ป่าน ทะลุฟ้า : คนเดินทาง กับการรีเทิร์น

ป่าน ทะลุฟ้า นักกิจกรรมวัย 25 ย่าง 26 ปี คือหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มทะลุฟ้า แม้เธอจะไม่ค่อยปรากฎตัวตามหน้าสื่อหรือขึ้นเวทีปราศรัย แต่ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงนักกิจกรรมมานานกว่าชาวทะลุฟ้าหลายๆ คน 
“ป่าน” คือ คนที่คอยดูแลสารทุกข์สุขดิบของเพื่อนร่วมขบวนทะลุฟ้า รวมถึงเป็นคนคอยประสานงานระหว่างกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม เพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างราบรื่นและมีปัญหาอุปสรรคน้อยที่สุด 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” รุ่นพี่นักกิจกรรมที่ป่านนับถือในฐานะผู้ที่ช่วยประคับประคองเธอในวันที่เข้าสู่แวดวงนักกิจกรรมใหม่ๆ ถูกคุมขังเป็นครั้งที่สาม ป่านก็พยายามทำหน้าที่เดียวกัน คือดูแลและประคับประครองกลุ่ม “ทะลุฟ้า” กลุ่มที่ไผ่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง  

– The sound of silence –

เราเป็นคนจังหวัดน่าน พ่อแม่เรารับราชการอยู่ที่นั่น เราอยู่กับพ่อและแม่ที่น่านจนเรียนจบชั้น ม.ต้น จนในปี 2553 เราก็ย้ายเข้ามาเรียนดนตรีที่มหิดล ตอนชั้น ม.ปลาย แบบในหนัง Season Change นั่นแหละ เพียงแต่เราเรียนดนตรีไทย ไม่ใช่ดนตรีสากลแบบในหนัง 
เราชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เล่นพวกเครื่องสายอย่างจะเข้เป็นหลัก จริงๆ เราอยู่กับดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็รักดนตรีมาก พอจบ ม.6 เราก็ต่อสาขาดนตรีที่มหิดลนั่นแหละ ทีนี้สภาพการเรียนที่มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยความกดดัน เราถูกบังคับซ้อมดนตรีหลายชั่วโมงต่อเนื่องกัน 
เอาจริงๆ ถ้าเราอยากทำเราจะซ้อมดนตรีแบบต่อเนื่องสามสี่ชั่วโมงเราก็ทำได้ แต่เราเกลียดการถูกบังคับ พอเราถูกบังคับให้ซ้อมดนตรีทั้งๆ ที่เราไม่พร้อม หรือเหนื่อย ความรู้สึกรักดนตรีของเรามันก็เปลี่ยนไป กลายเป็นเราขยาด ไม่อยากยุ่ง และจนถึงวันนี้เราก็ไม่ได้จับเครื่องดนตรีอีกเลย และเราก็ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยทั้งที่เริ่มเรียนไปไม่ถึงหนึ่งเดือนดี
หลังออกจากมหาวิทยาลัยในปี 2556 เราตัดสินใจคุยกับที่บ้านว่าจะขอ gap year (พักการเรียน) ซักปีนึง วันนึงแม่เราก็ส่งลิงค์โครงการค่ายอาสาสมัครนานาชาติมาให้ เราเลยตัดใจสมัครไป หลังจากนั้นชีวิตเราก็เปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง   

