“ก็แค่มาตรวจให้นายเท่านั้นแหละ” ตำรวจเยี่ยมบ้าน 2 สมาชิก #ทะลุฟ้า ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา

27 กรกฎาคม 2565 นักกิจกรรมทะลุฟ้าสองคนแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าตำรวจเข้า “เยี่ยมบ้าน” และพูดคุยกับผู้ปกครองของทั้งสองในลักษณะคล้ายคลึงกัน การคุกคามครั้งนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับกรณีที่โลกออนไลน์นัดทำกิจกรรมสวมใส่เสื้อดำในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่สิบ อย่างไรก็ตาม ทะลุฟ้าไม่ได้มีการประกาศทำกิจกรรมในวันนี้หรือเกี่ยวเนื่องกับการสวมเสื้อดำแต่อย่างใด

เขาบอกว่า “โดนสั่งมาให้มาดูที่อยู่น้อง” แล้วก็ขอถ่ายรูปกับแม่เรา 

ออ นักกิจกรรมอายุ 20 ปี หนึ่งในสมาชิกที่ถูกเยี่ยมบ้านเล่าว่า เวลาประมาณ 10.00 น. แม่ของเธอโทรมาเพื่อแจ้งว่า ในเช้าวันนี้มีชายคนหนึ่งมาถามหาถึงบ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยชายคนดังกล่าวเดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนตัวและแสดงบัตรให้ดูว่าเป็นตำรวจ พร้อมทั้งพยายามพูดคุยผูกมิตรกับแม่ของเธอ

“เขา [ตำรวจ] บอกว่า ‘โดนสั่งมาให้มาดูที่อยู่น้อง’ แล้วก็ขอถ่ายรูปกับแม่เรา เพื่อเอาไปยืนยันให้นายดูว่ามาแล้วนะ ซึ่งแม่เราไม่เคยโดนตำรวจไปเยี่ยมบ้าน แม่ก็เลยถ่ายรูปด้วยไปหนึ่งรูป แล้วเขาก็น่าจะถ่ายรูปบ้านไปด้วย”

“หลังจากนั้นเขาก็พูดดีกับแม่เรา บอกว่า ‘ก็แค่มาตรวจให้นายเท่านั้นแหละ ผมเข้าใจเด็กนะที่มันไปทำการเมือง เราเข้าใจ ไม่ต้องกลัว เรามาตรวจบ้านเฉยๆ มีอะไรโทรหาผมได้นะ ผมก็เข้าใจเด็ก’ แสดงว่าเขาน่าจะให้เบอร์แม่ไป และคิดว่าแม่ก็น่าจะแลกเบอร์ไปด้วย” 

ออเล่าด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 เคยมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาขับรถวนบริเวณแถวบ้านของเธอหลายครั้งแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่เข้ามามีบทสนทนากับคนในบ้าน

ด้านการทำกิจกรรม ออเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2564 และมีคดีความจำนวนสองคดี ได้แก่ ข้อหาร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงานฯ และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปทวงรถเครื่องเสียงที่สโมสรตำรวจ เมื่อ 2 สิงหาคม 2564 และข้อหาละเมิดอำนาจศาลเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ทำให้เธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ต่อมา ศาลตัดสินว่า เธอไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 

เมื่อถามถึงความรู้สึก ออเล่าว่าไม่ได้กังวลเรื่องของตัวเอง แต่รู้สึกเป็นห่วงคนที่บ้านมากกว่า เนื่องจากการทำกิจกรรมทางการเมืองทำให้เธอต้องมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก และบ้านที่บุรีรัมย์ก็มักจะมีแต่แม่ที่อยู่เฝ้าบ้านเพียงคนเดียว

“บ้านเราอยู่บุรีรัมย์ แต่ตอนนี้เรามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วแม่เราไม่เคยเจอตำรวจ แม่อยู่บ้านคนเดียว ส่วนพ่อจะไปทำงานต่างจังหวัดตลอดวันจันทร์ถึงศุกร์… แม่เป็นคนเฟรนลี่ อัธยาศัยดี ตำรวจบอกอะไรก็ทำตาม ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

อย่างไรก็ตาม ออเล่าว่าหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แม่ของเธอก็ไม่ได้ห้ามปรามเรื่องการทำกิกรรม เพียงแต่ขอให้ระมัดระวังการใช้คำพูดให้มากขึ้น เนื่องจากกลัวว่าอาจจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อนได้

