นักโทษการเมือง #ระลอก4 ยังคง “เข้า-ออก เรือนจำ” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2565 มีนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนและระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดอย่างน้อย 29 คน 

นับจากกระแสเรียกร้องทางการเมืองรอบใหม่การคุมขังนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ตามบรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องที่ขยายตัวขึ้นและลง ในช่วงเวลานี้ถือเป็นระลอกที่สี่แล้ว ไล่เรียงมาตั้งแต่

  1. ช่วงเดือนตุลาคม 2563
  2. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
  3. ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 
  4. หลังการทยอยปล่อยตัวแกนนำราษฎรเมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ไม่นานนัก “คำสั่งคุมขัง” ก็กลับมาอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2565 โดยที่จำนวนของนักโทษการเมืองในเรือนจำก็ยังคง “เพิ่มๆ ลดๆ” เรื่อยมา

o ในเดือนเมษายน 2565 มีการไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันตัวของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้นรวม 5 ครั้ง โดยที่ 3 ใน 5 กรณี ศาลมีคำสั่งให้ “ถอนประกัน” ประกอบไปด้วย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เมื่อ 20 เมษายน 2565, เวหา แสนชนะศึก เมื่อ 21 เมษายน 2565 และกรณีของใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กับบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม จากกลุ่มทะลุวัง เมื่อ 3 พฤษภาคม 2565 (เลื่อนฟังคำสั่งจาก 27 เมษายน 2565) นอกจากนี้ ในวันที่ 28 เมษายน 2565 สมบัติ ทองย้อย ก็ถูกให้คุมขังระหว่างอุทธรณ์ หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” และข้อความกล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ตามมาตรา 112 ให้จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

o ต่อมา เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ในปี 2535 และการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 อีกทั้งยังเป็นเดือนที่มีพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพืชมงคล ผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ถูกเพิกถอนสิทธิประกันหลายคนก็ได้รับการปล่อยตัวในช่วงปลายเดือน เช่น เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมจับในคดีมาตรา 112 เมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 พร้อมเงื่อนไขการกักบริเวณภายในบ้านพักตลอด 24 ชั่วโมง หรือตะวัน ก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน

o เดือนมิถุนายน 2565 การชุมนุมบริเวณแยกดินแดงกลับมาอีกครั้ง หลังการประกาศนัดหมายชุมนุมแบบไร้แกนนำภายใต้กิจกรรม “ราษฎรเดินไล่ตู่” เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง โดยกิจกรรมบริเวณแยกดินแดงเกิดขึ้นหลังการชุมนุมหลักยุติลง จากนั้นยังมีการนัดหมายรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 12-19 มิถุนายน 2565 และส่งผลให้มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวน 14 คน

o กระทั่งมาถึง กรกฎาคม 2565 เดือนที่มีวันสำคัญอย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษาในช่วงปลายเดือน การฝากขังนักกิจกรรมในช่วงครึ่งเดือนแรกก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจับกุม แซม-พรชัย ยวนยี จากกลุ่มทะลุฟ้า ในข้อหามาตรา 112 เมื่อ 7 กรกฎาคม 2565 ตามมาด้วยการฝากขังสมาชิกทะลุฟ้าเพิ่มอีกเจ็ดคน ภายหลังการสั่งฟ้องคดีการชุมนุมสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 โดยวันดังกล่าวยังเป็นวันแรกที่กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมปักหลักค้างคืนหน้ารัฐสภาในช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (19-23 กรกฎาคม 2565) อีกด้วย

o เดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ต้องขังบางคนไดัรับการปล่อยตัว ภายหลังถูกจองจำนานนับเดือน ได้แก่ 3 สิงหาคม 2565 บอล-พุฒิพงษ์ ทะลุแก๊ซ หนึ่งในมวลชนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมที่แยกดินแดงในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากอัยการไม่ได้สั่งฟ้องภายในกำหนดเวลา รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 48 วัน ต่อมา 4 สิงหาคม 2565 ใบปอและบุ้งก็ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังด้วยข้อหามาตรา 112 นานถึง 94 วันและอดอาหารประท้วงสิทธิประกันตัวเป็นเวลา 64 วัน โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้วางหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อมตั้งพี่สาวของบุ้งเป็นผู้กำกับดูแลทั้งสองคน และกำหนดเงื่อนไข เช่น ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00 – 06.00 น.

อย่างไรก็ตาม จำนวนของผู้ถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมืองในเรือนจำก็ไม่ได้ลดลง ภายหลังการฝากขัง ไบร์ท-ชินวัตร เมื่อ 1 สิงหาคม 2565 ในข้อมาตรา 112 สืบเนื่องจากกิจกรรมโกนหัวประท้วงหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 28 กรกฎาคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมือง ตามมาด้วยการฝากขังสมาชิกทะลุฟ้าเพิ่มเป็นคนที่เก้า เมื่อ 8 สิงหาคม 2565 ภายหลัง แม็ก สินบุรี เข้าแสดงตัวที่ สน.นางเลิ้งตามหมายจับข้อหาวางเพลิงฯ และกรณีของพลทหาร “เมธิน” นามสมมติ ที่ศาลทหารมีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 โดยเขารับสารภาพ ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ตาม “เมธิน” ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2565 แล้ว

เส้นมาตรฐานของการได้ประกันตัว…?

หากพิจารณาในจำนวนผู้ต้องขังทั้ง 29 คน จะพบว่ามีทั้งผู้ถูกคุมขังที่สถานะคดียังอยู่ในชั้นสอบสวนและมีคำพิพากษาแล้ว ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 4 กรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีมาตรา 112 ที่ได้รับการประกันตัว ดังนี้

o กรณีจำเลยมาตรา 112 ที่ได้ประกัน “ระหว่างพิจารณาคดี” (2 คน)

5 สิงหาคม 2565 มีกรณีของ ‘มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ’ ซึ่งถูกกล่าวหาในมาตรา 112 เป็นคดีที่สอง จากการโพสต์ภาพถ่ายของตัวเองขณะชูป้ายวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม โดยมิ้นท์ถูกตำรวจนำหมายจับเข้าทำการจับกุมตัวที่บ้านพักในช่วงค่ำของวันที่ 4 สิงหาคม 2565 และถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพย์ติด 1 คืน ก่อนจะนำตัวมาขออำนาจศาลฝากขังในวันรุ่งขึ้นและได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข เช่น ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 19.00 – 6.00 น. 

นอกจากนี้ 13 สิงหาคม 2565 ยังมีกรณีของ บาส มงคล ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 เป็นคดีที่สาม จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ โดยเช้าของวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่ามีตำรวจจาก บก.ปอท. เข้าแสดงหมายจับที่บ้านพักของบาส และนำตัวไปฝากขังที่สภ.เมืองเชียงรายเป็นเวลา 2 คืน ก่อนที่ศาลเชียงรายจะอนุญาตให้ปล่อยตัวด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท

o กรณีจำเลยมาตรา 112 ที่ได้ประกัน “ภายหลังมีคำตัดสินแล้ว” (2 คน)

2 สิงหาคม 2565 คดีของ “กัลยา” นามสมมติ ศาลนราธิวาศสั่งลงโทษจำคุกจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ ข้อความละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา โดย “กัลยา” ได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท และศาลไม่กำหนดเงื่อนไข

และ 15 สิงหาคม 2565 คดีของปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท ไฟเย็น ศาลอาญาพิพากษาจำคุกในข้อกล่าวหาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กจำนวน 3 ข้อความ ข้อความละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 9 ปี และจำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 6 ปี ซึ่งพอร์ทได้รับการประกันตัวในบ่ายวันเดียวกัน ด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ข้อมูลนักโทษทางการเมืองจำนวน 29 คน

คดีมาตรา 112 รวม 4 คน

  • พลทหารเมธิน (นามสมมติ)

จำนวนวันที่ถูกขัง: 153 วัน (ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2565)

สถานะคดี: สิ้นสุดแล้ว

จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า “เมธิน” เป็นทหารเกณฑ์ประจำการอยู่ที่กองพันทหารแห่งหนึ่ง โดยกลางดึกของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เขาถูกรถยนต์เฉี่ยวชนขณะขับรถจักรยานยนต์และได้มีปากเสียงกัน โดยช่วงหนึ่งเมธินได้มีการพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และถูกคู่กรณีซึ่งบันทึกวิดีโอไว้นำไปแจ้งความในข้อหามาตรา 112 ต่อมา 13 กุมภาพันธ์ 2565 เมธินถูกขังในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกส่งตัวไปธำรงวินัย ที่ มทบ.11 เป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จะเข้าจับกุมตามหมายจับและยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2565 จนกระทั่ง 11 สิงหาคม 2565 ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี โดยเขารับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน 

เนื่องจากการกระทำของ “เมธิน” เกิดขึ้นระหว่างที่เป็นทหารในราชการ การพิจารณาคดีของเขาจึงต้องพิจารณาที่ศาลทหาร และการลงโทษคุมขังก็เป็นการคุมขังในเรือนจำทหาร 

  • สมบัติ ทองย้อย 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 113 วัน (ตั้งแต่ 28 เมษายน 2565)

สถานะคดี: ชั้นอุทธรณ์ 

สมบัติเป็นอดีตการ์ดคนเสื้อแดง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563 เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เข้าข่ายผิดมาตรา 112 คือ โพสต์ที่ยกพระราชดำรัสของรัชกาลที่สิบมาโพสต์โดยน่าจะมีเจตนาเสียดสีคือ ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”, เรื่องการปรับลดงบประมาณและการพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มีเข้าเฝ้าต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกสมบัติเป็นเวลาหกปี 

หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความของสมบัติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติหรือไม่ และในวันที่ 30 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์สั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลว่า คดีดังกล่าวมีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ถ้าปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุควรเชื่อว่าอาจก่อเหตุร้ายแรงประการอื่น หรืออาจจะหลบหนี

  • แซม-พรชัย ยวนยี จากกลุ่มทะลุฟ้า 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 43 วัน (ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2565)

สถานะคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

แซมเป็นอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และหนึ่งในผู้ต้องหาคดี “14 นักศึกษา” ที่เคยถูกฝากขังจากการต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2558 โดยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 แซมเดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อไปขอถอนหมายจับที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของศาลทหารแจ้งว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่หมายจับยังคงค้างอยู่ เขาจึงต้องเดินทางไปขอยกเลิกหมายจับที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นต้นทางผู้ออกหมาย หลังจากรออยู่ 1-2 ชั่วโมง ตำรวจก็นำหมายจับฉบับใหม่มาให้ดู พร้อมแจ้งว่า เขามีหมายจับอีกหมายหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหมายจับของ สน.นางเลิ้ง

เมื่อไปถึงสน.นางเลิ้งในเวลาประมาณ 13.00 ตำรวจก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า เขาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 รวมทั้งมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามมาตรา 217, ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 

หลังจากนั้น ตำรวจส่งตัวแซมไปฝากขังที่ศาล ในเวลา 15.00 น. ก่อนที่ในเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก

  • ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

จำนวนวันที่ถูกขัง: 19 วัน (ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565)

สถานะคดี: ชั้นสอบสวน

28 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 10 ประชาชนจำนวนหนึ่งนำโดยชินวัตร หรือไบรท์ จัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้า ว่าพวกเราโดนรังแก” ร่วมกันสวมเสื้อดำและทำการโกนหัวประท้วงหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว

ข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ชินวัตรถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้และถูกควบคุมตัวไปที่ บช.ปส เป็นเวลา 2 คืน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวเขาไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งชินวัตรได้แถลง “ปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี” โดยขอถอนคำร้องคัดค้านฝากขัง-ไม่ให้การต่อศาล-ไม่ถามค้านพยานหากมีการสืบพยาน และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล อีกด้วย 

เนื่องจากชินวัตรเป็นคนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวและการปราศรัยที่โดดเด่นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 อีกทั้งยังได้รับการเชิญชวนให้เป็นผู้ปราศรัยในกิจกรรมที่คนอื่นๆ จัดขึ้นหลายครั้ง จึงส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีร่วมกับแกนนำคนอื่นๆ จากการชุมนุมครั้งสำคัญๆ ชินวัตรถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 จำนวนรวม 7 คดี ซึ่งมีที่มาจากการปราศรัยแทบจะทั้งหมด ประกอบไปด้วย

