ฟ้องด้วยภาพ “แคปไลน์” กลั่นแกล้งได้หรือไม่? คดีม.112 ของสุริยศักดิ์ มรดกตกค้างยุคศาลทหาร

25 สิงหาคม 2565 ศาลอาญาสืบพยานคดีมาตรา 112 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช.สุรินทร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 5 ตุลาคม 2565 โดยคดีนี้ฝ่ายโจทก์มีหลักฐานเป็นเพียงกระดาษหนึ่งใบที่พิมพ์ภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นภาพแชทไลน์ โดยเป็นภาพผู้ใช้ไลน์บัญชีที่ตั้งชื่อว่า “Suriyasak” ส่งข้อความคุยกันและมีข้อความกล่าวถึง “ระบอบกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมาหลายร้อยปี” โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น

สุริยศักดิ์ถูกจับกุม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 06.00 น. ที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ โดยทหารในเครื่องแบบหลายหน่วย ขณะถูกจับเขาอายุ 49 ปี เขาและผู้ต้องหาคนอื่นรวม 9 คน ถูกจับพร้อมกันในข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยสะสมอาวุธและเกี่ยวข้องกับการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ระหว่างการแถลงข่าว สุริยศักดิ์แสดงความคิดเห็นว่า ขอปฏิเสธความเกี่ยวพันกับอาวุธที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด เพราะไม่ใช่แนวทางการเคลื่อนไหวของ นปช. เนื่องจาก นปช. เชื่อในแนวทางสงบสันติ ต่อมาในคดีเกี่ยวกับก่อการร้ายของผู้ต้องหาทุกคนอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ทุกคนได้รับการปล่อยตัว 

แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สุริยศักดิ์ถูกตำรวจมาอายัดตัวต่อเพื่อแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และส่งเขากลับเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คดีของเขาอยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และถูกส่งไปขึ้นศาลทหาร ซึ่งที่ศาลทหารเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและการพิจารณาคดีก็ล่าช้าไม่ต่อเนื่อง ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานกว่าสองปี จนกระทั่งได้ประกันตัวในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นเวลาหลังจัดการเลือกตั้งทั่วไปและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อแล้ว หลังจากนั้นคดีของเขาซึ่งตกค้างอยู่ในศาลทหารก็ถูกสั่งให้โอนกลับมาพิจารณาคดีต่อที่ศาลปกติ

ศาลอาญานัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ในวันที่ 16-18 สิงหาคม 2565 โดยพล.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช. ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ได้รับเอกสารภาพถ่ายจากหน้าจอไลน์มาจากตำรวจสันติบาล ส่วนพล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ตำรวจสันติบาล ก็เบิกความว่า ได้รับภาพดังกล่าวมาจากสายลับที่เข้าไปตีสนิทกับสุริยศักดิ์ ส่วนพยานโจทก์ผู้ตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยที่ยึดไปเบิกความว่า พบการติดตั้งแอพพลิเคชันไลน์ในโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่พบบัญชีไลน์ที่ชื่อ “Suriyasak” ที่ส่งข้อความตามฟ้อง เนื่องจากบัญชีไลน์อาจถูกลบไปแล้ว โดยพยานโจทก์หลายคนก็เบิกความต่อศาลยอมรับว่า บัญชีไลน์ปลอมแปลงได้ง่าย อาจมีผู้ที่เอาภาพและชื่อของบุคคลอื่นไปตั้งบัญชีใหม่ได้ แต่สาเหตุที่ฟ้องจำเลยคดีนี้เพราะเห็นว่า รูปโปรไฟล์ในไลน์มีภาพรถยนต์ ซึ่งหมายเลขทะเบียนจดทะเบียนด้วยชื่อของจำเลย

ด้านจำเลยเบิกความในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก่อนถูกจับกุมไม่เคยใช้ไลน์เพราะไม่ถนัดเทคโนโลยี หลังได้ปล่อยตัวก็ใช้งานไลน์แล้วแต่สายตาไม่ดีจึงใช้ในแท็บเล็ต นอกจากนี้ยังมีเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้ภาพตัวเองตั้งเป็นโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก เป็นภาพเดียวกับที่ปรากฏเป็นโปรไฟล์ไลน์ในคดีนี้ โดยเชื่อว่าการดำเนินคดีนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกจับกุม 

ในการทำคำพิพากษาคดีนี้ ศาลจึงต้องวินิจฉัยว่า ลำพังภาพถ่ายจากหน้าจอไลน์ว่า มีบัญชีชื่อและภาพคล้ายบุคคลหนึ่ง จะเพียงพอรับฟังว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ส่งข้อความเข้าไปในไลน์จริงหรือไม่ ติดตามผลคำพิพากษาได้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 

ดูรายละเอียดคดีนี้เพิ่มเติมในฐานข้อมูล ได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/783#detail