ชัชชาติประกาศพื้นที่ชุมนุมสาธารณะในกทม.

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งให้สถานที่เจ็ดแห่งเป็นพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ โดยอาศัยมาตรา 9 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ที่บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้ ประกอบมาตรา 49 ของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ สถานที่ที่ใช้สำหรับการชุมนุม ได้แก่ ลานคนเมือง เขตพระนคร, ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง, ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา เขตจตุจักร, ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรีศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุและสวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

ประกาศดังกล่าวระบุเหตุที่ต้องกำหนดสถานที่เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น 

วิธีการขอใช้สถานที่คือ ผู้จัดการชุมนุมจะต้องยื่นแบบหนังสือต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงเพื่อที่สำนักงานเขตจะแจ้งต่อเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นผู้กำกับการของสถานีตำรวจท้องที่นั้นๆ และมีเวลาในการเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ในกรณีที่ยื่นหนังสือไม่ทันกำหนดให้แจ้งก่อนเริ่มการชุมนุม โดยผู้จัดการชุมนุมและผู้ชมนุมจะต้องดูแลทรัพย์สินราชการและปฏิบัติตามที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดในบททั่วไป, หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมและการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลชุมนุมสาธารณะ

ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเช้าก่อนที่การชุมนุมครบรอบ 90 ปีอภิวัฒน์สยามจะเริ่มในช่วงเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมจากหลายเครือข่ายนัดหมายรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเคลื่อนขบวนไปทำกิจกรรมที่ลานคนเมือง สำหรับพื้นที่ลานคนเมืองที่กรุงเทพมหานครให้ใช้สำหรับการชุมนุมเป็นพื้นที่ฝั่งใต้เท่านั้น ซึ่งติดกับวัดสุทัศน์ สามารถรองรับผู้ชุมนุมได้ประมาณ 1,000 คน คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 60 ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือให้สำหรับประชาชนทั่วไปและรองรับเหตุฉุกเฉิน

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวไม่มีชื่อของสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้แสดงออกทางการเมืองมาอย่างยาวนานตั้งแต่การชุมนุมพฤษภาคม 2535, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2549, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ 2553 และกปปส. 2557  หลังการรัฐประหารการจำกัดพื้นที่สนามหลวงเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2558 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีผลใช้บังคับ มาตรา 7 ของกฎหมายดังกล่าวสั่งห้ามการชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมหาราชวัง พื้นที่ของสนามหลวงฝั่งใต้ หรือฝั่งสนามหญ้ามีบางส่วนที่อยู่ในรัศมีห้ามชุมนุม 

ปี 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” และใช้สนามหลวงบริเวณที่อยู่นอกรัศมีจัดการชุมนุมได้ ครั้งนั้นผู้ชุมนุมฝังหมุดคณะราษฎร 2563 และเปลี่ยนชื่อเรียกจากสนามหลวงเป็นสนามราษฎร อย่างไรก็ตามปี 2564 การชุมนุมที่สนามหลวงมีแนวโน้มถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยการวางแนวสิ่งกีดขวางและการที่ตำรวจสั่งห้ามไม่ให้ใช้พื้นที่สำหรับการชุมนุม