สุทธิเทพ: ชีวิตเต็มรสชาติของลูกผู้ชายชื่อ ต้มจืด

เป็นธรรมดาที่ท้องฟ้าจะมืดเร็วในช่วงฤดูหนาว ท้องฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานพระนั่งเกล้า สถานที่ที่ผมนัดพบกับสุทธิเทพ หรือ “ต้มจืด” นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ดูจะมืดเร็วเป็นพิเศษ แม้เวลานั้นนาฬิกาจะเพิ่งวิ่งเลยเลขห้ามาไม่นานก็ตาม

ว่าพลางท้องฟ้าก็มืดลงอีกเล็กน้อย ก่อนที่ชายร่างเล็กวัยยี่สิบต้นๆ จะปรากฏตัว ณ จุดนัดพบในชุดเสื้อสีดำ กางเกงทหารขายาว เขาทักทายผมด้วยรอยยิ้มกว้าง

ก่อนหน้าที่จะมาสัมภาษณ์ต้มจืด ผมไม่ได้รู้สึกว่าบทสนทนาครั้งนี้จะมีความพิเศษหรือทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผมเคยพูดคุยกับคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาแล้วหลายคน แต่กลายเป็นว่าผมคิดผิด 

แต่ก่อนการสัมภาษณ์แบบจริงจังจะเริ่มต้น ผมก็ต้องเจอเรื่องตื่นเต้นเข้าให้ เมื่อต้มจืดพาผมขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ ที่เขายืมคนรู้จักมาวิ่งขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่พักของเขาซึ่งอยู่ห่างออกไปพอสมควร แม้ต้มจืดจะไม่ได้ขี่รถแบบน่าหวาดเสียวแต่ความเร็วของรถคันอื่นๆ ที่แล่นผ่านกับลมที่พัดแรงบนสะพานก็มากพอแล้วที่จะทำให้ผมนั่งเกร็งอยู่ตลอดเวลา 

ระหว่างที่อยู่บนถนน ต้มจืดชวนผมคุยไปเรื่อยเปื่อย แต่เพราะความหวาดเสียวกับการเดินทางทำให้เสียงพูดของเขากลายเป็นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา กระทั่งเขาเอ่ยว่า “พี่เชื่อไหม ถ้าผมไม่โดนคดี (มาตรา 112) ป่านนี้ผมคงเลิกสนใจการเมืองไปแล้ว เพราะผมก็ไม่ใช่คนอินการเมืองอะไรขนาดนั้น”

ประโยคนั้นเหมือนจะดึงให้ผมออกจากภวังค์ของความหวั่นใจกับการจราจร พร้อมๆ กับความโล่งใจที่เรามาถึงที่หมาย 

อายุน้อยร้อยประสบการณ์

“ทำไมเขาเรียกผมจืดเหรอ พี่ก็ดูหน้าผมสิ จริงๆ ผมมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่ง แต่พวกเพื่อนๆ ก็เรียกผมไอ้จืดๆ จนสุดท้ายมีคนมาเติมสร้อยจนกลายเป็นต้มจืด”

ต้มจืดตอบคำถามแรกหลังเราเริ่มนั่งลงพูดคุยกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวในสำนักงานของพี่คนหนึ่งที่เขามาทำงานและพักอาศัยด้วย ต้มจืดเล่าว่าเขาเป็นคนลพบุรีโดยกำเนิด พ่อของเขาเสียชีวิตไป และหลังพ่อเสียชีวิต แม่ของต้มจืดก็เดินทางไปทำงานที่อื่น เขาจึงต้องอยู่กับยายเป็นหลัก แม้ช่วงแรกๆ แม่ก็ยังส่งเงินมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของเขาอยู่บ้าง แต่ต่อมาเมื่อแม่ไปแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกกับสามีใหม่ การติดต่อและการช่วยเหลือด้านการเงินจากแม่ก็ค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งขาดหายไป

ผมถามต้มจืดว่าตัวเขาเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่จังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นเมืองทหาร เคยคิดอยากจะเป็นทหารบ้างหรือไม่ ต้มจืดปฏิเสธผมทันควัน

“ไม่เลยพี่ ผมไม่ได้รู้สึกว่าทหารเท่หรือพิเศษกว่าอาชีพอื่นตรงไหน ตอนเด็กผมเห็นว่าพวกทหารมักจะไปกินเหล้ากันตามร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ อะไรแบบนั้น ผมก็เลยไม่ได้ประทับใจหรือรู้สึกว่าทหารเท่ เป็นรั้วของชาติอะไรแบบนั้น ก็แค่อาชีพอาชีพหนึ่ง”

ล่วงมาถึงปี 2549 ซึ่งต้มจืดอายุได้ 7 – 8 ขวบ ยายพาเขาเข้ากรุงเทพเพื่อมาเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี โดยมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านของป้าที่มีญาติๆ หลายคนมาอยู่รวมกัน ชีวิตในเมืองกรุงไม่ได้ปราณีต้มจืดนักเนื่องจากยายของเขาไม่มีรายได้และไม่ได้มีมรดกอะไรมากมาย พอต้มจืดเริ่มเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมเขาก็ตัดสินใจเริ่มหางานทำ

“ผมทำมาหลายอย่างแล้วพี่ อะไรก็ตามที่ได้เงิน อาชีพแรกที่ทำเลยคือเป็นเด็กล้างจาน เวลาไปโรงเรียนผมจะใส่เสื้อยืดเหมือนเป็นเสื้อซับใน พอเลิกเรียนปุ๊ปก็ถอดเสื้อนักเรียนออกแล้วก็ทำงานได้เลย ผมใช้ชีวิตแบบทำงานไปเรียนไปจนถึง ม.3 ก็คิดว่าอยากหาเงินมากกว่า ไม่อยากเรียนในระบบแล้วเพราะมันทำให้ไม่มีเวลาหาเงินเติมที่ พอผมเรียนจบชั้น ม.3 ช่วงประมาณปี 57 ผมก็เลิกในระบบมาเรียน กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) แทนเพื่อจะทำงานเลี้ยงตัวเองแบบเต็มตัว แต่ช่วงหลังๆ ผมเปลี่ยนงานบ่อย สุดท้ายก็เลยเรียนไม่จบได้แค่วุฒิ ม.3” 

ผมถามเขาต่อว่าที่ผ่านมาเคยทำอะไรบ้าง

“เยอะพี่ อย่างที่บอกว่าอะไรได้ตังผมทำหมด เริ่มจากเป็นเด็กล้างจาน คนสวน ช่างไม้ ทำเพดาน แล้วตอนอายุ 19 ผมก็เคยเป็นรองผู้จัดการร้านอาหารมาแล้ว”

“เฮ้ย เอาจริง อายุ 19 เคยเป็นรองผู้จัดการเลยเหรอ” ผมถามแบบไม่เชื่อหู ต้มจืดเลยอธิบายว่าร้านอาหารที่พูดถึงเป็นร้านของญาติ เขาก็เลยได้เป็นรองผู้จัดการเพื่อจะได้ช่วยดูแลร้าน

“งานที่ผมทำเกือบทั้งหมดจ่ายเงินตอบแทนเป็นค่าแรงขั้นต่ำ อาจจะมีตอนเป็นรองผู้จัดการร้านที่ได้เงินเพิ่มมาอีกนิดหน่อยแล้วก็เงินทิป กับตอนที่ไปทำงานก่อสร้างที่ภูเก็ตที่ได้เงินพอสมควร เรียกว่าผมอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำมาจนรู้เลยว่าสภาพชีวิตคนใช้แรงงานที่อยู่ด้วยค่าแรงขั้นต่ำมันแย่ขนาดไหน”

สำหรับคนที่เงินเดือนไม่น้อยและไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านแต่ยัง “ตึงมือ” แทบทุกเดือนแบบผม พอได้ฟังคำบอกเล่าของต้มจืดผมก็แทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าผมต้องไปใส่รองเท้าคู่เดียวกับเขา ผมจะอยู่รอดมาได้อย่างไร

ผลผลิตของการเมืองเหลืองแดง

หนึ่งในคำถามเริ่มต้นบทสนทนาที่บางครั้งแม้แต่ผมยังเบื่อที่ต้องฟังเสียงตัวเองเวลาพูดคุยกับคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คือคำถามที่ว่า “คุณเริ่มสนใจการเมืองตอนไหน” ซึ่งเท่าที่สัมภาษณ์เยาวชนหรือนักกิจกรรมหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มหรือมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังในยุคปี 2563 คำตอบที่ได้ก็มักมีความคล้ายคลึงกันคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือบางคนอาจมีพ่อแม่หรือคนที่บ้านที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงมาก่อน แต่คำตอบของต้มจืดดูจะมีความแตกต่างออกไปจากกรณีของคนอื่นๆ อยู่บ้าง

“คนรุ่นผมถือเป็นผลผลิตของความขัดแย้งการเมืองเหลืองแดง ตั้งแต่ตอนที่ผมย้ายมาอยู่กรุงเทพช่วง ป.2 ในปี 49 ผมก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ บ้านป้าที่ยายพามาอยู่ด้วยมีญาติมาอยู่รวมกันหลายคน ญาติบางคนก็เป็นเหลือง บางคนเป็นแดง การเถียงกันเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ”

ด้วยอคติและประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่แตกต่างออกไป ผมอดตั้งคำถามกับเรื่องเล่าของต้มจืดไม่ได้ สำหรับผมเด็ก ป.2 ก็คือเด็ก ป.2 ไม่ว่าเทคโนโลยีจะทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนได้มากแค่ไหน แต่ผมก็ยังไม่เชื่อว่าเด็ก ป.2 ที่อายุไม่ถึงสิบขวบจะเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจัง แต่ต้มจืดก็มีคำตอบที่พอจะสลายอคติของผมได้

“ผมจะไม่สนใจการเมืองได้ยังไง คนที่บ้านผมเถียงเรื่องการเมืองกันแทบทุกวัน แล้วอีกอย่างแทนที่เด็ก ป.2 อย่างผมจะได้ดูการ์ตูนหรือดูอะไรที่เด็กควรจะดู ผมกลับต้องมาดูการปราศรัยทั้งของเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตามแต่ผู้ใหญ่ที่บ้านจะเปิด เป็นอย่างงั้นจะไม่ให้ผมสนใจได้อย่างไร”

“ตั้งแต่เด็กทั้งญาติที่เป็นคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงต่างก็มา “ไซโค”กับเด็กอย่างผมว่าฝ่ายเขาถูกอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งผิดอย่างไร ผมโดนอย่างงั้นมาตลอดตั้งแต่เด็ก คงจะเป็นเรื่องแปลกมากกว่าที่ผมไม่รู้เรื่องการเมืองเลย”

แม้ว่าคนที่ผมเคยพูดคุยอีกหลายคนจะเกิดและเติบโตมาในบริบททางการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแบบเดียวกับต้มจืด แต่คนที่ผมคุยด้วยก็ไม่เคยมีใครเรียกตัวเองว่าเป็นผลผลิตของความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่ต้มจืดนิยามตัวของเขาเองมาก่อน 

นักเรียนเลวผู้มาก่อนกาล

“พี่เชื่อไหม ถ้ายุคผมมี “นักเรียนเลว” ผมน่าจะกลายเป็นหนึ่งในแกนนำไปแล้ว” ต้มจืดชวนผมเปลี่ยนหัวข้อบทสนทนาหลังคุยเรื่องการเมืองเหลืองแดงในครอบครัวของเขามาพอสมควร ย้อนกลับไปในช่วงที่ต้มจืดเรียนมัธยมตันประมาณปี 2555 ต้มจืดเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องทรงผมของโรงเรียน ในฐานะคนที่กำลังจะก้าวข้ามจากวัยเด็กไปสู่วัยรุ่น เขาเริ่มสนใจเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง และ “ทรงผม” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนหรือความมั่นใจให้กับตัวของเขา ทว่าระเบียบของโรงเรียนกลับบังคับให้นักเรียนชายทุกคนตัดผมทรงนักเรียน หรือที่ต้มจืดเรียกว่า “ทรงกะลาครอบ””

“เวลาผมดูทีวีผมก็เห็นว่าเด็กที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมเขาก็ไว้ผมยาวแบบรองทรงกัน แล้วพอย้อนมาดูในโรงเรียนก็ไม่ใช่ว่านักเรียนผู้ชายทุกคนจะต้องตัดผมทรงกะลาครอบ อย่างลูกครูก็ไม่ต้องตัด ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมนักเรียนบางคนถึงมีอภิสิทธิ์มากกว่าอีกหลายๆ คน ผมเลยเริ่มแสดงการต่อต้านด้วยการไว้ผมยาวจนถูกเรียกเข้าห้องปกครอง แล้วก็เคยถูกเรียกไปกร้อนผมหน้าเสาธง”

