ติ๊ก วิทยา กับการเดินทางไกลค้านเอเปคสู่การตามหาผู้กระทำความรุนแรงใน #ม็อบ18พฤศจิกา65

ติ๊ก-วิทยา ไชยคำหล้า จากคณะก่อการล้านนาใหม่เป็นหนึ่งใน 25 ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมคัดค้านการประชุมเอเปคเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมทั่วประเทศในนาม “ราษฎรหยุด APEC 2022” นอกจากคณะก่อการล้านนาใหม่แล้วมีองค์กรเคลื่อนไหว เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานและทะลุฟ้า รวมทั้งนักกิจกรรมอิสระเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลักเป็นความเดือดร้อนที่เป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงที่บรรลุระหว่างการประชุม และตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของผู้นำประชุมเอเปคอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เดินทางไกลจากเชียงใหม่เข้ากรุงชูข้อเรียกร้องค้านเอเปค 2022

ติ๊กเข้าร่วมชุมนุมทั้งในฐานะผู้ที่ทำกิจกรรมแสดงออกและการ์ดรักษาความปลอดภัย เขาสวมหน้ากากสีทองตลอดทำให้เขาโดดเด่นและเป็นที่สังเกตได้ง่าย การเดินทางของเขาเริ่มในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ช่วงเช้ามืดติ๊กและสมาชิกคณะก่อการล้านนาใหม่เดินทางจากเชียงใหม่ด้วยรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างทางแสดงออกเรื่อยมาแทบทุกสถานีที่รถไฟหยุด เช่น สถานีรถไฟเด่นชัย จังหวัดแพร่ การแสดงออกเป็นการชูป้ายผ้าและป้ายข้อความขนาดเล็กมีเนื้อหาวิจารณ์การประชุมเอเปคโดยเฉพาะเรื่องบีซีจี และตัวผู้นำรัฐบาลอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลางดึกพวกเขาเดินทางถึงสถานีหัวลำโพง เมื่อถึงสถานีหัวลำโพงมีการแสดงออกอีกครั้ง โดยติ๊กทำหน้าที่ตีกลองสะบัดชัยและไปเตรียมกิจกรรมต่อที่ลานคนเมือง 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ผู้ชุมนุมออกไปทำกิจกรรมแสดงออกตามพื้นที่ต่างๆ เริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่งที่ผู้ชุมนุมแขวนป้ายผ้า ตำรวจวิ่งกรูเข้าใส่และยึดอุปกรณ์ไป ทำให้ผู้ชุมนุมต้องวิ่งหลบออกมาขึ้นรถกระบะ หลังจากนั้นเดินสายไปทำกิจกรรมตามบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ส่วนตัวเขาไปทำกิจกรรมแสดงออกที่หน้าบริษัทเอสซีจี ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีแยกต่างหากที่สน.เตาปูน เป็นคดีที่มีโทษปรับอย่างพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ช่วงค่ำคณะก่อการล้านนาใหม่และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือทำกิจกรรมรำลึกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ติ๊กเล่าว่า คณะก่อการล้านนาใหม่ทำกิจกรรมอ่านบทสาปแช่งล้านนาและบทกวี 

วันถัดมาผู้ชุมนุมนัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ช่วงเช้าก่อนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมทำกิจกรรมที่เสาชิงช้า  เขารับหน้าที่ตีกลองสะบัดชัยและอ่านกวี จากนั้นเมื่อเคลื่อนขบวนจึงเปลี่ยนหน้าที่เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัย ลักษณะขบวนแถวหน้าสุดจะเป็นทีมแอคชั่น การติดป้ายเรียกร้องต่างๆ ตามด้วยการ์ดกลุ่มแรกสองแถว แถวละแปดคน ติ๊กอยู่แถวแรกยืนฝั่งขวาสุด หากหันหน้าเข้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“เราจะคล้องแขนกันไม่แยกออกจากกัน จะเป็นแนวชัดเจนว่า เราเป็นแนวการ์ด วัยรุ่นหน่อย แต่ว่า เราไม่ได้มีการปะทะอะไร เราไม่ได้เตรียมการเรื่องปะทะเลย เป้าคือ จะไปแอคชั่น ไปยื่นหนังสือ คิดว่า ไม่รุนแรงขนาดนี้ เดินจบตรงไหนก็แอคชั่นตรงนั้นและก็จบ แต่แรกเลยตั้งขบวนหันไปอีกทางหนึ่ง ผมเข้าใจว่า จะเดินไปทางนั้น [ถนนบำรุงเมือง] เพราะวันที่ 17 ที่อนุสาวรีย์ฯ แตกกระเจิงกันขนาดนั้น…ผมรู้สึกว่า กองกำลังเขามันเยอะมากๆ แต่คุยกับเพื่อนๆ หลังเกิดเหตุว่า ความรุนแรงมันไม่ได้เกิดขึ้นจากเรา ถึงจะไปทางนั้น [ถนนบำรุงเมือง] เขาก็จะไปดักเราอยู่ดี ความรู้สึกส่วนตัวของผมช่วงหลังๆ มีความรุนแรงมากๆ รุกตีประชาชนจริงๆ จังๆ เลย”

