RECAP: เกิดอะไรขึ้นกับ “ตะวัน-แบม” ??

บ่ายโมงของวันที่ 16 มกราคม 2566 เด็กสาวสองคนชื่อ “ตะวันและแบม” ตัดสินใจเดินเข้าเรือนจำเองด้วยความสมัครใจเพื่อแลกกับการให้เพื่อนได้ประกันตัว

ก่อนเข้าศาล ทั้งคู่เทของเหลวสีแดงลงบนร่างกายให้อาบหน้า ก่อนจะค่อยๆ ไหลลงมาบนตัว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในกิจกรรมที่พวกเธอตั้งชื่อว่า “เลือดแลกเลือด”

ในเย็นวันเดียวกัน ศาลอาญา รัชดา รับคำร้องให้ถอนประกัน ทั้งสองคนจึงถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนจะประกาศยกระดับ “อดข้าว-อดน้ำ” จนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเธอจะได้รับการตอบรับ

เกิดอะไรขึ้นกับ “ตะวัน-แบม” ? เรื่องราวนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? ทั้งสองคนเป็นใคร? ทำความเข้าใจข้อเรียกร้องของพวกเธอดังต่อไปนี้

(1) ตะวันคือใคร ??

“ตะวัน” มีชื่อจริงว่าทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี ตะวันเคยเป็นการ์ดอาสาสมัครกับกลุ่ม We Volunteer (WeVo) หลายคนอาจจดจำเธอได้จากเหตุการณ์ “ไลฟ์ขบวนเสด็จ” ขณะกำลังจะเคลื่อนผ่าน #ม็อบชาวนา บริเวณถนนราชดำเนินนอก เมื่อ 5 มีนาคม 2565 โดยในวันดังกล่าว ตะวันถูกเจ้าหน้าทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าล้อมไม่ต่ำกว่า 20-30 นาย ระหว่างที่กำลังยืนถ่ายทอดสดเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การจัดการขบวนเสด็จฯ โดยตะวันเห็นว่า ก่อนที่ขบวนเสด็จจะมาถึง ได้มีการผลักไสให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องออกจากพื้นที่ ซึ่งคือความไม่เป็นธรรม และรัฐควรมีพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้ส่งเสียงเรียกร้อง

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตะวันต้องถูกคุมขังอยู่ที่ สน.นางเลิ้งและสโมสรตำรวจนาน สามวันสองคืน ตามมาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ มาตรา 112, ต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน มาตรา 138 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368 

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ตะวันยังเคยทำการประท้วงอดอาหารเป็นเวลานาน 37 วัน ภายหลังศาลอาญา รัชดา เพิกถอนสัญญาประกันตั้งแต่ 20 เมษายน 2565 กระทั่งได้รับการประกันตัวเมื่อ 26 พฤษภาคม 2565 พร้อมด้วยเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหะสถานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง (House Arrest)

ทำความรู้จักตะวันเพิ่มเติม https://freedom.ilaw.or.th/node/1048

(2) แบมคือใคร ??

“แบม” มีชื่อจริงว่าอรวรรณ อายุ 23 ปี เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอิสระไม่สังกัดกลุ่มใด ชื่อของแบมอาจไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่ใครหลายคนอาจเคยเดินสวนกับเธอในม็อบมาก่อน เพราะแบมเป็นคนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อนของเธอเล่าว่า แบมมักจะพก “ป้ายข้อเรียกร้อง” ติดตัวเพื่อนำไปชูในพื้นที่การชุมนุมด้วยเสมอ ต่อมา ในปี 2565 แบมถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จำนวนหนึ่งคดี 

แบมเป็นคนที่ชอบทำสีผม ด้วยสไตล์ทรงผมที่เปลี่ยนไปในทุกๆ ปีจึงอาจทำให้จดจำเธอได้ยาก โดยต้นปี 2563 แบมทำผมสีน้ำตาลแดง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีทองเมื่อกลางปี ต่อมา ในปี 2564 แบมย้อมผมสีน้ำตาลและเริ่มตัดหน้าม้าซีทรูในช่วงกลางปี กระทั่งมาถึงลุคล่าสุดที่เธอปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะหน้าศาลอาญา รัชดา พร้อมกับตะวัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 คือลุคผมดำประบ่าและมีหน้าม้า

