1170 1146 1201 1050 1746 1464 1011 1780 1083 1899 1356 1186 1999 1820 1611 1260 1377 1107 1152 1429 1278 1818 1218 1440 1545 1465 1668 1929 1197 1356 1277 1590 1023 1233 1856 1074 1556 1423 1489 1076 1200 1935 1193 1535 1613 1199 1508 1545 1488 1708 1441 1477 1674 1772 1762 1196 1389 1832 1996 1974 1258 1499 1963 1297 1823 1795 1787 1260 1172 1622 1880 1898 1950 1852 1095 1553 1999 1119 1095 1412 1421 1180 1479 1667 1473 1585 1107 1623 1211 1001 1300 1660 1606 1260 1195 1619 1880 1824 1240 แอมมี่ ไชยอมร : ครึ่งชีวิตที่ผ่านในวงการบันเทิง และที่เหลือบนถนนศิลปะการเมือง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แอมมี่ ไชยอมร : ครึ่งชีวิตที่ผ่านในวงการบันเทิง และที่เหลือบนถนนศิลปะการเมือง

 

 

 
ในปี 2563 ท่อนเพลง “วัน ทรู ทรี โฟร์ ไฟฟ์....” ของใครหลายคนก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังเวทีการชุมนุมทางการเมืองถูกแต่งแต้มสีสันด้วยเสียงเพลงของเหล่าศิลปิน ดารา นักร้องนักดนตรี ที่ประกาศตัวสนับสนุนการชุมนุมและผลัดกันมาขึ้นเวทีสร้างความสนุกสนานสลับไปกับคำปราศรัย โดยศิลปินคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากทั้งในด้านงานดนตรีและบทบาททางการเมือง คือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ นักร้องวง The Bottom Blues เจ้าของเพลงที่ติดหูอย่าง "เก็บรัก" และ "1 2 3 4 5 I LOVE YOU"
 
ด้วยการแต่งตัว หมวกคู่ใจที่เป็นเอกลักษณ์ จับไมค์เปล่งเสียงเนิบๆ และดีดกีตาร์ร้องเพลง แอมมี่ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกบนเวทีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 แบบครบวง จากนั้นเขาก็ไม่หยุดที่จะเดินสายร้องเพลงบนเวทีท้องถนน พร้อมกับชักชวนเพื่อนศิลปินมาร่วมแสดงออกทางการเมืองในนามกลุ่ม Unmute People
 
เมื่อเริ่มต้นเดินในเส้นทางการเมืองแล้ว ชีวิตแวดวงบันเทิงของแอมมี่ในฐานะศิลปินก็ต้องเจอกับแรงเสียดทานอย่างมาก และแทบจะไปต่อไม่ได้ ยิ่งเมื่อ “หมวกใบใหม่” ที่เป็นของแถมจากถนนเส้นนี้คือสถานะ “ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112” แอมมี่ต้องเข้าเรือนจำนานกว่า 70 วัน กระทั่งเมื่อได้ประกันตัวแล้วก็ยังต้องใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) พร้อมกับเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน และต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ที่ศาลต่างๆ 
 
 
 
2614
 
 
ก็ไม่รู้อะไร ทำให้เราต้องผ่านมาพบมาเจอวันและคืน.. ♪
 
แอมมี่เกิดและเติบโตในครอบครัวที่พอจะมีฐานะ เขาเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ระหว่างเรียนก็เริ่มเล่นดนตรีในโรงเรียนและเริ่มแต่งเพลงเอง ก่อนจะเข้าสู่วงการบันเทิงจากงาน Fat Festival และเนื่องจากสไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แอมมี่จึงได้รับการจดจำจากผู้คนว่าเป็น "แฟชั่นนิสต้า" เขามักปรากฏตัวพร้อมหมวกทรงวินเทจ รองเท้าหนัง และกางเกงขาม้าจริตยุค 1960’s อีกทั้งชีวิตส่วนตัวของแอมมี่เองก็เป็นที่รู้จักในสังคม เขาแต่งงานกับนางแบบชื่อดัง ไอด้า ไอรดา เมื่อปี 2555 และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อลัลลาเบล
 
ชีวิตในวงการดนตรีของแอมมี่เริ่มต้นขึ้นในวัย 16 ปี ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย จนจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) นอกจากนี้ เขายังเป็นศิลปินที่แต่งเพลงเอง เป็นโปรดิวเซอร์เอง และร้องนำเอง เรียกได้ว่าเป็นหัวหอกคนสำคัญของวง The Bottom Blues ซึ่งออกอัลบั้มของตัวเองครั้งแรกในปี 2553 ชื่ออัลบั้มถุงเท้าสีขาว ดวงดาว และความฝัน และอัลบั้มที่สองในชื่อ เบบี้บูม
 
กระทั่งก้าวเท้าขึ้นบนเวที “การเมือง” ครั้งแรกเมื่ออายุ 32 ปี นั่นเท่ากับว่าแอมมี่โลดแล่นอยู่บนถนน “สายบันเทิง” มาตลอดครึ่งชีวิต เมื่อถามว่าบรรยากาศในแวดวงสายบันเทิงเป็นอย่างไร? พ่อหนุ่มรองเท้าเชลซีบูตก็ตอบว่า เป็นบรรยากาศที่แตกต่างกับแวดวงการเมืองอย่างมาก เพราะถูกห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากสปอนเซอร์หลักๆ ของงานเทศกาลดนตรี งานคอนเสิร์ต หรือผับบาร์นั้น จะยึดโยงโดยธรรมชาติกับธุรกิจเครื่องดื่มขนาดใหญ่ที่แทบจะเป็นขั้วตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
"วงการดนตรีมันถูกปลูกฝังว่า ห้ามยุ่งเรื่องการเมือง ศาสนา เป็นข้อห้ามฝังหัวเลย ไม่งั้นชีวิตคุณจบนะ ช่วงที่กระแสสูงๆ ก็ยังได้เห็นว่าในหมู่ศิลปินนักร้อง บาร์มันจะต่ำมาก ทำให้ไปได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะทุกคนรักตัวกลัวตาย ไม่พร้อมจะเสียสละสักเท่าไร แต่พอกระแสการเมืองมันตกลง เราจะเห็นว่ามีกลุ่มก้อนของศิลปินนักดนตรีจำนวนหนึ่งเข้า-ออกเพียงแค่ตามกระแส แต่สำหรับคนที่เป็นนักเคลื่อนไหว มันเป็นการเอาชีวิตมาแลก เห็นได้ชัดเจนมาก" แอมมี่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนถนนสายใหม่ที่เขาเลือกเดิน
 
 
เมื่อ 1 2 3 4 5 ขึ้นเวที การเมืองก็เปลี่ยนเป็น 'I HERE TOO'
 
แอมมี่เล่าว่า เขาสนใจการเมืองมานานแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะอาจารย์วิชาสังคมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนสอนไม่เหมือนกับหลักสูตรในโรงเรียนของรัฐ โดยสอนเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองและเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อย่างลงรายละเอียด นอกจากนี้ สมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาก็พบเห็นความไม่ถูกต้องในบ้านเมืองและยังเคยสงสัยว่า เหตุใดในยุคก่อนหน้านี้นักเรียนนักศึกษาจึงยังไม่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว กระทั่งเมื่อนักเรียนนักศึกษารุ่นน้องของตัวเองลุกขึ้นมามีบทบาทในปี 2563 เขาก็เห็นว่า “นี่เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ควรสนับสนุน” 
 
"เริ่มจากในแวดวงคนทำงานครีเอทีฟ ศิลปะ และดนตรี มาคิดกันว่า เราจะช่วยนักศึกษายังไงได้บ้าง จะเสริมทัพเขายังไงดี เราก็เริ่มจากการไปร่วมชุมนุม ไปเป็นมวลชน ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ เราไปม็อบแฮมทาโร่ตอนที่ยังร้องเพลงว่า "ยุบสภาๆ" ไปนั่งฟังว่าพวกเขาคิดเห็นหรือแสดงออกอย่างไรบ้าง ครั้งหนึ่งตอนที่ฮอคโดนจับ (เดชาธร บำรุงเมือง แรปเปอร์วง R.A.D. ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 หลังขึ้นร้องเพลงบนเวทีทางการเมือง) เขาเป็นรุ่นน้องของผมที่กรุงเทพคริสเตียน ผมก็ไปที่หน้าสน.” แอมมี่เล่าย้อนเหตุการณ์
 
“พอคนเห็นว่าเรามา ก็มาติดต่อว่าจะเล่นในม็อบไหม สนใจรับไหม มาชวนว่าขึ้นเวทีไหวไหม”
 
