คดี กรรม และนักร้องมือฉมัง: รวมสถิติสุดช็อก 2 ปีของการใช้ “มาตรา 112”

พุทธศักราช 2363-2565 คือช่วงเวลาที่มีผู้ถูกตั้งข้อหา “มาตรา 112” มากที่สุดในประวัติศาสตร์

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะใช้กฎหมาย “ทุกมาตรา” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นับเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จนถึง 14 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 217 คน ใน 236 คดี 

สาเหตุที่จำนวนของ “คน” และ “คดี” ไม่เท่ากัน เพราะว่า มนุษย์ 1 คน ถูกตั้งข้อหาได้มากกว่า 1 คดี แต่ถ้าหากใครจะคิดว่า “อย่างมากก็แค่โดนคนละ 2-3 คดีหรือเปล่า” ข้อเท็จจริง คือ ไม่ใช่ เพราะจากสถิติในปัจจุบัน ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของสถิติมากเป็นลำดับต้นๆ นั้น มีจำนวนคดีมากถึงหลัก 10-20 คดี

ท่ามกลางช่วงเวลาที่การเมืองภาคประชาชนเติบโตขึ้นและเกิดเป็นปรากฏการณ์ “สังคมตาสว่าง” ทว่า ข้อเท็จจริง (ต้องห้าม) มากมายที่ถูกถ่ายทอดหรือสื่อสารผ่านคำปราศรัยและการถกเถียงบนโลกออนไลน์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลับถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นจำนวนของ “คดีความ” ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และทำลายทุกสถิติการใช้มาตรา 112 ที่เคยมีมาในประเทศไทย 

ไอลอว์ชวนดู “สถิติที่น่าสนใจ” ดังต่อไปนี้

สถิตินับตามจำนวน “คดี” เรียงลำดับคนที่มีคดีมาตรา 112 มากที่สุด

(1) พริษฐ์ ชิวารักษ์ 23 คดี

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน เป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี (22 สิงหาคม 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่ลานหน้าบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด (3 กันยายน 2563)
  3. ปราศรัยในการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรี (10 กันยายน 2563)
  4. ปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง (19 กันยายน 2563)
  5. ปราศรัยในการชุมนุม MobFest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ถนนราชดำเนิน (14 พฤศจิกายน 2563)
  6. โพสต์เฟซบุ๊ก #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ (8 พฤศจิกายน 2563)
  7. ปราศรัยในการชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่หน้ารัฐสภา (17 พฤศจิกายน 2563)
  8. ปราศรัยในการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 (29 พฤศจิกายน 2563)
  9. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  10. ปราศรัยในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น (20 สิงหาคม 2563)
  11. ปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลากลางหลังเก่า จังหวัดอยุธยา (21 สิงหาคม 2563)
  12. ปราศรัยในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว (2 ธันวาคม 2563)
  13. โพสต์และทวิตข้อความเกี่ยวกับการแบนธนาคารไทยพาณิชย์
  14. โพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวกับ the land of compromise ด้วยรถฉีดน้ำ
  15. ร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (20 ธันวาคม 2563)
  16. โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องการนำพระแก้วมรกตไปขาย และการแก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
  17. ปราศรัยในการชุมนุมที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (23 พฤศจิกายน 2563)
  18. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ทำการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (25 มกราคม 2564)
  19. คดีจากการชุมนุมเพื่อติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง (14 มกราคม 2564)
  20. ปราศรัยหน้า สน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาคดี 112 ของทราย เจริญปุระ (21 ธันวาคม 2563)
  21. โพสต์ 2 ข้อความในเฟซบุ๊ก วิจารณ์กรณีการใช้พื้นที่สนามหลวงและกล่าวถึงกรณีหย่าร่างกับสุจาริณี
  22. โพสต์ภาพถือพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะกลับหัว พร้อมข้อความ “ด้วยรักและฟักยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ”
  23. โพสต์ข้อความกรณีกลุ่มอ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ไปคุกคามเยาวชน และเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์พิจารณาตนเอง

(2) อานนท์ นำภา 14 คดี

อานนท์ นำภา เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง (19 กันยายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุมคณะราษฎรที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (14 ตุลาคม 2563)
  3. โพสต์เฟซบุ๊ก #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ (8 พฤศจิกายน 2563)
  4. ปราศรัยในการชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  ที่หน้ารัฐสภา (17 พฤศจิกายน 2563)
  5. ปราศรัยในการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 (29 พฤศจิกายน 2563)
  6. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  7. ปราศรัยในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว (2 ธันวาคม 2563)
  8. ปราศรัยในการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ (9 สิงหาคม 2563)
  9. ปราศรัยในการชุมนุมที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (23 พฤศจิกายน 2563)
  10. ปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (3 สิงหาคม 2563)
  11. ปราศรัยหน้า สน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาคดี 112 ของทราย เจริญปุระ (21 ธันวาคม 2563)
  12. โพสต์ข้อความวิจารณ์การใช้มาตรา 112 และ ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ รวม 3 ข้อความ
  13. ปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน2” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (3 สิงหาคม 2564)
  14. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ วิพากษ์รัชกาลที่ 10 เรื่องการใช้อำนาจบริหารประเทศ

(3) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรี (10 กันยายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง (19 กันยายน 2563)
  3. โพสต์เฟซบุ๊ก #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ (8 พฤศจิกายน 2563)
  4. ปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลากลางหลังเก่า จังหวัดอยุธยา (21 สิงหาคม 2563)
  5. ปราศรัยในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว (2 ธันวาคม 2563)
  6. โพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวกับ the land of compromise ด้วยรถฉีดน้ำ 
  7. ร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (20 ธันวาคม 2563)
  8. คดีจากการชุมนุมเพื่อติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง (14 มกราคม 2564)
  9. ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และโพสต์ 3 ข้อความ
  10. ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และโพสต์ 4 ข้อความ

(4) ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี

ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ เป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรี (10 กันยายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง (19 กันยายน 2563)
  3. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  4. ปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลากลางหลังเก่า จังหวัดอยุธยา (21 สิงหาคม 2563)
  5. ปราศรัยในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว (2 ธันวาคม 2563)
  6. ร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (20 ธันวาคม 2563)
  7. โพสต์เฟซบุ๊ก #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ (8 พฤศจิกายน 2563)
  8. คดีจากการชุมนุมเพื่อติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง (14 มกราคม 2564)
  9. ปราศรัยหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษจากการคุกคามนักเรียน กรณีจัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” (1 กุมภาพันธ์ 2564)   

(5) เบนจา อะปัญ / ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 7 คดี

เบนจา อะปัญ เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี (26 ตุลาคม 2563)
  2. ร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (20 ธันวาคม 63)
  3. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ทำการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (25 มกราคม 2564) 
  4. คดีจากการชุมนุมเพื่อติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง (14 มกราคม 2564)
  5. ปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน (24 มิถุนายน 2564)
  6. อ่านแถลงการณ์และปราศรัยที่หน้าอาคารซิโนไทย ในกิจกรรมคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช (10 สิงหาคม 2564)
  7. ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และโพสต์ 4 ข้อความ

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 (29 พฤศจิกายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  3. ปราศรัยในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว (2 ธันวาคม 2563)
  4. ปราศรัยหน้า สน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาคดี 112 ของทราย เจริญปุระ (21 ธันวาคม 2563)
  5. ปราศรัยถึงปัญหาการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมยืนหยุดขังที่หอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี (4 กุมภาพันธ์ 2565)
  6. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ในหลวงไม่ให้ใช้ ม.112 (19 พฤศจิกายน 2564)
  7. ปราศรัยในกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ (28 กรกฎาคม 2565)

(6) “สมพล” (นามสมมติ) 6 คดี

“สมพล” ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปาสีและพ่นสี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งหมด 6 จุด ได้แก่ ปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บริเวณอำเภอปากเกร็ด นนทบุรี, บริเวณหน้าตลาด Awake อำเภอเมืองปทุมธานี, บริเวณปากคลองรังสิต, บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขารังสิต, ในพื้นที่เขตดอนเมือง และพ่นสีเปรย์สีน้ำเงินมีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ทับป้ายบอกทาง 2 ป้าย บริเวณอำเภอคลองหลวง

(7) พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี

พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า เป็นสมาชิกกลุ่มราษฎรมูเตลู ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 (29 พฤศจิกายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  3. คดีจากการชุมนุมเพื่อติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง (14 มกราคม 2564)
  4. ปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างติดตามการจับกุมตัว “นิว สิริชัย” (14 มกราคม 2564)
  5. ปราศรัยในชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ (31 ตุลาคม 2564)

