1065 1066 1322 1529 1202 1045 1329 1939 1404 1499 1075 1918 1113 1259 1046 1707 1387 1629 1594 1674 1485 1369 1410 1184 1512 1979 1397 1138 1731 1083 1837 1890 1564 1933 1677 1955 1326 1977 1632 1551 1845 1731 1425 1752 1267 1933 1626 1328 1341 1347 1868 1179 1626 1930 1316 1401 1009 1402 1001 1590 1990 1373 1345 1805 1962 1704 1453 1022 1038 1336 1432 1516 1870 1877 1072 1140 1989 1678 1213 1019 1635 1003 1606 1167 1978 2000 1240 1852 1433 1981 1194 1569 1633 1517 1729 1021 1259 1451 1049 รวมคดีมาตรา 112 ระลอกใหม่ ที่ศาล “ยกฟ้อง” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รวมคดีมาตรา 112 ระลอกใหม่ ที่ศาล “ยกฟ้อง”

“..เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”
 
คือส่วนหนึ่งในข้อความที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คดีของอิศเรศ ประชาชนชาวนครพนม ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความแสดงความเห็น กรณีไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังรัชกาลที่ 9 สวรรคต โดยคดีนี้มีความสำคัญในฐานะคดีมาตรา 112 “คดีแรก” ที่ถูกสั่งฟ้อง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงว่าจะบังคับใช้กฎหมาย “ทุกฉบับทุกมาตรา” ที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยก่อนหน้านี้ เป็นเวลาเกือบสองปี (2561-2563) ที่ประเทศไทยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีกับประชาชน
 
ในการบังคับใช้ระลอกปี 2563-2565 นี้ ท่ามกลางความวุ่นวายของคดีที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนทะลุหลักร้อย ประกอบกับความสับสนงุนงงของประชาชนว่าขอบเขตการคุ้มครองของตัวบทกฎหมายมาตรา 112 นั้นกว้างขวางเพียงใด ในวันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน 2563 “คำพิพากษาแรก” ก็ปรากฏออกมา โดยศาลจันทบุรีได้ “ยกฟ้อง” คดีมาตรา 112 ของจรัส นักศึกษาชาวจันทบุรีผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความวิพากษ์เศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 โดยศาลระบุว่า องค์ประกอบมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ทั้งนี้ ยังคงให้มีความผิดตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
ล่วงเวลาจนปีใหม่ 2565 ผ่านไป 16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมก็มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของอิศเรศ โดยระบุว่า เนื้อความไม่ได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร สอดคล้องกับคำพิพากษาที่ทยอยปรากฏตามออกมาในปี 2565 ที่ยืนตามในทิศทางเดียวกันกับทั้งสองคดีข้างต้น ได้แก่ คดีของ “วุฒิภัทร” ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสามจำเลยกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องเมื่อ 25 มีนาคม 2565 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบ มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ให้ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป และคดีของทิวากร ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และอีกสองข้อความ โดยศาลจังหวัดขอนแก่นยกฟ้องทุกข้อหาเมื่อ 29 กันยายน 2565 เนื่องจากเห็นว่าข้อความและรูปภาพของจำเลยไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ
 
และเมื่อคำพิพากษาทั้งสี่คดีที่ยกฟ้องข้างต้นเป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกันแล้ว ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป คำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่มีพฤติการณ์ใกล้เคียงกัน จะยังคงเดินเรียงแถวตามกันออกมาอย่างเที่ยงตรงหรือไม่
 
สำหรับสาเหตุการยกฟ้องจากสาเหตุอื่นๆ ในเดือนตุลาคม 2565 มีคดีมาตรา 112 จำนวนสามคดี ที่ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง ได้แก่ คดีของสุริยศักดิ์ คดีมรดกตกค้างจากยุค คสช. ที่มีการโอนย้ายจากศาลทหารมาพิจารณาต่อที่ศาลพลเรือน โดยในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ศาลอาญา รัชดา พิพากษายกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น
 
