1318 1886 1315 1207 1482 1584 1669 1615 1604 1097 1846 1268 1370 1777 1978 1905 1656 1677 1727 1551 1959 1284 1470 1010 1010 1465 1549 1783 1514 1506 1564 1788 1199 1190 1348 1135 1876 1936 1319 1418 1053 1185 1617 1521 1528 1622 1437 1310 1874 1563 1241 1529 1118 1461 1410 1768 1762 1065 1921 1509 1613 1540 1539 1686 1351 1634 1947 1709 1627 1503 1048 1500 1222 1189 1152 1592 1829 1815 1982 1780 1750 1926 1577 1762 1804 1241 1535 1664 1307 1901 1552 1224 1624 1749 1540 1939 1943 1987 1497 RECAP: เสวนา 112 - The Long March เมื่อ “ความรุนแรง” ผันแปรเป็น “กลั่นแกล้งทางกฎหมาย” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

RECAP: เสวนา 112 - The Long March เมื่อ “ความรุนแรง” ผันแปรเป็น “กลั่นแกล้งทางกฎหมาย”

2627
 
ในเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 “กลุ่มพลังฝ่ายขวา” อย่างกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน คือกลุ่มพลังที่มีส่วนสำคัญในการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
การก่อตัวของกลุ่มดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสนับสนุนของผู้มีอำนาจรัฐ ที่หวังใช้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมาเป็นตัวช่วยในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อในอุดมการณ์และชุดความคิดบางอย่างอย่างแรงกล้า ก็มีส่วนผลักดันให้กลุ่มพลังฝ่ายขวาตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการกับกลุ่มคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็น “อริราชศัตรู” ด้วยตัวเองเช่นกัน 
 
ล่วงมาถึงปี 2565 แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่ความขัดแย้งทางการเมืองและความเห็นที่ไม่ตรงกันโดยเฉพาะ “ประเด็นแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์” จะนำไปสู่การใช้กำลังรุนแรงต่อกันเหมือนที่เกิดในเหตุการณ์ 6 ตุลา2519 เพราะบริบทโลกที่เปลี่ยนไป 
 
แต่ในภาพรวม การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังที่ชูอุดมการณ์ #ปกป้องสถาบัน ในปัจจุบันก็มีความคล้ายกับกลุ่มพลังฝ่ายขวาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการรวมกลุ่มจัดตั้ง หรือการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการกับขั้วตรงข้าม เพียงแต่ "การจัดการ" ไม่ได้มาในรูปแบบของความรุนแรงต่อร่างกายอีกต่อไป แต่ปรากฏให้เห้นในรูปแบบของการใช้กฎหมาย
 
โดยเฉพาะ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 
 
หนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือปรากฏการณ์ที่เกือบครึ่งหนึ่งของคดีมาตรา 112 ระลอกหลังการเคลื่อนไหวใหญ่ของราษฎรระหว่างปี 2563 - 2565 เป็นคดีที่ “ประชาชนทั่วไป” เป็นผู้ริเริ่ม และผู้ที่ริเริ่มคดีเหล่านั้น บางส่วนทำเป็นขบวนการ ทั้งการแบ่งหน้าที่สอดส่อง บันทึกหลักฐานการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ก่อนนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ 
 
เพื่อเป็นการร่วมรำลึก 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons” ไอลอว์ชักชวนผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจำเลยมาตรา 112 ผู้ถูกประชาชนฟ้องทางไกล, นักวิชาการอิสระ, ทนายความ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาร่วมสนทนาเพื่อทบทวนความเชื่อมโยงทางอุดมการณ์ระหว่าง “กลุ่มพลังฝ่ายขวาในอดีต” กับ “กลุ่มปกป้องสถาบันในปัจจุบัน” ตลอดจนรับฟังผลกระทบของประชาชนผู้ถูก “ประชาชนด้วยกันเองดำเนินคดี” เพื่อเฟ้นหาความเป็นไปได้ของทางออกจากวังวนนี้ด้วยกลไกทางรัฐสภา ในวันที่ 21 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 - 17.30 น. ที่ Kinjai Contemporary 
 
2626
 

ร่วมสนทนาโดย

o นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
o ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 
o ภัคภิญญา จำเลยคดีมาตรา 112 ฟ้องทางไกล (กรุงเทพฯ – สุไหงโกลก) โดยศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำตัดสินให้จำคุก 9 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ปัจจุบันได้รับการประกันตัวและอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์คดี
o ปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน 
 
 
2629
 
ภัคภิญญาเล่าว่า ในความเป็นจริงเธอไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่ในแวดวงการเมือง แต่เป็นคนชอบตามอ่านเรื่องราวบนโลกอินเทอร์เน็ต กระทั่งเมื่อปี 2564 เกิดกระแสการชุมนุมบ่อยครั้ง จึงทำให้สนใจตามอ่านข่าวการเมือง จนไปเจอประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และมาตรา 112
 

“ตั้งแต่ช่วงนั้นเราก็ติดตามมาเรื่อยๆ มีการแชร์ข่าวม็อบ ในเบื้องต้นไม่มีความรู้เลย มารู้จากการอ่านไปเรื่อยๆ จนพบว่ามันมีกฎหมายและกระบวนการประหลาดๆ ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าเราเป็นคนโดนฟ้องจะทำยังไง แล้ววันหนึ่งเราก็กลายเป็นคนโดนจริงๆ มีหมายมาที่บ้าน แต่ด้วยความที่ติดตามข่าว เราก็เลยรู้จักศูนย์ทนายฯ รู้จักไอลอว์ หรือกองทุนราษฎรประสงค์ ก็เลยติดต่อไปและมีคนของศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือ” 

 
ภัคภิญญาพบว่า ผู้ฟ้องเป็นชาวจังหวัดนราธิวาสและไม่ได้รู้จักกันมาก่อน และด้วยความที่เธอเป็นคนกรุงเทพฯ จึงเชื่อว่านี่เป็นการกลั่นแกล้งกันทางกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ภัคภิญญาเล่าว่า หากไปทำธุระที่ศาล 1 วัน เธอจะต้องบวกเวลาเดินทางไป-กลับอีก 2 วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ “วันลา” และต่อมา เธอได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำระหว่างสู้คดี 
 
“ตอนโดนคดีเราไม่ได้บอกใคร ไม่ใช่เพราะอาย แต่เพราะไม่อยากให้มันเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตขนาดนั้น เราให้มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เข้าร่วมกระบวนการของคดีไปตามหน้าที่ เหมือนเป็นหน้าที่ของคนไทยคนหนึ่ง เขาให้เราทำแบบนี้ เราก็ทำตามให้นะ”
 
“ค่าใช้จ่ายหนึ่งครั้ง ขนาดไม่ได้ทำอะไรเลย ค่าเครื่องบิน ค่ารถไปสนามบิน ค่าที่พักซึ่งก็ไม่ได้มีให้เลือกเยอะมาก ก็ยังตกครึ่งหมื่นต่อคน ยิ่งถ้าเรามีผู้ติดตามไปด้วยก็ต้องบวกเข้าไปอีก”
 
“เรามีทั้งงานประจำและงานนอก ถ้างานประจำจะกระทบในแง่ของวันลา มันต้องใช้วันลาครั้งละ 3-5 วัน ซึ่งเราทำงานบริการ แปลว่ามันมีข้อจำกัดในการลาเยอะ เราก็เลยจำเป็นต้องบอกเรื่องนี้กับหัวหน้า ซึ่งเขาก็ไม่ได้ว่า ที่ทำงานค่อนข้างเข้าใจ... แต่สุดท้ายพอระบบมันเป็นระบบบริษัท เราก็เลยถึงเวลาต้องเลือก คิดว่าอยากพักหน้าที่ตรงนั้น แล้วออกมาทำตรงอื่นเพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น อันนี้เป็นการตัดสินใจของเราเองที่จะเดินออกจากงานประจำ เพื่อมาทำตัวให้ว่างก่อน เราจะได้รับมือกับอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้นได้”   
 
“มันเป็นเรื่องอิหยังวะของชีวิต แทนที่เราจะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิต แต่กลับต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ พรุ่งนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่าจะได้ออกมา (อยู่ข้างนอก) แบบนี้ไหม” ภัคภิญญากล่าว
 
 
2630
 
นรเศรษฐ์กล่าวว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 ที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มนั้น มีการทำกันเป็นเครือข่ายและเป็นระบบ กล่าวคือ มีการตั้งกลุ่มและแบ่งงานกันไปริเริ่มคดี เห็นได้จากการที่ “ผู้ฟ้อง” เป็นบุคคลคนหน้าซ้ำ และส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของคดีตามท้องที่ เช่น สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณคดีสูง
 
“เขาทำกันเป็นเครือข่าย มีแบ่งกันว่าใครจะเป็นคนไปแจ้งความ ใครเป็นคนหาข้อมูล บางครั้งหาเจอกระทั่งเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือชื่อ-ที่อยู่ ไม่แน่ใจว่าในกลุ่มเฟซบุ๊กอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวเข้าไปด้วยหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ได้ แค่มีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อจริง เขาก็สามารถเอาไปเสิร์ชหรือให้คนในกลุ่มเอาไปหาข้อมูลต่อได้ แล้วจากนั้นก็แบ่งกันไปแจ้งความร้องทุกข์”
 
“กรณีของคุณภัคภิญญา ถูกดำเนินคดีที่นราธิวาส เชื่อไหมว่าคนที่ไปแจ้งความที่นราธิวาส ตามที่ศูนย์ทนายฯ มีข้อมูล มีอยู่ทั้งหมดอย่างน้อย 9 คดี มีคนกล่าวหาคือคนเดียวกัน กลุ่มนี้เขาจะมีเพจของเขา อย่างกลุ่มหนึ่งที่เคยได้หลักฐานมา เขาทำในนามกลุ่ม คปส. หรือ เครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการบอกว่าเครือข่ายนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อกระทืบเหี้ย หรือบอกลูกเพจว่า ถ้าใครเจอที่ไหนก็ไปแจ้งความกันได้เลย หากใครร้องทุกข์ไม่เป็นให้บอกมา เพจเราจะเป็นคนทำเอกสารให้ คุณมีหน้าที่แค่ไปแจ้งความเท่านั้น” 
 
“มันจะเห็นการกระจุกตัวของคดีในแต่ละเขตพื้นที่ เช่น สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ อันนี้ผมไปเป็นทนายอยู่หลายคดี ที่นี่ถ้าจำไม่ผิดมีอยู่ 19 คดี โดยคนกล่าวหา 2 คน จำนวนคดีคนละเท่าๆ กัน”  
 
"มันเป็นการทำเป็นขบวนการจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของพลเมืองดี"
 
นอกจากนี้ นรเศรษฐ์ยังอธิบายว่า “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ของฝ่ายโจกท์ที่ถูกตำรวจเชิญมาให้ปากคำในแต่ละคดีนั้น ก็มักจะเป็นคนหน้าซ้ำเช่นเดียวกัน รวมทั้งบางคนก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
 
“ส่วนมากนอกจากกรณีที่ประชาชนไปแจ้งความ ที่ผมเจอ คนที่เจ้าหน้าที่ตรวจอ้างว่าเป็นพยานจะเป็นพยานชุดเดียวกัน เช่น ถ้าขึ้นชื่อเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญมาตรา 112 จะมีอยู่ 3 คนที่ตำรวจเรียกไปเป็นประจำเกือบทุกคดี แล้วผมไปเจอทุกคดี ไปเจอที่กรุงเทพฯ ก็แล้ว ขอนแก่นก็แล้ว เจอหน้ากันจนเบื่อ คนแรกคือ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เขาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่เบิกความบอกผมว่าตนเองไปเป็นพยานเบิกความให้ตำรวจมากกว่า 100 คดี คนที่สอง เจษฎ์ โทณะวณิก และคนที่สามคือ ไชยันต์ ไชยพร ตำรวจจะใช้พยานชุดเดียวกันหมดของฝ่ายผู้กล่าวหา เพื่อให้การว่า ไอ้สิ่งที่จำเลยทำไปเป็นความผิดตาม 112 ไหม หรือเข้าข่ายหรือไม่”
 
“คุณอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ถูกอ้างให้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาลในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่เขาไม่ได้จบการศึกษาในสาขาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยทำงานวิจัยหรือบทความวิชาการใดๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยทำหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้วย แล้วทำไมตำรวจถึงอ้างว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ผมก็ไม่ทราบ”
 
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ตำรวจจะมีรายชื่อของพยานผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางที่มักใช้ร่วมกันไหม และตามหลักการควรใช้พยานที่มีความหลากหลายหรือไม่ นรเศรษฐ์จึงอธิบายว่า เนื่องจากคดีมาตรา 112 นั้นมีสถานะเป็น "คดีนโยบาย" การออกหมายเรียกพยานจึงมักใช้วิธีการ "แชร์" พยานเพื่อใช้ร่วมกันตามแต่ละท้องที่ 
 
"คดี 112 เป็นคดีนโยบาย และเท่าที่ผมทราบมา เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการประชุมกับระดับผู้บัญชาการตำรวจภาค หรือประชุมกับส่วนกลางตลอด เข้าใจว่าคงจะมีการแชร์ตลอดใน สภ. หรือ สน. นั้นๆ ว่าให้ใช้พยานที่เป็นใครบ้าง เลยจะเจอแค่พยานเหล่านี้"   
 
"ถ้าว่ากันตามหลักจริงๆ กลุ่มพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานที่ศาลต้องรับฟังความเห็น อย่างน้อยต้องเป็นคนที่ไม่มีอคติกับจำเลย ต้องมีความเป็นกลางและเชื่อถือได้พอสมควร ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีอคติ ความเห็นของผมในฐานะนักกฎหมาย พยานปากนั้นไม่ควรรับฟังได้"
 
"เช่น คนที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่ออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 คนที่ออกมาประณามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร แต่ในขณะเดียวกันก็ไปเป็นพยานของฝ่ายโจทก์ แล้วบอกว่าการกระทำนั้นผิดมาตรา 112 ในทางกฎหมายต้องถือว่ามีน้ำหนักรับฟังได้น้อยหรือไม่ควรที่จะดับฟังเพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษได้" นรเศรษฐ์กล่าว
 
2631
 
ธนาพล กล่าวว่า มาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากถูกบังคับใช้ในเชิงนโยบาย และรัฐบาลสามารถกำหนดได้ว่าจะบังคับใช้หรือหยุดบังคับใช้ได้เมื่อไร ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้สังคมหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและนำไปสู่ความรุนแรงโกรธแค้นได้
 
"112 ปัจจุบันไม่ใช่กฎหมาย นี่คืออำนาจอื่นของคณะรัฐประหาร เราต้องยืนยันจุดนี้ และการยิ่งบอกว่าคดี 112 เป็นคดีนโยบาย นี่คือการไม่ทำตามกฎหมายเหมือนกัน มันเป็นคดีนโยบายอย่างไร สังเกตจากการบังคับในรัชสมัยนี้ หลังปี 2559 ไม่มีการนำ 112 มาใช้ กระทั่งคดีที่ตัดสินไปแล้ว ตอนปี 2561 จำเลยก็ยังได้ออกมาเลย แปลว่านั่นคือ นโยบายไม่จับ”
 
“ในส่วนของ ‘คดีนโยบายให้จับ’ ถ้าเราลองไปไล่ไทม์ไลน์ การให้ใช้ 112 มันมาตอนปลายปี 2563 เพราะว่าตอนต้นปีมีม็อบปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ตอนนั้นยังไม่มีคดี 112 โผล่มาเลย... ในขณะเดียวกัน อีกฝ่ายเขาก็พยายามสู้กันอีกแบบ คือการระดมคนมาจัดตั้งมวลชน แต่สู้ไม่ได้ ม็อบไม่ขึ้น จัดสนามหลวงคนก็มาไม่เยอะ ดังนั้นแทนที่จะใช้นโยบายจัดตั้งมวลชน ก็เลยเปลี่ยนเป็นนโยบายใช้กฎหมาย" 
 
“โอเค คุณอาจจะบอกว่า 112 มันมีผลทางกฎหมายหรือจะเรียกว่าอำนาจอะไรไม่รู้ แต่มันไม่ใช่กฎหมาย เพราะมันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย วันหนึ่งบอกจะไม่จับก็ไม่จับ วันหนึ่งอยากจับก็จับ แล้วเราจะเรียกว่าอะไรล่ะแบบนี้" 
 
“สำหรับผมมันคือคำพิพากษาครึ่งปืน ปืนคือสัญลักษณ์ของการรัฐประหารและอำนาจ ไม่ต้องใช้เหตุผล ถ้าใช้ศัพท์วิชาการก็คือ มันกลายเป็นสังคมนาฏรัฐ มันดูเหมือนมีการรับฟัง มีพยานผู้เชี่ยวชาญ แต่นั่นคือคุณเตรียมเอาไว้ก่อนหมดแล้ว”  
 
“แล้วสถานการณ์แบบนี้จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น ก็เกิดแบบกรณีล่าสุดแบบคุณศรีสุวรรณ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ถ้าสังคมไม่มีทางออก ไม่มีความยุติธรรมเพียงพอ เห็นหลายคนที่เป็นพยานฝ่ายโจกท์ยังยืนลอยหน้าลอยตา ผมก็หงุดหงิดนะ” ธนาพลกล่าว
 
2632
 
ปดิพัทธ์ เล่าว่า คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ริเริ่มขึ้นมาในช่วงที่ ใบปอ-บุ้ง นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังไม่ได้รับการประกันตัวด้วยมาตรา 112 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2565) ตนจึงต้องการสร้างกระบวนการที่สามารถให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและหาทางออกร่วมกันได้
 
“เราคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้มีอนุกรรมการชุดหนึ่งและบุคคลที่เชี่ยวชาญ มาศึกษาเรื่องนี้ให้เป็นระบบ และเคลี่อนไหวนอกสภาเพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมซึ่งยังก้าวล่วงไม่ได้ เราจึงแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเราเรียกหน่วยงาน ป.วิอาญา มาให้ข้อมูล ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์”
 
“บรรยากาศตอนปิดกระชุม มีตำรวจร้องไห้เลยนะ เพราะเขาก็รู้ตัวว่ามันไม่ถูกต้อง เขารู้ตัวว่าตัวเองเป็นเครื่องมือให้ผู้บัญชาการหรือมีผู้อำนาจ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เคยมาในห้องประชุมกรรมาธิการ ส่งแต่ฝ่ายเลขาหรือเจ้าหน้าที่มา อัยการเองก็พูดเหมือนกัน ตอนผมถามไปว่าปีนี้ฟ้องไปกี่คดี เขาตอบว่า ‘ฟ้อง 100% เพราะมันเป็นแนวนโยบาย มันไม่ต้องดูข้อเท็จจริง’ เขาพูดว่าขออย่างเดียว เมื่อไหร่ตัวเองจะพ้นตำแหน่งนี้ไปซะที”
 
นอกจากนี้ ปดิพัทธ์ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งในปี 2566 จะกลายเป็น “สนามสำคัญ” ของการถกเถียงเรื่องทางออกของมาตรา 112 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
“112 ไม่เคยถูกยกมาเป็นประเด็นหาเสียง เพราะฉะนั้น มันจะวัดกันไปเลยว่าสังคมต้องการให้ฝ่ายการเมืองแก้ 112 หรือไม่ และตอนนี้พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จับทางได้ เลยประกาศว่าถ้าพรรคไหนอยากแตะ 112 ก็จะไม่ร่วมงานด้วย.. ตั้งแต่ผมเกิดมาก็ยังไม่เคยชูเรื่อง 112 ในการลงเลือกตั้งมาก่อน แต่ในปี 2566 ฝ่ายการเมืองจะโดนถามคำถามนี้อย่างหนักหน่วง”
 
“แต่ต่อให้เราเป็นเสียงข้างมากในสภาเพื่อแก้ไข 112 ในรอบหน้าได้แล้วกลายเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เราก็จะยังเจอ ส.ว. 250 คนมาร่วมโหวตด้วย เพราะฉะนั้นถามว่ามันจะสำเร็จในระยะสั้นไหม ไม่มีทาง แต่การสู้มันไม่มีเสียเปล่า” 
 
“ผมเป็น ส.ส.เขตจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนี้ก็มีตัวท็อปเยอะ ทั้งศรีสุวรรณ จรรยา, คุณแน่งน้อย อัศวกิตติกร, ผู้กองปูเค็ม และหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม แต่ผลคือผมกลับได้รับเลือกตั้ง แสดงว่ามันคงจะพอมีสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงบ้าง ว่าตอนนี้สังคมอาจจะเปิดให้แนวคิดในเชิงสิทธิเสรีภาพมากขึ้น” ปดิพัทธ์กล่าว    
 
2628