นการวิจารณ์โดยสุจริตเป็นเหตุในการยกฟ้อง

ป้าอัษเล่าว่า ตอนที่ต้องไปศาลเพื่อต่อสู้คดีของตัวเอง ก็ได้พบเห็นการต่อสู้คดีการชุมนุมของชาวบ้านจะนะที่สืบเนื่องกับการคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเมื่อปี 2545 ทำให้เริ่มตื่นตัว สนใจปัญหาสังคมรอบข้างมากขึ้น ซึ่งเธอยอมรับว่า ก่อนเริ่มไปศาลด้วยตัวเองสิ่งเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในหัวมาก่อน “เราก็แค่คนทำมากิน คนทำมาหากินจะห่วงเรื่องทำงาน ไม่สนใจอะไร แต่พอมันเกิดขึ้นกับตัวเองแล้วมันทำให้เรารู้สึกว่า เห้ย ทำไมสังคมมันบิดเบี้ยวอย่างนี้ มีการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมมีการข่มขู่คุกคาม มีการละเมิดประชาชน” 

นอกจากนี้เธอยังรู้สึกกับภาพที่เธอพบเห็น เมื่อชาวบ้านที่ใส่รองเท้าแตะคู่ที่พาพวกเขามาถึงหน้าศาล แต่ต้องถอดรองเท้าแตะวางไว้ก่อนเข้าห้องพิจารณา ภาพที่เห็นทำให้เธอสงสัยใคร่รู้มากขึ้น แม้คดีของเธอจะจบแล้วก็ยังคงไปศาลเพื่อติดตามคดีของชาวจะนะต่อ 

“ให้เขาเดินตีนเปล่าเข้าไป … ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีเลย เรามีรองเท้าแตะเราก็น่าจะสามารถใส่ได้” 

“ไปคุยกับชาวบ้าน ไปทำความรู้จักกับชาวบ้าน ไปถามชาวบ้านว่า มันเกิดอะไรขึ้น…เราไปย้อนดูวิดีโอต่างๆที่มีคลิปอยู่ในยูทุป เราก็เห็นว่าการใช้อำนาจรัฐมันเกินไปมันรุนแรงมาก มันไม่สมเหตุสมผล เราตามดูคดีชาวบ้านจนถึงคำพิพากษา” และคดีนี้ก็เป็นการเปิดประตูให้ป้าอัษประจักษ์ถึงการต่อสู้ของรัฐและประชาชน

สำหรับคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินออกมาด้วยว่า การชุมนุมของชาวจะนะเพื่อคัดค้านท่อส่งก๊าซเมื่อปี 2545 เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล 

เธอบอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ “เหมือนกับปลุกจิตวิญญาณของคนที่ไม่ทนต่อความอยุติธรรม เวทีไหนในพื้นที่ ซึ่งเราเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านเราก็พร้อมที่จะออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถ่านหินเทพา ป้าก็ไปนะ ไปมีส่วนร่วม ไปแสดงพลังแบบสันติวิธีด้วยการเดินหรือการถือป้ายไม่เห็นด้วยกับโครงการ เรามองเห็นความแข็งแกร่งของคนในพื้นที่จะนะที่เขาพยายามต่อสู้ ต่อต้านโครงการที่จะมาทำร้ายบ้านเกิดของเขา ซึ่งเราเองเป็นคนหาดใหญ่ เราได้ประโยชน์ด้วย เราคิดว่า เป็นเรื่องที่ควรสนใจสักหน่อยเถอะ” ที่ผ่านมาการต่อสู้ของชาวจะนะจะอยู่ที่ประเด็นการปกป้องทรัพยากรทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์และแหล่งส่งอาหารทะเลให้คนในภูมิภาคนี้

คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีแรก

หลังจากนั้นป้าอัษติดตามประเด็นการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่อเนื่องเรื่อยมาจนพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ เคยไปร่วมเรียกร้องทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน, ท่าเรือน้ำลึกและเรื่องควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน “พอเราไปหลายทีทุกคนก็เหมือนเป็นเพื่อนพี่น้องกับเรา เกิดความอารีในกลุ่มเห็นความทุกข์ร่วมกัน เห็นก็อดไม่ได้ไปช่วยกันแสดงพลังกัน”อย่างไรก็ตามการแสดงออกของเธอเป็นไปในลักษณะปัจเจก กล่าวคือ ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่หากเห็นว่า มีประเด็นที่พี่น้องของเธอกำลังเคลื่อนไหวและพอจะช่วยได้ก็จะทำ

ป้าอัษยอมรับว่า “เรามันสายการเมืองตามการเมืองข่าวสารบ้านเมือง ดูความเป็นไปต่างๆ ติดตามข่าวสารตลอด”  ในช่วงปี 2561-2562 ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป ป้าอัษติดตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ตอนนั้นเธอรู้สึกชอบนโยบายหลายอย่างของพรรคอนาคตใหม่ เช่น การกระจายอำนาจและนโยบายเพื่อความเป็นธรรมอื่นๆ จึงสมัครเป็นสมาชิกพรรค ต่อมาเธอก็ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงการชุมนุมหลังยุบพรรคอนาคตใหม่และราษฎร ป้าอัษติดตามการเคลื่อนไหวในคลื่นการชุมนุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จดจำและสามารถเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างละเอียดโดยไม่ติดขัด

“เด็กออกมาสู้เรื่องต่างๆ เช่น การปฏิรูปสถาบันฯ ยกเลิก 112 เราก็ตื่นตาตื่นใจไปกับเด็กๆ เห็นพลังของเด็กที่ออกไปพยายามแสดงพลัง การต่อรอง ไม่ได้คาดหวังชนะในวันนั้น แต่เห็นถึงความกล้าหาญของเด็กที่ดึงปัญหาออกมาจากหลุมดำ มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเด็กรุ่นนี้สนใจการเมืองแล้ว ประเทศไทยยังมีความหวังอยู่”

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ต่อมา ป้าอัษได้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ ที่นัดหมายโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มในพื้นที่ภาคใต้ ในวันดังกล่าวผู้จัดกิจกรรมนัดหมายที่หน้าค่ายเสณาณรงค์ไปสิ้นสุดที่หอนาฬิกาหาดใหญ่ โดยใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง  ป้าอัษทราบข่าวจากโซเชียลเน็ตเวิร์คจึงขับรถมอเตอร์ไซด์ออกไป เมื่อไปถึงภาพที่เห็นคือผู้ที่มาเข้าร่วมก็ต่างอยู่บนยานพาหนะของตนเอง สวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง 

“เรามีความตั้งใจว่า มันคือพื้นที่แสดงพลังเราก็ไปเลย ไปถึงก็เห็นเขาต่อแถวกันจะออกรถแล้ว เราก็ไปร่วมกันเขา บีบแตร เราชูสามนิ้วและมีเด็กๆคอยควบคุมว่า การใช้ถนนจะต้องไม่กีดขวางผู้อื่น รถอื่นยังสามารถวิ่งได้และพวกเราก็แสดงพลังไป เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยความมั่นคงเอง ตำรวจเองก็ตามมาตลอดทางเพื่อบันทึกภาพ บันทึกใบหน้าของคนที่ร่วมกิจกรรม…เราไม่ชอบ รู้สึกว่า มันไม่สมควร เห็นแต่รัฐบาลทหารที่ดูเหมือนจะทำเรื่องเหล่านี้เป็นล่ำเป็นสัน”

“หลังจบเราก็แยกย้ายกันกลับทุกอย่างก็ปกตินะ ไม่มีวุ่นวาย เพียงแต่รัฐอาจจะมองว่า เราไปขัดขืนอำนาจของเขา” 

ต่อมานักกิจกรรมและประชาชนทยอยได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีของป้าอัษตำรวจมาส่งหมายเรียกให้ถึงที่บ้านโดยสามีเป็นคนรับหมายเรียก ตำรวจที่มาส่งบอกกับสามีของเธอว่า ขอโทษนะพี่ ผมทำตามหน้าที่

“ตอนที่เราไปแสดงพลังเราก็ไม่รู้หรอกว่า เราต้องโดนคดีอะไร แต่เราก็คิดว่า มันเป็นเพียงแค่สิทธิขั้นพื้นฐาน มันไม่ควรจะถูกพรากออกไป ไม่ควรจะถูกพันธนาการด้วยอำนาจรัฐ”

“ป้ามองว่า ถ้ายังออกไปต่อสู้ออกไปแสดงพลัง สิ่งที่เขาแสดงอำนาจกับเรามันจะไม่รุนแรงมาก เพราะนั่นเขาจับตามองสังคมอยู่ แต่ตราบใดที่เราเงียบ นิ่งสงบ เขาก็สามารถที่จะใช้อำนาจรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งมันก็เป็นอันตราย”