“โชคยังดีที่เพื่อนๆ ในโรงเรียนไม่ทิ้งผม พอเห็นผมถูกทำโทษที่หน้าเสาธง นักเรียนในโรงเรียนหลายคนก็พร้อมใจกันไม่ตัดผมทรงกะลาครอบเพื่อทำอารยะขัดขืนร่วมกับผม พอจำนวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากเข้าสุดท้ายโรงเรียนของผมก็กลายเป็นโรงเรียนสังกัด กทม. โรงเรียนแรกๆ ที่ไม่บังคับให้ต้องตัดผมทรงนักเรียน”

“ถ้าสมัยนั้นมีนักเรียนเลว ผมน่าจะได้เป็นคนสำคัญในนั้นแน่ๆ”

ต้มจืดหัวเราะหลังเล่าเรื่องราวความ “แสบ” สมัยที่เขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น แต่สำหรับผมสิ่งที่เกิดขึ้นกับต้มจืดคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่แค่กฎระเบียบเรื่องทรงผม หากนักเรียนที่เป็นลูกครูถูกบังคับให้ตัดผมด้วย ต้มจืดอาจไม่รู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นและอาจไม่ได้ออกมาทำอารยะขัดขืนด้วยการไว้ผมยาว นอกจากนั้นคงต้องยอมรับด้วยว่าต้มจืดโชคดีที่เพื่อนๆ ในโรงเรียนไม่ทอดทิ้งเขาแต่ลุกขึ้นมาทำอารยะขัดขืนร่วมกับเขาจนท้ายที่สุดนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องระเบียบทรงผมในโรงเรียน หากเพื่อนนักเรียนเลือกที่จะนิ่งเฉย ความพยายามของต้มจืดคงเป็นได้เพียง “คลื่นรบกวน” ที่ดังขึ้นมาเพียงชั่วขณะก่อนจะถูกกลืนไปกับระบบที่บิดเบี้ยวอีกครั้ง

ร่วมชุมนุมเพราะอนาคตถูกปล้นชิง

ในปี 2557 มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ได้แก่ การรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปีเดียวกันนี้ชีวิตของต้มจืดก็มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยเช่นกัน เมื่อเขาตัดสินใจเลิกเรียนการศึกษาในระบบเพื่อออกมาหางานและใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ในช่วงแรกเขายังพอจะเจียดเวลาไปเรียน กศน.อยู่บ้าง แต่เมื่อเขาต้องเปลี่ยนงานอยู่เป็นระยะ ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเลิกเรียนและทำงานเพียงอย่างเดียว ด้วยข้อจำกัดด้านวุฒิการศึกษา งานรับแจ้งที่ต้มจืดได้ทำจึงมักเป็นงานที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ      

“พี่เคยไหมมีเงินร้อยเดียวต้องใช้ทั้งอาทิตย์ ทั้งค่ารถไปทำงาน ค่ากิน จริงๆ ผมเป็นคนสู้ชีวิตนะ แต่ชีวิตมันชอบสู้กลับ”  

ในฐานะคนที่ต้องใช้ชีวิตกับค่าแรงขั้นต่ำ ต้มจืดจึงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่สัมผัสหรือได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ คสช.บริหารประเทศ เมื่อพรรคอนาคตใหม่เปิดตัวและประกาศว่าจะทำงานการเมืองแนวใหม่ต้มจืดก็เริ่มมีความหวังว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้นหากพรรคอนาคตใหม่ได้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ

“ช่วงที่ผมเริ่มทำงาน ผมยังรู้สึกว่าเงิน 300 บาท มันพอทำอะไรได้บ้าง แต่พอรัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศไปนานขึ้นๆ เงินสามร้อยนี่เดินออกจากบ้านมาแปปเดียวก็แทบจะละลายไปหมดแล้ว ข้าวของแพงขึ้นๆ ผมเลยเห็นชัดๆ ว่าการรัฐประหารมันไม่ได้ช่วยห่าอะไรเลย”

“พอมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอการทำงานการเมืองแบบใหม่ ผมก็เริ่มมีความหวังว่าถ้าเขาได้เข้าไปบริหารประเทศก็คงจะทำให้อะไรๆ มันดีขึ้น ผมหวังกับการเลือกตั้งครั้งนั้น (ปี 2562) มากเพราะมันเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตด้วย เสร็จแล้วพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ ผมก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เหมือนอนาคตของตัวเองถูกปล้น ผมรู้สึกว่าเสียงที่กูเลือกไปมันไม่มีความหมายเลยเหรอ พอนักศึกษาเขานัดชุมนุมกันผมก็ตัดสินใจมาเข้าร่วมด้วย ครั้งแรกที่ผมไปร่วมชุมนุมคือม็อบที่ ม.เกษตร (การชุมนุม KU ไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2563) วันนั้นผมหยุดงานพอดีเลยนั่งรถไฟฟ้าจากสมุทรปราการไปร่วมชุมนุม” 

การนั่งรถไฟฟ้าอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับใครหลายคน แต่พอผมลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าผมเป็นคนทำงานรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละสามร้อยกว่าบาท แล้วต้องใช้เงินประมาณร้อยกว่าบาท หรือ “เกือบครึ่งหนึ่ง” ของรายได้หนึ่งวันเพียงเพื่อนั่งรถไฟฟ้าจากสมุทรปราการเข้ามาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ผมยังจะมาชุมนุมหรือไม่ คำตอบที่ได้คือผมคงไม่ไป เพราะมันดูจะเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป

หลังไปร่วมชุมนุมครั้งแรก ต้มจืดก็ยังหาโอกาสไปชุมนุมอยู่บ้างตามแต่งานของเขาจะอำนวย กระทั่งชีวิตของเขามาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2564 เมื่อเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112

หนึ่งคืนในห้องขัง กับชะตากรรมที่ตามมา

ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เป็นช่วงที่กระแสการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ที่มีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักกำลังพุ่งขึ้นสูง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีคนที่มีความเห็นแตกต่างออกไปมาวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้ด้วย ต้มจืดเองพอเห็นข้อความที่กลุ่มคนรักสถาบันบางส่วนโพสต์ในลักษณะที่เขาเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล ก็เลยไปเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “คณะประชาชนปลดแอก” โดยมีข้อความบางตอนที่ถูกตีความว่าเป็นการพาดพิงรัชกาลที่สิบจนเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดี

“ผมมีกติกาการใช้อินเทอร์เน็ตของตัวเอง คืออะไรที่เป็นเรื่องการเมืองผมจะไม่เอาเข้ามาปะปนกับเฟซส่วนตัวของผม แต่วันนั้นผมไม่ไหวจริงๆ พี่ ก็เลยตั้งโพสต์แบบนั้นออกไป แล้วก็ก็อปข้อความไปวางในอีกหลายๆ เพจ นอกจากในกลุ่มที่กลายเป็นคดี พอระบายอารมณ์ไปเสร็จผมก็ทิ้งไว้ไม่ได้ไปยุ่งกะมันอีก จะมีใครมาคอมเมนต์ มาตอบโต้อะไรท้ายโพสต์นั้น ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งเลย”

“ผมก็ใช้ชีวิตของผมแบบปรกติเรื่อยมา จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน 2564 ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มทำงานที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านรามอินทราได้ไม่นาน ผมก็มาถูกจับ”

“วันที่ถูกจับผมต้องเข้างานตอนเที่ยง ผมเลยไปถึงที่ห้างก่อนเที่ยงนิดหน่อย ตอนที่เดินอยู่ในห้างกำลังจะไปเข้างานก็มีผู้ชายตัวใหญ่หัวเกรียนคนหนึ่งเดินเข้ามาหาผมแล้วเอารูปที่น่าจะเป็นรูปผมจากมือถือของเขาให้ผมดู พร้อมกับถามผมว่า น้องๆ น้องคือคนนี้ใช่ไหม พร้อมกับถามชื่อเล่นของผมที่มีแต่คนในครอบครัวเท่านั้นที่รู้ ผมก็งงๆ อยู่”

“ตอนนั้น ก็รับไปว่าใช่ เท่านั้นแหละ เขาก็จับตัวผมในลักษณะเอามือรุนหลังผมแล้วก็บอกให้ผมไปกับเขา เท่านั้นไม่พอมีผู้ชายหัวเกรียนอีกสองคนเข้ามาประกบผมทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวา คนที่เข้ามาคุมตัวผมเอาแต่พูดว่าอย่ากระโตกกระตาก ผมอยากจะบอกว่าพวกมึงนั่นแหละที่กระโตกกระตาก” ต้มจืดเล่าเรื่องวันที่เขาถูกจับกุมเคล้ากับเสียงหัวเราะ

“อายมากเลยตอนนั้น คนเห็นกันทั้งห้าง หลังถูกจับตำรวจเอาตัวผมมานั่งตรงม้านั่งนอกห้าง มีตำรวจคนหนึ่งเอาแฟ้มใหญ่ๆ มาวางให้ผมดู แต่ยังไม่ทันได้พลิกดูตำรวจก็เอากุญแจมือใส่ผมมือผมเลย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นผมคงไม่มีปัญญาหนีไปไหนได้แล้ว”

“ตอนถูกจับผมเครียดเหมือนกันนะ แต่ก็โชคดีที่ตั้งสติได้ เพราะระหว่างที่นั่งตรงม้าหิน อยู่ๆ ตำรวจคนหนึ่งก็เอากระดาษเปล่ามาตรงหน้าผม แล้วบอกให้ผมเซ็นชื่อตรงที่เขาจิ้มให้ดู กระดาษเปล่าเลยนะพี่ ตำรวจบอกประมาณว่าให้เซ็นซะแล้วจะปล่อยกลับบ้าน ผมได้แต่ฉุกคิดว่าถ้าตอนนั้นผมตั้งสติไม่ได้คงเซ็นไปแล้วเพราะความกลัวแล้วก็อยากกลับบ้าน แต่พอผมมีสติผมก็คิดได้ว่า เฮ้ย! นี่มันคดี 112 นะ ไม่ใช่คดีกิ๊กก๊อก มันคงไม่ปล่อยเราแน่ๆ ผมเลยบอกเขาว่าผมขอไม่เซ็นจะรอทนายก่อน ตำรวจก็ตอบว่า มันก็เป็นสิทธิของน้อง”

“วันนั้นถูกลากไปหลายที่เลย หลังถูกจับที่ห้าง ตำรวจก็พาผมไปที่กองปราบปรามแดนเนรมิตเพื่อทำบันทึกการจับกุม เสร็จแล้วก็พาผมไปที่กองบังคับการปอท.เพื่อทำการสอบสวน ก่อนจะพาไปขังที่สน.ทุ่งสองห้องหนึ่งคืน ก่อนจะถูกพาตัวไปฝากขังที่ศาลตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง”

“ถามว่าตอนถูกจับกลัวไหม ก็กลัว แต่ผมก็พยายามทำใจดีสู้เสือและคุมสติตัวเองไว้ อย่างตอนที่ขึ้นรถตำรวจผมยังกวนตำรวจอยู่เลย เห็นเขาเปิดแอร์แบบแรงมากผมก็แกล้งพูดขึ้นว่า ร้อนเนาะพี่”

ยังไม่ทันที่ผมจะขยับไปคุยเรื่องคดีของเขาในรายละเอียด ต้มจืดพูดแทรกผมขึ้นมาทันทีว่า

“พี่ ผมขอรีวิวห้องขังสน.ทุ่งสองห้องหน่อยนะ”

“ผมไม่รู้ว่าพื้นห้องขังเจอกับไม้กวาดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าฝุ่นหนามาก บนพื้นห้องเต็มไปด้วยเส้นผมที่น่าจะเป็นของผู้หญิง ยุงก็เยอะ ตอนที่ผมถูกเอาตัวไปขัง มีคนถูกขังในห้องข้างๆ สองคน ห้องฝั่งหนึ่งเป็นคนติดยา อีกฝั่งเป็นคนที่โดนคดีทำร้ายร่างกาย ไอ้คนที่โดนคดีทำร้ายร่างกายเขาไม่ได้คุยอะไรกับผมสักเท่าไหร่ แต่คนที่โดนคดียานี่สิ ไม่ไหวเลยเรียกทั้งคืน เดี๋ยวๆ ก็น้องๆ มีบุหรี่ไหม เดี๋ยวก็น้องๆ มีไอ้นั่นไหม มีไอ้นี่ไหม ผมแทบไม่ได้นอนเลยพี่ หงุดหงิดก็หงุดหงิด กว่าจะได้นอนก็ตีห้า” 

ต้มจืดรีวิวค่ำคืนในห้องขังของเขาอย่างออกรสพร้อมเสียงหัวเราะเป็นระยะ

หลังถูกขังไว้หนึ่งคืน ต้มจืดถูกพาตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา แม้เขาจะได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินประกัน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมอีก 

“หลังได้ประกันผมก็กลับไปทำงานที่ห้างตามปกติ ยามที่ห้างคนหนึ่งที่ผมรู้จักเขาก็ทักผมแบบแซวว่า ว่ายังไงไอ้กบฏ คือถึงผมจะรู้ว่าเขาแค่แซว แต่ได้ยินแบบนี้บ่อยๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ผมกลับไปทำงานได้ไม่กี่วันหัวหน้างานก็เรียกไปให้ใบเตือน ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับห้างเลย แล้วพอทำงานไปได้หนึ่งหรือสองอาทิตย์ เขาก็ให้ผมออกจากงานโดยให้เหตุผลว่าผมทำงานไม่ดี ไม่กระตือรือร้น ไม่ผ่านทดลองงาน แต่ผมก็พอจะรู้ว่าสาเหตุจริงๆ ที่ต้องตกงานมันเป็นเพราะอะไร

“ช่วงตกงานแรกๆ มันแย่มากพี่ เพราะผมต้องมารายงานตัวที่ศาลทุก 15 วัน แล้วพอตกงานก็ไม่มีเงินใช้ ผมเคยต้องโทรไปขอยืมเงินเพื่อนในบางครั้งเพราะไม่มีตังเดินทางมาศาล ทุกอย่างมันแย่ไปหมดเลย จนกระทั่งเดือนสิงหา (2564) นายประกันที่มาจากกองทุนราษฎรประสงค์เค้าก็แนะนำให้ผมไปสมัครงานส่งยาให้ผู้ป่วยโควิดตามบ้าน ผมก็เลยพอมีรายได้เข้ามาบ้าง”

ศาลนัดพิจารณาคดีของต้มจืดในเดือนกันยายน 2565 จริงๆ แล้วผมเกือบได้พบกับต้มจืดตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว แต่ในนัดพิจารณาคดีวันแรก ต้มจืดตัดสินใจเปลี่ยนไปให้การรับสารภาพ ศาลจึงให้งดวันนัดสืบพยานทั้งหมด ส่วนตัวผมเองในวันนัดพิจารณาคดีวันแรกติดงานอื่นเลยไม่รู้เรื่องที่เขาเปลี่ยนคำให้การ พอไปศาลในวันนัดพิจารณาคดีวันที่สองก็เลยไม่เจอใคร

ชีวิตเล็กๆ ที่รอการกลับมา

ในช่วงที่ต้มจืดทำงานส่งยาให้ผู้ป่วยโควิด เขาได้พบ “เพื่อนใหม่” เป็นแมวจรตัวน้อยตัวหนึ่ง ครั้งแรกเขาก็เพียงแค่แบ่งขนมปังให้เจ้าตัวเล็กกิน แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ตกหลุมรักเจ้าตัวเล็กจนตัดสินใจพามันย้ายถิ่นฐานจากแถวทำเนียบรัฐบาลมาอยู่ด้วย จนในขณะที่กำลังเล่าเรื่อง เจ้าเหมียวก็ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีเรียบร้อยแล้ว

“ผมเจอ “ผู้กอง” (ชื่อของแมว) ครั้งแรกช่วงประมาณเดือนกุมภาปีนี้ (2565) ตอนนั้นผมเพิ่งกลับจากส่งยามานั่งพักที่กองอำนวยการที่อยู่ใกล้ๆ กับทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่ผมนั่งพักกินแซนวิช ก็มีลูกแมวตัวหนึ่งเดินมานั่งจ๋องอยู่ข้างๆ ผมกับแมวต่างคนต่างจ้องกัน สุดท้ายผมก็ต้องบิแซนวิชแบ่งให้เจ้าแมวไปกินด้วย”

“จากนั้นเวลาผมมานั่งที่กองอำนวยการเจ้าเหมียวก็จะมานั่งด้วย จนผมตัดสินใจอุ้มมันกลับมาบ้านด้วยเพราะเหมือนมันจะไม่มีแม่ ตอนแรกที่ผมพามันมาบ้านก็กะว่าจะแค่รับเลี้ยงชั่วคราวแล้วหาบ้านใหม่ดีๆ ให้มัน แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมาก็ไม่เอาละ เก็บไว้เลี้ยงเองดีกว่า”