(8) ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา / ชูเกียรติ แสงวงค์ / วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอมป์ เป็นสมาชิกกลุ่มกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี (26 ตุลาคม 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  3. ปราศรัยในการชุมนุม “‘นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินขบวนไปศาลหลักเมือง (13 กุมภาพันธ์ 2563) 
  4. คดีจากการชุมนุมเพื่อติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” ที่หน้า สภ.คลองหลวง (14 มกราคม 2564)

ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือนุ๊ก ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (18 พฤศจิกายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุมบริเวณ MRT ท่าพระ (2 พฤศจิกายน 2563)
  3. ปราศรัยในการชุมนุมบริเวณวงเวียนใหญ่ (6 ธันวาคม 2563)
  4. ติดกระดาษบนภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุมที่สนามหลวง (20 มีนาคม 2564)

วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ เป็นสมาชิกกลุ่มราษฎรเอ้ย ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีดังต่อไปนี้

  1. ปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (25 พฤศจิกายน 2563)
  2. ปราศรัยในการชุมนุมบริเวณวงเวียนใหญ่ (6 ธันวาคม 2563) 
  3. โพสต์ภาพการชูป้าย 3 ป้าย ที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ระหว่างการชุมนุมลงในเฟซบุ๊ก
  4. ปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน (24 มิถุนายน 2564)

เมื่อพิจารณาจากสถิติข้างต้น เจ้าของสถิติที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก หลายคดีมาจากการปราศัรยในที่ชุมนุม แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า “การกระทำส่วนใหญ่” ที่เป็นเหตุของคดีมาตรา 112 ในยุคสมัยนี้มาจากการปราศรัย เพราะข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่า ที่มาของการฟ้องร้องคดี จำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งนั้นมาจาก “การโพสต์ข้อความ” บนโลกออนไลน์หรือแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งนับได้เป็นจำนวน 123 คดี จากทั้งหมด 236 คดี

ความน่ากลัวของคดีความจากการโพสต์ข้อความที่เกิดขึ้น คือ ในหนึ่งคดีผู้ต้องหาอาจถูกฟ้องได้จากการโพสหลายข้อความ หรือที่ในภาษากฎหมายเรียกหน่วยนับของข้อความว่า “กรรม” และเมื่อถึงเวลาที่คำพิพากษามาถึง ศาลก็จะตัดสินลงโทษจำคุกด้วยการ “คูณจำนวนกรรม” นั่นแปลว่า ยิ่งถูกดำเนินคดีจากการโพสหลายข้อความ โทษที่ได้รับก็จะทวีคุณเพิ่มขึ้นไปตามจำนวนนั้น

ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินลงโทษให้จำคุกด้วยมาตรา 112 นานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ “ป้าอัญชัน” ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในยุคหลังรัฐประการ 2557 โดยเธอถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 29 ครั้ง รวมเป็นความผิด 29 กรรม 

ในวันที่ 19 มกราคม 2564 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกการกระทำของป้าอัญชัน กรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม = จำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากเธอให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน = จำคุก 29 ปี 174 เดือน และเป็นคดีมาตรา 112 ที่วางโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้

เมื่อมาถึงยุคการใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากประชาชนในปี 2563-2565 ก็จะพบว่า มีสถิตินับตามจำนวน “การกระทำ” ที่สูงไม่น้อยไปกว่ายุคก่อนหน้า ดังนี้

สถิตินับตามจำนวน “การกระทำ” เรียงลำดับคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หนักที่สุด

บาส – มงคล ถิระโคตร

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 3 คดี รวม 29 กรรม

ประเภทของการกระทำ: โพสต์เฟซบุ๊ก 29 ข้อความ

เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 23 คดี รวม 25 กรรม

ประเภทของการกระทำ: ปราศรัย 15 ครั้ง / โพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความ / แต่งกายล้อเลียน 1 ครั้ง

อานนท์ นำภา

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 14 คดี รวม 17 กรรม

ประเภทของการกระทำ: ปราศรัย 11 ครั้ง / โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ

รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 10 คดี รวม 15 กรรม

ประเภทของการกระทำ: ปราศรัย 5 ครั้ง / โพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความ / แต่งกายล้อเลียน 1 ครั้ง

จักรพรรดิ (ประชาชนชาวภูเก็ต)

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 1 คดี รวม 14 กรรม

ประเภทของการกระทำ: โพสต์เฟซบุ๊ก 14 ข้อความ    

นรินทร์

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี รวม 13 กรรม

ประเภทของการกระทำ: แปะสติกเกอร์บนพระบรมฉายาลักษณ์ 1 ครั้ง / โพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ 

กลุ่ม 10 กรรม

• เบนจา อะปัญ 

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 7 คดี รวม 10 กรรม

ประเภทของการกระทำ: ปราศรัย 5 ครั้ง / โพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ / แต่งกายล้อเลียน 1 ครั้ง

• วุฒิพงศ์ รัตนโชติ 

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 1 คดี รวม 10 กรรม

ประเภทของการกระทำ: โพสต์เฟซบุ๊ก 10 ข้อความ

กลุ่ม 9 กรรม

• ไมค์ – ภาณุพงศ์ จาดนอก 

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 9 คดี รวม 9 กรรม

ประเภทของการกระทำ: ปราศรัย 7 ครั้ง / โพสต์เฟซบุ๊ก 1 ครั้ง / แต่งกายล้อเลียน 1 ครั้ง

• ปูน ธนพัฒน์ 

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี รวม 9 กรรม

ประเภทของการกระทำ: โพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ / เผาพระบรมฉายาลักษณ์ 1 ครั้ง

• บีม อรรฆพล 

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี รวม 9 กรรม

ประเภทของการกระทำ: โพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความ

• “ปริญญา” ประชาชนชาวหนองบัวลำภู 

ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด 1 คดี รวม 9 กรรม

ประเภทของการกระทำ: โพสต์เฟซบุ๊ก 9 ข้อความ

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย หรือไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญด้านการเมือง ก็คงสามารถรับรู้ได้ถึงสถานการณ์ของคดีความที่ “เฟ้อ” สูงขึ้นเรื่อยๆ ในระลอกนี้ และในแง่หนึ่งจำนวนคดีความก็แปลความได้ว่า ความสัมพันธ์ของประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังเดินหน้าไปอย่างไร

เหตุผลหนึ่งที่จำนวนคดีความพุ่งขึ้นสูง ยังเป็นเพราะกฎหมายมาตรา 112 มีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นความผิดที่เขียนอยู่ในหมวด “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถเดินไปริเริ่มคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงว่า บ้านของผู้ที่ถูกกล่าวหาอยู่แถวนั้นด้วยหรือไม่

จากสถิติของศูนย์ทนายฯ พบว่า ในจำนวนคดีทั้งหมดที่กำลังเดินหน้าไป เป็นคดีที่มี “ประชาชนธรรมดา” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน มากถึง 108 คดี หรือประมาณครึ่งหนึ่ง และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ริเริ่มคดีทั้งหมดก็จะพบว่า มี “พลเมืองดี” อยู่ไม่กี่คนที่ทำหน้าที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายไปริเริ่มคดีซ้ำๆ หรือเริ่มคดีในพื้นที่เดิมๆ จนเกิดการกระจุกตัวของคดีในแต่ละจังหวัด สำหรับทำเนียบรางวัลของ “นักร้องมาตรา 112 มือฉมัง” สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้

ทำเนียบ “นักร้องมือฉมัง” ผู้ริเริ่มคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนคดีมากที่สุด

รางวัลประเภทประชาชนทั่วไป มีผู้ส่งประกวดทั้งหมด รวม 108 คดี

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่…

ทีมขวัญใจศาลสมุทรปราการ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล 9 คดี และอุราพร สุนทรพจน์ 5 คดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ มีอย่างน้อย 15 คดี ซึ่งเกิดจากการไปกล่าวโทษของประชาชน 2 ราย คือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล และอุราพร สุนทรพจน์ โดยคดีทั้งหมดเป็นการแจ้งความในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งผู้ถูกดำเนินก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564

ตัวอย่างคดีที่มีคำพิพากษาแล้วโดยศาลสมุทรปราการ เช่น คดีของ “ปุญญพัฒน์” ผู้ป่วยสมาธิสั้น ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 4 ข้อความ ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาเมื่อ 20 มิถุนายน 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 12 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 4 ปี 24 เดือน หรือคดีของ “วุฒิภัทร” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ 3 จำเลยกรณีสวรรคตของ รัชกาลที่ 8 โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องเมื่อ 25 มีนาคม 2565 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบ ม.112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุก 1 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่…

พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน 8 คดี

ชื่อของครูสอนภาษาอังกฤษที่ชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ต้องมาคู่กับ “ศาลจังหวัดนราธิวาส” โดยพสิษฐ์เป็นนักร้องมือฉมังขวัญใจ สภ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส และเป็นเหตุของการเดินทางไกลเพื่อไปต่อสู้คดีในยุคนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ยังมีคดีมาตรา 112 ที่พสิษฐ์เคยร้องทุกข์ไว้อย่างน้อย 20 คดี (บางคดียังอยู่ในชั้นตำรวจ)

สำหรับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว เช่น คดีของภัคภิญญา บรรณารักษ์ชาว กทม.ที่ต้องเดินทางไกลไปตามนัดหมายคดีที่สุไหงโก-ลก ถูกกล่าวหาว่าแชร์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ โดยศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ว่ามี 3 ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี หรือคดีของ “วารี” ถูกกล่าวหาว่าคอมเมนต์รูปการ์ตูนบนเฟซบุ๊ก และอีก 2 โพสต์ โดยศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้องทุกข้อกล่าวหาเมื่อ 6 ตุลาคม 2565 เนื่องจากพยานโจทก์ไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความไม่ปรากฏ URL 

อภิวัฒน์ ขันทอง 8 คดี

อภิวัตน์ ขันทอง คือ ทนายความของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เคยยื่นฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา นักร้องสาว มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล เมื่อปี 2564 และในบทบาทของนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง อภิวัตน์ก็ได้ทำผลงานการยื่นฟ้องคนดังมากมาย ส่วนใหญ่เป็นคดีของคนมีชื่อเสียงที่ถูก “จับตา” อย่างใกล้ชิดจากรัฐอยู่แล้ว

คดีที่อภิวัฒน์ริเริ่ม เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย”, อานนท์ นำภา จากการปราศรัยในการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ เมื่อ 9 สิงหาคม 2563, สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์ หรือฮาร์ท นักร้องชื่อดัง เป็นจำนวน 2 คดี จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดวัคซีนโควิด-19 และแชร์ข้อความจากเพจ Royal World Thailand เกี่ยวกับพลานามัยของรัชกาล 10 รวมทั้งการคดีของ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการทวิตข้อความว่า “ข่าวลือถ้าไม่จริง ก็แปลงเป็นคำสาปแช่งแล้วกันครับ”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่…

นพดล พรหมภาสิต 7 คดี

นพดล พรหมภาสิต มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) โดยในบทบาทของนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง เขามุ่งเป้าไปที่การเฟ้นหาข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ในโซเชียลมีเดียของ “แกนนำ” เป็นส่วนมาก โดยเหยื่อ 5 ใน 7 คดีที่นพดลเป็นผู้ริเริ่ม ล้วนเป็นนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทเปิดหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสิ้น 

คดีที่นพดลริเริ่ม ได้แก่ คดีของลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว จากการโพสต์ #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก, โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ จากการโพสต์พาดพิงเรื่องการใช้ภาษีของกษัตริย์, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 โพสต์ วิจารณ์กรณีการใช้พื้นที่สนามหลวงและกล่าวถึงกรณีหย่าร่างกับสุจาริณี, ทนายอานน์ นำภา จากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ 2 เมื่อ 3 สิงหาคม 2564 และการกล่าวหา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับนิราภร อ่อนขาว ว่าเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

รางวัลชมเชย ได้แก่…

กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล 4 คดี

กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล เป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และในบทบาทของนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง กัญจ์บงกชก็มุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเดียวกัน อาทิ คดีของ ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ในหลวงไม่ให้ใช้ ม.112, เวหา แสนชนชนะศึก จากการโพสต์ภาพและข้อความต่อกรณีคำพิพากษาของศาลคดีติดสติกเกอร์ กูKult รวมทั้งกล่าวหา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ และนิราภร อ่อนขาว ว่าเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

รางวัลปลอบใจ ได้แก่…

วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ (แอดมินเพจเชียร์ลุง) 3 คดี

ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ (ผู้ประสานงานของ ศปปส.) 3 คดี

ปิยกุล วงษ์สิงห์ (สมาชิกกลุ่ม ศปปส.) 3 คดี

ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล (สมาชิกกลุ่มไทยภักดี) 3 คดี

และศรีสุวรรณ จรรยา 3 คดี