“เขาไม่ได้สนับสนุน แต่เขาก็ไม่ได้ห้าม เขารู้ว่าเราดื้อ…” ออกล่าวทิ้งท้าย

ตำรวจเยี่ยมบ้าน 7 ครั้งในรอบครึ่งปี 

วันเดียวกันและช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ‘เป้ง’ นามสมมติ สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าอีกคนที่ถูกเยี่ยมบ้านเล่าว่า ช่วงเวลาประมาณ 10.00-11.00 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 3-4 นายมายืนอยู่ที่หน้าบ้านพักหนึ่ง ก่อนจะกดกริ่งเรียกคนในบ้าน แต่เนื่องจาก ‘เป้ง’ ไม่อยู่บ้าน แม่ของ ‘เป้ง’ จึงคุยกับเจ้าหน้าที่ผ่านไมค์กริ่ง โดยเจ้าหน้าที่ถามถึงเขาเพียงสั้นๆ ว่า “อยู่ที่บ้านไหม ตอนนี้ไปไหน น้องได้กลับมาบ้านบ้างไหม” ซึ่งแม่ของ ‘เป้ง’ ก็ให้ข้อมูลไปตามจริงว่าช่วงนี้เขาไม่ได้กลับบ้านเลย

“เขาไม่ได้มีท่าทีคุกคาม ผมคิดว่าเป็นคำสั่งของนายเขา เขาก็เลยมาดู มาเช็คสภาพ” 

‘เป้ง’เล่าว่า เท่าที่ทราบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 การมาเยี่ยมบ้านของเจ้าหน้าที่ในวันนี้นับเป็นครั้งที่ 6-7 แล้ว โดยทุกครั้งที่มาก็จะไม่ใส่เครื่องแบบ แต่เขาบอกว่า “ดูออกว่าเป็นตำรวจ” เนื่องจากทุกคนที่มาจะใส่หมวกในลักษณะเดียว และเมื่อมาถึงก็จะมายืนมองอยู่หน้าบ้าน

“มันมีครั้งหนึ่งที่ผมแวะกลับไปเอาของสำคัญที่บ้านและวางรองเท้าเอาไว้หน้าบ้าน แล้ววันนั้นตำรวจก็มาพอดี เขาก็ถ่ายรองเท้าผมไป แล้วก็กลับบ้านเลย ได้กลับไปรูปเดียว รูปรองเท้าผม” ‘เป้ง’ เล่าอย่างติดตลก

ทั้งนี้ ในช่วงเย็นของวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 18.00-19.12 น. ทางกลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรม #ยืนหยุดขังประเทศไทย บริเวณถนนคนเดินสยามสแควร์ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างน้อย 30 คนที่ยังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสมาชิกทะลุฟ้าจำนวน 8 คน ได้แก่แซม-พรชัย ยวนยี ที่ถูกออกหมายจับในมาตรา 112 เมื่อ 7 กรกฎาคม 2565 ตามมาด้วยคำสั่งขังสมาชิกอีก 7 คน ได้แก่ อาทิตย์, คิม, ทู, ชาติ, คาริม, ป่าน และเจมส์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์จากการชุมนุมเมื่อหนึ่งปีก่อน นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีสมาชิกทะลุฟ้าอีกจำนวน 4 คนที่ได้รับการประกันตัวในคดีอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขการติดกำไล EM ได้แก่ ไผ่, ปูน, ต๋งและยาใจ 

นอกจากกรณีของทะลุฟ้าแล้ว วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.40 น. ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นักกิจกรรมหญิงซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม #ยืนหยุดขังประเทศไทย หน้าตึกอัยการสุราษฎร์ยังให้ข้อมูลในลักษณะเดียวกันว่า มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมบ้านของเธอเพื่อสอบถามว่ากิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันหรือไม่ และในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งรัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เธอตั้งใจจะทำกิจกรรมทางการเมืองอะไรในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่

นับจากกระแสเรียกร้องทางการเมืองหลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในปี 2563 หนึ่งในสามข้อเรียกร้องหลักเรื่อง #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้ส่งผลให้ที่ผ่านมา ช่วงวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นช่วงเวลาอ่อนไหวที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเดินสายเยี่ยมบ้านนักกิจกรรมก่อนพระราชพิธีสำคัญจะเกิดขึ้น เช่น กรณีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ไอซ์ เยาวชนอายุ 15 ปี เล่าว่า มีนอกเครื่องแบบเดินทางมาถามไถ่ความเป็นอยู่ของเขาถึงที่พัก พร้อมทั้งร้องขอไม่ให้ทำกิจกรรมระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จในวันรุ่งขึ้น หรือกรณีเมื่อ 6 เมษายน 2565 กันต์ นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 17 ปี เล่าว่า มีตำรวจมาสังเกตการณ์ที่หน้าบ้านและกำชับครอบครัวไม่ให้เขาทำกิจกรรมในวันจักรี เป็นต้น