ทำความรู้จักคดีมรรยาททนายความ “อานนท์ นำภา” ปราศรัยเรื่องสถาบันฯ ถูกสภาทนายความสอบสวน

เมื่ออานนท์ นำภา ผู้มีบทบาทเป็นทนายความคดีการเมืองมานานนับสิบปี ขยับบทบาทของตัวเองมาเป็นผู้ปราศรัยและผู้นัดหมายจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง นอกจากข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เขาได้รับมาแล้ว อีกหนึ่งข้อพิพาทที่มีที่มาจากเหตุการณ์การปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม “ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์” คือ คดีประพฤติผิดมรรยาททนายความ ผลร้ายแรงที่สุด คือ อาจทำให้อานนท์ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และเป็นทนายความไม่ได้อีก

คดี “มรรยาททนายความ” เกิดจากการร้องเรียนต่อสภาทนายความของอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมือฟ้องร้องของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ โดยคดีนี้มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของการวางบรรทัดฐานของสภาทนายความในประเด็นเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของทนายความ

มรรยาททนายความ เป็นมาตรฐานทางวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาชีพ “ทนายความ” ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นใช้บังคับตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 51 ถึง 72 กำหนดให้ทนายความต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับมรรยาททนายความ ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ  และต้องรับโทษฐานผิดมรรยาททนายความ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ หรือการห้ามเป็นทนายโดยมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี และการถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ สำหรับกรณีที่ประพฤติผิดมรรยาทเพียงเล็กน้อยและเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก อาจถูกสั่งลงโทษเป็นการว่ากล่าวตักเตือน หรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือแทนก็ได้

กระบวนการหลายชั้น ของคณะกรรมการสภาทนายความ

เนื้อหาของมรรยาททนายความเขียนอยู่ในข้อบังคับสองฉบับ คือ  

หนึ่ง ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่กำหนดหน้าที่และความประพฤติที่ทนายความต้องปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติจะได้รับโทษ รวมทั้งมรรยาทในการแต่งกาย และมรรยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ 

สอง ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติที่กำหนดรายละเอียดและขั้นตอนในการนำผู้กระทำความผิดมรรยาททนายความมาลงโทษ

อำนาจในการตราข้อบังคับสภาทนายความทั้งสองถูกกำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.ทนายความฯ มาตรา 27 (จ) ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการสภาทนายความในการออกข้อบังคับสภาทนายความ โดย พ.ร.บ.ทนายความฯ มาตรา 14 กำหนดให้กรรมการสภาทนายความประกอบขึ้นจากผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม 1 คน ตัวแทนเนติบัณฑิตยสภา 1 คน และนายกหรือกรรมการอื่นไม่เกิน 23 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศ 

คณะกรรมการสภาทนายความมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความ โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ (ซึ่งก็คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม) แต่งตั้งจากผู้ที่เคยเป็นทนายความมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และไม่เคยประพฤติผิดมรรยาททนายความหรือถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนทนายความ จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน เพื่อควบคุมการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ซึ่งคณะกรรมการมารยาททนายความก็ยังมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามรายคดีขึ้นอีกทอดหนึ่ง โดยต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนและต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตาม พ.ร.บ.ทนายความฯ มาตรา 65 และ ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ. 2546 ข้อ 5

ในส่วนของกระบวนการพิจารณาคดีของคดีมรรยาททนายความแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ คือ 

ขั้นตอนของการสอบสวนข้อเท็จจริง แสวงหาพยานหลักฐานในเรื่องที่กล่าวหาตามขั้นตอนและระเบียบที่ถูกกำหนดไว้ โดยคณะกรรมการสอบสวน และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนจัดทำสำนวนการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะส่งสำนวนให้คณะกรรมการมรรยาททนายความอันเป็นขั้นตอนต่อไป 

ขั้นตอนการวินิจฉัยความผิดของคณะกรรมการมรรยาททนายความ ซึ่งในขั้นตอนนี้ คณะกรรมการมรรยาททนายความจะวินิจฉัยสำนวนการสอบสวนก่อนว่ามีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพียงพอต่อการวินิจฉัยหรือไม่ การสอบสวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเพียงพอต่อการวินิจฉัยและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คณะกรรมการมรรยาททนายความจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อทำความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดมรรยาททนายความหรือไม่ และจึงส่งความเห็นและสำนวนให้คณะกรรมการสภาทนายความอันเป็นขั้นตอนต่อไป 

ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการสภาทนายความ ซึ่งเป็นการพิจารณาชั้นสุดท้ายโดยใช้ขั้นตอนและระเบียบแบบเดียวกับที่ใช้ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาททนายความ

เมื่อผ่านการวินิจฉัยความผิดจากทั้งสามชั้นแล้ว นายกสภาทนายความจะแจ้งผลคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความไปยังประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความให้ผู้กล่าวหาและคณะกรรมการสอบสวนทราบ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษสามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง สำหรับการพิจารณาชั้นอุทธรณ์จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ซึ่งหากสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความมีคำสั่งลงโทษยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความ ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันทราบคำสั่ง

คดีมรรยาททนายความ ใช้ปิดปากการแสดงความเห็นทางการเมือง

สำหรับคดีมรรยาททนายความของอานนท์ นำมา มาจากมูลเหตุเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 อานนท์ได้ขึ้นเวทีและปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” หรือรู้จักกันในชื่อ “ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การถูกฟ้องในข้อกล่าวตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ โดยเนื้อหาการปราศรัยของอานนท์ประกอบไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในหลากหลายประเด็น ทั้งมิติด้านงบประมาณ พระราชอำนาจ บทบาททางการเมือง การประทับในต่างประเทศ และการจัดการทรัพย์สินและข้าราชการส่วนพระองค์ รวมถึงวิจารณ์บทบาทของ คสช. และองคาพยพที่มีส่วนทำให้สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เกินขอบเขตของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

7 สิงหาคม 2563 อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ดำเนินการในฐานะทนายความสำนักงานกฎหมายอัมพร ณ ตะกั่วทุ่งและเพื่อน เป็นผู้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความ กล่าวหาว่า อานนท์มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากบิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหายและความชิงชังต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี ซึ่งสภาทนายความรับคำร้องและเรียกให้มีการประชุมคณะกรรมการมรรยาททนายความเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในคดีของอานนท์

ที่ประชุมคณะกรรมการมรรยาททนายความที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด 3 คน ได้แก่ ดร.วิเชียร ธุจิธำรงกุล เป็นประธาน และสงกา อัมทรินทร์และประดิษฐ อัศวชมพูนุช เป็นกรรมการ ซึ่งต่อมาอานนท์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้ง ดร.วิเชียร ธุจิธำรงกุล เป็นกรรมการสอบสวน เนื่องจากเป็นบุคคลผู้มีรายชื่อในลำดับที่ 24 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง กำหนดรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒสิภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 แต่คณะกรรมการมรรยาททนายความมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องคัดค้านของอานนท์

ต่อมา คณะกรรมการสอบสวนนัดพร้อมสอบมรรยาททนายความของอานนท์ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ขณะนั้นอานนท์ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและมีความประสงค์จะต่อสู้คดีด้วยตนเองและเข้าร่วมการไต่สวนของคณะกรรมการสอบสวนทุกนัด คณะกรรมการสอบสวนจึงเลื่อนกำหนดนัดพร้อมใหม่เป็นวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยใช้วิธีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากภายในเรือนจำแทน หากอานนท์ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

11 พฤษภาคม 2564 อานนท์ได้ยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาต่อสภาทนายความ โดยมีเนื้อหายืนยันการใช้เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในฐานะพลเมือง ไม่ใช่ในฐานะทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งสภาทนายความไม่ควรนำข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ มาใช้พิจารณาจำกัดสิทธิเสรีภาพของเขา อีกทั้งการปราศรัยในครั้งนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยยึดตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ สามารถแบ่งออกเป็น 9 ข้อดังนี้

  1. ผู้ถูกกล่าวหาประกอบวิชาชีพทนายความโดยยึดถือไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของทนายความมาโดยตลอดกว่า 13 ปี
  2. การปราศรัยเมื่อ 3 สิงหาคม 2563 เป็นการพูดถึงปัญหาอย่างเคารพตัวเอง ผู้ฟัง และสถาบันกษัตริย์
  3. ผู้กล่าวหาใช้สิทธิในการกล่าวหาโดยไม่สุจริต และใช้คดีมรรยาททนายความเป็นเครื่องมือจํากัดสิทธิในการแสดงความคิดทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา
  4. ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหาได้
  5. การดําเนินคดีมรรยาททนายความในคดีนี้เป็นการใช้อํานาจโดยมิชอบ
  6. ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำเสื่อมเสียศักดิ์ศรี-เกียรติคุณของทนายความ เพียงแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต
  7. ผู้ถูกกล่าวหาแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการพัฒนา คงอยู่อย่างยั่งยืน
  8. สิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยเรียกร้องเป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
  9. คํากล่าวหาไม่ชัดเจนเพียงพอ ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถใช้สิทธิแก้ข้อกล่าวหาได้

การพิจารณามรรยาทยังเดินต่อไป ต่างชาติมองทนายก็มีเสรีภาพการแสดงออก

นอกจากคำแก้ข้อกล่าวหาของทนายอานนท์แล้ว ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ซึ่งได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ส่งถึง ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความว่า กระบวนการสอบสวนมรรยาททนายความของอานนท์ ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของอานนท์ ในฐานะทนายความอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดีสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) ก็ได้ระบุเป็นการเฉพาะไว้ว่า “ทนายความเองก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่มีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม”

