1360 1866 1215 1723 1676 1884 1711 1537 1203 1109 1920 1222 1567 1262 1134 1455 1313 1736 1289 1186 1016 1041 1750 1907 1894 1305 1572 1531 1528 1169 1056 1156 1945 1898 1350 1197 1153 1093 1817 1857 1016 1524 1689 1728 1848 1879 1520 1273 1926 1698 1255 1642 1133 1312 1735 1662 1331 1340 1241 1237 1965 1994 1150 1949 1438 1352 1542 1102 1728 1627 1583 1214 1475 1935 1622 1805 1287 1071 1065 1514 1667 1197 1859 1885 1715 1049 1800 1212 1818 1991 1318 1026 1594 1043 1118 1163 1423 1994 1661 112 ALERT! เปิดแฟ้ม “ภัคภิญญา” แชร์ 6 ข้อความ-เดินทางไกลถึงนราธิวาส ก่อนพิพากษา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

112 ALERT! เปิดแฟ้ม “ภัคภิญญา” แชร์ 6 ข้อความ-เดินทางไกลถึงนราธิวาส ก่อนพิพากษา

สถิติคดีมาตรา 112 ที่พุ่งสูงตั้งแต่ปี 2563 จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคดีจาก “การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์” และเนื่องจากมาตรานี้อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับ "ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นข้อความ สามารถเดินไปกล่าวโทษที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เลย ส่วนผู้ต้องหาไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ก็ต้องเดินทางเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีในพื้นที่ที่มีคนไปแจ้งความ
 
กรณีแบบนี้ไม่ใช่เพียง “ช่องว่าง” ของกฎหมายในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คดีความทางไกลเกิดขึ้นมากมายอย่างเป็นระบบ โดยมีกลุ่มบุคคลที่ “จงใจ” ใช้ช่องทางตามกฎหมายในประเด็นนี้เพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้องเดินทางไกลเพื่อไปต่อสู้คดีความ
 
หนึ่งในนั้น คือ คดีของ “ภัคภิญญา” หรือแบมบู บรรณารักษ์ห้องสมุดชาวกรุงเทพฯ ที่ถูก “พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน” นักฟ้องมือฉมังชาวนราธิวาสจากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) แจ้งความดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากการ "แชร์" โพสเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองบนเฟซบุ๊กจำนวน 6 โพสต์ เป็นเหตุให้ภัคภิญญาต้องเดินทางไกลกว่า 1,200 กิโล ไป-กลับกทม. เพื่อไปตามนัดศาลแต่ละครั้ง
 
ก่อนที่นาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึงในวันพรุ่งนี้ (19 ตุลาคม 2565) ไอลอว์ชวนผู้อ่านมาร่วมเดินทาง (ไม่) ไกลผ่านการ์ตูนช่องน่ารักๆ เพื่อทำความเข้าใจคดีของ “ภัคภิญญา” ให้มากขึ้น

 

(1) “ภัคภิญญา” เป็นใคร? ทำไมถูกฟ้อง ม.112 ?

2619
 
จำเลย : ภัคภิญญา หรือแบมบู
เป็นคนกรุงเทพฯ ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และมีอาชีพเสริมเป็นนักร้องและนางแบบ ภัคภิญญาอายุ 31 ปีในวันที่ถูกกล่าวหา เป็นคนที่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง และเข้าร่วมการชุมนุมบ้างเป็นครั้งคราว
 
ผู้กล่าวหา : พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน
เป็นผู้ไปแจ้งความริเริ่มคดีที่สภ.สุไหงโกลก ตัวเขาเองเบิกความต่อศาลว่า เขาครูสอนภาษาอังกฤษ อาศัยอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พสิษฐ์เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) โดยนอกจากคดีนี้แล้ว เขายังเป็นผู้ริเริ่มคดีมาตรา 112 มือฉมังคนหนึ่งของประเทศไทย ด้วยสถิติจำนวนมากถึง 8 คดี ที่นราธิวาสทั้งหมด โดยตำรวจที่สภ.สุไหงโก-ลก เคยบอกทนายความว่า ยังมีคดีลักษณะเดียวกันอีกมากที่พสิษฐ์มาริเริ่มคดีไว้
 
คำฟ้องของพนักงานอัยการ ระบุว่าระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 – 10 เมษายน 2564 ภัคภิญญาได้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายการความผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จำนวน 6 ข้อความ ดังนี้
 
1.แชร์โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นภาพตำรวจควบคุมฝูงชนฉีดน้ำ โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะพ่อเค้าบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!!”
 
2.แชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค ที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป !!!”
 
3. แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กชื่อ คุณมาซาร์ท เชอร์รี่บอย ที่มีข้อความว่า "ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน" โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “รับสิ้นปีเลยมะ”
 
4. แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กของ อานนท์ นำภา ที่มีข้อความว่า "อุ้มหายบ่อยๆ จะทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลำบาก พวกทำไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่" โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า "5555 ว้ายยยย"
 
5. แชร์โพสต์จากเพจราษฎร ซึ่งเป็นภาพและข้อความเรียกร้องให้คนไทยได้รับวัคซีนโควิด19 โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า "เอเชียได้รับวัคซีนกันพร้อมหน้า ไทยมัวชักช้า เพราะรอประทับตราน้ำพระทัยเจ้า"  
 
6. แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก Theraphat Charoensuk ที่มีข้อความว่า "เพื่อคนๆ เดียวมาเจ็ดปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้างนอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง" โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ”
 

(2) ย้อนดูทริป “สุไหงโก-ลกจำเป็น”  

 
2620
 
ลำดับเหตุการณ์
 
15 ตุลาคม 2564 เดินทางไกลครั้งที่หนึ่ง
ภัคภิญญาได้รับหมายเรียก จึงเดินทางจากกรุงเทพไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก พร้อมทนาย โดยเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังภัคภิญญาแบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จากนั้นทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัวด้วยวงเงินจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และในเย็นวันเดียวกัน ศาลจังหวัดนราธิวาสก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัว 
 
5 มกราคม 2565 เดินทางไกลครั้งที่สอง
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ภัคภิญญาจึงต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปรายงานตัวในคดีนี้อีกครั้ง ก่อนศาลจะให้ประกันตัวเป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
 
9 มีนาคม 2565 เดินทางไกลครั้งที่สาม
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
17-19 สิงหาคม 2565 เดินทางไกลครั้งที่สี่
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยการสืบพยานวันแรกเป็นการสืบพยานปากผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนเดียวเต็มวัน และวันที่สองเป็นพยานที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์ มีทั้งคนที่ทำงานเป็นปลัดอำเภอ และนักภาษาศาสตร์ รวมทั้งพนักงานสอบสวน ซึ่งแต่ละคนก็ให้ความเห็นแตกต่างกันไป โดยเห็นว่าหลายข้อความที่ฟ้องมาไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 
 
ขณะที่ดลภาค สุวรรณปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ หนึ่งในพยานฝ่ายจำเลย เบิกความอธิบายให้ศาลเห็นว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหาถ่ายภาพหน้าจอมาส่งศาลนั้นไม่น่าเชื่อถือและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
 

(3) เหมือนถูก “กลั่นแกล้ง” ให้เดินทางไกล

 
2621
 
เนื่องจากพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นชาวจังหวัดนราธิวาส และไปแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก นั่นจึงทำให้ภัคภิญญาต้อง #เดินทางไกล ในทุกครั้งที่มีนัดคดีและออกค่าใช้จ่ายด้วยเงินทุนของตัวเอง
 
“ครั้งแรกที่ได้หมายเรียกก็ประหลาดใจนิดนึงว่าคดี 112 จะมาถึงตัวเราด้วย พอดูชื่อคนแจ้งความก็พบว่าไม่รู้จักกัน แล้วพอมาดูสาเหตุที่แจ้งความก็พบว่า เพราะเราเห็นต่างกับกลุ่มของเขาในเรื่องการเมือง ทั้งๆ ที่เราไม่เคยไปว่าไปยุ่งกับเขาเลย เราแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ของเรา แต่ถูกกลั่นแกล้งในกระบวนการแบบนี้”
 
“เราเป็นคนกรุงเทพฯ แต่โดนหมายที่สุไหงโก-ลก คนแจ้งอยู่ที่สุไหงโกลก พอเห็นหมายเราก็ โอ้.. เล่นกันแบบนี้เลยเนอะ เหมือนตั้งใจให้เราเดินทางไปไกลๆ”
 
ภัคภิญญาให้สัมภาษณ์กับไอลอว์ในวันสุดท้ายของการสืบพยานว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่เธอต้องเดินทางมายังอำเภอสุไหงโกลก และเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องตัวเลือกการเดินทาง ทำให้การมานัดคดีแต่ละครั้ง เธอจะต้องแบ่งเวลาชีวิตเพิ่มอย่างน้อย “2 วัน” เพื่อใช้สำหรับเดินทางไป-กลับ
 
“ที่โกลกไม่มีเครื่องบินไปลง เราต้องไปลงที่นราธิวาสก่อน แล้วนั่งรถต่อไปอีกชั่วโมงกว่าเพื่อไปถึงตรงนั้น เครื่องบินจะมีรอบเดียว และรถมี 2-3 รอบต่อวัน แปลว่าทุกอย่างมันจำกัดหมดเลย ทำให้การมาทำธุระเรื่องนี้หนึ่งครั้ง ต้องมาขั้นต่ำ 3 วัน เพราะมันต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน - ทำธุระ 1 วัน และเดินทางกลับอีก 1 วัน มันเลี่ยงไม่ได้เลยกับจำนวนวันแบบนี้ ตัวเราคนเดียวไม่ลำบากมาก แต่ถ้าคิดถึงคนอื่นที่โดนแกล้งแบบนี้ก็เห็นใจ”
 
“ครั้งนี้มาสืบพยาน 3 วัน ก็ต้องบวกเพิ่มอีก 2 เป็น 5 วัน.. มันเสียหายตรงที่อาชีพเราทำงานบริการ งานประเภทนี้เขาก็จะไม่ค่อยอยากให้ลาเท่าไหร่ และการลาก็จะมีข้อจำกัดเยอะ เช่น ลาทับกับคนอื่นไม่ได้ แล้วความถี่ที่เราต้องมาคือ 2-3 เดือนครั้ง ครั้งหนึ่งใช้อย่างน้อย 3 วัน มันก็ค่อนข้างเป็นปัญหา” ภัคภิญญาเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังโดนฟ้องคดี
 
เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อคำพิพากษา สาวบรรณารักษ์เลือกตอบคำถามพร้อมรอยยิ้มและน้ำเสียงที่ยังสดใส โดยเธอกล่าวว่า คงจะต้องไป ‘วัดกันหน้างาน’ และรู้สึก ‘กึ่งลุ้นกึ่งตื่นเต้น’ ว่าผลจะออกมาคดเคี้ยวไปในทิศทางที่เกินความคาดหมายหรือไม่
 
“จะบอกว่าตื่นเต้น.. แต่จริงๆ ก็ไม่เชิงลุ้น เพราะมันเหมือนต้องวัดกันหน้างาน เราอยากรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันจะเบี้ยวไปได้ถึงขนาดไหน เพราะว่าคนที่ทำงานด้วยความยุติธรรมก็ยังมี แต่คนที่พยายามจะปิดคดีให้มันจบๆ ไปก็ยังมี เราก็เลยอยากรู้ว่ามันจะเบี้ยวได้มากกว่านี้อีกไหมนะ เพราะว่าการสืบพยานมันก็ผ่านไปแล้ว เราก็ประเมินได้แล้วล่ะว่ามันจะไปในทิศทางไหน.. มาลุ้นกันค่ะ”