ผมอดถามต้มจืดไม่ได้ว่าทำไมถึงเรียกชื่อเจ้าเหมียวว่า “ผู้กอง” ทั้งๆ ที่ตอนต้นของการสัมภาษณ์ต้มจืดบอกว่าเขารู้สึกเฉยๆ ถึงขั้นออกจะไม่ชอบทหารเสียด้วยซ้ำ 

“ไม่ใช่พี่ ไม่ใช่ผู้กองทหาร ผมเจอแมวที่กองอำนวยการของหน่วยงานที่ผมไปทำงานส่งยาผู้ป่วยโควิด ก็เลยเรียกแมวว่าผู้กอง”

ผมอดประทับใจในความคิดสร้างสรรค์ของต้มจืดในการตั้งชื่อแมวของเขาไม่ได้ มาถึงตรงนี้ต้มจืดขอตัวไปพาเจ้าแมวผู้กองมาให้ผมถ่ายภาพ เขาหายไปประมาณห้านาทีก่อนจะกลับมาพร้อมกับแคปซูลแมวที่สะพายอยู่ด้านหน้าขณะที่เจ้าตัวเล็กในแคปซูลก็ส่งเสียงร้องด้วยความตื่นคนแบบไม่หยุด แม้จะมีรายได้ไม่เยอะมากนัก แต่ต้มจืดก็เจียดเงิน 400 บาทมาซื้อแคปซูลให้เจ้าตัวเล็กของเขา 

“มันไม่ชอบออกนอกห้อง” ต้มจืดบอกกับผม ทันทีทีถูกปล่อยออกจากแคปซูลเพื่อมาเป็นนายแบบ เจ้าตัวเล็กก็วิ่งไปรอบห้องเดือดจนผมต้องเดือดร้อนให้ต้มจืดช่วยจับผู้กองให้อยู่นิ่งๆ เพื่อถ่ายภาพ ก่อนที่ผมจะบอกให้ต้มจืดพาผู้กองไปกลับไปอยู่ที่ห้องเพราะไม่อยากขัดใจเจ้าตัวเล็กที่ส่งเสียงร้องและดิ้นไปมาด้วยความตื่นคนแปลกหน้าซึ่งก็คือตัวผมเอง  

“ผู้กองติดผมมากเลย” ต้มจืดกล่าวก่อนพาเจ้าแมวน้อยออกจากห้องไป ตอนนั้นผมได้แต่หวังว่าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดีของต้มจืด เขาจะได้มีโอกาสกลับมาเจอแมวของเขาอีกครั้งในช่วงเย็นวันเดียวกัน

หลังเสร็จการสัมภาษณ์ ผมพาต้มจืดไปกินแจ่วฮ้อนที่ร้านใกล้ๆ บ้านของเขา ระหว่างการพูดคุยเรื่องราวสัพเพเหระอื่นๆ ผมชวนต้มจืดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 ด้วยความที่ชีวิตของเขาจะเต็มไปด้วยมรสุมหรือถ้าหากจะเป็นรสชาติอาหารก็คงเผ็ดร้อนจนแสบปาก ต้มจืดเลยมองโลกไปตามความเป็นจริงว่าการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวคงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโครงสร้างคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น

แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังหวังลึกๆ ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะไม่สูญเปล่าแต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรบางอย่างที่ดีกว่าเดิม

“ผมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้มากนักหรอก เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันต้องใช้เวลา 10 ปี 20 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่าเราเพิ่งสู้มาสองปีเองนะ ยังเปลี่ยนอะไรๆ ไปได้ขนาดนี้ ถ้าจะมองแบบมีความหวังก็คงมองได้ว่าการต่อสู้ที่ผ่านมามันเป็นแค่การเริ่มต้น ถ้าเรายังสู้ต่อไปวันหนึ่งฉันทามติของคนส่วนใหญ่ก็คงจะหันมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราเรียกร้องมาคงจะไม่สูญเปล่า”

หมายเหตุ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกต้มจืดเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตามเขาได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยต้องวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท

คลิกดูวิดีโอสัมภาษณ์ของต้มจืด