จดหมายเปิดผนึกข้างต้นสอดคล้องกับจดหมายเปิดผนึกถึงสภาทนายความอีกฉบับที่ลงนามโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนักกฎหมายไทยจำนวน 264 รายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ซึ่งให้ความเห็นว่า “เมื่อพิจารณาข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วย มรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ทั้งฉบับ ก็ไม่เห็นปรากฎว่าเหตุผลตามที่นายอภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวอ้างนั้น อยู่ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อใด อันจะเข้าเงื่อนไขให้มีการลบชื่อนายอานนท์ ออกจากทะเบียนทนายความได้” พร้อมเรียกร้องให้ยกคำกล่าวหาของอภิวัฒน์ ขันทอง

นอกจากนี้ องค์กร Lawyers for Lawyers และเนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป (The Council of Bars and Law Societies of Europe) ได้มีหนังสือแสดงความห่วงใยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565  โดยมีเนื้อหาแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย และขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอำนาจตามขอบเขตเพื่อให้การรับรองว่าอานนท์ สามารถดำเนินกิจกรรมอันชอบธรรมในฐานะทนายความได้โดยปลอดจากการแทรกแซง

อย่างไรก็ตาม คดีมรรยาททนายความของอานนท์ยังคงดำเนินต่อไป โดยอยู่ระหว่างชั้นสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งมีการสอบสวนพยานทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาไปแล้วบางส่วน มีลำดับความเคลื่อนไหว ดังนี้

7 สิงหาคม 2563  นายอภิวัฒน์ ขันทอง ยื่นคำร้องกล่าวหานายอานนท์ นำภา

19 ตุลาคม 2563 กรรมการมรรยาททนายความมีหนังสือถึงนายอภิวัฒน์ ขันทอง ให้ชี้แจงรายละเอียดคำกล่าวหา เนื่องจากไม่ปรากฏรายละเอียดข้อความที่ชัดเจน

2 พฤศจิกายน 2563  นายอภิวัฒน์ ขันทอง  ชี้แจงรายละเอียดคำกล่าวหาตามคำสั่ง

13 มกราคม 2564 คณะกรรมการมรรยาททนายความ มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน

20 มกราคม 2564 กรรมการมรรยาททนายความมีหนังสือถึงนายอานนท์ นำภา ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาให้แก้ข้อกล่าวหา

11 พฤษภาคม 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำแก้ข้อกล่าวหาและคำร้องคัดค้านคณะกรรมการสอบสวน

24 พฤศจิกายน 2564 นัดพร้อม ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอเลื่อนนัดพร้อมไปเป็นวันที่ 3 ก.พ. 2564

3 กุมภาพันธ์ 2564 ทนายความผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาถูกขังอยู่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพ

7 เมษายน 2565  นัดพร้อม กำหนดวันนัดสอบสวนฝ่ายผู้กล่าวหาวันที่ 2,20 มิ.ย. 2565 สอบสวนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาวันที่ 18 ก.ค., 1 และ 22 ส.ค., 5 ก.ย. 2565 

2 มิถุนายน 2565 นัดสอบสวนผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาขอเลื่อนคดีอ้างเหตุมีภารกิจสำคัญ

20 มิถุนายน 2565 สอบสวนพยานผู้กล่าวหา 1 ปาก คือตัวผู้กล่าวหาเอง ผู้กล่าวหาแถลงหมดพยาน

18 กรกฎาคม 2565 นัดสอบสวนพยานผู้ถูกกล่าวหา (ยกเลิกนัด)

1 สิงหาคม 2565 สอบสวนพยานผู้ถูกกล่าวหา 1 ปาก คือตัวผู้ถูกกล่าวหาเอง

22 สิงหาคม 2565 สอบสวนพยานผู้ถูกกล่าวหา 2 ปาก คือ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง และ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี

5 กันยายน 2565 สอบสวนพยานผู้ถูกกล่าวหา 2 ปาก คือ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และปิยบุตร แสงกนกกุล แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เลื่อนไปนัดสอบสวนปิยบุตร แสงกนกกุลและพยานที่เหลือในวันที่ 11 มกราคม 2566

หลังจากสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสอบสวนต้องจัดทำรายงานสอบสวนเพื่อส่งให้คณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณาเพื่อมีความเห็น และส่งความเห็นพร้อมสำนวนให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาเป็นชั้นสุดท้าย หากคณะกรรมการสภาทนายความพิจารณามีมติให้ลงโทษ อานนท์สามารถอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความหรือสมศักดิ์ เทพสุทินในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้ ซึ่งหากอุทธรณ์ไม่เป็นผล อานนท์ยังคงเหลือโอกาสในการร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่อานนท์ได้ทราบถึงคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