จากนั้น แอมมี่พร้อมวง The Bottom Blues แบบฟูลทีมก็ปรากฏตัวบนเวทีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งเพลงเก็บรัก และเพลง 1 2 3 4 5 I LOVE YOU ต่างก็ถูกบรรเลงอย่างสดใส สร้างความครื้นเครงให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมนับหมื่น อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินในแวดวงบันเทิงคนอื่นๆ ประกาศตัวสนับสนุนการชุมนุมตามมา จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2563 อีกบทบาทหน้าที่หนึ่งของแอมมี่ก็กลายเป็นที่รู้จัก เมื่อเขาไปให้กำลังใจผู้ต้องหาทางการเมืองที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ และปฏิบัติการ “สาดสีน้ำเงิน” ใส่ตำรวจที่ตั้งแถวขวางอยู่
 
"สิ่งที่เราทำคือการสร้างสัญลักษณ์ในการทวงความยุติธรรม ทวงถามความชอบธรรม และต้องการสื่อสารให้พวกเขาหยุดคุกคามประชาชนเสียที เพราะต่อไปนี้ไม่ใช่คุณแล้วที่จะคุกคามเราอย่างเดียว ถ้าคุณทำพี่น้องเรา เราก็มีสิทธิที่จะทำคุณเหมือนกันด้วยชั้นเชิงทางศิลปะ” แอมมี่อธิบายถึงเหตุผลของการสาดสีในการให้สัมภาษณ์กับประชาไท ซึ่งตามมาด้วยข้อถกเถียงถึงเส้นแบ่งของการเคลื่อนไหวด้วย “สันติวิธี" ในช่วงเวลานั้น และแรงสนับสนุนจำนวนมากก็ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป จากกระแสการเปลี่ยนกรอบภาพประจำตัวให้กลายเป็นภาพที่เปรอะเปื้อนไปด้วยสีน้ำเงินในโซเชียลมีเดีย
 
เมื่อแอมมี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้ชุมนุมทางการเมืองก็สนับสนุนเขามากขึ้น เพลงดังของเขา ที่ร้องว่า 1 2 3 4 5 I LOVE YOU ก็ถูกผู้ชุมนุมเปลี่ยนเนื้อร้องท่อนหลังใหม่เป็นคำว่า “I HERE TOO” และเปลี่ยนภาพจำของเพลงนี้จากเป็นเพลงรักวัยใส กลายเป็นเพลงที่กระตุ้นการแสดงออกทางการเมืองได้เป็นอย่างดี
 
"มันเริ่มจากไอ้ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ที่ตะโกนตอนอยู่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เราเชิญกลุ่มของมันมาร้องเพลงเพื่อมวลชนด้วยกัน แล้วตอนกำลังเล่นเพลงวันทูทรีฯ เราก็ได้ยินเสียงมันมาจากฟากหนึ่ง น่าจะเป็นไผ่ที่พูดว่า I HERE TOO แล้วมวลชนก็ค่อยๆ ตะโกนตาม แต่จากนั้นบางทีพอไปเล่นตามงาน เขาก็จะเป็นห่วงว่าไม่อยากให้เล่นเพลงนี้เลย มันกลายเป็นเพลงที่ถูกใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวไปแล้ว" แอมมี่เล่าถึงที่มาของท่อนเพลงที่ถูกดัดแปลงใหม่
 
 
 
2615
 
 
“มันว่างเปล่าขนาดนี้เป็นครั้งแรก”
 
เช้ามืดของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างที่นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ที่หน้าเรือนจำ และภาพดังกล่าวก็ถูกเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ @ammythebottomblues หลังจากนั้น วันที่ 3 มีนาคม 2564 แอมมี่ถูกตำรวจเข้าจับกุมตัวที่บ้านเช่าในจังหวัดอยุธยาในข้อหามาตรา 112 โดยเป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์คดีแรกของยุคนี้ที่เกิดจากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ และผลักดันข้อถกเถียงเรื่องเส้นแบ่งด้านสันติวิธีให้กว้างออกไปอีกขั้นหนึ่ง
 
แอมมี่ถูกฝากขัง และศาลก็ไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุว่ากลัวผู้ต้องขังจะหลบหนี เขาถูกคุมขังในช่วงเวลาที่มีผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมืองหลายคนทยอยเข้าเรือนจำ และในระหว่างถูกคุมขัง ตำรวจก็เข้ามาแจ้งข้อหาเพิ่มอีกหนึ่งคดี จากการไปร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อ 14 มกราคม 2564 ซึ่งในวันนั้น ผู้ชุมนุมตะโกนตอบมาเป็น “คำอื่น” ที่ไม่ใช่ “I HERE TOO” เวลาผ่านไปนานสองเดือน แอมมี่ได้รับอิสรภาพในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อีกหลายคนก็ทยอยได้ประกันตัวแล้วเช่นกัน 
 
ทว่า ช่วงเวลา 70 วันหลังกำแพงที่สูงเกินปีนป่าย ส่งผลทำให้ชีวิตของนักร้องชื่อดังคนนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไปมาก 
 
"ตอนติดเข้าไปเป็นช่วงโควิด ต้องกักตัว ก็เจอคนมาหมดทุกประเภท ตั้งแต่คดีเสพกระท่อมไปจนถึงพวกที่ถูกตัดสินหนักๆ แล้วกำลังจะย้ายไปบางขวาง ได้เจอทั้งหมดเลย มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่รู้เลยว่า ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในทุกหย่อมหญ้า การเข้าคุกทำให้เริ่มเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น เริ่มเห็นคุณค่าของคนใกล้ตัว เพราะเอาจริงๆ ตอนติดเข้าไปก็คิดถึงลูกสาวมากที่สุด ผมตั้งใจว่าจะอยู่กับลูกให้มากขึ้น แล้วก็บวกกับโชคดีว่าแม่ของเขาไม่ค่อยว่างแล้วก็เลยส่งลูกสาวมาอยู่กับผม" แอมมี่เอ่ยถึงลัลลาเบล ลูกสาวในวัยประถมศึกษาของเขา
 
นอกจากด้านความคิดแล้ว งานดนตรีของแอมมี่ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากขึ้นเวทีการเมืองแบบครบวงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 แล้ว สมาชิกของ The Bottom blues หลายคนก็บอกกับแอมมี่ว่า “จะขอไม่ขึ้นเวทีทางการเมืองอีก” เพื่อรักษาอนาคตในแวดวงดนตรีไว้ เหลือเพียงตัวแอมมี่และสมาชิกอีกหนึ่งคนที่ยังเดินสายเล่นตามงานชุมนุมได้อีกหลายครั้ง นอกจากนี้ ช่วงหนึ่งหลังได้ประกันตัว เขายังต้องใส่กำไล EM ที่พ่วงมาด้วยเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00-05.00 น. ซึ่งนั่นยิ่งทำให้การแสดงดนตรีของเขาไปต่อได้ลำบาก
 
แอมมี่เล่าว่า ตอนที่กลับมารับงานร้องเพลงก็พอจะมีคนจ้าง แต่เมื่อถึงวันจริงก็พบว่ามีตำรวจเข้ามาข่มขู่ร้านทำให้สุดท้ายไม่ได้เล่น ซ้ำร้าย ผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดขึ้นยังทำให้เขาไม่ได้เขียนเพลงอะไรใหม่ๆ ออกมาอีก ในปี 2565 แอมมี่จึงลองลงขันกับเพื่อนเปิดร้านอาหารชื่อว่า "ลาบกรุง" ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และกำลังขยายสาขาเพิ่ม ส่วนงานเพลงของเขาก็เดินไปสายการเมืองมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 แอมมี่ร่วมกับ R.A.D. (Rap Against Dictatorship) ปล่อยผลงานเพลงใหม่ชื่อ "16ปีแล้วไอ้สัส"
 
"ออกจากเรือนจำมา เอาจริงๆ แล้ว มันมีบางอย่างที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจ อยู่ที่ตัวผมด้วยว่าผมจะกลับมานั่งเขียนเพลงได้เมื่อไร อย่างเพลง ‘16 ปีแล้วไอ้สัส’ พอถึงเวลาจะต้องเอาแล้ว จะต้องเสร็จแล้ว มันก็ทำได้ ดังนั้น ผมไม่ได้โทษรัฐขนาดนั้นนะที่ผมไม่มีงาน แต่ถ้าจะเขียนเพลงตอนนี้มันก็ไม่ใช่เพลงรักขนาดนั้น.. ปกติไปเจอพวกเพื่อนศิลปินแล้วเปิดมามีเพลงในสต๊อกกัน 20-30 เพลง นี่เป็นช่วงแรกในชีวิตของเราที่ไม่มีอะไรในคลังเลย มันว่างเปล่าขนาดนั้นเป็นครั้งแรก"
 