– Another World –

ตอนที่เราเข้าเรียน ม.ปลาย ที่มหิดล สังคมของเราคือสังคมที่เต็มไปด้วยลูกหลานคนมีเงิน รุ่นของเราเป็นรุ่นสุดท้ายที่จ่ายค่าเทอม 50,000 บาท หลังจากนั้นค่าเทอมก็ขึ้นมาเป็นแสน แต่พอเราสมัครร่วมกิจกรรมอาสาสมัครนานาชาติ เราก็ต้องไปอยู่ในโลกอีกใบ เราไปอยู่ในหมู่บ้านชาวเลที่จังหวัดสตูลประมาณ 2 – 3 เดือน ระหว่างนั้นก็ใช้ชีวิตกลืนไปกับชาวบ้านเลย บางวันเราก็ช่วยเขาสอนหนังสือให้เด็กๆ ในชุมชน บางวันก็ออกไปหาแมงดาทะเลกับชาวบ้าน
ชุมชนที่เราไปอยู่เป็นชุมนุมที่เข้มแข็งมาก มีการจัดระบบภายในที่ดี และเขาก็เปิดชุมชนรับชาวต่างชาติที่อยากมาใช้ชีวิต มาเรียนรู้วิถีชาวเลแบบเป็นกิจจะลักษณะเลย เราเองก็ได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนเป็นชาวต่างชาติทั้งคนเกาหลี คนฝรั่งเศส ก็แปลกดีที่เราไม่เคยถามหรือคุยกับพวกเขาเลยว่าบ้านเมืองเขาเป็นยังไง แต่เรากลับตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาอยากมาใช้ชีวิตแบบนี้ แล้วเราก็ได้คำตอบว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบ้านเมืองเขามันเจริญแล้ว ชีวิตก็อาจเต็มไปด้วยความเร่งรีบและกดดัน เขาเลยอยากมาใช้ชีวิตแบบ back to basic แบบนี้ 
แต่ในขณะที่เราตอบตัวเองแบบนั้นมันก็มีคำถามอีกข้อดังขึ้นมาในหัวว่าประเทศของเขามันต้องมีสวัสดิการดีขนาดไหน คนของเขาถึงสามารถมาใช้ชีวิตแบบนี้ ในขณะที่เด็กไทยจบแล้วต้องรีบหางานหาเงินใช้หนี้ กยศ. ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตของตัวเอง ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มขบคิดกับปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองไทย 
การได้ไปใช้ชีวิตที่สตูล ยังทำให้เรามีโอกาสได้ไปรู้จักกับพวกนักกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งต่อมาได้เชื่อมให้เรารู้จักนักกิจกรรมในพื้นที่อื่นๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่หลายๆ คนเราก็ยังร่วมงานกับพวกเขาจนถึงทุกวันนี้ (ตุลาคม 2564) 

– The Traveler –

ตอนเด็กๆ เราไม่เคยมีความฝันว่าอยากจะทำงานอะไรเป็นพิเศษ เรามีแค่ความฝันว่าอยากเป็นนักเดินทาง หลังจบกิจกรรมค่ายอาสานานาชาติที่จังหวัดสตูล เราตัดสินใจไม่กลับบ้าน แต่สมัครไปเข้าร่วมกิจกรรมอาสานานาชาติไปทำงานอาสาในต่างประเทศที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ แล้วก็ที่ญี่ปุ่นแทน 
โครงการที่เราไปเป็นโครงการระยะเวลาครึ่งปี ไปทำงานแล้วก็ใช้ชีวิตประเทศละประมาณ สองเดือน อย่างเวียดนามเราไปทำงานกับวัดแห่งหนึ่งที่เมืองโฮจิมินห์ ไปช่วยดูแลเด็กที่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรมที่ถูกทิ้ง เราช็อกนะเพราะเราเป็นพวกโลกสวย ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เรารู้สึกช็อค แล้วก็เกิดความสงสัยว่าบ้านเรามีไหม
หลังจบงานที่เวียดนามเราก็ไปที่ฟิลิปปินส์ ช่วงแรกของโครงการที่ฟิลิปปินส์ เรามีโอกาสไปทำงานกับคนจนเมืองในชุมนุมแออัดแห่งหนึ่ง ซึ่งความเป็นอยู่แย่มาก เราได้เห็นความรุนแรงในชุมชนที่นั่นและมันก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำงานประเด็นคนจนเมือง แต่องค์กรที่พาไปเขาให้เราอยู่ที่มะนิลาแค่อาทิตย์เดียวคงกังวลเรื่องความปลอดภัย พออยู่ครบอาทิตย์เขาก็พาเราลงไปที่เซบู เป็นการทำงานกับโบสถ์ช่วยดูแลเด็กที่ถูกทิ้ง  
หลังจากที่ฟิลิปปินส์ เราก็ไปที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศสุดท้าย ที่ญี่ปุ่นเราไปอยู่เมืองเล็กๆ ที่ชื่อฟูกูอิ ที่เมืองนี้ช่วงหน้าหนาวจะมีแค่คนแก่อยู่แล้วเขาตักหิมะกันไม่ไหว ตลอดสองเดือนเราก็เข้าไปช่วยเขาตักหิมะเป็นหลัก ตอนอยู่ญี่ปุ่นมีเรื่องตลกอยู่เรื่องนึงคือเรามีรอยสักบนแขน แล้วคนที่หมู่บ้านนั้นเขายังติดภาพว่าคนมีรอยสักเป็นเหมือนพวกยากูซ่า เราเลยต้องหาพลาสเตอร์มาติดเวลาไปอาบน้ำที่ห้องน้ำสาธารณะ ก็เป็นอะไรที่แปลกดี
พอกลับจากแลกเปลี่ยนเราก็ยังไม่กลับบ้าน แต่ลงไปที่สตูลอีกรอบ แล้วก็ไปเจอกับนักกิจกรรมที่ภาคใต้อีกรอบ แล้วเราก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลยจนกระทั่งหลังจากพี่ไผ่ถูกจับช่วงปี 2559

– Activist on Duty –

ช่วงปี 2558 พวกนักกิจกรรมนัดคุยกันที่จังหวัดขอนแก่น เราเองที่มีโอกาสรู้จักพวกนักกิจกรรมผ่านทางนักกิจกรรมที่ภาคใต้ก็เลยไปร่วมประชุมด้วย ตอนแรกก็กะไปแค่ไม่กี่วันแต่ไปๆ มาๆ ต้องอยู่ที่นั่นยาว 
หลังประชุมเสร็จ นักกิจกรรมก็วางแผนจะขับเคลื่อนกิจกรรมอะไรสักอย่าง ตอนนั้นเรายังว่างๆ อยู่ก็เลยตัดสินใจอยู่ช่วยงานที่ขอนแก่น แต่แล้วการเมืองก็เปลี่ยนเพราะเกิดกรณี 14 นักศึกษาถูกจับ (การจับกุมดำเนินคดีนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ในเดือนมิถุนายน 2558) 
ตอนนั้นพี่ไผ่กับพวกดาวดินอีกหกคนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ขอนแก่น และตัดสินใจเข้ากรุงเทพเพื่อไปเคลื่อนไหวกับนักศึกษาที่กรุงเทพ ตอนนั้นเราก็ถูกลากให้ไปช่วยงานด้วย 
เราต้องตามไปดูแลพวกพี่ไผ่ที่เมืองเลยอยู่พักหนึ่งเพราะตอนนั้นตำรวจขอนแก่นออกหมายเรียกพี่ไผ่กับเพื่อนๆ ดาวดินแล้ว พวกเขาเลยไปหลบอยู่ที่เมืองเลยกันระหว่างรอเข้ากรุงเทพ พอมาชุมนุมกับพวกโรม (รังสิมันต์ โรม) ก็ปรากฎว่าถูกจับกันหมด เราก็เลยต้องอยู่กรุงเทพยาว
วันที่พวกพี่ไผ่ถูกจับเราอยู่ในเหตุการณ์ด้วย (26 มิถุนายน 2558 ตำรวจนำหมายจับเข้าทำการจับกุมนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ที่สวนเงินมีมา ย่านเจริญนคร กรุงเทพ จากกรณีร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นในวันที่ 25 มิถุนายน 2558)
เรายังจำภาพเหตุการณ์ในวันนั้นได้ทั้งหมด จริงๆ แล้วตำรวจก็เข้ามาที่สวนเงินตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว แต่ตอนที่เขาเข้ามาครั้งแรกไม่มีหมายจับ อาจารย์ ส. (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) กับเจ้าหน้าที่สวนเงินเลยไม่ยอมให้ตำรวจเข้า บอกให้ไปเอาหมายมาก่อน 
ระหว่างนั้นเหมือนต่างคนต่างดีไซน์กันว่าตัวเองจะถูกจับแบบไหน โรมนั่งจิบกาแฟรอ ส่วนพี่ไผ่กับพี่แมน (ปกรณ์ อารีกุล) เล่นเกมตีปิงปองรอกัน พอถึงช่วงเย็นตำรวจก็เอาหมายเข้ามาจับ โรมถูกลากไปเพราะไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ ส่วนพี่ไผ่กับพี่แมนก็บอกตำรวจว่าเกมยังไม่จบขอตีให้จบก่อน
ตอนนั้นเราโกรธนะ คือมันไม่เหลือใครแล้ว ตำรวจกวาดไปทีเดียว 14 คน ไม่เหลือใครเป็นแถวสองเลย ส่วนตัวเราหลังจากนั้นก็เหมือนถูกดันขึ้นเป็นโฆษกของ NDM (ขบวนการประชาธิปไตยใหม่) แบบไม่ทันตั้งตัว ช่วงที่พี่ไผ่กับเพื่อนๆ ถูกขัง เรายังต้องทำหน้าที่เป็นคนจัดคิวเยี่ยมแล้วก็ต้องคอยเป็นคนซื้อข้าวส่งข้าวให้ด้วย เราทำกิจกรรมกับพวกพี่ไผ่เรื่อยมากระทั่งพี่ไผ่ถูกจับคดี 112 รอบแรก

– Breakdown –

ตอนพี่ไผ่ต้องเข้าเรือนจำรอบแรก เรารู้สึกแย่ แย่มากๆ มากเลย เพราะตั้งแต่เราเข้ามาทำกิจกรรมพี่ไผ่เป็นคนที่โอบรับเรามากที่สุด พี่ไผ่เป็นคนที่รับฟัง และไม่ตีตรา เป็นคนที่ซัพพอร์ตเราทุกอย่าง เอาจริงๆ ตั้งแต่ก่อนพี่ไผ่ถูกจับเราคิดว่าเรามีอาการเครียดสะสมอยู่ก่อนแล้ว   
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราไม่ใช่พวกปล่อยผ่าน เวลาเราลงหน้างาน ไปเจอพี่น้อง ไปลงพื้นที่ เราต้องไปรับฟังปัญหาหนักๆ ปัญหาใหญ่ๆ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันหนักหนาของพี่น้องในพื้นที่ ปัญหาเหล่านั้นเราไม่ได้ลืมแต่เราเก็บมาขบคิดอยู่ตลอดเวลาจนความเครียดมันสะสมโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ตอนแรกเรายังมีพี่ไผ่ให้พูดคุย พอพี่ไผ่ถูกจับมันเหมือนทุกอย่างระเบิดออกมา 
เราตัดสินใจกลับบ้าน หมดหวังกับทุกอย่าง ความรู้สึกคือนอยด์สัสๆ เหมือนเราอกหักกับสังคมแล้วก็เลิกสนใจมันไปเลย เราคิดถึงพี่ไผ่ คิดถึงพ่อๆ แม่ๆ เมืองเลย เราสนใจแค่ว่าพี่ไผ่จะขึ้นศาลวันไหน แต่เหลือก็ช่างแม่ง ใครจะเป็นยังไง สังคมจะเป็นยังไงก็เรื่องของมึงละ 
ตอนนั้นเราเหมือนกลายเป็นเพิกเฉยกับสังคม ไปใช้ชีวิตช้าๆ ที่บ้าน ใช้ชีวิตที่ไร่ของที่บ้าน อยู่กับอากาศบริสุทธิ์ของจังหวัดน่าน มีเหล้าดีๆ กิน จัดพวกงานอาร์ท งานคราฟท์ที่น่าน กลายเป็นพวกสุขนิยมไปเลย ส่วนสังคมจะต่ำตมยังไงก็เรื่องของพวกมึง

– I shall return –

เราหายไปจากการเมือง หายไปจากขบวนสามปี ตั้งแต่พี่ไผ่ถูกจับปี 2559 จนถึงช่วงการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เราถึงตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะพี่ไผ่ออกมาจากคุกแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือบรรยากาศสังคมตอนนั้นมันเต็มไปด้วยความตื่นตัว และตัวเราเองก็มีโอกาสไปพักไปเยียวยาตัวเองมาแล้ว
เรากะแค่จะมาร่วมชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง แต่ที่ไหนได้พอแวะไปทักทายเพื่อนหลังเวทีเราก็ถูกจับช่วยฝ่ายสวัสดิการ ไปตักข้าวให้พวกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยาวเลย
หลังชุมนุม 19 กันยา เรากลับไปอยู่บ้านแต่ตอนนั้นคือเริ่มกลับมาเชื่อมต่อ กับเพื่อนๆ นักกิจกรรมด้วย จนกระทั่งต้นปี 2564 พี่ไผ่ชวนมาเดินทะลุฟ้ากับมัน เรามาเดินหลังขบวนหลักเริ่มเดินไปได้ประมาณอาทิตย์ สองอาทิตย์แล้ว ครั้งนี้เราก็ไม่ได้กะอยู่ยาว กะว่าเดินเสร็จจะกลับบ้านแต่กลายเป็นว่าเราต้องอยู่ยาวเลย
หลังเดินมาถึงกรุงเทพ พี่ไผ่ก็ถูกขังในคดี 112 (คดีการชุมนุม 19 กันยา) พวกน้องๆ ที่ร่วมเดินคุยกันว่าอยากตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า เราก็เลยตัดสินใจอยู่ช่วยน้องๆ กะว่าแค่อยู่เป็นคนให้นับหัว แต่สุดท้ายก็มาถูกดำเนินคดีไปด้วย อย่างเรื่องคดีจะว่าไปก็ตลกดี คือปกติเราจะไม่ได้นอนที่หมู่บ้าน แต่คืนก่อนสลายชุมนุมเรานึกไงไม่รู้มานอน จริงๆ ก็ไม่ได้นอนหรอกคืนนั้นเราไปปาร์ตีกับเพื่อนแบบหนักมาก มาถึงหมู่บ้านตอนตีสี่คือแบบง่วงมากแล้ว พอถึงตีห้าก็ถูกสลาย
หลังหมู่บ้านถูกสลาย คนที่ร่วมกันเดิน ร่วมกันตั้งหมู่บ้านก็ตัดสินใจตั้ง “ทะลุฟ้า” ให้เป็นกลุ่มกิจกรรมที่ทำงานขับเคลื่อนในระยะยาว เราก็เลยอยู่ช่วยน้องๆ ต่อ
ถ้าถามว่าทะลุฟ้าคืออะไร สำหรับเรามันคือที่รวมกันของคนมีฝันและคนที่ถูกกดทับ ทีมงานของเราคือผู้ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ ทะลุฟ้าเริ่มจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มาร่วมกันเดิน ร่วมกันตั้งหมู่บ้าน มาจนถึงการเคลื่อนไหวในรูปแบบการชุมนุม ทะลุฟ้าเปิดกว้างรับคนหลากหลาย ขอแค่คุณเชื่อในแนวทางสนุก สร้างสรรค์ และมีเป้าหมายชัดเจนคือการสร้างประชาธิปไตยและความเท่าเทียมคุณก็เป็นทะลุฟ้าได้ 

– Worrisome Development –

ถ้าถามเรื่องความกังวลและการคุกคามจากภาครัฐ ช่วงที่ คสช.ยังอยู่ในอำนาจ พ่อและแม่เราเคยโดนที่ทำงานเรียกไปคุยเรื่องการเคลื่อนไหวของเราอยู่ มาถึงปีนี้การคุกคามมันใกล้ตัวเรามากขึ้น เริ่มมีตำรวจโทรมาถามหาเรากับทีมงานทะลุฟ้า ทั้งที่ปกติเราไม่ได้ทำงานเวทีหรือออกหน้า จนช่วงหลังเวลาที่อยู่ในม็อบเพื่อนๆ จะบอกให้เราเดินไปเดินมาเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรหรือบางทีก็หาเพื่อนมาประกบเรา
ทะลุฟ้าเองก็โดนหนัก เพื่อนเราโดนคดีไปหลายคน ถูกขังระหว่างคดีก็ไม่น้อย อย่างบ้านที่เราเช่าอยู่กับ พี่ไผ่, ยาใจ (ทรงพล สนธิรักษ์), ไดโน่ (นวพล ต้นงาม), เปา (ปวริศ แย้มยิ่ง) และ ปีก (วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์) พวกนี้โดนจับกันไปหมดจนที่บ้านเหลือแต่ผู้หญิง 
เราเคยมองโลกในแง่ดีว่า นี่มันคดีการเมืองเขาจับแล้วเดี๋ยวคงปล่อย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว เรายังเคยถามตัวเองเลยว่า ถ้าโดนจับกูจะได้ปล่อยไหมวะ ตอนนี้มันแย่มาก แย่กว่าสมัย คสช.อีก ซึ่งเราก็แบบได้ไงวะ พวกมึงรัฐบาลเลือกตั้งนะ