เดินขบวนมุ่งหน้าศูนย์สิริกิติ์ แต่ถูกปราบหลังออกเดินไม่ถึงไหน

ติ๊กเล่าว่า ระหว่างผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปเจอแนวแรกมีตำรวจในชุดกากี “ยืนเงอะงะแล้วเขาหลบไป” ผ่านด่านแรกไปเจอด่านที่สองก่อนถึงตรอกศิลป์ มีแผงเหล็กผูกสลิงไว้ มีตำรวจชุดกากีวางกำลังไม่แน่นหนานักเพียงแนวเดียว “ตำรวจมีประกาศอยู่ แต่ฟังไม่ได้ศัพท์” จากนั้นมีผู้ล้มแนวแผงเหล็กลงและขบวนจึงเคลื่อนต่อไปที่หัวถนนดินสอ “เขาตั้งรถรอไว้แล้ว คือเขาก็รู้อยู่แล้ว เหมือนเขาเซ็ทมาแล้ว แนวแรกฝ่ามา แนวสองมึงฝ่ามาอีกแล้ว กูรอเอาจริงที่แนวที่สามนะ การละครอ่ะ มารอที่แนวสุดท้ายเลยดีกว่า ผมรู้สึกอย่างนั้น”

เมื่อเดินมาจนถึงแนวหัวถนนดินสอ ตำรวจใช้รถกระบะเคลื่อนที่เร็วของกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาลสามคันจอดขวางถนนดินสอเกือบทั้งหมดยังพอมีช่องให้ตำรวจเล็ดรอดเข้ามาได้ จากการสังเกตการณ์ประกอบภาพถ่ายพบว่า กำลังตำรวจช่วงนี้เป็นตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ถือโล่ใส “มันมียื้อยุดกันทีแรกอยู่ก่อนแล้ว เขายั่วยุด้วย…ทำท่าทำทางแบบยั่ว” ลักษณะมีท่าทีที่ทำให้รู้สึกว่า เป็นฝ่ายตรงข้าม มวลชนอิสระอยู่ข้างหน้าสุดก็โกรธกัน จำไม่ได้ว่า มวลชนอิสระอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ด้านซ้ายและขวามีนักข่าวเยอะ “จำได้ว่า นักข่าวเยอะผมยังบอกให้นักข่าวเขยิบออกจากรถตรงนั้นเดี๋ยวมันปะทะ ตอนนั้นตำรวจปะทะตั้งแต่ทีแรกแล้ว ตั้งแต่มาถึงแล้ว มียื้อยุดอยู่ ผมโดนกระบองฟาดหัวไปทีนึง …”

“ชุดแรกที่ผมโดนตีหัวตำรวจไม่ใส่ผ้าพันคอ ตั้งแต่นั้นชุดนั้นก็ไปอยู่ข้างหลังและผ้าพันคอเขียวก็เข้ามา มีการชี้หน้าด้วย ชุดแรกทำหน้าแบบยั่วยุด้วย…มันตีนะ มันตีแบบจริงๆ จังๆ เลย มันเหมือนคนเสพยาอ่ะ มันยังไงไม่รู้ จากนั้นป้าเป้าก็โดนจับ ทีมเริ่มเขย่ารถ” 

หลังจากนั้นรถเครื่องเสียงเข้ามาด้านหน้าและบารมี [บารมี ชัยรัตน์ จากสมัชชาคนจน] กำลังปราศรัยอยู่ ติ๊กตั้งข้อสังเกตว่า “ตอนนั้นรู้สึกตึงพอสมควร มันมีการขว้างปากัน คือตำรวจมันขว้างขวดสปอนเซอร์มาฝั่งเรา เราขว้างไปหนึ่งอัน เขาขว้างมาห้าอัน ฝั่งผู้ชุมนุมเราเห็นมีขว้างขวดไปเราก็บอก อย่าปาๆ หลังจากนั้นตำรวจปากลับมาเป็นสปอนเซอร์ ช่วงนั้นคือมันยั่วยุกันมาก ซึ่งเรา [ผู้ชุมนุมโดยรวม] ไม่ได้มีท่าทีไปยั่วยุแบบนั้น”  ตอนนั้นติ๊กก็มีการช่วยดูแลความปลอดภัยคนบริเวณข้างหน้าแนว มีการบอกกับแอดมินนินจา เพจ Live Real ให้ถอยออกมาจากแนวเพราะกลัวเป็นลูกหลง ต่อมาผู้ชุมนุมใช้สลิงผูกกับเพลารถตำรวจ และดึงเพื่อเปิดแนว “พอดึงปุ๊บ ตำรวจก็แตกมาเลยเหมือนน้ำทะเลเข้ามา” ตอนนั้นเขาขยับมาฝั่งซ้าย เมื่อตำรวจเข้ามาเรื่อยๆ เขาจึงถอยหลังไป จังหวะที่ด้านหน้ามีเหตุชุลมุน เขาสังเกตเห็นเพื่อนผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาจากทางภาคเหนือเหมือนกันกำลังถูกตำรวจดึงอยู่จึงวิ่งเข้าไปช่วย

“เขา [ตำรวจ] ก็ยกปืนใส่ผม ยกปืนใส่หน้าเลยนะ ปลายปืนระยะห่างจากศีรษะประมาณสามสี่เมตร และเขาก็ยิงแต่ไม่ออก ยิงใส่หน้าเลยแล้วดังแป๊ก ผมก็โบกมือเปล่าใส่และเขาก็ตกใจ ผมก็หลบ ตอนนั้นผมคิดว่า ผมโดนยิงแล้ว จากนั้นผมหลบไปทางมุมซ้าย…โล่ตำรวจกระแทกและล้มลง จากนั้นโดนลากเข้าไป” เขาเล่าว่า หลังเกิดเหตุเขามาไล่ย้อนดูภาพเหตุการณ์และเห็นว่า ตอนที่เขาโดนลากเข้าไปนั้นก็มีผู้ชายคนหนึ่งถือไม้ฟาดที่โล่ตำรวจ ติ๊กเข้าใจว่า น่าจะเข้าช่วยผู้ชุมนุมอีกคนอื่นๆ และตำรวจยิงกระสุนยางสวนออกมาเลย เหตุการณ์นั้นทำให้เขาถูกจับกุม แต่เพื่อนผู้ชุมนุมที่เขาเข้าไปช่วยสามารถหลุดออกมาจากแนวตำรวจได้ แต่กระเป๋าถูกกระชากเข้าไปในแนวตำรวจและไม่ได้อยู่ในรายการทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ จนถึงบัดนี้ยังไม่สามารถติดตามได้ 

“ตอนที่ผมล้มลง มันไกลมาก รถคุมขังมันไกล ผมโดนไม้กระบองไล่ฟาดมาสุดทางเลย รุมฟาด รุมต่อยหน้าผม แบบใส่เต็มที่เลย คือรอยตีน รอยคอมแบทเต็มหลังเลย พอเข้าไปในรถปุ๊บผมบอกทุกคนเลยว่า จุกมาก ตอนแรกนึกว่า ต้องมีอะไรแตกแน่ๆ เลยข้างในจุกมากจนอ้วก ในรถก็มีอยู่แล้วห้าคน พอตำรวจลากผมมาขึ้นรถ ในรถก็โวยวายเดือดเหมือนกัน ตำรวจชุดกากี ไม่ใช่ชุดคฝ.ก็กวนตีนมากเลย งั้นมึงก็ลงมาๆๆๆ ตำรวจ [ชุดกากี] อีกชุดหนึ่งก็ทะเลาะกันเองบอกว่า ไม่ได้ๆ ทำไม่ได้พี่ ผมก็ลุกแล้วผมจะลงด้วย คนที่เข้ามาห้ามบอกว่า ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่ได้ ประมาณว่า มายั้งเพื่อนว่า เหมือนมึงลืมตัวว่าไม่ได้ใส่ชุดตำรวจหรือเปล่า”

“มันก็มีทั้งคนเบรกและคนใส่ไม่ยั้ง ส่วนใหญ่คนที่ตีจะเป็นพวกชุดคฝ. ชุดสีน้ำเงิน” จากนั้นตำรวจคุมตัวเขาและผู้ชุมนุมที่ถูกจับพร้อมกันไปที่สน.ทุ่งสองห้อง ก่อนเข้าห้องขังตำรวจจะยึดโทรศัพท์ไป เมื่อถูกจับกุมทำให้เขาไม่รู้สภาพข้างนอกเลย เห็นแต่ป้าที่ถูกจับมาพร้อมป้าเป้าที่หัวแตกเลือดไหล ป้าเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ถูกคุมตัวบนรถคุมขัง ตำรวจขับกระชากและเบรก ป้าเขาเล่าว่า เป็นการแกล้ง มีหันมาหัวเราะด้วย สอดคล้องกับคำบอกเล่าของป้าเป้าที่ระบุไปในแนวทางเดียวกัน

ต่อมามีคนถูกจับกุมเข้ามาเรื่อยๆ ติ๊กมารู้ว่า สถานการณ์ด้านนอกแย่มากก็ตอนที่พยาบาลแหวนมาอัพเดทเรื่องพายุ บุญโสภณถูกยิง “ตอนนั้นได้แต่ภาวนาให้ถอย ขอให้ยุติตรงนั้น เพราะมันรุนแรงมาก ไม่คิดเลยว่า มันจะบานปลายมาขนาดนี้ คนเข้ามาเรื่อยๆ” ระหว่างนั้นตำรวจนำหมายจากสน.เตาปูนมาให้เขา เป็นเหตุจากการแอคชั่นที่หน้าเอสซีจีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 “ทีแรกจะเอามาให้ผมปั๊มมือ ผมขออ่านก่อนได้ไหม เป็นโทษปรับจะปรับเลยก็ได้แต่ผมปฏิเสธไว้ก่อน” ตำรวจพยายามจะถามเขาเพิ่มเติมเพื่อสืบสวนหาผู้ที่ร่วมทำกิจกรรมรายอื่นๆ ด้วยว่า คนนี้ใช่เพื่อนไหม แต่เขาไม่ทราบจึงไม่ได้ให้คำตอบไป หลังจากนั้นมีการส่งตัวเขา พร้อมกับพลาธิป จากสมัชชาคนจนที่ได้รับบาดเจ็บหนักไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ และปล่อยตัวในคืนนั้นเลยโดยเขาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

เดินทางต่อไปเพื่อเอาผิดผู้กระทำความรุนแรง

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 อานนท์ นำภาและนักกิจกรรมไปกล่าวโทษพ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์กับพวก ในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ให้ผู้อื่นกระทำความผิดและหรือเจ้าพนักงานตำรวจ หรือบุคคลอื่นทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพื่อให้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 279 มาตรา 297 และในความผิดที่เกี่ยวข้อง โดยติ๊กเป็นหนึ่งในกรณีผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่ถูกยกขึ้นอ้างในการกล่าวโทษครั้งนี้ด้วย

ติ๊กเล่าว่า วันดังกล่าวตำรวจรับเรื่องไว้ แต่ให้เขาไปตรวจร่างกายซ้ำอีกครั้งที่โรงพยาบาลกลาง เขาไม่เข้าใจว่า จะให้มีการตรวจซ้ำอีกครั้งทำไม เนื่องจากมีการตรวจแล้วที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลกลาง เจ้าหน้าที่แจ้งว่า แพทย์นิติเวชจะมาอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งหากรอบาดแผลคงเริ่มจางไปแล้ว เขาจึงกลับไปที่สน.สำราญราษฎร์ ขอให้ตำรวจไปเรียกเอกสารการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ติ๊กไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจตามนัด และสอบถามแพทย์ดูว่า ประวัติมีรายละเอียดอะไรบ้าง จึงเห็นว่า มีประวัติ รายละเอียดการตรวจและรูปภาพบาดแผลครบหมดแล้ว

แม้จะเข้าร่วมการชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2563 แต่เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีเลย การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาถูกดำเนินคดี และกลายเป็นบุคคลที่ฝ่ายความมั่นคงติดตาม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจัดทำลิสต์ “ปรับทัศนคติ จว.เชียงใหม่” และไปคุกคามที่บ้านของเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ติ๊กเล่าพฤติกรรมคุกคามของตำรวจว่า “ไปแคปภาพที่ผมแชร์มาจากเพจ กูKult เป็นรูปรัชกาลที่เก้ายืนกลางสนามบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์มาเฉยๆ ไม่ได้เขียนข้อความอะไร ก็แคปมาเชิงคุกคามเลย มาตามถึงที่บ้านเลย แต่ว่า ไม่มีใครอยู่บ้าน ไม่เจอก็ไปหาที่ผู้ใหญ่บ้าน บอกผู้ใหญ่บ้านว่า ผมเนี่ยเข้าข่ายผิดมาตรา 112 และก็เอารูปเอกสารมาให้ดู ผู้ใหญ่บ้านก็บอกแม่”