1867 1284 1060 1639 1077 1690 1578 1431 1072 1685 1035 1647 1308 1392 1860 1759 1994 1512 1424 1595 1066 1587 1236 1995 1892 1451 1945 1607 1656 1865 1898 1242 1668 1944 1905 1594 1825 1615 1198 1370 1289 1016 1920 1487 1623 1091 1977 1411 1087 1736 1894 1963 1509 1779 1188 1797 1971 1711 1438 1466 1550 1582 1891 1170 1347 1970 1235 1958 1510 1452 1887 1175 1062 1748 1084 1561 1771 1160 1135 1639 1236 1722 1540 1215 1417 1749 1916 1160 1810 1479 1120 1528 1182 1552 1019 1799 1799 1727 1200 RECAP 112: ชวนรู้จักสิทธิโชค ไรเดอร์ส่งอาหารจุดประเด็น #แบนFoodpanda | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

RECAP 112: ชวนรู้จักสิทธิโชค ไรเดอร์ส่งอาหารจุดประเด็น #แบนFoodpanda

 
 
(1) ย้อนกลับไปในการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ผู้ชุมนุมต้องการเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลผ่านแยกผ่านฟ้า แต่ตำรวจตั้งแถวปิดและใช้กำลังให้ผู้ชุมนุมถอย หลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นทับซ้อนกัน ไม่ว่าจะสื่อถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นขาโดยไม่มีการแจ้งเตือน ภาพใบหน้าโชกเลือดของเด็กหนุ่มที่ถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยาง การฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาขับไล่ผู้ชุมนุมให้ไปทางถนนนครสวรรค์ คล้อยหลังที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไป
 
ช่วงเย็นมีเหตุเพลิงไหม้บริเวณใกล้กับแยกผ่านฟ้าอย่างน้อยสามจุด หนึ่งในนั้นคือ ใต้ฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10
 
(2) สิทธิโชค ชายอายุ 25 ปี ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวเห็นเหตุการณ์ไฟลุกไหม้ จึงคว้าน้ำดื่มไปพรมดับเพลิง แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า เขาถูกข้อหาวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ต้องโทษหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  
 
(3) สิทธิโชค ทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ภัย ช่วยเหลือประชาชนทั้งการดับเพลิงและจับสัตว์เลื้อยคลานที่เข้าบ้านพักของประชาชน การทำงานขับรถมอเตอร์ไซด์ตระเวนส่งอาหารท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดนี้ ทำให้เขาต้องเตรียมน้ำดื่มหวานๆ เพื่อบรรเทาความกระหายระหว่างวัน โดยก่อนเริ่มรับออเดอร์แรกของแต่ละวัน เขาจะซื้อบิ๊กโคล่าสีม่วงกลิ่นองุ่นและผสมกับน้ำเปล่าไว้ เขาบอกว่า เหตุที่ต้องผสมน้ำเปล่าเพราะบิ๊กโคล่ามีแก๊สเยอะเกินไปสำหรับเขา หากดื่มแบบไม่ผสมเขามักจะปวดท้อง
 
(4) วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 สิทธิโชคออกไปทำงานตามปกติ โดยซื้อบิ๊กโคล่ากับน้ำเปล่าและเก็บไว้ที่กล่องสีชมพูของ Foodpanda ที่ท้ายรถของเขาเหมือนเช่นทุกวัน จากนั้นก็ขับรถส่งอาหารเรื่อยมาจนถึงบริเวณแยกท่าพระ ก่อนที่จะขับกลับมาในเมืองเพื่อรอออเดอร์ต่อไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
 
(5) ระหว่างทางที่รถติดมาก สิทธิโชคเห็นว่ามีการชุมนุมอยู่จึงขับเลยไปที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (สะพานผ่านฟ้า) เมื่อจอดดูก็พบว่ามีเพลิงไหม้กองหุ่นฟาง เขาจึงเข้าไปหยิบน้ำดื่มที่ผู้ชุมนุมแจกจ่ายพรมๆ ช่วยระงับเพลิง เขาเล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานอาสาสมัครตั้งแต่อายุ 20 ปี เขามีทริคดับเพลิงในสถานการณ์ที่มีน้ำจำกัด คือ ใช้กุญแจรถเจาะฝาให้เป็นรูแล้วพรมๆ ไป
 
(6) สิทธิโชคสังเกตเห็นไฟที่ฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็นเหตุในคดีนี้ จึงไปคว้าน้ำบิ๊กโคล่าที่ผสมน้ำเปล่าท้ายรถมาพรมดับเพลิงบริเวณดังกล่าว เขาบอกว่า การพรมน้ำจะพรมบริเวณที่ยังไม่ไหม้ชื้น พอไฟลามมาถึงจะได้ไม่ลุกลาม ระหว่างนี้ มีตำรวจมาเรียกให้เขาลงมาและบอกว่า “จะให้รถจีโน่มาดับ” แต่ตอนที่เขาลงมาตามคำขอของตำรวจนั้นไฟก็มอดลงแล้ว เขาจึงออกไปรับออเดอร์ส่งอาหารตามปกติและเดินทางกลับบ้านพัก 
 
(7) เย็นวันดังกล่าว ในโลกทวิตเตอร์มีการเผยแพร่ภาพเบาะแสผู้ก่อเหตุที่ระบุว่า “เผาพระบรมฉายาลักษณ์” โดยภาพสิทธิโชคยืนอยู่บริเวณรถจักรยานยนต์ด้านหลังมีกล่องส่งอาหารสีชมพูของ Foodpanda ต่อมาแอดมินของแอคเคาท์ Foodpanda ได้ทวีตตอบในประเด็นดังกล่าวว่า
 
“ทางเราจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ขอเรียนให้ทราบว่า ทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ค่ะ”
 
จนทำให้เกิดกระแสแฮชแท็ก #แบนFoodpanda และตามด้วยแถลงการณ์การขออภัยจากบริษัทในวันถัดมา
 
(8) ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ตำรวจก็ติดตามสะกดรอยเขาไปที่บ้านพักและตรวจสอบพบว่า มีเจ้าบ้านคือ ธาราเทพ ซึ่งตำรวจมีการติดตามอยู่ก่อนแล้ว โดยธาราเทพชอบไลฟ์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่บ่อยๆ ตำรวจจึงไล่ดูเฟรนด์ลิสต์ของธาราเทพจนเจอบุคคลที่คาดว่าจะเป็นคนก่อเหตุ ซึ่งก็คือสิทธิโชคนั่นเอง
 
(9) ภายหลังตำรวจรวบรวมทำรายงานการสืบสวนและส่งให้พนักงานสอบสวน ก็นำไปสู่การออกหมายจับสิทธิโชคอย่างรวดเร็วในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 โดยคดีนี้สิทธิโชคถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 วางเพลิงเผาทรัพย์และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
(10) สิทธิโชคได้รับการปล่อยตัวระหว่างการสอบสวนเรื่อยมาจนถึงชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ระหว่างการสืบพยานพบว่า จุดที่มีเพลิงไหม้อันเป็นเหตุกล่าวหาตามมาตรา 112 คือ ผ้าประดิษฐานใต้ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ใช่พระบรมฉายาลักษณ์
 
(11) เขายืนยันว่า ในวันเกิดเหตุ สิ่งที่เขาพรมลงดับไฟนั้นคือ “น้ำบิ๊กโคล่าผสมน้ำเปล่า” เพื่อช่วยดับเพลิง ไม่ใช่น้ำมันหรือสารไวไฟชนิดอื่น และตอนที่ตำรวจมาเรียกเขาให้ออกมาจากบริเวณซุ้ม ไฟก็ดับลงแล้ว
 
(12) พยานโจทก์ ปากตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานกลางที่ตรวจผ้าประดิษฐานระบุว่า ไม่พบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารเคมีไวไฟที่ผ้าดังกล่าว เหตุที่ไม่พบอาจด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงมีคุณสมบัติระเหยได้ง่าย อาจจะระเหยไปหมดก่อนที่จะถูกส่งมาให้พยานตรวจสอบ ขณะที่เอกสารส่งตรวจจากพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 หลังวันเกิดเหตุกว่าสิบวัน โดยพนักงานสอบสวนระบุเหตุที่ส่งตรวจล่าช้า เนื่องจาก สน.นางเลิ้งมีคดีความจำนวนมาก
 
(13) สิทธิโชคเป็นจำเลยอีกคนที่นับถอยหลังสู่คำพิพากษา โดยศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษามาตรา 112 คดีนี้ในวันที่ 17 มกราคม 2566