ผลกระทบของการเป็นจำเลยคดีการเมือง

ป้าอัษบอกว่า คดีจากการไปร่วมชุมนุมของเธอมีคดีเดียว และเธอมองว่า คดีของเธอไม่ใช่คดีใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับคนอีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดีโทษหนัก เช่น คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  

หลังถูกดำเนินคดี ป้าอัษกลายเป็นหนึ่งในบุคคลเฝ้าระวังของทางการในช่วงการลงพื้นที่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนเมษายน 2565 “มีน้องคนหนึ่งส่งเอกสารให้ มีลิสต์รายชื่อของหลายคนในหาดใหญ่และมีชื่อเราด้วยว่า เราเป็นคนที่ต้องเฝ้าระวัง”

เมื่อถามว่าเคยถูกคุกคามแบบอื่น เช่น การมาเยี่ยมบ้านหรือไม่ ป้าอัษบอกว่า ปกติไปดูแลพ่อแม่อีกบ้านหนึ่งก็เลยไม่ได้รู้ว่า มีการติดตามเยี่ยมบ้านหรือไม่ แต่เห็นน้องๆนักกิจกรรมโพสต์ว่า เจอการคุกคามเช่นนี้หลายคนก็รู้สึกเห็นใจที่ต้องเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้

สมาชิกในครอบครัวของป้าอัษมีความเข้าใจดีเรื่องการดำเนินคดี ไม่ได้มีความรู้สึกหวาดกลัวการขึ้นศาล “เราเข้าใจว่า รัฐบาลทหารที่ลิดรอนอำนาจประชาชน วิถีของเขาก็จะเป็นแบบนี้…การทำงานของฝ่ายความมั่นคงจะทำแบบตัดไม้ข่มนาม เขาไม่ต้องการให้มันเกิดการเติบโตเพราะฉะนั้นเขาก็ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม วงจรเขาเป็นแบบนี้ เขาไม่ต้องการให้ใครเผยอขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงพูดอะไร”

ผลกระทบที่พอจะเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งคือ เมื่อถูกดำเนินคดีป้าอัษจะต้องไปรายงานตัวและไปศาลตามนัดต่างๆ ในวันที่มีนัดหมายจะต้องจ้างให้คนมาดูแลพ่อแม่แทนเสียค่าจ้างวันละ 600 บาท ซึ่งเป็นหนึ่งในภาระที่เธอต้องเผชิญด้วยตัวเอง แม้จะถูกดำเนินคดีเช่นนี้แต่ป้าอัษก็ยังคงยืนยันว่า หากมีกิจกรรมและสะดวกไปร่วมก็ยังไปเข้าร่วมอยู่

ป้าอัษกล่าวว่า “คนที่คิดว่า วันนี้ฉันไม่เดือดร้อน ฉันก็นั่งทำมาหากิน ลูกฉันก็อยู่ในร่องในรอย ใช่ คุณอาจจะปลอดภัยในวันนี้ แต่วันหน้าไม่มีใครการันตีได้ว่า การใช้อำนาจของรัฐมันจะล่วงล้ำเข้ามาในครอบครัวของคุณหรือเปล่า ไม่สามารถการันตีได้ว่า วันหน้ามันทำกับลูก กับคุณไหม เป็นสิ่งที่ทุกคนควรร่วมกันตระหนัก ถ้าคุณปล่อยให้อำนาจที่ไม่ชอบ อำนาจที่ไม่ยุติธรรมกินพื้นที่ความเป็นประชาชนของคุณ…วันหนึ่งเมื่อคุณรู้สึกมันอาจจะสายเกินไปแล้ว”

สำหรับคดีคาร์ม็อบหาดใหญ่ มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 11 คน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 26 เมษายน 2565  พนักงานอัยการสั่งฟ้องนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนจำนวน 11 ราย ต่อศาลแขวงสงขลารวมห้าข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันส่งเสียงอื้ออึง และนำวัสดุหรือสิ่งอื่นใดมาปิดบังป้ายทะเบียนรถ 

ศาลแขวงสงขลาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดหลักทรัพย์ประกัน แต่หากผิดสัญญาประกันจะปรับคนละ 5,000 บาท  

กว่าสองปีของการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคโควิด 19 มีประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้วอย่างน้อย 1,445 ราย แม้หลายคดีที่ทยอยเดินหน้า อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว รวมทั้งคดีคาร์ม็อบใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เพราะเห็นว่าการชุมนุมรูปแบบคาร์ม็อบไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่คดีอีกจำนวนมากก็ยังเดินหน้าต่อไป