ต่อมา คดีของ “วารี” ถูกกล่าวหาจากการคอมเมนต์รูปการ์ตูนบนเฟซบุ๊ก และอีกสองโพสต์ โดยศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้องทุกข้อกล่าวหาเมื่อ 6 ตุลาคม 2565 เนื่องจากภาพที่โจทก์นำมาแจ้งความไม่ปรากฏ URL เช่นเดียวกันกับคดีของพิพัทธ์ ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องเมื่อ 26 ตุลาคม 2565  เนื่องจากหลักฐานเป็นเพียงการ “แคปภาพหน้าจอ” (Capture) ไม่ใช่สิ่งพิมพ์จากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จึงไม่สามารถนำสืบข้อมูลระบุตัวตนสำคัญได้
 
อย่างไรก็ตาม แม้ท้ายที่สุดศาลจะมีคำสั่งยกฟ้อง ทว่า เมื่อนับตั้งแต่จุดเวลาที่คดีความเริ่มต้นขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าในห้วงเวลาระหว่างพิจารณาคดี ทั้งการปฏิบัติ “ตามและนอก” กระบวนการ ต่างก็สร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้เป็นจำเลยอยู่ไม่น้อย เช่น กรณีของทิวากร เขาถูกจับเข้าโรงพยาบาลจิตเวชที่ขอนแก่นภายหลังโพสต์ภาพที่เป็นต้นเหตุของคดี หรือกรณีของสุริยศักดิ์ เขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัว หรือ “ติดคุกฟรี” นานเกือบสองปี ในระหว่างที่คดียังไม่มีคำพิพากษา
 
นับถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 คดีมาตรา 112 ระลอกปี 2563-2565 มีคำพิพากษาแล้วทั้งหมด 22 คดี โดย 7 คดีที่ศาล "ยกฟ้อง" มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
2672
 

 

คดีที่ “ยกฟ้อง” เพราะเนื้อความไม่เข้าข่ายมาตรา 112

 

1) คดีของอิศเรศ: โพสต์ข้อความถึงการไม่แต่งตั้งกษัตริย์ใหม่หลังการสวรรคต

• ยกฟ้องทุกข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
 
รายละเอียดคดี
อิศเรศ อุดานนท์ เป็นเกษตรกรและช่างก่อสร้างชาวนครพนม ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ในขณะเป็นบวชเป็นพระ แสดงความเห็นต่อประเด็นการไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่หลังการสวรรคตของ รัชกาลที่ 9 ดังนี้
 
“ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลาย ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศรัชกาลที่ 10… การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”
 
16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมยกฟ้องโดยระบุว่า ข้อความไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่ได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอ และเมื่อไม่ผิดตามมาตรา 112 จึงไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 

คำพิพากษาฉบับเต็มที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้

 
ประเด็นเรื่องจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
ในการสืบพยานโจทก์ โจทก์แต่ละคนเบิกความถึงข้อความที่จำเลยโพสต์บนเฟซบุ๊กดังนี้  เริ่มจากพยานสามคนแรกที่เบิกความใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย จ.ส.อ.วรายุทธ์ สุวรรณมาโจ เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์, นายหมวดตรีสรวิฒย์ มาตย์แพง เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และ จ.อ.ภิญโญ ศรีสวัสดิ์ เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการที่จะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
ขณะที่อารี ดวงสงค์ เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ไม่เหมาะไม่ควร เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่คนไทยให้ความเคารพเชิดชู ถ้ามีการเผยแพร่อาจทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
และปราณีต วดีศิริศักดิ์ เป็นพยานเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวอาจทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีข้อความว่า “ศึกชิงบัลลังก์” หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ หากบุคคลที่ไม่มีวิจารณญาณอ่านข้อความแล้วก็อาจตีความไปในทางที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย เป็นพยานเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวสื่อความหมายให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยกำลังมีการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์ 
 
ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากไม่มีปากใดที่ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความว่าข้อความตามฟ้องเป็นการที่จำเลยแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น 
 
ประเด็นความผิดตามมาตรา 112
 
ทั้งนี้ศาลได้พิจารณาองค์ประกอบการกระทำผิดตามมาตรา 112 และอธิบายความหมายและพิพากษาดังนี้
 
หมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 
 
ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมจะต้องระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 
 
เมื่อพยานโจทก์ทุกปากล้วนแต่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ให้ร้าย สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นผลจากการตีความ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใครหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง 
 
ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินี หรือรัชทายาท พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยได้ 
 
เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในสื่ออินเตอร์เน็ตเฟซบุ๊ก จึงไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
 

2) คดีของทิวากร: โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และอีก 2 ข้อความ

• ยกฟ้องทุกข้อหา ได้แก่ มาตรา 112, มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
รายละเอียดคดี
ทิวากรเป็นอดีตวิศวกรชาวจังหวัดขอนแก่น และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส ผู้โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เมื่อปี 2563 และเป็นเหตุให้ถูกนำตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์นานกว่าครึ่งเดือน เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กสามโพสต์ ประกอบไปด้วย
 
(1) ภาพตนเองสวมเสื้อคอกลมสีขาว ซึ่งมีข้อความตัวอักษรสีแดงคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”
(2) ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันทีก็เท่ากับทำตนเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน จุดจบคือล่มสลายสถานเดียว”
(3) ข้อความ “สถาบันกษัตริย์สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คน ได้แล้ว จะสร้างเวรสร้างกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักหรือศรัทธาเหรอ หรืออยากให้คนเกลียด”  
 
29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นยกฟ้อง โดยระบุว่าข้อความและรูปภาพของจำเลยเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ
 

คำพิพากษาฉบับเต็มที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายฯ สรุปได้ดังนี้

 
ประเด็นเรื่องข้อความที่โพสต์เป็นการชักชวนให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง-ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
 
พยานโจทก์ในคดีมีความประกอบไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการ ทหาร รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่ วิไลวรรณ สมโสภณ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ลงในวันที่ 11 และ 18 กุมภาพันธ์ 2564 กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อพยานอ่านข้อความดังกล่าวแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์
 
พ.อ.เชาวลิต แสงคํา กอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กในวันที่ 11 และ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ พยานอ่านแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยข้อความหลังเป็นการลดความเชื่อถือของกษัตริย์ รัชกาลที่ 10  และอำนาจปล่อยตัวแกนนํานั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรม
 
พยานโจทก์อีกสามคนเบิกความทำนองเดียวกัน คือ ดุลยภพ แสงลุน ปลัดอําเภอเมืองขอนแก่น, นาวี แสงฤทธิ์ เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และอรทัยรัตน์ พรมศรี กำนันตำบลดอนช้าง โดยเบิกความทำนองว่า อำนาจที่จะสั่งปล่อยตัวแกนนำและระงับใช้มาตรา 112 ไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์
 
ขณะที่ศิริพงษ์ ทองศรี นายก อบต.ดอนช้าง และ สุรสิทธิ์ ทุมทา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น เบิกความทำนองเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อพยานอ่านแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงพระมหากษัตริย์ และอำนาจในการยกเลิกมาตรา 112 และอำนาจให้ประกันตัวแกนนำไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์
 
นอกจากนี้ยังมีอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เบิกความว่า คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ
 
พนักงานสอบสวนได้เรียกอานนท์มาถามความเห็น และนำรูปภาพของจำเลยที่สวมเสื้อและข้อความที่จำเลยโพสต์ให้พยานดู  พยานดูภาพจำเลยใส่เสื้อมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” มีความเห็นว่า คําว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมายสองอย่าง คือหมายถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลองค์ปัจจุบัน และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันและในอดีต ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย 
 
นอกจากนี้ อานนท์ ยังเบิกความถึงความหมายของแต่ละข้อความตามฟ้องดังนี้
 
ข้อความ (1) : คําว่า “หมดศรัทธา” หมายถึง ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม การบอกว่าไม่ศรัทธา แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ซึ่งการโพสต์รูปภาพดังกล่าวเป็นการกระทําที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเคารพสักการะสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การสวมเสื้อดังกล่าวแสดงต่อสาธารณะและโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
ข้อความ (2) : ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากรัชกาลที่ 10 ไม่สามารถที่จะระงับใช้กฎหมายโดยพระองค์เองได้ เพราะไม่ใช่พระราชอำนาจ 
 