เอกลักษณ์หนึ่งที่ไม่เหมือนใครของแบม คือการ “ชูสามนิ้ว” ในลักษณะที่นิ้วห่างออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้เพื่อนบางคนของเธอตั้งชื่อให้ว่า นี่คือ “สามนิ้วแบบตีนไก่”

นอกจากนี้ แบมยังเคยร่วมเดินขบวน Let’s UNLOCK EM “ปลดมันออกไป” จัดขึ้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM นักกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีการคล้องโซ่ที่ข้อเท้าของผู้เข้าร่วมขณะเดิน เริ่มต้นจากศาลอาญากรุงเทพใต้จนถึงบริเวณห้างสยามสแควร์วัน และจบกิจกรรมด้วยการตัดโซ่เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

เนื่องจากแบมเป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ถูกศาลตั้งเงื่อนไขให้ใส่กำไล EM ในวันดังกล่าวแบมจึงแขวนป้ายไว้ที่คอขณะเดิน โดยระบุข้อความว่าเธอถูกบริษัทเลิกจ้างงานเนื่องจากการใส่กำไล EM รวมทั้งกล่าวถึงผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้

“เมื่อฉันต้องใส่กำไลข้อเท้า EM ฉันกลายเป็นคนว่างงาน ฉันโดนสังคมตีตราว่าฉันเป็นนักโทษและเป็นเรื่องน่าอับอายที่จะรับฉันเข้าทำงาน ฉันเป็นแผลที่ข้อเท้า เวลาเดินหรือวิ่ง ฉันจะเจ็บเท้า กลายเป็นความเครียดสะสมที่จะต้องรับมือกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว… เลิกโทษเหยื่อ ฉันไม่ใช่นักโทษ”

(3) “ตะวัน-แบม” ถูกตั้งข้อหา ม.112 เพราะอะไร ??

ข้อหามาตรา 112 ของตะวันและแบม สืบเนื่องมาจากการทำโพลสติกเกอร์ที่บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปว่า “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” โดยในช่วงเย็นก่อนจบกิจกรรม ได้มีการพยายามนำโพลไปส่งที่วังสระปทุม

กิจกรรมในวันดังกล่าว ยังมีเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นๆ เช่น ใบปอและบุ้ง สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง มาร่วมด้วย ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากเหตุการณ์นี้เช่นกัน 

เกือบหนึ่งเดือนต่อมา 10 มีนาคม 2565 สน.ปทุมวันนัดหมายทุกคนให้มารับทราบข้อกล่าวหา (ยกเว้นตะวันที่ถูกแจ้งข้อหาตั้งแต่ถูกควบคุมตัวที่สโมสรตำรวจเมื่อ 6 มีนาคม 2565) โดยตำรวจได้ขออำนาจศาลเพื่อทำการฝากขัง ก่อนที่ทุกคนจะได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมเงื่อนไขจำนวนสี่ข้อ ได้แก่

1. ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
4. ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

(4) ทำไม “ตะวัน-แบม” ต้องการถอนประกันตัวเอง ??

9 มกราคม 2566 ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันของ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ จากกลุ่มทะลุวัง และเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เพื่อนของตะวันและแบมซึ่งถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ด้วยกันทั้งคู่
ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในวันดังกล่าว พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นั่งบัลลังก์และอ่านคำสั่งด้วยตนเอง ใจความว่า ทั้งใบปอและเก็ท เคยได้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไข “ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” รวมทั้ง “ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง” โดยศาลเห็นว่า การที่ทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 (ม็อบต่อต้าน #Apec2022) จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่และมีการนำมวลชนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ 
อย่างไรก็ตาม กระบวนการไต่สวนถอนประกันในครั้งนี้มีความผิดปกติหลายอย่าง อาทิ ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในนัดไต่สวนครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2565 ศาลเลื่อนการไต่สวนออกไป เนื่องจากฝ่ายจำเลยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร้องขอถอนประกันตัวและกล่าวหาจากเหตุใด 
ต่อมา ทราบว่าผู้ร้องคือ วรินทร ขอบโคกกรวด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมชำนาญงาน การยื่นคำร้องในครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้ร้องและเสนอรายงานต่อผู้พิพากษาเอง โดยที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งศูนย์ทนายฯ ระบุว่า การไต่สวนในลักษณะนี้ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
ภายหลังเก็ทและใบปอถูกนำตัวเข้าเรือนจำได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ วันที่ 16 มกราคม 2566 ตะวันและแบมจึงทำกิจกรรม “เลือดแลกเลือด” ที่บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา มีการเทของเหลวสีแดงลงบนร่างกาย พร้อมประกาศถอนประกันตนเอง เพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยเพื่อนๆ และนักกิจกรรมทางการเมืองที่ยังไม่ได้ประกันตัวมาตั้งแต่ปี 2565
ในเย็นวันดังกล่าว ศาลมีความเห็นเพิกถอนประกัน จากนั้น ตะวันและแบมจึงถูกส่งตัวไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง

(5) เกิดอะไรขึ้นหลัง “ตะวัน-แบม” เข้าเรือนจำ ??

ภายหลังเข้าเรือนจำได้ประมาณสองวัน เวลา 19.59 น. ของวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 เฟซบุ๊กของตะวันและแบม ได้เผยแพร่คลิปที่ทั้งคู่บันทึกไว้ก่อนเข้าเรือนจำ โดยระบุแคปชั่นว่า “แถลงการณ์ยกระดับ!! ประกาศ “อดน้ำและอาหาร” ทันที” พร้อมติด #เลือดต้องแลกด้วยเลือด 
ในคืนเดียวกัน เฟซบุ๊กของรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมหญิงจากกลุ่มราษฎร ที่เคยอดอาหารประท้วงในเรือนจำเมื่อปี 2564 เผยแพร่ข้อความถึงกรณีการยกระดับดังกล่าวว่า
“จากวันนี้ ตอนนี้ เราเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนที่ตะวันกับแบมจะถึงจุดวิกฤติจากการอดอาหารและน้ำ น้องอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ด้วยซ้ำ ตะวันกับแบมได้พูดก่อนเข้าไปว่า “ไทยเฉยเราจะตายกันหมด” และ “เราไว้ใจคนที่อยู่ข้างนอก” โปรดสนใจเรื่องนี้”
วันถัดมา (19 มกราคม 2566) บันทึกเยี่ยมของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ภายหลังเข้าเรือนจำเป็นเวลาสามวัน ทั้งแบมและตะวันยังคงยืนยันที่จะยกระดับการต่อสู้ต่อไป โดยตะวันกล่าวกับทนายเยี่ยมว่า “ถ้าเพื่อนไม่ได้ประกัน ก็ไม่ต้องยื่นประกันตะวันกับแบม แล้วพวกหนูก็ยืนยันจะยกระดับการประท้วงตามที่ได้บอกกับทุกคนไว้” 
20 มกราคม 2566 เวลา 11.57 น. เฟซบุ๊กเพจทะลุวัง – Thaluwang ได้โพสต์อัพเดทอาการของตะวันและแบมว่า ทางราชทัณฑ์แจ้งว่า ขณะนี้ทั้งสองถูกพาตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว จากนั้น เวลา 12.36 น. ทวิตเตอร์ของเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ตอนหนึ่งว่า
“ได้ทราบจากแพทย์ว่าอาการโดยรวมขณะนี้ของทั้ง 2 คนยังช่วยเหลือตัวเองได้มีอาการอ่อนเพลีย จากการอดน้ำอาหาร ถามตอบได้ปกติสัญญาณชีพปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การรักษา แต่ทั้ง 2 ยังคงปฏิเสธการรับยาปฏิเสธรักษา” 

ข้อเรียกร้องที่ตะวันและแบมประกาศไว้หน้าศาลอาญา รัชดาในกิจกรรม “เลือดแลกเลือด” มีสามข้อ ดังนี้

1.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกเป็นอย่างแรก ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
2.ยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
3.พรรคการเมืองทุกๆ พรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116