1081 1362 1942 1496 1944 1926 1866 1172 1419 1335 1795 1280 1975 1669 1734 1203 1802 1554 1139 1064 1353 1302 1950 1916 1599 1025 1340 1012 1442 1191 1433 1991 1961 1978 1594 1182 1031 1166 1960 1349 1333 1953 1680 1989 1647 1298 1574 1314 1833 1634 1333 1373 1301 1346 1622 1820 1070 1628 1738 1873 1796 1465 1459 1905 1070 1718 1355 1770 1631 1917 1811 1207 1508 1631 1452 1631 1674 1618 1875 1424 1061 1349 1231 1073 1234 1115 1727 1927 1158 1481 1061 1859 1208 1868 2000 1028 1432 1478 1496 ศาลวางบรรทัดฐาน ผู้ต้องหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่ผิด หากไม่เป็นสาระสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐาน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ศาลวางบรรทัดฐาน ผู้ต้องหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่ผิด หากไม่เป็นสาระสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐาน

15 ธันวาคม 2565 ศาลแขวงปทุมวันนัดยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานด้วยการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนสน. ลุมพินีรวมสามครั้งฟังคำพิพากษา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในคดีนี้การให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดี เพราะจำเลยรับว่า ร่วมชุมนุมและเป็นบุคคลตามภาพ รวมถึงสู้คดีเพียงข้อกฎหมายและยืนยันในเสรีภาพการชุมนุม  จึงไม่มีเหตุในการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งหากต้องการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบัตรประชาชนก็สามารถเข้าถึงได้
 
2753
 
 
๐ พนักงานสอบสวนให้พิมพ์นิ้วมือโดยไร้เหตุจำเป็นหลายคดี จำเลยจึงค้านสู้ 

มูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ยิ่งชีพเข้าร่วมการชุมนุมสามครั้ง ได้แก่ การชุมนุม #ม็อบ3กันยาราษฎรไม่ไว้ใจมึง ที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 การชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และ การชุมนุม #ราษฎรพิพากษามาตรา112  ที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 จนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งทั้งสามคดีอยู่ในท้องที่รับผิดชอบของสน.ลุมพินี ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกยิ่งชีพรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีทั้งสาม ยิ่งชีพเข้ารายงานตัวตามนัดแต่ปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือเพราะเห็นว่าได้เคยพิมพ์ลายนิ้วมือและมีประวัติอยู่ที่สถานีตำรวจดังกล่าวอยู่แล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 โดยตามคำฟ้องคดีนี้ระบุว่าคำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นคำสั่งที่อ้างอำนาจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2554 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
ในชั้นศาล ยิ่งชีพให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีโดยนำสืบว่าตัวเองไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั้งสามคดีก็ได้ให้การยอมรับกับพนักงานสอบสวนว่า เขาเข้าร่วมการชุมนุมจริง และเป็นบุคคลที่ปรากฎตามภาพถ่ายที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู และการต่อสู้คดีทั้งสามก็เป็นการต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งก่อนถูกดำเนินคดีนี้ตัวจำเลยก็เคยถูกดำเนินคดีการชุมนุมคดีอื่นในสถานีตำรวจเดียวกันนี้และได้เคยให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือไว้แล้ว  จึงไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิมพ์นิ้วมือในแต่ละคดีไป
 
สำหรับคำพิพากษายกฟ้องจำเลยคดีนี้พอสรุปได้ว่า 
 
การที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาปฏิเสธหรือไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนแต่อย่างหนึ่งอย่างใดนั้น จะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือไม่ต้องพิจารณาพฤติการณ์เป็นรายกรณีไปว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งการให้ผู้ต้องหาปฏิบัติเช่นนั้นได้หรือไม่ และผู้ต้องหามีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อทราบถึงข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และเพื่อพิสูจน์ทั้งความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ในส่วนของการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานที่น่าจะทำให้ข้อเท็จจริงในคดีชัดเจนขึ้นเท่านั้น 
 
 
๐ ข้ออ้างว่า ถ้าไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออัยการจะไม่รับสำนวนฟังไม่ได้เพราะเป็นแนวปฏิบัติภายใน
 
คดีนี้จำเลยนำสืบว่า ไม่มีเจตนาในการก่ออุปสรรคในการสอบสวน เหตุที่ปฏิเสธเนื่องจากว่า เขายอมรับข้อเท็จจริงทุกประการแล้วว่า เข้าร่วมการชุมนุมในวันและเวลาที่เกิดเหตุตามที่ถูกกล่าวหาและรับว่า เป็นบุคคลตามภาพถ่ายที่พนักงานสอบสวนให้ดู แต่ให้การปฏิเสธโดยสู้ในข้อกฎหมายเท่านั้นว่า ไม่ได้กระทำความผิดเนื่องจากมีเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่มีเหตุที่พนักงานสอบสวนจะต้องใช้ลายพิมพ์นิ้วมืออีกและการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำให้พนักงานสอบสวนได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และก่อนหน้านี้จำเลยได้เคยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ที่สน.ลุมพินี สังกัดของพนักงานสอบสวนที่เป็นเหตุในคดีนี้ และที่สน.สำราญราษฎร์แล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้นพนักงานสอบสวนควรตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยตามรัฐธรรมนูญและและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล เมื่อถามถึงเหตุผลทางกฎหมายที่จะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือในคดื พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ถ้าไม่มีการพิมพ์นิ้วมือติดสำนวนไว้ อัยการจะไม่รับสำนวนการสอบสวน
อำนาจการสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ 2554 ออกตามความพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เห็นว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เป็นบทบัญญัติที่เป็นฐานในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจฯ เรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ใช่กฎหมายที่มีบทบัญญัติมุ่งใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปแต่เป็นระเบียบที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ระเบียบที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่สั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือได้ทุกคดีไม่อาจใช้อ้างหรือบังคับแก่จำเลยได้ ไม่อาจอ้างว่า หากไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออัยการจะไม่รับสำนวนสอบสวนเพราะเป็นแนวปฏิบัติระหว่างหน่วยงานรัฐโดยทั่วไป 
 

๐ ข้ออ้างว่า ต้องพิสูจน์ตัวตนผู้ต้องหาฟังไม่ได้เพราะจำเลยรับว่า เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาและพงส.ไม่ได้สงสัย

ประเด็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลและตรวจสอบประวัติของจำเลย จำเลยระบุว่า เคยให้ความร่วมมือพิมพ์ลายนิ้วมือกับพนักงานสอบสวนสน.ลุมพินีและสำราญราษฎร์แล้ว พนักงานสอบสวนสามารถใช้ลายนิ้วมือดังกล่าวในการตรวจสอบประวัติกระทำความผิดได้ ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ใหม่ พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินีให้การว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือจะจัดทำไว้สองชุดคือ ไว้ที่สน.ท้องที่และกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมเพื่อบันทึกในระบบฐานข้อมูล และเบิกความว่า เขาไม่เคยสงสัยว่า ผู้ที่มาปรากฏตัวในการรับทราบข้อกล่าวหาเป็นบุคลอื่น แอบอ้างเป็นจำเลยแต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสั่งให้พิมพ์นิ้วมือจึงฟังไม่ได้ว่า กระทำไปเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล แม้จะมีอำนาจ แต่อำนาจนั้นจำกัดเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานให้ชัดเจนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 (1) จำเลยรับตามข้อเท็จจริงและไม่มีข้อสงสัยเรื่องการแอบอ้าง รวมถึงไม่ปรากฏว่า จะต้องนำลายนิ้วมือไปเทียบกับวัตถุพยาน หรือการโต้แย้งพยานหลักฐานชิ้นใด มีเพียงการสู้ในเรื่องข้อกฎหมายเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม จึงฟังไม่ได้ว่า ต้องการลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย
 

๐ ข้ออ้างว่า ต้องตรวจประวัติฯฟังไม่ได้ มีบัตรประชาชนก็ตรวจสอบได้ไม่ต้องใช้ลายนิ้วมือ

กรณีที่โจทก์อ้างว่า ต้องการลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อตรวจประวัติอาชญากรรม ข้อเท็จจริงคือ จำเลยเคยให้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้แล้วในคดีก่อนหน้าและในคดีนี้ก็ได้มอบบัตรประชาชนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลได้ทุกประการ แม้จำเลยไม่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนสามารถใช่บัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบได้ และในทางนำสืบของจำเลยระบุว่า สน.ลุมพินี เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดระบบข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาอันถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์และยกเลิกเมื่อมีความจำเป็นตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 2540 และอ้างถึงพ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล 2562 ที่มีเหตุผลเป็นไปเพื่อบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการ ดังกล่าวการผลักภาระให้จำเลยที่เคยพิมพ์นิ้วมือไว้แล้วเพื่อติดไว้ในสำนวนการสอบสวนจึงฟังไม่ได้และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ข้างต้น และแม้จำเลยจะยอมพิมพ์ก็ไม่ก่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์แต่อย่างใด  

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเป็นข้ออ้างที่พอรับฟังได้ว่า มีเหตุและข้อแก้ตัวอันสมควรเนื่องจากไม่ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสอบสวน รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ยกฟ้อง
 
 
 
เอกสารแนบSize
คำพิพากษาศาลแขวงปทุมวัน คดีหมายเลขแดงที่ อ 805/2565.pdf5.63 MB
ชนิดบทความ: