ทิวากร วิถีตน: การหมดศรัทธาฯ ไม่ใช่อาชญากรรม

“หมดศรัทธา มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ หมดรัก, หมดเยื่อใย, หมดใจ, หมดความไว้ใจ มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้…”

คือ ส่วนหนึ่งของข้อความที่ ‘ทิวากร วิถีตน’ โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่ออธิบายการสวมเสื้อยึดแสดงความรู้สึก “หมดศรัทธา” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่เขาเองก็ไม่ได้คาดคิดเลยว่า การแสดงความรู้สึกอย่างซื่อตรงตามสามัญสำนึกจะนำไปสู่การคุกคามต่อตัวเขาและครอบครัว รวมถึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 29 กันยายน 2565

จากช่างวิศวกรไฟฟ้าสู่ไพร่ตาสว่าง

ย้อนกลับไปก่อนที่ทิวากรจะกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ต้องหาและจำเลยในคดี มาตรา 112 เขาเคยประกอบอาชีพเป็นวิศวกร ก่อนจะเดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน ที่จังหวัดขอนแก่น โดยเขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2536 และเมื่อเรียนจบก็ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ รวมๆแล้วเขามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงราว 20 ปี

ในระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองหลวง ทิวากร มีโลกอีกหนึ่งใบที่ใช้เชื่อมต่อกับเพื่อนฝูงผ่านห้องสนทนาบนเว็บไซต์แพนทาวน์ มันเป็นสถานที่ที่เขาและเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยมัธยมต่างรวมตัวกันพูดคุยหลังต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตัวเองหลังเรียนจบมา แต่ทว่า การพูดคุยที่เต็มไปด้วยอรรถรสของพวกเขาก็ต้องเจอกับข้อจำกัดว่า ใช้พื้นที่เซิร์ฟเวอร์จำนวนมากจนเกือบเต็มแล้ว ทำให้ทิวากรได้รับมอบหมายจะเพื่อนให้ทำเว็บบอร์ดอันใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้พูดคุยกัน

แม้ต้องย้ายถิ่นฐานบนโลกออนไลน์ครั้งใหม่ แต่ทิวากรและพ้องเพื่อนก็ยังคงพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เขาค้นพบว่า บทสนทนาในห้องก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งเพื่อนๆในห้องสนทนาส่วนใหญ่จะไม่ชอบทักษิณและเห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรฯ มีเพียงตัวเขาและเพื่อนนายตำรวจและเพื่อนจำนวนน้อยที่มีความเห็นไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งทิวากรไม่เห็นด้วยกับการที่แกนนำพันธมิตรมักปราศรัยโจทตีรัฐบาลทักษิณโดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆสนับสนุน ก็เลยแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆในห้องสนทนาจนถูกอดีตเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งด่าทอ เมื่อบรรยากาศในห้องสนทนาเปลี่ยนไปประกอบกับตัวทิวากรถูกด่าทออย่างรุนแรงไปถึงบุพการีเขาก็รู้สึกหมดใจและเลิกทำเว็บบอร์ดที่ตัวเองเป็นคนสร้างขึ้นจนสุดท้ายเว็บก็ถูกปิดไป

แม้ประตูทางการเมืองในโลกออนไลน์จะถูกปิดไป แต่ประตูทางการเมืองใบใหม่ของทิวากรก็เปิดขึ้น หลังจากเขาตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง โดยในช่วงแรกที่มีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เขายังคงไม่เคลื่อนไหว พร้อมจับตาดูว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารและ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมีฝีมือในการบริหารประเทศแค่ไหน จนกระทั่งในปี 2550 เขาได้ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่สนามหลวงซึ่งขณะนั้นมีแกนนำคนสำคัญที่เขาเคยเห็นในที่ชุมนุมก็มี สุรชัย แซ่ด่าน จักรภพ เพ็ญแข รวมถึงสมบัติ บุญงามอนงค์หรือ บก.ลายจุด ซึ่งตัวของทิวากรยังเคยอัดคลิปการปราศรัยของเวทีนปก.ลงแผ่นซีดีมาแจกเพื่อนบ้านด้วย

ในช่วงที่ต่อมรับรู้ทางการเมืองกำลังเริ่มทำงาน ทิวากรเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นสถาบันกษัตริย์มากขึ้น โดยในช่วงปี 2549 เขาเห็นรุ่นน้องคนหนึ่งโหลดหนังสือกรณีสวรรคตบนเว็บไซต์หนึ่งมา ทำให้เขารู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นน่าสนใจเพราะโดยปกติคนมักจะโหลดไฟล์เพลง หนัง ไปจนถึงหนังผู้ใหญ่จากเว็บไซต์ฝากไฟล์ที่เขาใช้งาน แต่น้อยคนที่จะดาวน์โหลดหนังสือ ทว่าไฟล์หนังสือกรณีสวรรคตรัชกาลที่แปดกลับมีคนดาวน์โหลดราว 300 – 400 คน ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับการดาวน์โหลดไฟล์หนังสืออื่นๆ เขาจึงได้ริเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ด้วยว่า ทิวากรเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขาเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาหลายเล่ม เขาจึงพอทราบพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ไทยอยู่บ้าง แต่ในความเห็นของเขา ในหลวงรัชกาลที่แปดคือพระมหากษัตริย์ที่ถูกพูดถึงไม่มากนักเมื่อเทียบกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีองค์อื่นๆ หลังดาวน์โหลดหนังสือทิวากรใช้เวลาอ่านตั้งแต่ช่วงค่ำไปจนถึงตีสี่ด้วยความตื่นเต้นที่ได้รับข้อมูลที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ความคิดความเชื่อบางอย่างของทิวากรเริ่มสั่นคลอนมาตั้งแต่ค่ำคืนนั้น

ทิวากรเรียกสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่า “ตาสว่าง” มันทำให้เขามีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปก. ที่ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนชื่อและโครงสร้างใหม่เป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยทิวากรรู้สึกว่าเป้าหมายการต่อสู้ของนปช.ดูจะแคบเกินไป ทำให้ ในช่วงปลายปี 2553 ทิวากรบอกเพื่อนของเขาหลายๆคนว่า เขาจะยุติการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงและหลังจากนั้นทิวากรก็ไม่เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มการเคลื่อนไหวอื่นๆ อีก

จากการหายไปของวันเฉลิมสู่วันหมดศรัทธาฯ

แม้ร่างกายจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ความคิดและจิตใจก็ยังคงจดจ่ออยู่กับการเมือง จนกระทั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ทิวากรก็ต้องพบกับความผิดหวังอย่างรุนแรง เมื่อพบว่า เพื่อนร่วมชาติของเขาไม่ได้มีความรู้สึกไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ในทางกลับกันกับมีความคิดเห็นในเชิงว่า น่าจะเอาคนเสื้อแดงออกไปให้หมด จนเขารู้สึกตกใจกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังอย่างมากเพราะตัวเขาเองก็เป็นอดีตคนเสื้อแดง เขาได้แต่ตั้งคำถามในใจว่าเพียงแค่เห็นต่างกันถึงขั้นจะต้องกำจัดกันเลยหรือ และนั่นเองจึงเป็นตัวจุดชนวนให้เขามีความคิด “ย้ายประเทศ” เหมือนกับที่ดาราดังรายหนึ่งเคยขึ้นกล่าวบนเวทีรับรางวัลว่า “ใครไม่รักพ่อ ก็ออกจากบ้านของพ่อไป”

หลังความคิดเรื่องย้ายประเทศเริ่มเด่นชัด ทิวากรคิดกับตัวเองว่าก่อนจะย้ายประเทศ อย่างน้อยก็ขอให้เขาได้อยู่กับแม่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต จึงตัดสินใจทิ้งชีวิตคนเมืองกับอาชีพวิศวกรไว้เบื้องหลัง แล้วเดินทางกลับบ้านพร้อมกับเปลี่ยนชีวิตใหม่เป็นเกษตรกรเต็มขั้น ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเลือกที่จะเก็บตัวอยู่ที่บ้านไม่พูดคุยกับใครหรือ “หลบอยู่ในรู” เพราะทิวากรรู้ดีว่าหากเขาไปสุงสิงกับคนอื่นก็คงอดไม่ได้ที่จะพูดคุยเรื่องการเมืองรวมถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ แล้วสุดท้ายคนในชุมชนก็อาจไปบอกฝ่ายปกครองก่อนที่ทหารจะมาหิ้วตัวเขาไปเหมือนกับเหตุการณ์ที่ทหารเคยจับนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารที่ขอนแก่น

หลังกลับไปอยู่บ้านที่ขอนแก่นทิวากรใช้ชีวิตเงียบๆ โดยไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวหรือร่วมชุมนุม แต่เขาก็ยังติดตามสถานการณ์ทางการเมืองผ่านทางอินเทอร์เน็ตอยู่เป็นระยะ จนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีเหตุกราดยิงที่โคราช ทิวากรเคยดีแอคทีเวทเฟซบุ๊กเพราะรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเขาได้ดูคลิปในยูทูปและเจอคลิปติ๊กต๊อกของ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ นักวิชาการที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศที่จึงทำให้รู้ว่า ปวินเปิดกลุ่มเฟซบุ๊ก Royalist Market Place – ‘ตลาดหลวง’ เป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นการเมืองโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทิวากรจึงตัดสินใจกลับมาใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดตามกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะ

ต่อมา ในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีรายงานข่าวการหายตัวไปของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่กัมพูชา และมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าเขาถูก “อุ้มหาย” จนทำให้เกิดการถกเถียงในโลกออนไลน์ว่า มีความเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ เนื่องจากกรณีของวันเฉลิมเป็นเรื่องร้ายแรง สมาชิกในตลาดหลวงหลายคนต่างแสดงความคิดเห็นทำนองว่าลำพังการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์น่าจะไม่เพียงพอและพากันแสดงความเห็นว่าน่าจะแสดงออกในพื้นที่สาธารณะอย่างไรได้บ้าง ทิวากรซึ่งตอนนั้นตัดสินใจว่าจะไม่เคลื่อนไหวด้วยการไปร่วมชุมนุมอีกแล้วก็คิดว่าจะสั่งเสื้อที่เขียนข้อความว่า “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” ออกมาใส่ หลายคนพยายามทักท้วงทิวากรว่าข้อความบนเสื้อของเขาน่าจะล่อแหลมและอันตราย แต่ทิวากรก็ตัดสินใจแล้วที่จะแสดงออกในวิถีทางของเขาเอง

โดยทิวาตั้งโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ตลาดหลวง’ สอบถามเพื่อนสมาชิกอื่นๆว่าจะมีใครพอทำเสื้อขายให้เขาได้บ้าง หลังเขาโพสต์ได้ไม่นานก็มีสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งตอบว่ายินดีทำให้ ทิวากรจึงบอกสเป็กและข้อความ พร้อมทั้งชำระเงินค่าเสื้อไปสามตัว

“ตอนที่ผมคิดเรื่องเสื้อตัวนี้ ผมน่าจะนึกถึงการแสดงออกว่ารักพระมหากษัตริย์หรือรักสถาบันกษัตริย์ด้วยการใส่เสื้อ “เรารักในหลวง” ในเมื่อคนรักสถาบันกษัตริย์สามารถใส่เสื้อ “เรารักในหลวง” ได้ การแสดงออกด้วยการใส่เสื้อที่มีคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ก็น่าจะทำได้ ซึ่งผมมั่นใจว่ามันไม่ผิดกฎหมายข้อไหน แถมยังไม่ผิดศีลธรรมอะไรด้วย ตราบใดที่แค่ใส่เสื้อโดยไม่ได้ไปละเมิดคนอื่น ไม่ได้ระรานคนอื่น ไม่ได้ด่าคนอื่น ไม่ได้ยั่วยุคนอื่น และไม่ได้ไปทำผิดกฎหมายข้อไหน” ทิวากร กล่าว

หลังได้รับเสื้อที่สั่งซื้อในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ทิวากรก็เอามาใส่ออกนอกบ้านในวันเดียวกันนั้นเลย ทั้งใส่ไปไร่และใส่ไปตลาดซึ่งคนที่เห็นเขาใส่เสื้อ ไม่ว่าจะใส่เสื้อไปที่ไหน ก็ไม่มีใครต่อว่าหรือแม้แต่ทักท้วงเสื้อตัวนี้เลยแม้แต่คนเดียว แต่เมื่อเขาตัดสินใจถ่ายรูปตัวเองโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนเข้ามาโพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยและมีบางคนเข้ามาด่าทอชนิดที่เรียกว่า “ทัวร์ลง” แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการคุกคาม

เมื่อวิถีแห่งเสรีภาพกลายเป็นภัยคุกคาม(รัฐ)

หลังจากในวันที่ 19 มิถุนายน มีเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน.สองนายเข้ามาขอพูดคุยกับเขาที่บ้านแต่วันนั้นเขาไม่อยู่ เจ้าหน้าที่จึงพยายามสอบถามเรื่องเสื้อ “หมดศรัทธา” จากแม่ของเขาแต่แม่เขาก็ไม่รู้เรื่อง วันที่ 20 มิถุนายน เจ้าหน้าที่มาที่บ้านของทิวากรเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากันสิบกว่าคน เจ้าหน้าที่พยายามโน้มน้าวให้ทิวากรเลิกใส่เสื้อหมดศรัทธาโดยอ้างว่าหากใส่ต่อไปอาจจะมีเหตุรุนแรงเกิดกับทิวากรได้ ทิวากรแย้งไปว่าแค่ใส่เสื้อมันจะไปมีความรุนแรงได้ยังไง เจ้าหน้าที่ยังถามทิวากรด้วยว่าเหตุใดเขาจึงหมดศรัทธาในสถาบันฯ รวมถึงยังถามเรื่องแนวคิดทางการเมืองของเขาด้วย

เมื่อทิวากรยืนยันว่าจะใส่เสื้อต่อไป เจ้าหน้าที่ก็ขอตัวกลับไปโดยที่ครั้งนั้นเขายังไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกควบคุมตัว แต่ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้รับข้อมูลที่มีค่ากลับไปนั่นคือข้อมูลที่ทิวากรเคยมีประวัติเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลจิตเวช แต่แล้วในเดือนกรกฎาคมก็เริ่มมีคนรู้จักส่งข่าวถึงทิวากรว่าให้ระวังตัวเพราะเขาน่าจะตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่

“แหล่งข่าว” ยังบอกทิวากรด้วยว่าฝ่ายรัฐจะทำให้คนเข้าใจว่าทิวากรเป็นคนมีอาการป่วยทางจิตเพื่อที่คำพูดหรือการแสดงออกของเขาจะได้ไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่เขาถูกเตือนจริงๆเพราะในเดือนกรกฎาคมเจ้าหน้าที่ก็อ้างอำนาจตามพ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ควบคุมตัวเขาไปที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

ตลอด 14 วันที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม จนถึง 22 กรกฎาคม 2564 ทิวากรถูกจับฉีดยา และถูกควบคุมไว้ในห้องที่มีลูกกรง นอกจากนั้นยังต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ ซึ่งเขาต้องตอบคำถามเพื่อประเมินสภาพจิตใจ

“ตอนที่ถูกเอาตัวไปที่โรงพยาบาล ผมทั้งต้องกินยาแล้วก็ถูกฉีดยา ผมไม่รู้ว่ามันคือยาอะไรรู้แต่ว่าหลังตัวยาเข้าไปในร่างกายแล้วมันจะเบลอๆ มีสติไม่เต็มร้อย ผลข้างเคียงของยายังทำให้ผมรู้สึกเจ็บหน้าอกด้วย ตอนที่ต้องกินยาหรือฉีดยาผมรู้สึกว่าร่างกายตัวเองมันไม่ไหวเหมือนจะตายเอา” ทิวากร เล่าถึงนาทีที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวช

“นอกจากการกินยา ผมยังต้องทำแบบทดสอบต่างๆ ทั้งทดสอบไอคิว ทดสอบบุคลิก แล้วก็จะมีทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยามาคุยด้วย ปรากฎว่าผลการทดสอบออกมาค่อนข้างดี ผมพยายามต่อรองกับหมอว่าถ้าผมปกติดีก็ปล่อยผมออกไปได้ไหม ตอนแรกหมอเหมือนจะยอม แต่ระหว่างที่ผมกำลังคุยกับหมอก็มีโทรศัพท์เข้ามาสายหนึ่ง ผมแอบเห็นชื่อคนที่โทรเข้ามาแวบหนึ่งก็พอจะจำได้ว่าเป็นชื่อคนที่ทำงานที่ศาลากลาง หมอรับสายได้สักพักก็ทำหน้าเครียด ผมก็พอจะรู้ชะตากรรมว่าคงยังไม่ได้ออกจากโรงบาลแหงๆ สุดท้ายผมก็เลยพยายามต่อรองกับหมอว่า จะขังผมต่อก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้งดยาได้ไหมเพราะเมื่อผมไม่ป่วยก็ไม่ควรจะต้องกินยา” ทิวากร กล่าว

ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทิวากรยังถูกคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาล นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งไปรวมตัวที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทิวากรโดยมีการนำป้ายเขียนข้อความ “ศรัทธาบังคับกันไม่ได้” ไปแขวนที่หน้าป้ายโรงพยาบาลด้วย สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในนักกิจกรรมที่ไปร่วมชุมนุมที่หน้าโรงพยาบาลพยายามจะขอเข้าเยี่ยมทิวากรในโรงพยาบาลแต่ก็ถูกปฏิเสธ ทิวากรถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาลจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคมจึงได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ทิวากรเผยในภายหลังด้วยว่าเขารู้สึกว่าตัวเองติดหนี้คนที่มาชุมนุมที่หน้าโรงพยาบาลเพราะถ้าไม่มีคนมาร่วมชุมนุม คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาล

สิ่งหนึ่งที่ทิวากรค้นพบระหว่างการถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาลคือการตีตราคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันว่าเป็นคนสติไม่ดี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เพราะในปี 2561 ช่วงที่มีการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งเขาทราบว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งที่ขึ้นปราศรัยพาดพิงถึงรัชกาลที่สิบซึ่งขณะนั้นเป็นพระบรมโอรสาธิราชแล้วถูกเอาตัวลงจากเวทีก่อนจะถูกพาตัวไปโรงพยาบาลจิตเวช

หลังได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาล ทิวากรต้องพักฟื้นตัวจากผลกระทบที่ได้รับทั้งจากยาและกระบวนการรักษาโดยเฉพาะอาการเจ็บหน้าอกที่เขาเริ่มเป็นตั้งแต่ถูกฉีดยาในโรงพยาบาล ทิวากรยอมรับว่าเขารู้สึกสูญเสียตัวตนไปหลังออกจากโรงพยาบาล เขาไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นทั้งในประเด็นการเมืองและประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนในอดีต

จนกระทั่งวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เกิดกรณีที่ ภาณุพงศ์หรือไมค์ นักกิจกรรมราษฎรถูกทำร้ายร่างกายขณะที่ตำรวจพยายามจะอายัดตัวเขาไปที่สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่นหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ทิวากรจึงกลับมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

ทิวากรถือว่านักกิจกรรมราษฎรหลายๆคนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเพราะระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาลจิตเวชนักกิจกรรมหลายๆ คน ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาออกจากโรงพยาบาล จนเกิดกระแส #saveทิวากร ความอยุติธรรมที่เกิดกับภาณุพงศ์ได้ไปปลุกตัวตนของเขาในฐานะผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง

ล่วงมาถึงต้นปี 2564 นักกิจกรรมหลายๆคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทยอยถูกคุมขังเป็นระยะเวลายาวนานในเรือนจำ ทิวากรจึงตัดสินใจแสดงออกทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยวิธีการของเขาเอง ในขณะที่นักกิจกรรมคนอื่นๆเลือกใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวใช้นักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง ทิวากรเลือกแสดงออกในแบบของเขาเองด้วยการประกาศถ้าไม่ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัว เขาจะนำเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” มาใส่อีกครั้งหนึ่ง ทิวากรยังประกาศว่าจะทำเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” มาขายให้คนที่สนใจในวันที่ 6 มีนาคม 2564 แต่ทิวากรก็ไม่มีโอกาสทำตามความตั้งใจของเขา

เช้าวัน 4 มีนาคม 2564 ตำรวจประมาณ 20 นาย มาจับตัวเขาที่บ้านไปแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนสามกรรม หนึ่งในนั้นคือการโพสต์ภาพตัวเองสวมเสื้อ “หมดศรัทธา” ต่อสถาบันกษัตริย์ และมีข้อความหนึ่งที่ทิวากรถูกกล่าวหาเพราะเขาโพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปล่อยตัวคนที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 พร้อมระบุทำนองว่าการปล่อยตัวหรือการขังจำเลยคดีมาตรา 112 อาจส่งผลให้เกิดได้ทั้งความรักหรือความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีทิวากรยังมีอิสรภาพอยู่บ้างเนื่องจากได้รับสิทธิในการประกันตัว แต่เขาก็รู้ดีว่าทันทีที่คดีริเริ่มอิสรภาพของเขาก็อยู่ในสภาวะนับถอยหลัง ทิวากรยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ของเขาดูจะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่เขาประกาศจะทำเสื้อเราหมดศรัทธาฯ ออกมาขาย จนคล้ายกับว่าเมื่อการจับเขาเข้าโรงพยาบาลไม่สามารถทำให้เขาหยุดแสดงความเห็นได้ เจ้าหน้าที่จึงยกระดับมาดำเนินคดีกับเขาแทน

นอกจากคดีที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว ทิวากรต้องเผชิญกับคดีอื่นในเดือนสิงหาคม 2564 เขาได้รับหมายเรียกคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกคดีหนึ่ง ครั้งนี้เป็นหมายทางไกลจากจังหวัดลำปาง เนื่องจากมีประชาชนคนหนึ่งจากจังหวัดลำปางเห็นโพสต์ที่เขาแชร์แคมเปญจากเว็บไซต์ change.org เชิญชวนประชาชนที่เห็นควรให้มีการทำประชามติว่าจะคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือยกเลิก มาบนเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งในความเห็นของประชาชนคนนั้น การแชร์แคมเปญดังกล่าวน่าจะเป็นการกระทำความผิดจึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้กับสถานีตำรวจในจังหวัดลำปาง เนื่องจากในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ทิวากรต้องไปรายงานตัวกับตำรวจที่จังหวัดลำปางไม่มีรถประจำทางวิ่ง ทิวากรจึงจำเป็นต้องขี่รถจักรยานยนต์จากบ้านที่จังหวัดขอนแก่นเป็นระยะทางราว 500 กิโลเมตรไปที่จังหวัดลำปางซึ่งเขาไม่เคยเดินทางไปมาก่อนเพื่อรายงานตัวตามนัด

ขอยืนยันอีกครั้ง! การหมดศรัทธาฯ ไม่ใช่อาชญากรรม

ในวันที่ 29 กันยายน และ 4 ตุลาคม 2565 จะเป็นวันพิพากษาในคดีของทิวากรทั้งที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดลำปางตามลำดับ

โดยในคดีที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 29 กันยายน 2565 ทิวากรได้เบิกความต่อศาลว่า การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เป็นเพียงการใช้เสรีภาพแสดงออกขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่รักและศรัทธาอย่างจริงใจของประชาชน ไม่มีเจตนาล้อเลียนหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด ตนใส่เสื้อดังกล่าวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้น

ส่วนการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 และการปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง โดยมีการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ก็เพราะเห็นว่า การใช้มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การนำมาใช้จึงเกิดผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เป็นผู้เสียหายในคดี 112 ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบอกให้ใช้หรือไม่ให้ใช้มาตราดังกล่าวได้ ประกอบกับตนเคยเห็นข่าวที่รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 รวมถึง มจ.จุลเจิม แสดงความเห็นในเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 และการให้ประกันแล้วมีผลต่อคดีเหล่านั้น ตนจึงเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงราชองครักษ์ระดับสูง สามารถเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นต่อการใช้มาตรา 112 ได้

อย่างไรก็ดี ทิวากรเปิดเผยในเดือนสิงหาคม 2565 หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานคดียุยงปลุกปั่นที่จังหวัดลำปางว่าเขาไม่ได้เตรียมตัวอะไรสำหรับการฟังคำพิพากษา หากจะต้องติดคุกเขาก็เตรียมใจไว้แล้วเพราะเขาถือว่าสิ่งที่เขาพูดหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยเจตนาดี ไม่มีความเกลียดชัง และเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความสุภาพ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีการใช้คำหยาบคาย ถ้าสุดท้ายเจตนาบริสุทธิ์ของเขาจะถูกตัดสินให้เป็นอาชญากรรมทิวากรก็ถือว่าเขาภูมิใจแล้วที่ได้ยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเขา ถ้าสุดท้ายจะต้องติดคุกโดยที่ตัวเขาไม่ได้ทำอะไรผิดก็ถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายไป

ทิวากรยืนยันอย่าหนักแน่นว่าแม้เขาจะหมดหวังกับประเทศนี้และตั้งใจที่จะย้ายประเทศ แต่เขาก็ตั้งใจจะไปอย่างมีศักดิ์ศรี ไปในฐานะอิสรชนไม่ใช่ผู้ลี้ภัย ทิวากรตั้งใจที่จะสู้คดีให้ถึงที่สุดและจะชนะคดีให้ได้

“ถ้าคุณ(รัฐ)ฟ้องมาผมก็จะสู้ถึงที่สุด ชนะพวกคุณให้ได้ไม่ว่าจะฟ้องมายังไง” ทิวากร กล่าว

หากคำพิพากษาคดีของทิวากรทั้งที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดลำปางออกมาเป็นทางบวก ทิวากรก็คงจะเตรียมเข้าสู่บทใหม่ของชีวิตคือการเตรียมตัวย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แม้ทิวากรจะยอมรับว่าปรากฎการณ์การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนที่เกิดขึ้นในปี 2563 จะเป็นเหมือนการยกระดับการต่อสู้ทางการเมืองชนิดที่ตัวเขาเองยังต้องทึ่ง แต่ตัวเขาเองผ่านประสบการณื ผ่านบาดแผลกับประเทศนี้มามากพอแล้ว และไม่ว่าท้ายที่สุดจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศนี้หรือไม่ ตัวเขาก็ตัดสินใจแล้วที่จะไปเริ่มชีวิตในประเทศใหม่

“ตอนที่เห็นการชุมนุมในปี 63 ยอมรับเลยว่าผมถึงขั้นน้ำตาไหล เพราะผมรู้สึกว่าอันนี้มันของจริงเลย อย่างตัวผมเองก็แค่หมดศรัทธาแต่ข้อเรียกร้องของคนที่ออกมาชุมนุมมันไปไหนต่อไหนแล้ว ก็คงเหมือนที่ทนายอานนท์เคยพูดไว้ว่าอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้ผมเปลี่ยนใจ ที่ผ่านมาผมมีบาดแผลกับประเทศนี้เยอะพอแล้ว ผมคงยืนยันคำเดิมเหมือนที่ผมเคยพูดกับตำรวจที่มาบ้านผมเมื่อวันที่ 20 มิถุนา 64 ว่าไม่ว่าประเทศนี้จะมีประชาธิปไตยไม่ ผมก็จะย้ายประเทศแต่ก่อนจะถึงวันนั้นผมจะสู้คดีของผมให้ถึงที่สุดเสียก่อน”