RECAP 112 : ชวนรู้จักคดีทนายอานนท์ ปราศรัยม็อบแฮร์รี่ 1

(1) “อานนท์ นำภา” เริ่มเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมา ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เขาเป็นหนึ่งในทีมทนายของ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. และคดีมาตรา 112 ของอำพล ตั้งนพกุล (อากง SMS)

(2) หลังจากนั้น อานนท์ก็ยังคงร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับทำงานทนายความควบคู่กันไปอยู่ตลอด กระทั่ง 3 สิงหาคม 2563 เขาได้ขึ้นเวทีและปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” หรือรู้จักกันในชื่อ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ จัดโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

(3) เนื้อหาการปราศรัยในวันดังกล่าว ประกอบไปด้วยการวิพากษ์ “สถาบันพระมหากษัตริย์” หลายประเด็น ทั้งมิติด้านงบประมาณ พระราชอำนาจ บทบาททางการเมือง การประทับในต่างประเทศ การจัดการทรัพย์สินและข้าราชการส่วนพระองค์ รวมถึงวิจารณ์บทบาทของ คสช. และองคาพยพที่มีส่วนทำให้สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เกินขอบเขตของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

(4) อานนท์ย้ำในการปราศรัยว่า “ต้องพูดถึงปัญหาพระราชอำนาจล้นเกินกว่าระบอบการปกครองอย่างตรงไปตรงมา” และเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหลากหลายวิธี เช่น ให้รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ต่างประเทศ ให้ดึงทรัพย์สินสาธารณะสมบัติที่ถูกถ่ายโอนไปกลับมาเป็นสาธารณะสมบัติ หรือการกำหนดให้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกตรวจสอบ เป็นต้น

(5) ช่วงเย็นของวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ภายหลังทำหน้าที่ทนายความที่ศาลอาญา อานนท์ถูกจับกุมโดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเฝ้ารอจับกุมตั้งแต่เช้า เมื่อแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลอาญาแล้ว อานนท์ก็ถูกควบคุมตัวไปยัง สน.ชนะสงคราม และถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้รับการประกันตัวในชั้นศาลโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

(6) อย่างไรก็ตาม ในเหตุการณ์ชุมนุมวันเดียวกัน มีผู้ต้องหาอีก 6 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเดียวกับอานนท์ แต่ไม่มีข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ม.116 ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ชาติชาย แกดำ, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ และณรงค์ ดวงแก้ว ซึ่งอัยการพิจารณาแยกสำนวนออกเป็น 2 สำนวน โดยสำนวนของอานนท์ซึ่งมีข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ม.116 ถูกฟ้องต่อศาลอาญา เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกิน 3 ปี ส่วนสำนวนของผู้ต้องหาที่เหลือถูกฟ้องต่อศาลแขวง

(7) 24 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าแจ้ง #มาตรา112 เพิ่มเติมกับอานนท์ขณะถูกคุมขังจากคดีอื่นอยู่ในเรือนจำ โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า ได้มีหนังสือจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามมติของคณะทำงานฯ การบังคับใช้คดีหมิ่นฯ 112

(8) 2 มีนาคม 2564 ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำให้การของอานนท์ที่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตาม ม.112 โดยเขาแบ่งประเด็นโต้แย้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเป็น 19 ประเด็น ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสารสำนวนคดีระหว่างกระทรวงการคลังกับในหลวงรัชกาลที่ 7, เอกสารสำเนาโฉนดและสารบบที่ดินทั้งหมดของวังสุโขทัย และขอให้ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงค์, ณัฐพล ใจจริง มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

(9) 14 กรกฎาคม 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี โดยเป็นการสั่งฟ้องคดีแบบไม่มีตัวผู้ต้องหา เนื่องจากอานนท์ยังคงถูกคุมขังอย่างต่อเนื่องจากคดีอื่น

(10) ปัจจุบัน คดีนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานโจกท์ โดยที่อานนท์ยังคงรอหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญ ได้แก่ เอกสารการเดินทางเข้าออกประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 10, คำพิพากษาศาลแพ่งสั่งยึดวังสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ 7, เอกสารการใช้เงินของสถาบันกษัตริย์และการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อใช้ประกอบการถามค้านพยานโจกท์ ซึ่งศาลไม่ยอมอนุมัติให้ อีกทั้งยังมีคำสั่งให้อัยการโจกท์นำสืบพยานโจกท์ไปก่อน เมื่อได้รับพยานเอกสารแล้วจึงค่อยให้ทนายจำเลยถามค้านทีหลัง

อ่านรายละเอียด คดีมาตรา 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ของอานนท์