 
Demo Expo ที่ย่อมาจาก Democracy Expo
 
"ก็เริ่มชินแล้ว ศาลอาญาเหมือนบ้านหลังนึง ไปทียามก็ทัก ไปจนเจ้าหน้าที่ศาลจำได้..." แอมมี่เล่าพร้อมหัวเราะ ฮึฮึ เบาๆ ตามสไตล์ เมื่อถามความรู้สึกที่ตารางชีวิตต้องได้แวะเวียนไปศาลอาญาบ่อยขึ้น
 
"ที่รู้สึกจริงๆ คือ เวลาต้องเข้าห้องเวรชี้ ก็ เชี่ย.... แม่งจะพลิกล็อกอะไรป่าวว้าาา ก็พยายามท่องไว้ในใจตลอดว่า เราสู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง มันเป็นสิ่งที่เราต้องแลกมาและต้องเสียสละอยู่แล้ว ยิ่งมีเพื่อนอยู่ในเรือนจำ มึงยิ่งไม่มีสิทธิบ่น"  
 
เมื่อถามแอมมี่ว่า เขามีคดีอะไรติดตัวจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้าง แอมมี่ยิ้มกว้างแล้วก็ตอบว่า "โอ้... จำไม่หมด มีคดีสาดสีก็เป็นข้อหาทำลายทรัพย์สิน มีมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น มีพ.ร.บ. พ.ร.ก. อะไรพวกนี้ จำไม่ได้แล้วว่าเท่าไร (หัวเราะ) เคลียร์กับทนายอยู่ว่า ต้องมาลงกันหน่อย ตอนนี้เหลืออะไรอยู่อีกบ้าง..."  
 
แต่เมื่อถามว่า คิดว่าตัวเองต้องลดบทบาททางการเมืองลงไหม? หนุ่มเจ้าของร้านลาบมือใหม่ก็ตอบว่า “จะไปต่อแน่นอน” พร้อมอธิบายสิ่งใหม่ที่ตัวเองกำลังมุ่งมั่นที่จะทำ โดยเน้นไปที่งานด้าน “ศิลปวัฒนธรรม” หรือการเอางานดนตรีเข้ามาใช้กับการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นที่อ่อนไหว โดยในปี 2565 แอมมี่เป็นกำลังหลักในการจัดงาน Demo Expo ที่ลานคนเมือง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นงานคอนเสิร์ตที่รวบรวมบรรดาศิลปินที่สนับสนุนประชาธิปไตยหลากหลายวงมาแสดง และมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมงานหลายพันคน
 
"อย่างเพลง 16 ปีแล้วไอ้สัส จริงๆ แม่งแรงนะ แต่ถ้าเคลื่อนด้วยอย่างนี้ไม่ได้ ก็เท่ากับทำอะไรไม่ได้แล้ว ผมว่าซอฟต์ที่สุดแล้ว ด้วยดนตรีเนี่ย งาน Demo Expo เป้าหมายหลักคือการฟื้นบรรยากาศกลับมา เสริมกำลังกัน แล้วก็เรียกบรรยากาศงานรื่นเริงให้พื้นที่และผู้คนตรงนี้ นั่นก็เป็นสัญลักษณ์ของการไปต่อแล้ว ผมจะถือในสายของศิลปวัฒนธรรมไปเลย แล้วก็วาดหวังไว้ว่า ปีหน้าจะมีงาน Demo อีกสี่ครั้ง สี่ภาค นี่น่าจะเป็นงานหลักของผม"
 
เมื่อย้อนกลับมาถามถึงบทเพลง 1 2 3 4 5 I LOVE YOU ที่กลายเป็นเพลงประจำตัวของเขาไปโดยปริยาย แอมมี่ตอบว่า "เพลงวันทูทรีฯ ยังอยู่ครับ แต่หลังๆ มันก็เป็นกลายเป็นคำอื่นไปแล้ว พอผมไปนั่งย้อนดูยูทูป “ไอ้เหี้ยตู่” แม่งเอ้าท์ไปแล้ว ก็เลยเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเขาต้องมาเบรกเพลงนี้ไว้ด้วย 112 ก่อน อารมณ์เพลงมันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว.." 
 
 
จะฉุดจะรั้งและดึงเธอไว้ ยังไงก็คงไม่อยู่..♪
 
 
 
ชนิดบทความ: