ยกฟ้องคดี 116 แอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์ กรณีตัดต่อหน้าประยุทธ์-ประวิตรบนกระทงไล่เผด็จการ

7 พฤศจิกายน 2565 เวลา 9.00 น. จำเลยคดีแปดแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์มาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง หลังจากวันที่ 4พฤศจิกายน 2565 หฤษฎ์ จำเลยที่แปดป่วยกะทันหันและไม่สามารถติดตามให้ฟังคำพิพากษาตามนัดได้  วันดังกล่าวเวลา 14.25 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และกล่าวทำนองว่า คดีนี้ศาลพยายามจะทำให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย เป็นคดีที่ต้องปรึกษาระดับอธิบดีแต่ประเด็นที่ปรึกษาเป็นเรื่องระยะเวลาที่ยาวนานของคดีนี้ที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เหตุที่สืบเนื่องจากการลอยกระทงปี 2558  ด้วยเหตุนี้ศาลพยายามพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและคำพิพากษาที่เร่งทำอย่างเต็มที่หลังจากที่ศาลเพิ่งสืบพยานปากสุดท้ายเสร็จเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถอ่านได้

หลังจากพูดคุยกันครู่หนึ่ง ศาลจึงบันทึกกระบวนพิจารณาคดีระบุว่า นัดฟังคำพิพากษา ศาลสั่งจำหน่ายคดีของณัฏฐิกา จำเลยที่หนึ่งซึ่งหลบหนีไปก่อนหน้า ทนายความของหฤษฎ์ จำเลยที่แปดไม่สามารถติดต่อหฤษฎ์ได้ เมื่อหฤษฎ์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องถือว่า มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับเพื่อมาฟังคำพิพากษา นายประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่แปดตามนัดถือว่า ผิดสัญญาประกัน ให้ปรับเต็มตามสัญญาประกัน  และให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00 น. พร้อมกำชับว่า ระหว่างที่ศาลออกหมายจับ ถ้าติดตามพากันมาได้ให้มาที่ศาลและยื่นคำร้องให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดี

คดีนี้มีจำเลยทั้งหมดแปดคน ได้แก่ ศุภชัย ณัฏฐิกา นพเก้า ธนวรรธ โยธิน วรวิทย์ กัณสิทธิ์ และหฤษฎ์ เป็นจำเลยที่หนึงถึงแปดตามลำดับ ณัฏฐิกาจำเลยที่สองลี้ภัยในช่วงปี 2560 ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพ ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพโอนคดีมาที่ศาลอาญา รัชดา และมีคำพิพากษาในวันนี้

สำหรับนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 813 จำเลยทั้งเจ็ดคนมาพร้อมกัน ทนายจำเลยยื่นคำร้องให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดีตามที่ศาลได้แจ้งวิธีการไว้ในนัดก่อนหน้า เนื่องจากมีคดีอื่นที่มีนัดต้องพิจารณาในช่วงเช้า ศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นจนเสร็จสิ้นทั้งหมดและขอพักศาลไปตรวจคำพิพากษาให้ละเอียดอีกครั้ง ก่อนกลับขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในเวลา 11.05 น. โดยมีคำสั่งยกฟ้อง ระบุว่า การกระทำของจำเลยจัดทำรูปภาพ เนื้อหามีถ้อยคำไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่เหตุที่จะยกขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหมดมีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ความเห็นของจำเลยมีความแตกต่างกับรัฐบาลไปบ้าง แต่เป็นธรรมดาตามวิถีปกครองระบอบประชาธิปไตย 

หลังศาลอ่านคำพิพากษา วรวิทย์ หนึ่งในจำเลยร้องไห้ออกมาด้วยความอัดอั้น ทนายจำเลยระบุทำนองว่า ระหว่างการพิจารณาคดีที่ยาวนานนี้เขาไม่สามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงได้เลย ต้องลางานมาศาลอยู่บ่อยครั้ง

ยกฟ้องระบุความเห็นต่างเป็นปกติตามประชาธิปไตย เนื้อหาเกินเลยไปบ้างแต่ไม่ถึงยุยงปลุกปั่น

คดีนี้ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเฉพาะส่วนพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและคำพิพากษา โดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า  มีผู้ตัดต่อภาพใบหน้าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีใส่ภาพกระทง และมีข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 20 พ.ย. 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 18.00 รำวงสืบสานวิถีราษฎร 19.00 ประกวดโฉมงามประชาธิปไตย 20.00 ร่วมกันลอยกระทงยักษ์ ขับไล่ (เผด็จการ)อัปมงคล” บนเฟซบุ๊กเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ต่อมาทหารนำตัวจำเลยทั้งแปดไป ‘ซักถาม’ ที่มณฑลทหารบกที่ 11 และชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดกับพวกเปิดเพจเฟซบุ๊กและแบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันตัดต่อและลงภาพ ในประเด็นที่จำเลยที่หกยกขึ้นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนเมษายน 2559 เป็นเพราะโจทก์ไม่สามารถทราบวันที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตามมีการนำสืบได้ว่า การกระทำความผิดเกิดขึ้นวันเวลาใด การบรรยายฟ้องจึงถือว่า เพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่หกเข้าใจข้อหาได้ ทั้งนี้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)

จำเลยทั้งหมด ยกเว้นณัฏฐิกา ร่วมกันตัดต่อภาพลงเพจเฟซบุ๊กหรือไม่ โจทก์มีพลเอกวิจารณ์ จดแตงเบิกความว่า ได้ ‘ซักถาม’ จำเลยทั้งแปดคนได้ความว่า ศุภชัย ณัฏฐิกา  ธนวรรธและโยธิน เป็นผู้ดูแลเพจ นพเก้าทำหน้าที่ตัดต่อ กัณสิทธิ์จัดหาข้อมูล วรวิทย์เผยแพร่เนื้อหาและหฤษฎ์ ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการ จ่ายเงินจำเลยที่หนึ่งถึงเจ็ด และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แม้พยานโจทก์ปากนี้จะไม่ใช่ประจักษ์พยาน แต่เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของคสช. ทำหน้าที่ซักถามข้อมูลจำเลยที่เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นข้อมูล พยานโจทก์เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงที่จัดทำขึ้น  เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับมอบหมายจากคสช. กระบวนการเป็นการซักถามเบื้องต้น ในเวลานั้นยังไม่รู้ว่า ผู้ใดเป็นคนร้าย เป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ถ้อยคำให้การต่อพนักงานสอบสวน  ไม่ต้องแจ้งสิทธิให้ทราบก่อน ไม่อยู่ในบังคับของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 มีข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องมีอยู่จริง สอดคล้องกัน ถ้าไม่มีการให้ถ้อยคำ พลเอกวิจารณ์คงไม่สามารถจัดทำเอกสารได้และไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัย คำให้การน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักให้รับฟัง 

นอกจากนี้ยังมีพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากบก.ปอท.ที่ตรวจสอบอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ของจำเลย พบว่า อุปกรณ์ของธนวรรธและโยธินเข้าถึงเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวและให้สิทธิแก่ นพเก้า วรวิทย์และกัณสิทธิ์ สอดคล้องกับบันทึกการซักถามที่พยานโจทก์จัดทำขึ้น แม้ไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยตัดต่อภาพเมื่อใด แต่มีภาพและพยานหลักฐานที่รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกันนำเข้าภาพสู่เพจเฟซบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์” การที่จำเลยทั้งหมดนำสืบว่า ไม่ได้ร่วมกันทำแต่ถูกบังคับขู่เข็ญเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับการขู่เข็ญที่ว่า จำเลยไม่เคยแจ้งให้พนักงานสอบสวนหรือครอบครัวทราบ ในระหว่างที่แถลงข่าวจำเลยไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือกับสื่อมวลชน ไม่ปรากฏว่า มีการร้องทุกข์ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญอันบ่งชี้เป็นข้อพิรุธ ส่วนที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรมนั้นเป็นการทำเอกสารขึ้นภายหลังเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี

จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่ การกระทำความผิดตามมาตรา 116 ต้องเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต…เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน…หากผู้กระทำนำข้อความที่เกิดผลร้ายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิเคราะห์ข้อความตามฟ้อง เป็นการชักชวนให้ร่วมลอยกระทงตามประเพณีไทย โดยมีลักษณะเชิญชวนประชาชนให้ร่วมชุมนุมต่อต้านผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งคสช.แต่งตั้งหลังการรัฐประหาร 2557 สถานการณ์มีความไม่พอใจ แสดงความคิดเห็นถึงการบริหารและที่มาของอำนาจ เป็นเพียงการคัดค้านตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง การชักชวนบุคคลอื่นให้ชุมนุมโดยสงบเป็นการใช้เสรีภาพตามปกติสากลธรรมเนียมการปกครองตามรัฐธรรมนูญ อีกฝ่ายควรรับฟัง ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เห็นต่าง 

ทั้งหาได้เกิดเหตุร้ายความวุ่นวายในบ้านเมือง รูปภาพที่จำเลยจัดทำมีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่หาใช่เหตุยกวินิจฉัยว่า มีเจตนาพิเศษตามมาตรา 116 จำเลยให้การปฏิเสธยืนยันเสรีภาพ ความเห็นแตกต่างกันที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามวิถีปกครองประชาธิปไตย และการนำสืบโจทก์ไม่ได้มีน้ำหนักว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พิพากษายกฟ้อง

กว่าสามปีในศาลทหาร สืบพยานไม่เสร็จสักปากเดียว

เช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 จำเลยในคดีนี้รวมแปดคน ได้แก่ ณัฏฐิกา หฤษฎ์ วรวิทย์  โยธิน ธนวรรธ ศุภชัย กัณสิทธิ์ และนพเก้าถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำกำลังบุกจับที่บ้านของแต่ละคนในเวลาไล่เลี่ยกัน  หลังการจับกุมพวกเขาถูกนำตัวไปที่ค่ายทหาร ตำรวจนำตัวมาแถลงข่าวระบุว่า ทั้งหมดทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” คดีนี้อยู่ระหว่างการประกาศให้คดีความมั่นคงต้องพิจารณาในศาลทหารและต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2559 ศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ 

ผู้ต้องหาทั้งแปดคนถูกฝากขังอยู่หนึ่งผลัด วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศหรือมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ขณะที่ณัฏฐิกาและหฤษฎ์ถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีตามมาตรา 112 แยกต่างหากและฝากขังต่อไป วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องคดี รายละเอียดการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับภาพตัดต่อใบหน้าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณลงบนกระทง ระบุทำนองว่า การลอยกระทงเพื่อขับไล่เผด็จการและอัปมงคล ศาลทหารนัดหมายสืบพยานแบบทิ้งห่างเรื่อยมา เดือนสิงหาคม 2560 ศาลทหารเริ่มสืบพยานโจทก์ปากแรกคือ พลเอกวิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ 

ต่อมาณัฏฐิกา จำเลยในคดีนี้ขาดนัดศาล ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาคดีจนถึงเดือนมีนาคม 2561 จึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีเป็นการชั่วคราว ท้ายสุดทราบในภายหลังว่า ณัฏฐิกาจำเป็นต้องลี้ภัยทางการเมือง ส่วนจำเลยที่เหลือทั้งเจ็ดคนยังคงสู้คดีต่อไป จนกระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารโอนคดีไปที่ศาลอาญา เป็นผลมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ตลอดการดำเนินพิจารณาในศาลทหารยังสืบพยานไม่เสร็จแม้แต่ปากเดียว

เดินทางอีกสามปีในศาลยุติธรรม

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 อัยการส่งฟ้องคดี บรรยายพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งแปดคน รวมถึงณัฏฐิกาด้วยว่า จำเลยทั้งแปดกับชัยชวัชที่ยังหลบหนีจับกุมไม่ได้ ร่วมกันกระทำความผิดแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือ จำเลยทั้งแปดกับพวกร่วมกันเปิดเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์” มีเนื้อหาโจมตีการทำงานของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเลยที่ 1,2,4 และ 5 ทำหน้าที่เป็นแอดมิน จำเลยที่ 6 จัดหาข้อมูลสำหรับตัดต่อรูปภาพ จำเลยที่ 3 ตัดต่อรูป จำเลยที่ 7 เผยแพร่เนื้อหาและรูปภาพที่ตัดต่อ ส่วนจำเลยที่ 8 และชัยธวัช ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการและจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1-7 

จำเลยกระทำความผิดในระหว่างประกาศคสช.บังคับใช้ กลางเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2559 จำเลยทั้งแปดและพวกโพสต์ภาพใบหน้าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีตัดต่ออยู่บนกระทงกับข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 20 พ.ย. 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 18.00 รำวงสืบสานวิถีราษฎร 19.00 ประกวดโฉมงามประชาธิปไตย 20.00 ร่วมกันลอยกระทงยักษ์ ขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล”

ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายแห่งราชอาณาจักร ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จำเลยทั้งแปดกับพวกรู้อยู่แล้วว่า ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ภาพและข้อความปรากฏบนเพจจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่พบภาพ การกระทำของจำเลยทั้งแปดกับพวกเข้าข่ายมาตรา 116 และมุ่งประสงค์เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวออกมาร่วมขับไล่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

ศาลนัดสืบพยานในปี 2563 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การสืบเนิ่นช้าออกไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในอีกสองวันถัดมาคือ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565