RECAP: เกิดอะไรขึ้นกับ “ใบปอ-บุ้ง” ทะลุวัง ?

 

(1) “ใบปอ-บุ้ง” คือใคร ?

ใบปอ-ณัฐนิชและบุ้ง-เนติพร สองสมาชิกกลุ่มทะลุวัง กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่หลายคนรู้จักและคุ้นตาจากการทำ “โพลสติกเกอร์สำรวจความคิดเห็น” เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทะลุวังมักหยิบยกคำถามที่เคยอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น คำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จ หรือคำถามเกี่ยวกับงบประมาณสถาบันฯ มาเป็นตั้งโพลสอบถามในที่สาธารณะ กิจกรรมแรกอย่างเป็นทางการของทะลุวังคือการทำโพลถามว่า “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” และไปส่งโพลที่วังสระปทุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

(2) ทำไม “ใบปอ-บุ้ง” ถูกตั้งข้อหา ม.112 ??

จากการส่งโพลหน้าวังสระปทุมเป็นเหตุให้ใบปอและบุ้งถูกตั้งข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งคู่เข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวันเมื่อ 10 มีนาคม 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 200,000 บาท พร้อมคำสั่งติดกำไล EM ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวคือ

1) ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

2) ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

และ 3) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

นอกจากคดีดังกล่าว ทั้งสองคนยังถูกข้อหามาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากทำโพล “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” เมื่อ 18 เมษายน 2565 ที่จตุจักรและเซ็นทรัล ลาดพร้าว ก่อนจะถูกควบคุมตัวตามหมายจับเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ไปที่ สน.บางซื่อ และได้รับการประกันตัวอีกครั้งในวันถัดมา คดีนี้มีผู้ต้องหาร่วมอีกสองคนคือเมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม และพลอย เบญจมาภรณ์

(3) ทำไม “ใบปอ-บุ้ง” ถูกยื่นคำร้องไต่สวนถอนประกัน ??

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ร.ต.ท.ปาณัสม์ กลิ่นขจร พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการไต่สวนว่า ทั้งสองได้ทำผิดเงื่อนไขตามสัญญาประกัน ศาลจึงนัดไต่สวนวันที่ 27 เมษายน 2565 โดยการไต่สวนในวันดังกล่าว ผู้ยื่นคำร้องเบิกความต่อศาลว่า

“วันที่ 13 มีนาคม 2565 ใบปอและบุ้งได้ทำกิจกรรมโพลสอบถามความเห็น “คุณยินดียกบ้านให้กับราชวงศ์หรือไม่” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้ร่วมกันทำโพล “ต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่” บริเวณสกายวอล์คหน้าบิ๊กซีราชดำริและแยกราชประสงค์ นอกจากนี้ ในรายงานการสืบสวนของผู้ร้องยังระบุอีกว่า เมื่อ 21 มีนาคม 2565 ใบปอได้ถ่ายรูปคู่กับพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม” 

(4) ทำไมศาลมีคำสั่งถอนประกัน “ใบปอ-บุ้ง” ??

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ศาลมีคำสั่งว่า “การจัดกิจกรรมโพลทั้งสองวันดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำเดียวกันที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและมีการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่าเมื่อขณะเวลาที่ผู้ต้องหาจัดกิจกรรม ได้มีการชุมนุมของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ในบริเวณใกล้เคียง และได้มีผู้ชุมนุมจากการชุมนุมของผู้ต้องหาเดินเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม ศปปส. เป็นเหตุให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย” 

(5) เกิดอะไรขึ้นกับ “ใบปอ-บุ้ง” หลังถูกถอนประกันบ้าง ??

ภายหลังศาลอ่านคำสั่ง ใบปอและบุ้งถูกควบคุมตัวออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลางในวันเดียวกัน ต่อมา ทั้งสองเริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 รวมระยะเวลาอดอาหาร 33 วัน จากการถูกฝากขังรวม 63 วัน (นับล่าสุดถึง 3 มิ.ย. 65) 

o วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 12 วัน โดยให้เหตุผลว่า “ผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความว่า คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา ถือว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนและการฟ้องคดี” 

o 20 พฤษภาคม 2565 ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยระบุว่า ใบปอจำเป็นต้องออกไปสอบปลายภาค จำนวน 4 วิชาในวันที่ 20-21 พฤษภาคมนี้ และหากขาดสอบก็จะส่งผลให้ใบปอพ้นสภาพนักศึกษา อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่ให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “หากปล่อยตัว เกรงจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น”

o 7 มิถุนายน 2565 ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยบันทึกการเข้าเยี่ยมว่า บุ้งน้ำหนักตัวลดลงไปประมาณ 5 กิโลกรัม มีอาการเครียด อ่อนเพลีย และมือสั่นเพิ่มขึ้น ส่วนใบปอเล่าว่าน้ำหนักตัวลดลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วแบบปกติ ต้องค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะลุกหรือนั่ง ไม่เช่นนั้นแล้วจะหน้ามืดและล้มลงได้ 

o 16 มิถุนายน 2565 ศาลยกคำร้องที่ทนายขอยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 4 ขณะที่เฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา เปิดเผยบทสนทนาระหว่างเข้าเยี่ยมว่า ใบปอถูกนายแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาพูดจาคุกคามและเสียดสีให้เกิดความหวาดกลัว โดยระหว่างที่ซักถามอาการ นายแพทย์คนดังกล่าวพูดว่า “ถ้ามีปืนก็คง… (ทำท่ามือเป็นปืนเอามาจ่อที่คาง)” พร้อมหัวเราะ และพูดข่มขู่ว่า “ต้องจับสองคนนี้แยกออกจากกัน”

o 17 มิถุนายน 2565 นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าเรื่องราวไม่เป็นความจริง

o 28 มิถุนายน 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ในตอนนี้ใบปอน้ำหนักลดลงไปถึง 5 กิโลกรัมแล้ว ส่วนบุ้งนั้นลดลงไปมากถึง 15 กิโลกรัม และต่อมา 29 มิถุนายน 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า บุ้งมีอาการทรุดหนักจนต้องให้ยาทางเส้นเลือดและซูบผอมลงอย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเรียกร้องศาลอนุญาตให้ประกันตัวใบปอและบุ้ง เช่น 17 มิถุนายน 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยออกปฏิบัติการด่วน ลงชื่อ “ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ประท้วงด้วยการอดอาหาร” และ 22 มิถุนายน 2565 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวและตรวจสอบกรณีที่ใบปอถูกแพทย์ข่มขู่ เป็นต้น