  1. ปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา63 หน้ากรมทหารราบที่ 11
  2. ปราศรัยใน #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb ,
  3. ปราศรัยใน #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว
  4. ปราศรัยหน้า สน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาคดี 112 ของทราย เจริญปุระ เมื่อ 21 ธันวาคม 2563
  5. ปราศรัยปัญหาการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ระหว่างกิจกรรมยืนหยุดขังที่หอนาฬิกา ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565
  6. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สำนักงานอัยการสูงสุด ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีที่ 2-3 โดยพูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชโองการที่ไม่ให้บังคับใช้มาตรา 112 กับประชาชน
  7. ปราศรัยในกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้นักกิจกรรมทางการเมืองที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยชินวัตรได้ทำการโกนผมหน้าพระบรมฉายาลักษ์ของรัชกาลที่ 10 อีกด้วย

นอกจากมาตรา 112 แล้ว ชินวัตรยังถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจำนวนอย่างน้อย 28 คดี, ละเมิดอำนาจศาลอีก 2 คดี และข้อหาดูหมิ่นศาลอีก 1 คดี

คดีสืบเนื่องจากม็อบดินแดง รวม 16 คน

  •  คทาธรและคงเพชร จากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จำนวนวันที่ถูกขัง: 130 วัน (ตั้งแต่ 11เมษายน 2565)

สถานะคดี: ชั้นพิจารณาคดี

คทาธรและคงเพชร ถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ระหว่างที่เดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง จากการตรวจสอบของตำรวจพบสิ่งของที่ใต้เบาะรถ เช่น มีดและระเบิดแสวงเครื่องชนิดกระทบแตก เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา เช่น ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, พกอาวุธไปในทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 โดยในวันถัดมา พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว

  • พรพจน์ แจ้งกระจ่าง จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 128 วัน (ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565)

สถานะคดี: ชั้นพิจารณาคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พรพจน์ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2565 หลังจากเข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อ 11 เมษายน 2565 กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลังจากการชุมนุมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อ 10 เมษายน 2565

  • วัชรพล จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 67 วัน (ตั้งแต่ 13 มิถุนายน 2565)

สถานะคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า วัชรพลถูกกล่าวหาจากการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 บริเวณดินแดง                  

  • จตุพล จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 64 วัน (ตั้งแต่ 16 มิถุนายน 2565)

สถานะคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า จตุพลถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 บริเวณดินแดง                  

  • ณัฐพล, พลพล, พุฒิพงศ์, พิชัย,สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์, หนึ่ง และวรวุฒิ จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 63 วัน (ตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2565)

สถานะคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ณัฐพล, พลพล และพุฒิพงศ์ ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 บริเวณดินแดง ในขณะที่พิชัย, สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์, หนึ่ง และวรวุฒิ ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อ 14 มิถุนายน 2565

ในกรณีของธีรวิทย์ ศูนย์ทนายฯ รายงานว่าเขาอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2565 

  • ร็อก-ธนรัตน์ จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 60 วัน (ตั้งแต่ 20มิถุนายน 2565)

สถานะคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ร็อกถูกกล่าวหาว่าครอบครองระเบิด สืบเนื่องจากการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อ 19 มิถุนายน 2565        

  • ภูมิ-ศศลักษณ์ และ โอม-ใบบุญ ผู้ชุมนุมอิสระ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 63 วัน (ตั้งแต่ 17มิถุนายน 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ภูมิและโอมถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 โดยศาลมีคำสั่งว่า กรณีความผิดของผู้ต้องหา เป็นการใช้ความรุนแรงกระทำต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูงโดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 1 (ภูมิ) และ 3 (โอม) เคยกระทำการจนกระทั่งถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาลนี้มาก่อนแล้ว แสดงว่าไม่ยำเกรงต่อคำสั่งและการถูกดำเนินคดี ดังนั้น หากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาทั้งแปดอาจหลบหนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งน่าจะไปก่อเหตุประการอื่นอีก” 

นอกจากนี้ ในจำนวนของผู้ต้องขังคดีจากม็อบดินแดง ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า มีจำนวน 4 คน ที่พยายามทำร้ายร่างกายตัวเองเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ได้แก่ พลพล ที่ได้กินยาแก้ปวดจำนวน 62 เม็ด โดยขณะนี้ยังรักษาอาการไตอักเสบอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นอกจากนี้ยังมี โอม, พุฒิพงศ์และหนึ่ง ที่พยายามทำการกรีดแขนของตัวเองเป็นจำนวนหลายครั้ง

คดีการเมืองอื่นๆ รวม 9 คน

  • เอกชัย หงส์กังวาน 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 122 วัน (ตั้งแต่ 19 เมษายน 2565)

สถานะคดี: ชั้นฎีกา

เอกชัยถูกฟ้องจากการโพสต์เล่าประสบการณ์ทางเพศเมื่อครั้งเขาถูกคุมขังในเรือนจำ ในข้อหานำเข้าข้อมูลลามกอนาจาร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(4) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เอกชัยต้องกลับเข้าเรือนจำอีกเป็นครั้งที่สี่ในชีวิตของเขา ต่อมา 22 เมษายน 2565 ศาลฎีกาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา โดยให้เหตุผลว่า

“เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังถูกฟ้องอีกหลายคดีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี คดียังไม่เห็นสมควรได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา”

  • คิม, ชาติ, คาริม, ป่าน, ทู, อาทิตย์ และเจมส์ จากกลุ่มทะลุฟ้า

จำนวนวันที่ถูกขัง: 31 วัน (ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2565)

สถานะคดี: ชั้นพิจารณาคดี

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ประกอบไปด้วยหกข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 ข้อหาทำให้เสียทรัพย์, ตามมาตรา 358 ข้อหาบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ตามมาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 30 กรกฎาคม 2564 โดยในคดีนี้มี ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กล่าวหา

ในเย็นวันเดียวกัน ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุว่า “จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งการใช้ความรุนแรงเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุสมควร โดยเฉพาะจำเลยทั้ง 7 ยังเคยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้มาแล้วด้วย จึงน่าเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้ง 7 อาจก่อภยันตรายอื่นได้อีก” 

  • สินบุรี แสนกล้า (แม็ก ทะลุฟ้า)

จำนวนวันที่ถูกขัง: 11 วัน (ตั้งแต่ 8 สิงหาคม 2565)

สถานะคดี: ชั้นสอบสวน

8 สิงหาคม 2565 สินบุรีเดินทางเข้า “แสดงตัว” ที่สน.นางเลิ้ง เนื่องจากทราบว่า มีหมายจับในข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ จากการชุมนุมครบรอบรัฐประหาร 2549 เมื่อ 19 กันยายน 2564 ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง โดยหมายจับดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องในหมายจับเดียวกันเดียวกับ แซม-พรชัย ยวนยี, คาริม-จิตริน พลาก้านตง และบัง สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112

ทั้งนี้ สินบุรีระบุว่าเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาก่อน แต่กลับพบว่าตนเองมีชื่อในหมายจับออนไลน์และขึ้นสถานะการจับกุมว่า “หลบหนี” อย่างไรก็ตาม สินบุรียังยืนยันเดินทางมามอบตัวเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ก่อนที่ในเย็นวันเดียวกัน ศาลอาญาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสินบุรีระหว่างสู้คดี

ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2565 นอกจากสินบุรีแล้ว ยังมีสมาชิกทะลุฟ้าที่ถูกคุมขังในเรือนจําจากคดีทางการเมืองรวม 9 คน ได้แก่ แซม-พรชัย ยวนยี ถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำเมื่อ 7 กรกฎาคม 2565 ในข้อหามาตรา 112 ต่อด้วยสมาชิกทะลุฟ้าอีก 7 คน ได้แก่ คิม, ป่าน, ทู, คาริม, ชาติชาย, อาทิตย์ และเจมส์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีการชุมนุมสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ทำลายสถิติของเดือนตุลาคม 2564 ที่มีสมาชิกทะลุฟ้าไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเป็นจำนวน 6 คน ได้แก่ ไผ่-จตุภัทร์, อาทิตย์, ปีก, เปา, ยาใจ และไดโน่