พบนักกิจกรรม-เอ็นจีโอ 44 คน ได้รับการเตือนว่า อาจถูกโจมตีบัญชีเฟซบุ๊ก โดยรัฐบาลสนับสนุน

17 พฤศจิกายน 2565 ช่วงเช้ามืดตามเวลาของประเทศไทย นักกิจกรรมทางการเมือง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ลี้ภัยชาวไทยหลายคน ได้รับข้อความแจ้งเตือน (notification) จากบริษัท Meta ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ Facebook ว่า “ผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญอาจสนใจบัญชี Facebook ของคุณอยู่”

และเมื่อกดดูรายละเอียดที่ “ศูนย์ช่วยเหลือ” หรือ Help Center ก็จะพบข้อความว่า “การแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญ” หรือภาษาอังกฤษว่า Government-backed or sophisticated attacker alerts ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า อาจมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยโดยรัฐบาลไทยเพื่อสอดแนม และล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจังหวะพอดีกับการจัดประชุมกรอบความร่วมมือทางในภูมิภาคเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค (APEC2022) ที่ผู้นำของหลายชาติเดินทางมาร่วมประชุมที่กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของข้อความที่เฟซบุ๊กแจ้งเตือนส่วนหนึ่ง ระบุว่า “หากเราแสดงการแจ้งเตือนนี้ให้คุณเห็น หมายความว่าเราเชื่อว่าผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญอาจให้ความสนใจกับบัญชีของคุณอยู่”

“ทีมรักษาความปลอดภัยและระบบอัตโนมัติของเราทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณกิจกรรมที่เป็นอันตรายอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การพยายามเข้าสู่ระบบที่น่าสงสัยและพฤติกรรมอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้บัญชีของผู้ใช้ตกเป็นเป้าหมายของผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญได้ แม้จะมีโอกาสที่จะเกิดการแจ้งเตือนที่ผิดพลาดขึ้นได้แต่เราก็ต้องการแจ้งเตือนคุณถึงความเคลือบแคลงใจของเราเพื่อที่คุณจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนป้องกันเพื่อปกป้องบัญชีของคุณ”

“แม้เราจะไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดบุคคลบางคนจึงอาจตกเป็นเป้าหมายได้ แต่เราสังเกตุเห็นว่ามิจฉาชีพที่เชี่ยวชาญหรือได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลเหล่านี้จะมุ่งเป้าไปยังผู้คนต่างๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ของบุคคลนั้นมากยิ่งขึ้น และหลอกล่อให้บุคคลดังกล่าวละเมิดความปลอดภัยของอุปกรณ์และบัญชีออนไลน์ของตนเอง ซึ่งในหลายกรณีผู้โจมตีเหล่านี้จะมุ่งเป้าไปยังนักข่าว นักกิจกรรม หน้าที่ของรัฐ ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา นักวิชาการ รวมไปถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร”

ในช่วงวันที่ได้รับการแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊ก ไอลอว์ใช้เวลาสามวันเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ที่เล่าเรื่องนี้ต่อสาธารณะ และได้สอบถามไปยังคนที่ทำกิจกรรมทางการเมือง และทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่เตรียมเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565 และพบว่ามีคนจำนวนมากที่ได้รับข้อความแจ้งเตือนลักษณะเดียวกัน จึงใช้วิธีการพูดคุยสอบถามต่อๆ กันไปเพื่อหาว่า มีคนจำนวนเท่าใด และเป็นใครบ้างที่ได้รับข้อความแจ้งเตือนลักษณะดังกล่าว

โดยผู้ที่ต้องการตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กส่งข้อความลักษณะดังกล่าวมาให้หรือไม่ สามารถเปิดเข้าไปที่เมนู ในเฟซบุ๊ก และเลือกเมนูความช่วยเหลือและการสนับสนุน หรือ Help & Support และเลือกกล่องข้อความสนับสนุน หรือ Support Inbox เพื่อเข้าไปดูว่ามีการแต้งเตือนค้างอยู่หรือไม่ 

เมื่อได้สอบถามไปยังคนจำนวนมากแล้วก็พบว่า มีคนได้รับข้อความแจ้งเตือนลักษณะดังกล่าวมา อย่างน้อย 44 คน ซึ่งได้รับข้อความแจ้งเตือนในระยะเวลาใกล้เคียงกันตั้งแต่เวลาช่วงดึก หลังสี่ทุ่มของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ต่อเข้าช่วงเช้ามืด จนถึงช่วงสายของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จำนวนผู้ได้รับข้อความแจ้งเตือนนี้ เป็นจำนวนคนที่พบข้อความแจ้งเตือนและได้ติดต่อกับไอลอว์แล้วเท่านั้น น่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้สำรวจข้อความแจ้งเตือนในเฟซบุ๊กของตัวเอง หรือได้รับข้อความดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้ติดต่อเพื่อให้ข้อมูลกับไอลอว์

จากจำนวนคนอย่างน้อย 44 คน ที่ได้รับข้อความแจ้งเตือน เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างน้อย 13 คน เป็นคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) อย่างน้อย 11 คน เป็นผู้ลี้ภัยท่ีอยู่ต่างประเทศ อย่างน้อย 5 คน เป็นประชาชนทั่วไปไม่ได้สังกัดกลุ่มองค์กรที่แสดงความเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กบ้างอย่างน้อย 6 คน และเป็นคนทำงานในองค์กรสื่อมวลชนอย่างน้อย 2 คน

ในจำนวนนี้ มีนักการเมืองหนึ่ง คน คือ สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. พรรคก้าวไกล มีนักวิชาการหนึ่งคน คือ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคประชาสังคมบ้าง แต่ไม่ได้เป็นผู้ออกหน้าเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกอย่างน้อย 5 คน ที่ได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งพวกเขาต่อสู้คดีทางการเมืองให้กับผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก

ข้อสังเกตจากข้อมูลที่ได้รับ คือ มีคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนที่ได้รับการแจ้งเตือนในครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน แต่ไม่ได้เป็นคนที่ออกหน้าทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่ส่วนใหญ่ไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม หรือสอดส่องพฤติกรรมมาก่อน

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการใช้งานเฟซบุ๊กของทั้ง 44 คน มี 31 คนที่ตอบว่าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ มี 10 คนที่ตอบว่าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กอยู่บ้าง มี 2 คนที่ตอบว่าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กแบบนานๆ ครั้ง และอีก 1 คนที่ตอบว่า แทบไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กเลย