นอกจากนี้ข้อความว่า พระมหากษัตริย์ทำตัวเป็นศัตรูกับประชาชน เป็นข้อความดูหมิ่น และเป็นความเท็จโดยไม่มีหลักฐานใด และข้อความว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลายสถานเดียว นั้น เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 
 
ข้อความ (3) : ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” พยานดูแล้วมีความเห็นว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” นั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอำนาจในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดได้ 
 
ศาลเห็นว่า โจทก์มีพยานเพียง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า ที่จำเลยโพสต์ว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลาย เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ เท่านั้น แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นใดที่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าว รวมทั้งภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้อง เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยลงทั้งหมดแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเช่นนั้น
 
ประเด็นรูปภาพและข้อความเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์หรือไม่
 
ศาลได้อธิบายองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาคดีนี้ ดังนี้
 
หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดูหมิ่น คือการด่า ดูถูก เหยียดหยาม และจะต้องได้ความว่า การใส่ความหรือการดูหมิ่นดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือผู้ถูกดูหมิ่น เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความหรือผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การใส่ความหรือการดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
 
เมื่อข้อความและรูปภาพที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ หากจำเลยต้องการลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง จำเลยจะระบุไว้โดยชัดเจนตามที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ และ พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไว้
 
และ ผศ.อานนท์ ก็เบิกความยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายพระองค์ 
 
การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจึงไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง
 
ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ 
 
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามฟ้องโจทก์
 

3) คดีของจรัส: แสดงความคิดเห็นวิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

• ยกฟ้องเฉพาะมาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)
 
รายละเอียดคดี
จรัส อายุ 19 ปีในวันที่ถูกฟ้อง เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในจังหวัดจันทบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ลงใน ในกลุ่ม “เพจจันทบุรี” โดยเริ่มแรกในคดีนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ตำรวจแจ้งเฉพาะข้อหาตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมา ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายทุกบททุกมาตราของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563  จึงมีการเข้าแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม
 
30 พฤศจิกายน 2564 ศาลจังหวัดจันทบุรีศาลยกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ให้มีความผิดตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิพากษาจำคุกสองปี แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกหนึ่งปีสี่เดือนและปรับเงิน 26,666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้สองปี ให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้งในหนึ่งปี
 
อย่างไรก็ตาม คดีของจรัสยังไม่ถึงที่สิ้นสุด โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่าทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ต่อไป นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. 
 

คำพิพากษาฉบับเต็มที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายฯ สรุปได้ดังนี้ 

 
ประเด็นความผิดตามมาตรา 112
 
ศาลบรรยายคำวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะมิได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ ทั้งไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ในการตีความทางกฎหมายต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและต้องตีความโดยเคร่งครัด 
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ขณะที่กระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ในอดีตที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว มิฉะนั้นก็จะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ได้ 
 
ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยลงข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ด้วยถ้อยคำที่กระทบต่อพระองค์ในลักษณะการละเมิดและหมิ่นประมาท โดยเฉพาะประชาชนยังคงเคารพและสักการะพระองค์อยู่มิเสื่อมคลาย
 
แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะลงข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊ก การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง
 
ประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา 14 (1)
 
ศาลบรรยายคำวินิจฉัยว่า แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องที่ลงข้อความในกลุ่ม ‘เพจจันทบุรี’ ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัวที่ตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะมีเฉพาะสมาชิกที่เข้ามาตอบโต้กระทู้ที่ตั้งขึ้นได้ และข้อความตามฟ้องเป็นเพียงข้อความบางส่วนของการสนทนาโต้ตอบกันกับสมาชิกคนอื่น แต่ขณะเกิดเหตุกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกจำนวนมากถึง 196,447 คน ถือเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง 
 
คำว่า ‘ประชาชน’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง พลเมือง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ พ่อค้า หรือนักบวช ทั้งเป็นที่เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยลงข้อความโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ขาดความระมัดระวังและยับยั้งชั่งใจ ลักษณะของข้อความดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นหรือประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ 
 
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน จนประการน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) 
 
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เหลือจำคุกสองปี และปรับ 40,000 บาท 
 
นอกจากนี้คำให้การชั้นสอบสวนและคำนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกหนึ่งปีสี่เดือน และปรับเงิน 26,666.66 บาท 
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นนักศึกษาอายุยังน้อย และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นสมควรให้จำเลยได้กลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้สองปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้ง ภายในระยะเวลากำหนดหนึ่งปี กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก
 

4) คดีของ “วุฒิภัทร”: โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ 3 จำเลยกรณีสวรรคต ร.8

• ยกฟ้องเฉพาะมาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)
 
รายละเอียดคดี
“วุฒิภัทร” (นามสมมติ) เป็นพนักงานบริษัทวัย 28 ปี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อ 2 มิถุนายน 2563 โดยมีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ สามจำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด
 
25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องโดยเห็นว่า องค์ประกอบ มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุกหนึ่งปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกแปดเดือน โดยไม่รอการลงโทษ
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ทนายความของวุฒิภัทรเปิดเผยว่า การที่ศาลพิพากษาลงโทษความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” นั้น ไม่เป็นไปตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ที่บรรยายฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงเกินกว่าฟ้องของโจทก์ อาจขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป
 

คำพิพากษาฉบับเต็มที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายฯ มีดังนี้ 

 
ประเด็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ส่วนตัว
 
ศาลพิเคราะห์ว่า แม้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” จะเป็นกลุ่มปิดสาธารณะ แต่ก็มีสมาชิกกลุ่มจำนวนกว่า 100,000 ราย จึงถือว่าเป็นประชาชนจำนวนหนึ่ง และถ้อยคำของจำเลยที่พาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นถ้อยคำด่าทอ หยาบคาย ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อคนทั่วไปอ่านแล้ว จะเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และให้จำเลยทั้งสาม ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส ในคดีประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด
 
ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีเจตนาทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และเสื่อมพระเกียรติ อีกทั้งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาพบเห็น และก่อให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในสังคม
 
ประเด็นความผิดตามมาตรา 112
 
ศาลพิเคราะห์ว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยายคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 

คดีที่ “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุจากพยานหลักฐาน

 

1) คดีของสุริยศักดิ์: ส่งข้อความผ่านไลน์

• ยกฟ้องมาตรา 112
 
รายละเอียดคดี
สุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล เป็นอดีตแกนนำนปช. ชาวจังหวัดสุรินทร์ ประกอบอาชีพค้าขาย ขณะถูกจับกุมอายุ 49 ปีคดีนี้เริ่มต้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบจากหลายหน่วย ทั้งหน่วยในกรุงเทพฯ และหน่วยจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่า 10 นาย พร้อมอาวุธปืนยาวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อยห้านาย เข้าจับกุมและนำตัวสุริยศักดิ์ไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยการจับกุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบุกค้นเก้าจุด เพื่อทลายเครือข่ายอาวุธสงครามของ โกตี๋หรือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แนวร่วมนปช. ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่ต่อมาถูกอุ้มหายไปยังไม่ทราบชะตากรรม 
 
เริ่มแรก สุริยศักดิ์ถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้ายและครอบครองอาวุธปืนจากการชุมนุมในปี 2553 ร่วมกับผู้ต้องหาอีก แปดคน แต่ต่อมา 17 กรกฎาคม 2560 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทุกคนจึงถูกปล่อยตัว แต่ขณะกำลังจะออกจากเรือนจำ พนักงานสอบสวนจาก ปอท. เดินทางมาขออายัดตัวสุริยศักดิ์เพียงคนเดียว เพื่อดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า “คนนอกกะลา” ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ 13 กรกฎาคม 2559
 
ทั้งนี้ หลักฐานที่โจทก์ใช้กล่าวหาเป็นเพียงกระดาษหนึ่งใบที่พิมพ์ภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เป็นภาพแชทไลน์ โดยเป็นภาพผู้ใช้ไลน์บัญชีที่ตั้งชื่อว่า “Suriyasak” ส่งข้อความคุยกันและมีข้อความกล่าวถึงระบอบกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมาหลายร้อยปี โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น แต่รูปโปรไฟล์ในไลน์มีภาพรถยนต์ ซึ่งเป็นหมายเลขทะเบียนจดทะเบียนด้วยชื่อของสุริยศักดิ์
 
จากนั้น สุริยศักดิ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลาสองคืน ก่อนเจ้าหน้าที่จะไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง ท่ามกลางกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า สุริยศักดิ์ได้รับการประกันตัวในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 นั่นแปลว่าเขาอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีนานเกือบสองปี และผ่านไปนานห้าปี คดีของเขาเริ่มสืบพยานที่ศาลอาญา เมื่อ 16-17 และ 25 สิงหาคม 2565 เนื่องจากภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่หมดความจำเป็น ส่งผลให้คดีความทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถูกย้ายไปที่ศาลยุติธรรม  
 
5 ตุลาคม 2565 ศาลอาญา รัชดา พิพากษายกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์ 
 

2) คดีของ "วารี": คอมเมนต์รูปการ์ตูนบนเฟซบุ๊ก และอีก 2 โพสต์

• ยกฟ้องทุกข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
 
รายละเอียดคดี
“วารี” (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระ วัย 23 ปี ถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจและนำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมถึงการโพสต์รูปการ์ตูนล้อเลียนตำรวจในคอมเมนต์ และการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ประยุทธ์ที่สั่งปิดกั้นเพลงของ R.A.D 
 
6 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากพยานโจทก์ไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ และมีเพียงผู้กล่าวหาคนเดียวที่เบิกความว่าจำเลยโพสต์ แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความไม่ปรากฏ URL
 

สรุปคำพิพากษาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายฯ มีดังนี้ 

 
ประเด็นเรื่องจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
แม้โจทก์จะนำสืบได้ว่าบัญชีเฟซบุ๊กเป็นของจำเลยจริง ตามรูปในทะเบียนราษฎรและรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่เหมือนกัน ประกอบกับเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกโพสต์บนหน้าบัญชีเฟซบุ๊กกับเบอร์โทรศัพท์ที่จำเลยและญาติของจำเลยเคยให้การไว้ก็เป็นเบอร์เดียวกัน 
 
แต่ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ยังไม่พอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าโพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะพยานโจทก์มีเพียงผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวที่เป็นผู้เบิกความว่าจำเลยโพสต์จริง แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความก็ไม่ปรากฏ URL ประกอบการคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นว่า ภาพมีการตัดต่อมา พยานโจทก์จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
 

3) คดีของพิพัทธ์: โพสต์ภาพรัชกาลที่สิบในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

• ยกฟ้องทุกข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
รายละเอียดคดี
พิพัทธ์ เป็นพลทหารชาวพิษณุโลก ปัจจุบันทำงานอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมใส่ข้อความแทรกบนภาพสองประโยค ในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” 
 
26 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานเป็นเพียงการ “แคปภาพหน้าจอ” (Capture) ไม่ใช่สิ่งพิมพ์จากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จึงไม่สามารถนำสืบข้อมูลระบุตัวตนสำคัญได้
 

สรุปคำพิพากษาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายฯ มีดังนี้ 

 
ประเด็นเรื่องจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
ศาลพิเคราะห์ว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความ เป็นการแคปภาพหน้าจอ (Capture) ของโพสต์มาจากกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” กับหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย นำมารวมกันก่อนปรินท์ภาพออกมา จึงไม่ใช่สิ่งพิมพ์ออกจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า ภาพหลักฐานดังกล่าวที่ผู้กล่าวหานำมาแสดง สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อได้
 
รวมถึงพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูล และปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด และใช้อุปกรณ์อะไรขณะกระทำผิด จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง